"กษิต" เตรียมยกประเด็น "ทักษิณ" ขึ้นคุยในเวทีจีซีซี กับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเออี หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะขนคนไปเยี่ยมที่ดูไบ เพื่อฉลองชัยชนะเลือกตั้ง ...
วานนี้ (29 มิ.ย.) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าในการขอให้สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน หลังจาก ล่าสุด ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมขนคนไปเยี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อฉลองชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่ดูไบ ว่า การส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องระหว่างไทยกับยูเออี เพราะดูไบ เป็นส่วนหนึ่งของยูเอเอี ซึ่งได้ติดต่อกันอยู่ตลอด เราได้ให้ข้อมูลแก่เขาไป รวมถึงสถานะทางกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น อำนาจหน้าที่อยู่ที่ฝ่ายยูเออี อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมอาเซียนกับกลุ่มประเทศรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ที่ประเทศบาห์เรน ตนมีกำหนดจะหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเออี ต้องหยิบยกเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งจะเป็นการหารือกันเป็นครั้งแรกในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มอบให้ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปหารือกับยูเออีมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ ทราบอยู่ตลอดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่ดูไบ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ นายกษิต กล่าวว่า ไม่มีใครยืนยัน แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะพูด แต่ตนไม่ค่อยจะเชื่อคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะรู้จักกันมานาน อย่างไรก็ตาม การติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมายังประเทศไทยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยต้องร่วมมือกันทั้งหมด
นอกจากนี้ นายกษิต กล่าวถึงเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ไปหารือกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า กรณีนี้ต้องแบ่งเป็น 2 เรื่องคือเรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเล กับเรื่องการเร่งเอาผลประโยชน์จากทะเลในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเจรจากันต่อไปว่าจะใช้สูตรในการแบ่งอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตามความตกลงที่ได้มีการลงนามกันไปเมื่อปี 2544 กำหนดให้ทำทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน แต่ขณะนี้ในส่วนของไทยยังไม่ได้หารือกันเป็นการภายใน ทั้งนี้ขอให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลที่ยึดความถูกต้อง ธรรมาภิบาล และความโปร่งใสมาตลอด พิสูจน์ได้จาก 60 ปีที่ผ่านมา การทำอะไรใต้โต๊ะนั้นเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทราบเป็นระยะ เหตุที่ที่ผ่านมายังไม่ได้เจรจาเรื่องพื้นที่ทางทะเล เพราะประชุมกันอยู่แต่เรื่องพื้นที่ทางบก แต่ขณะนี้เห็นว่าเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศจะเร่งดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินนโยบายเรื่องปัญหาปราสาทพระวิหารไม่ต่างจากที่รัฐบาลก่อนเคยทำ นายกษิต กล่าวว่า คงต้องแยกเป็นสองส่วน ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสมาชิกในรัฐสภาและอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งมีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงข้อมูลให้ทราบ น่าจะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นตัวตั้ง ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ของ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นการพูด เพื่อฟอกตัวเองให้สะอาดหรือไม่ ตนไม่คิดว่านายสุเทพพูดอย่างที่เขาเข้าใจ แต่แค่บอกว่า เรื่องที่ตกค้างในอดีต จะไม่ปล่อยให้เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีระหว่างกัน และเชื่อว่าขณะนี้เรื่องปราสาทพระวิหารจะไม่ทำให้เป็นปัญหาระหว่างกันได้
เมื่อถามว่าสมัยเคยเป็นฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ เคยบอกว่าจะเรียกคืนปราสาทพระวิหาร นายกษิต กล่าวว่า ไม่ใช่ คิดว่าเป็นการเล่นคำ ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง เพราะเราเคารพต่อคำตัดสินของศาลโลก ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ เพียงแต่มีข้อสงวนในกรณีที่มีหลักฐานใหม่ แม้แต่การประชุมที่เมืองเซบีญา เป็นการยืนยันสิ่งที่นายนพดล และ นายปองพล อดิเรกสาร ได้เคยไปคัดค้านไว้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการมรดกโลกปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว