หากใครได้ไปเยือนสนามหลวงในวันชุมนุมใหญ่ 27 มิถุนายน 2552 สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและเป็นปรากฏการณ์ใหม่อันคึกคักแทนการขายมือตบ เสื้อผ้า อาหาร อย่างที่เคยมีมาคือ การขายหนังสือ ทั้งหนังสือพ็อกเก็ตบุกส์ของบรรดาแกนนำต่างๆ รวมถึง หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ราย 3 วัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน รายสะดวก วางยาวหลายซุ้ม โดยมีผู้ชุมนุมร่วมอุดหนุนอย่างเนืองแน่น
ว่าไปแล้วมันก็ไม่ต่างจากการผลิตสื่อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการเป็นเว็บท่าในการขับเคลื่อนขบวนและการส่งข่าวสาร เว็บต่างๆ ของคนเสื้อแดงก็กระจัดกระจายอยู่ในโลกไซเบอร์แบบหลากหลายเฉด กลุ่มพันธมิตรฯ มีเอเอสทีวี กลุ่มเสื้อแดงก็มี ดี สเตชั่น เหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันคือโดนปิดบ่อยกว่า (ฮา)
อาจเรียกได้ว่าเป็นการเข้าสู่ยุคที่กลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มมีช่องทางการสื่อสารของตัวเอง เลิกง้อสื่อหลัก และโยนคำสวยๆ อย่าง “มืออาชีพ-เป็นกลาง-รอบด้าน” ทิ้งไป อาศัยแต่เพียงวิจารณญาณและการสรรเสพของผู้บริโภคเป็นหลัก
มาถึงวันนี้คนเสื้อแดงดูเหมือนจะรุกคืบเข้าสู่สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งเขาว่ากันว่าอยู่ยากหนักหนา ...ไม่ใช่ฉบับเดียว แต่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้งรูปแบบ แนวทาง บ้างเน้นการวิเคราะห์การเมืองระดับยุทธศาสตร์ บ้างเน้นการโจมตีรัฐบาล บ้างเน้นแนวรบวัฒนธรรม ฯลฯ ในส่วนของผู้จัดทำก็กระจัดกระจายหลายกลุ่ม ทั้งแกนนำที่มีชื่อ แกนนำตามหัวเมือง หรือกลุ่มย่อยต่างๆ ที่เป็นแนวร่วมคนเสื้อแดง
เราตระเวนซื้อทุกซุ้ม ซื้อทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ก่อนที่สายฝนจะกระหน่ำลงมาอย่างหนักในคืนนั้น และพยายามทำความรู้จักหนังสือฝีมือคนเสื้อแดงฉบับต่างๆ ผ่านบทบรรณาธิการ และการโทรศัพท์ไปสอบถามเท่าที่ทำได้
ฉบับหลักๆ ที่ออกถี่ และวางแผงทั่วไปกับเขาบ้าง ก็เห็นจะมี Thai Red News กับ มหาประชาชน ฉบับความจริงวันนี้ ส่วนฉบับอื่นๆ นั้นไม่วางแผงทั่วไปแต่เน้นระบบสมาชิก และการกระจายผ่านแกนนำในจังหวัดต่างๆ
Thai Red News
"ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค"
ราคา 20 บาท (วางแผงทั่วไป) ออกมาแล้ว 3 ฉบับ
สำนักงาน: วิวาทะ ฉบับ ไทยเรดนิวส์
โทร.02 9349388
สำหรับ Thai Red News นั้นเปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีนายวิบูลย์ แช่มชื่น อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการบริหาร และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำ นปช.เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณา โดยมีการจัดงานระดมทุนในรูปแบบจำหน่ายบัตรที่นั่งฟังดินเนอร์ทอล์กเรื่อง "อนาคตประชาธิปไตย-ใต้ฟ้าสีเทา" เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว The Red E-news ทางเว็บไซต์ www.thairednews.com
วิบูลย์ให้สัมภาษณ์ในวันเปิดตัวหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า เป็นไปเพื่อต้องการเป็นสื่อสารมวลชนทางเลือกและเป็นสื่อกลางของประชาชนคนหัวใจสีแดง โดยมุ่งเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงด้านข่าวสารการเมืองการปกครอง ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ส่วนรูปแบบหนังสือพิมพ์จะเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดแทบลอยด์โดยออกเป็นรายสัปดาห์ ฉบับแรกพิมพ์ 30,000-50,000 ฉบับ
ส่วนสมยศ แกนนำ นปช. ที่ร่วมจัดทำด้วยกล่าวถึงเหตุผลที่ทำ Thai Red News ว่า เพราะสื่อกระแสหลักที่มีอยู่ เสนอข่าวได้ไม่ตรงความจริง สื่อกระแสหลักเข้าข้างรัฐบาล และลำเอียงต่อคนเสื้อแดง จึงต้องหนังสือพิมพ์ของคนเสื้อแดง เพื่อเสนอความจริงที่รอบด้าน ความจริงที่แตกต่าง และคนที่ทำข่าวก็จะเป็นนักเคลื่อนไหว
“ทุกคนเป็นสื่อสารมวลชนได้ และผมคิดว่าเราทำได้ดีกว่าด้วย เพราะเราเป็นข่าวอยู่แล้ว ปกติเราเคลื่อนไหว เราก็เป็นข่าว วันนี้เราก็มาทำสื่อด้วย และเรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากกว่า และสื่อนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย มันแตกต่างที่เราไม่ใช่แค่สื่อ แต่เป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
“บทความและข้อเขียนทั้งหมดเป็นผลงานของคนเสื้อแดงก็จริง แต่ว่า เราก็ประกาศไว้แล้วว่า เรายินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเป็นเวทีที่เปิดกว้าง ก็เปิดให้คนเสื้อแหลืองด้วย” สมยศกล่าว
ปัจจุบัน Thai Red News ออกมา 3 ฉบับแล้ว ด้วยยอดพิมพ์ราว 20,000 เล่ม วางแผงทั่วไปและมีสมาชิกรับประจำประมาณ 1,000 คน ซึ่งสมยศมองว่า ไม่มากนัก และด้วยการเน้นความเป็น mass ที่ต้องผลิตเยอะและวางแผนทั่วไป ทำให้ต้องประหยัดต้นทุนอย่างมากเพื่อให้อยู่ได้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันเชิงคุณภาพได้มากนัก ส่วนใหญ่ทีมงานที่ทำก็เป็นอาสาสมัครเสียมาก
“ความจริงวันนี้น่าจะมาแรงกว่า เพราะเขาพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากร อีกฉบับที่น่าสนใจที่เขาวางแผนกันว่าจะทำวางแผงตามท้องตลาดเลยคือ ของคุณสุธรรม แสงประทุม ชื่อ เสียงทักษิณ เป็นนิตยสารรายปักษ์ เขาน่าจะเปิดตัวราวปลายเดือนกรกฎา” สมยศว่า
เขากล่าวเสริมด้วยว่า ผู้อ่านจะเป็นคนตัดสินเองว่าฉบับไหนที่พวกเขาชอบ ฉบับนั้นก็จะอยู่ได้ และการมีหัวหนังสือที่หลากหลาย ก็สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่กลุ่มคนทำแต่ละคนมีบุคลิกภาพ มีแนวทางการทำงานที่แตกต่าง ดังนั้น ก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่แต่ละฉบับจะไม่เหมือนกันเลย
มหาประชาชน ฉบับความจริงวันนี้
“สื่อเพื่อต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ”
ราย 3 วัน ฉบับละ 20 บาท (วางแผงทั่วไป)
เล่มแรก วันที่ 29มิ.ย.52 – 1 ก.ค.52
นิตยสาร “มหาประชาชน” เคยปรากฏตัวให้เห็นนานแล้วในทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง มาวันนี้ มีการปรับเปลี่ยนโฉม เป็น มหาประชาชน ฉบับ ความจริงวันนี้ โดยปรับให้เป็นราย 3 วัน มีการวางแผงทั่วไป และนำทัพโดย วีระ มุสิกะพงศ์ พร้อมด้วยแกนนำเด่นๆ ที่มาเป็นคอลัมนิสต์ ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง ฯลฯ
สำหรับเนื้อหาในเล่มนั้นแม้ว่าส่วนใหญ่จะเน้นการเมือง แต่ก็ยังมีเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องราวเบ็ดเตล็ดต่างๆ แทรกอยู่ เล่มแรกเปิดตัวอย่างแหลมคมในการชุมนุมใหญ่ 27 มิ.ย. ด้วยหัวข้อ “สดุดีวีรกรรมคณะราษฎร ผู้นำการอภิวัฒน์ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา”
“หนังสือพิมพ์มหาประชาชนรายสัปดาห์เคยรับใช้นักประชาธิปไตยมาช่วงหนึ่ง ในเวลาที่ คมช.ปกครองประเทศ .... บังเอิญระยะนั้นสื่อกระแสหลักพากันกรูเกรียวไปสนับสนุนการยึดอำนาจและออกอกาการรังเกียจเดียจฉันท์สื่อเล็กๆ ที่ไม่เฮโลตามพวกเขาไป โดยพยายามให้คำจำกัดความสื่อที่ต่อสู้เพื่อเรียกหาประชาธิปไตยว่าเป็น สื่อเทียม
.... ปัจจุบันนี้เผด็จการซ่อนรูปได้คายพิษออกมาจนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า .... ทีมงานความจริงวันนี้ จึงรวมตัวกันเพื่อคืนชีพให้กับ หนังสือพิมพ์มหาประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้จะมีรูปโฉมขนาดแทบลอยด์ออกวางตลาดเป็นราย 3 วัน มีชื่อว่า มหาประชาชน ฉบับ ความจริงวันนี้ เพื่อทำหน้าที่เสนอข่าววิเคราะห์และเป็นสื่อกลางประสานสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลาย ... เราพร้อมแล้วที่จะทำหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้ โปรดพิสูจน์ผลงานของเรา” บทบรรณาธิการฉบับแรกเชื้อเชิญไว้
นิตยสารธงแดง
“สันติวิธีสู้รบ กระบอกเสียงของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
รายปักษ์ ฉบับละ 25 บาท
ออกมาแล้ว 2 เล่ม เริ่ม 1 มิถุนายน 2552
(เล่มแรกหมดแล้ว คนขายบอกว่าเหลือให้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก)
สำงานงาน 2539 อาคารอิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว ชั้น 5
ซอย 81-83 ถนนลาดพร้าว แขวง/เขต วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
สำหรับ “ธงแดง” เป็นนิตยสารรายปักษ์ที่มีรูปเล่มเหมือนหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ริเริ่มโดยกลุ่มของ วิสา คัญทัพ, วิภูแถลง พัฒนาภูมิไทย, ไม้หนึ่ง ก.กุนที ฯลฯ ออกเป็นรายปักษ์ เล่มละ 30 บาท และเน้นการกระจายผ่านระบบสมาชิกอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันมีสมาชิกราว 600-700 คน ยอดพิมพ์ประมาณ 2,000-3,000 เล่ม และในงานชุมนมใหญ่ครั้งล่าสุดก็ขายได้นับพันเล่ม
วิสา หนึ่งในผู้ก่อตั้งพูดถึงแนวคิดเบื้องต้นว่า บรรยากาศของสื่อในยุคนี้คล้ายกับช่วงก่อน 14 ตุลา เนื่องจากระบบธุรกิจได้ครอบงำวงการสื่อ พวกเขาต้องลงทุนมหาศาลจึงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดเป็นหลัก วิธีคิดของพวกเขาคือต้องอยู่รอดไปกับรัฐบาล ส่วนเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรม เป็นเรื่องรองลงไป
“พวกเขาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอำมาตย์ เขามีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่แตกต่างกับคนเสื้อแดง เขายอมรับการรัฐประหาร คมช.ได้ ยอมรับการรัฐประหารซ่อนรูปในการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ อันที่จริงแล้วการเมืองใหม่ของพวกเขาก็ไม่มีอะไรใหม่แต่ย้อนไปในยุคเก่า ให้อำนาจมาจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง ด้วยภาวการณ์แบบนี้จำเป็นต้องมีหนังสือฝ่ายประชาชน มันเป็นความจำเป็นโดยธรรมชาติ”
วิสาว่า พวกเขาเริ่มจากเล็กๆ ใช้ทุนไม่มาก อาศัยว่าทำได้โดยอิสระ และเริ่มได้เลย ไม่ต้องคิดมาก สำหรับธงแดงนั้นไม่มีการจัดเลี้ยงระดมทุน อาศัยประหยัดต้นทุนทุกอย่างให้มากที่สุด เขียนเองเป็นหลักและเชิญคอลัมนิสต์อาสาเข้ามาช่วยด้วย โดยมีทีมงานที่ทำงานจริงมีเพียง 4-5 คน เน้นการรับสมัครสมาชิก ซึ่งช่องทางเดียวที่มีอยู่ตอนนี้คือการโฆษณาผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม people channel ซึ่งเขามีโอกาสจัดรายการรายการหนึ่งในนั้น ขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 600-700 คน เรียกว่า “พออยู่ได้”
สำหรับแนวเนื้อหานั้น เน้นประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทางวิชาการ หรือยุทธศาสตร์เป็นหลัก ฉบับแรกพูดถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขณะที่ฉบับที่สองเล่นเรื่องที่เป็นประเด็นวิวาทะกันมากกว่าขบวนการเสื้อแดงนี้ใครนำ?
“ทักษิณ..นำ ประชาธิปไตย...นำ หรือ...ใครนำ?”
นอกจากเนื้อหา บทวิเคราะห์ทางการเมืองแล้ว เล่มนี้ยังแทรกด้วยบทกวี และมีพื้นที่ของเรื่องสั้นการเมืองด้วย
“มันออกมาแนวนี้ เพราะเราเติบโตมาจากสายวรรณกรรม เราเห็นคุณค่าของแนวรบทางวัฒนธรรม”วิสากล่าว
ดีแมกาซีน
ฉบับแรก “รากหญ้าไม่โง่”
โดยเครือข่ายราษฎร นักเขียนศิลปินประชาธิปไตย
ออกรายสะดวก ยังไม่รับสมาชิก
ถัดจากลูกครึ่ง “นิตยสาร-หนังสือพิมพ์” อย่างธงแดงแล้ว ก็ยังมีนิตยาสารแท้อย่าง D-Magazine ด้วย ริเริ่มดำเนินการโดยกลุ่มเครือข่ายราษฎร (ธรรมดา ไม่อาวุโส –แซวเล่น :P) นักเขียน ศิลปินประชาธิปไตย มี วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้มีความใฝ่ฝันอันเก่าแก่ที่จะทำหนังสือเพื่อมนุษย์ตัวเล็กมาเป็นบก.เล่มนี้ “รากหญ้าไม่โง่” ได้ทองธัช เทพารักษ์ มาออกแบบปก และทีมงานอาสาสมัครที่ช่วยคิด ช่วยเขียน ที่สำคัญ เป็นนิตยสารรายสะดวก ไม่มีวางแผงทั่วไป และยังไม่ถึงเวลาบอกรับสมาชิก! เขาว่าไว้อย่างนั้น สนใจอยากได้มาครอบครอง ต้องติดต่อทางเว็บไซต์ http://dmagazine.tk%20หรือ/อีเมล์ dmag2009@gmail.com
“ดีแมกาซีน เป็นหนังสือของกลุ่มกวีศิลปินรากหญ้า ในนามเครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย ที่มีหัวใจสีเดียวกัน หนังสือเล่มนี้เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่างคนรากหญ้ากับกวี ศิลปิน กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองประชาธิปไตย
D คืออะไร คือ democracy คือประชาธิปไตยที่จริงแท้ ไม่บิดเบี้ยวบดบัง หรือ D deang คือสีแดง หรือ ดี คิดดี ทำดี เขียนดี หรือ ดี ภาษาลาวเรียก บี ของขมอร่อยช่วยย่อยสบายท้อง และหากแก่กล้าก็เป็น ดีหมี ดีมังกร อยู่ยงคงกะพัน” บรรณาธิการเขาว่าไว้ในตอนท้ายของเล่ม
เนื้อหาในเล่มก็หลากหลายทั้งแต่บทวิเคราะห์คนรากหญ้า บทสัมภาษณ์นักเพลง แท็กซี่รากหญ้า เรื่องราวของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องสั้นการเมือง บทกวีการเมือง การ์ตูนการเมือง บันทึกสงกรานต์เลือด จากเหวง โตจิราการ ฯลฯ
ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีสีแดงแสบซ่า หนึ่งในทีมงาน วิเคราะห์ถึงหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ไว้ว่า
“สำหรับยอดขายต่างๆ นั้น คนในวงการหนังสือเขาก็จะรู้สึกว่ามันร้อนแรงมาก แต่สำหรับผมที่เคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงมา หน่วยพันจากคนหลายหมื่น นับว่ายังน้อย”
อย่างไรก็ตาม ไม้หนึ่งมองว่า ขณะนี้ดูเหมือนจะมีหัวหนังสือคลอบคลุมทั้ง 4 ห้วงเวลาแล้ว ในส่วนของรายวัน จะเริ่มต้นด้วยอัตราขาดทุนสูง อาจมากเป็นสิบล้าน ที่ผ่านมายังไม่มีใครกล้าทุก จนกระทั่ง วีระลองออก ความจริงวันนี้มาชิมลางดู ส่วนรายสัปดาห์ก็มี Thai Red News รายปักษ์ก็มีธงแดง
“จุดหักเหของคนเสื้อแดงในด้านสื่อคือ ขอเพียงยืนข้างเขา เขาซื้อหมด ไม่ว่าจะหนังสืออะไร เพราะเขารู้สึกไม่มีพื้นที่ แต่ถ้ามองมุมของมาตรฐานหนังสือ บางเล่มก็ยังเน้นการพีอาร์ให้นักการเมืองเยอะเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพวกรายวันรายสัปดาห์ที่วางแผงทั่วไปจะมีลักษณะเชิงรุกทางการเมืองมากกว่า”
“จริงๆ อย่างเล่มความจริงวันนี้ ก็มีลักษณะที่ผลิตซ้ำ 2475 เล่มสองเขาจะเล่นเรื่อง นายสินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือสมัยคณะราษฎรปฏิวัติประเทศ ถ้าเล่นธีมนี้เรื่อยๆ จะดีมาก เพราะประวัติศาสตร์คณะราษฎรในฐานะปัจเจกบุคคลถูกทำลายหมด และแบบเรียนประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยอธิบายยกย่องพวกเขา”
“ขณะที่หนังสืออย่างธงแดง จะมีบุคลิกค่อนข้างใหม่ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ทำโดยกวี หน้าปกก็มีบทกวีขึ้น เป็นการทำสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อน”
“สถานการณ์ตอนนี้เป็นสถานการณ์สู้รบ มีดไม่จำเป็นต้องมีด้ามงา ขอเพียงมีคมเท่านั้นก็ใช้ได้ ดีแมกาซีน ยังอยู่ในจุดที่สวยงามสุด แต่มันเสียเวลา แทนที่จะออกได้เร็วกว่านี้ แต่เราก็เสียเวลาทำให้มีดมันสมบูรณ์สวยงาม”
หนังสือพิมพ์คนเสื้อแดง
รายเดือน เน้นระบบสมาชิกในพื้นที่กรุงเทพฯ หัวเมืองใหม่
ผลิตมาแล้ว 3 ฉบับ มีสมาชิกราว 1,000 คน
แนวทางเป็นพื้นที่แสดงความรู้สึกและข้อมูลคนเสื้อแดง ไม่ได้มุ่งโจมตีรัฐบาล
นำโดยเอกสิทธิ์ หมวกทอง โทร 02 9320583
นอกจากทำหนังสือพิมพ์แล้วยังมีซุ้ม "โพลล์" คนเสื้อแดง
ซึ่งคนทำระบุว่ารวมกลุ่มทำกันเองแบบเป็นวิชาการ
เพื่อสำรวจความคิด ความชอบ และการเข้าถึงสื่อของคนเสื้อแดง
คนการบินไทยระดมทุนพิมพ์วารสารแจกฟรี "แฉ"
คัดสรรเนื้อหาในโลกไซเบอร์สเปซมาตีพิมพ์
รับบริจาคตามจิตศรัทธา