โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา คุณdr_salum บอร์ดประชาไท
29 มิถุนายน 2552
ญาติของร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย ซึ่งสิ้นลมอย่างสงบเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา อันตรงกับวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 77 ปีพอดี ได้จัดพิธี"ฌาปณกิจศพ"อย่างเรียบง่ายแล้วเมื่อวานนี้(28มิ.ย.) จากนั้นจะนำอัฐิมาบรรจุกระดูกที่วัดประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เช่นเดียวกับผู้นำคณะราษฎร์สำคัญท่านอื่นๆ เช่น นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นต้น
ร.ท.กระจ่างจากไปอย่างสงบ รวมอายุ 98 ปี ซึ่งญาติได้นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ฌาปนกิจสถานเทศบาลนครยะลา มีพิธีรดน้ำศพ ในวันที่ 25 มิ.ย. เวลา 15.00 น. และได้ทำพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้
ผู้ใช้นามแฝงว่า dr_salumรายงานบรรยากาศการจัดงานฌาปณกิจศพว่า"ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินทางรอนแรมไปไกล
เพื่อร่วมงานนี้"และว่า พิธีฌาปณกิจเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีผู้มาร่วมงานราวไม่เกิน 100 คน บรรยากาศในงานมีพวงหรีดจากนักการเมืองรุ่นเก่า ๆ มาร่วม "ท่านผู้นี้ ก็คงจะเป็นที่จดจำของ คนไทยที่รักประชาธิปไตยไปอีกนาน"
เปิดเผยวีรกรรมขณะทำงานกู้ชาติกับเสรีไทย
หนังสือตำนานเสรีไทยบันทึกประวัติวีรกรรมของกระจ่างไว้ว่า เขาเกิดที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อพ.ศ.2456 เป็นบุตรนายนัฐ ตุลารักษ์ และเป็นน้องชายนายสงวน ตุลารักษ์ เอกอัคราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนแรก ได้รับการชักชวนจากพี่ชายให้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง24มิถุนายน2475 ขณะเป็นนักเรียนกฎหมาย ต่อมาได้รับราชการทหาร แล้วเดินทางไปปฏิบัติงานเสรีไทยที่ประเทศจีนกับคณะของพี่ชาย ภายหลังสงครามได้รับพระราชทานยศทหารเป็นร้อยโท
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่2สงบลง ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เขต1ขอนแก่น ต่อมาไปประกอบอาชีพส่วนตัวที่จ.ยะลา เปิดโรงเลื่อยไม้ที่บ้านกาบู ต.กายูบอเกาะ อ.รามัน และสมรสกับนางพวงเพ็ชร หรือ สวนเพ็ชร โกวิทยา อดีตนางงามท้องถิ่นจ.ปัตตานี มีบุตรธิดา 4 คน
บทบาทของการเป็นเสรีไทยที่สำคัญของกระจ่างเกิดขึ้นในช่วงที่ตอนแรกก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ภารกิจหลักคือการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจีน สหรัฐฯ และอังกฤษ เพื่อให้สัมพันธมิตรทราบว่ามีองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นโดยคนไทยผู้รักชาติได้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยแล้ว และต้องการร่วมมือกับสัมพันธมิตรในการต่อต้านญี่ปุ่น และจัดตั้งรัฐบาลพลักถิ่นขึ้นในต่างประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยพยายามดำเนินการเรื่องนี้มาแต่ต้น แต่เพิ่งจะสำเร็จเป็นครั้งแรกในต้นปี2486 เมื่อส่งนายจำกัด พลางกูรเล็ดลอดจากไทยไปถึงนครจุงกิง ประเทศจีน และสามารถติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ อย่างไรก้ตามตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม2486นายปรีดีไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากนายจำกัดเลย
นายปรีดีจึงตัดสินใจส่งอีกคณะนำโดยนายสงวน ตุลารักษ์เล็ดลอดออกจากไทยไปจีนเพื่อสืบข่าวนายจำกัด โดยมีกระจ่างร่วมคณะไปด้วย โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปโดยรถไฟถึงพระตะบอง เขมรเมื่อ14กรกฎาคม2486ไปถึงจุงกิงวันที่1กันยายนปีเดียวกัน ตลอดการเดินทางต้องเสี่ยงถูกญี่ปุ่น ซึ่งยึดครองประเทศอินโดจีนอยู่จับกุม โดยเฉพาะขณะเดินทางจากเมืองมองกาย ชายแดนเวียดนามเข้าสู่เมืองตงเฮงของจีนเมื่อ28กรกฎาคม2486 นายกระจ่างไปสืบที่แนวหน้าแล้วแนะนำคณะทั้งหมดปลอมตัวเป็นชาวเวียดนามเดินปะปนคนจีนถือกระจาดเหมือนพ่อค้าเข้าไปเพื่อตบตาญี่ปุ่น ส่วนนายกระจ่างเดินตัวเปล่าตามหลังไป
"เราเดินทางรอนแรมมาเป็นเวลาถึง1เดือนเต็มหลังจากออกประเทศไทยมา เป็นการเดินทางที่แสนทุรกันดารนั่งเกี้ยวและลงเรือสลับกันไป"นายสงวนพี่ชายนายกระจ่างบันทึกไว้ตอนหนึ่ง เมื่อถึงจีนได้ไปพำนักกับหมอสงวน ว่องวานิช นายห้างอังกฤษตรางูผู้ต่อต้านญี่ปุ่นถูกเนรเทศมาอยู่จีนระยะหนึ่ง จนคณะสามารถติดต่อกับนายจำกัดได้ในปลายเดือนกันยายน ก่อนที่นายจำกัดจะเสียชีวิตลงในวันที่7ตุลาคม นายกระจ่างเป็นผู้เก็บอัฐิไปลอยอังคารที่แม่น้ำแยงซีเกียง
................
จำกัด พลางกูร
นายจำกัดเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ในวัยเพียง26ปี กล่าวกันว่าเพราะภารกิจที่ตรากตรำเกินกว่ามนุษย์จะทนไหว เขากล่าววาจาสุดท้ายอย่างแผ่วเบาว่า"เพื่อชาติ--เพื่อhumanity..."
ทั้งนี้ก่อนรับภารกิจออกเดินทางมาจีนเพื่อติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรนายปรีดีให้โอวาทเขาว่า"เพื่อชาติ เพื่อhumanityนะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก45วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีก2ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป"..จำกัดเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมจากอ๊อกฟอร์ด เมื่อศึกษาจบเข้ารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการระยะหนึ่ง และถูกให้ออกจากราชการ เพราะทัศนคติต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในเวลานั้น เมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ได้เข้าร่วมกับปรีดีก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น
.............
จากนั้นเดินทางไปคุนหมิงเข้าฝึกอบรมการก่อวินาศกรรม การรับส่งวิทยุโดยรหัสลับ และการทหาร2เดือน จนต้นปี2487จึงเดินทางไปเมืองเจียงเฉิน ติดชายแดนเวียดนามอีก2เดือน แล้วเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนเมษายน2478 และไปตั้งสถานีวิทยุรับ-ส่งข่าวกับจุงกิงที่หลวงพระบาง ประเทศลาว
ต้นเดือนกรกฎาคม2487เดินทางถึงพรมแดนไทย-ลาว สามารถติดต่อกับเสรีไทยสายอีสานได้หลายคน และได้รายงานให้นายปรีดีทราบ
กระจ่างยังได้รับภารกิจนำไมโครฟิล์มบันทึกข้อความนัดหมายให้นายปรีดีจัดคยไปรับการขึ้นบกจากเรือดำน้ำของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษในปลายเดือนธันวาคม2486 ซึ่งม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทสวัสดิวัตทรงมอบให้แก่นายจำกัดไว้เมื่อเสด็จมาพบนายจำกัดที่จุงกิงในเดิอนสิงหาคม2486 แต่เนื่องจากนายกระจ่างยังไม่ได้เดินทางเข้าไทยจนกระทั่งปี2487 ดังนั้นเมื่อหน่วย"พริชาร์ด"ของกองกำลัง136 ซึ่งมีร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะเดินทางมาถึงโดยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษมาถึงฝั่งไทยที่จังหวัดพังงาตามวันเวลาที่นัดหมายไว้ในไมโครฟิลฺมดังกล่าว จึงไม่มีฝ่ายไทยไปรอรับ ทำให้ทางการอังกฤษต้องสั่งยกเลิกปฏิบัติการพริชาร์ดไปในที่สุด
ปลายทางผู้ร่วมก่อการ-ภาพป้ายสถานที่บรรจุอัฐิผู้นำคณะราษฎรที่วัดประชาธิปไตย(ในภาพเป็นที่บรรจุอัฐิพระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาทรงสุรเดช )รวมทั้งเคยเป็นสถานที่จัดงานฌาปณกิจท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปีที่แล้ว ญาติๆจะนำอัฐิของร.ท.กระจ่างมาบรรจุอัฐิที่วัดแห่งนี้
นางอภิลักษณ์ ลากชุ่มศรี อายุ 59 ปี ลูกสาว ร.ท.กระจ่าง เปิดเผยว่า หลังจากทำพิธีฌาปนกิจเสร็จแล้ว จะนำกระดูกไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม.(สำหรับวัดนี้มีชื่อในตอนแรกตั้งว่าวัดประชาธิปไตย เป็นที่เก็บอัฐิของคณะผู้ก่อการคณะราษฎร์หลายคน-ไทยอีนิวส์)
"การที่ท่านมาเสียชีวิตในวันที่24มิถุนายนนี้ รู้สึกแปลกดี รู้สึกว่าคุณพ่อคอยวันนี้ เพื่อนๆของคุณพ่อที่ไปร่วมงานวันลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ทราบหมด และได้มีการยืนไว้อาลัยให้ 1 นาที ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ก็ยืนไว้อาลัยให้ เพื่อนๆ ที่ กทม.รู้ข่าวนี้กันหมดแล้ว คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า เคยเข้าร่วมกับคณะราษฏร์ เมื่ออายุประมาณ 18 ปี ไปอยู่กับคุณลุงสงวน ตุลารักษ์ ” นางอภิลักษณ์ ลากชุ่มศรี กล่าว
บรรพชนปฏิวัติ-"สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเช้ามืด วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นทรัพย์สมบัติ ของประชาชนคนรุ่นหลัง"
กระจ่าง ตุลารักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสารสารคดีถึงเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 ซึ่งเขาเป็น1ในสมาชิกคณะผู้ก่อการ115คน ว่า
>....."ต่างคน ต่างเดินทางแยกย้ายไปตามจุดนัดหมาย ของตัวเอง ทุกหมู่เหล่า มีชาวบ้านอย่างเรา ไปอยู่ด้วย ถนนราชดำเนินตอนนั้น เงียบมาก พี่ชายบอกว่า เดี๋ยวมีคนเอาปืนมาให้ ผมคิดอย่างเดียวว่า ตั้งใจมาทำงานให้สำเร็จ เขาสู้ ก็สู้กับเขา ตายก็ตาย...
ส่วนคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเช้ามืด วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นทรัพย์สมบัติ ของประชาชนคนรุ่นหลัง"...
อ่านเพิ่มเติม:24มิถุนา2552 สืบกระแสธารบรรพชนปฏิวัติ )