บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โต้แย้งเอกสารประกอบการเรียน วิชาสาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเตรียมอุดมฯ

ที่มา Thai E-News



มายาภาพกับข้อเท็จจริง-การชุมนุมของคนเสื้อแดง(บน)กับคนเสื้อเหลือง(ล่าง)ซึ่งนอกจากสื่อกระแสหลักจะบิดเบือนแล้ว ยังปรากฎในตำราเรียนของเตรียมอุดมศึกษาอีกด้วย

โดย คนเสรี
29 มิถุนายน 2552

โดยภาพรวม ๆ แล้วเมื่อพิจารณาอ่านเอกสารประกอบการเรียนนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าแทนที่เอกสารนี้จะเป็นการนำเสนอ fact แต่กลับเป็นการเขียนเอกสารโดยใส่ความคิดเห็นของคณาจารย์เข้าไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นกลับเป็นความคิดเห็นที่เป็นความคิดเห็นเพียงฝ่ายเดียวเสียด้วย (ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)


บทความชิ้นนี้ผู้เขียนจัดทำขึ้นเนื่องมาจาก การได้อ่านเอกสารประกอบการเรียนวิชา “สาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ (ส 33101)” ที่มีคณะผู้จัดทำเป็นอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 5 ท่าน โดยได้มีผู้นำออกมาเผยแพร่ให้ดาวน์โหลด [1]

เมื่อผู้เขียนได้อ่านเนื้อหาจากหน้าที่ 158 ถึงหน้า 167 แล้วได้มีความเห็นแย้งกับคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ในหลาย ๆ จุด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้เด็กนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติได้รับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า fact แต่กลับเป็นสิ่งที่ได้ถูกเจือปนไปด้วยอคติของกลุ่มคณะอาจารย์ผู้จัดทำ จุดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา

ความไม่ถูกต้องของเอกสารประกอบการเรียนชิ้นนี้ ประกอบไปด้วยหลาย ๆ จุด จากมากบ้างน้อยบ้างเรียงกันไปดังนี้

1. การไม่ตรวจสอบข้อมูลชื่อบุคคลให้ถูกต้อง

ในเอกสารประกอบการเรียนชิ้นนี้มีการอ้างถึงชื่อบุคคลอยู่คนหนึ่งในหน้าที่ 159 คือ “นายบวรศักดิ์ สุวรรโณ[2] ตรงจุดนี้บุคคลคนนี้จริง ๆ แล้วมีการเขียนนามสกุลที่ไม่ถูกต้อง จริง ๆ แล้วจะต้องเป็น “นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ถึงจะถูกต้อง ซึ่งก็ไม่ทราบได้ว่าเหล่าคณาจารย์ไม่ทราบข้อมูลตรงส่วนนี้จริง ๆ หรือว่าเป็นการผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่หากเหล่าคณาจารย์เหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้อย่างแท้จริง และติดตามประวัติศาสตร์การเมืองอย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่น่าที่จะผิดพลาดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไปได้

2. ความมีอคติในการนำเสนอเนื้อหาระหว่างรัฐบาลสองรัฐบาล

ในหน้าที่ 158 หัวข้อ 24.6 มีการกล่าวว่าในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของทักษิณนั้น มีการปิดกั้นครอบงำวุฒิสภา องค์กรอิสระต่าง ๆ และปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน


ผู้เขียนจะไม่ขอโต้แย้งในจุดนี้ว่าจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะวิเคราะห์จุดตรงที่พิจารณาได้ว่าคณาจารย์มีความอคติลำเอียงก็ คือ ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเองนี้ มีการปิดกั้นคุกคามสื่อ มีการสกัดกั้นการออกอากาศของวิทยุชุมชน มีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ แต่น่าแปลกใจที่คณาจารย์เหล่านี้กลับมองไม่เห็น อย่างน้อย ๆ แล้วหากคณาจารย์เหล่านี้มีความเป็นธรรมในการเสนอข้อมูล ก็ควรที่จะนำเรื่องการปิดกั้นสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะใส่ไว้ในเอกสารประกอบการเรียนชิ้นนี้ด้วย

ในหน้าที่ 161 หัวข้อ 24.11 ในเอกสารประกอบแบบเรียนกล่าวเสมือนกลับว่า การบริหารราชการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น ได้รับความลำบากมากในการบริหารประเทศ เพราะมีการประท้วงของกลุ่ม น.ป.ช. รวมทั้งประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำลุกลามไปทั่วโลก


หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปในสมัยที่พันธมิตรออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของทักษิณแล้ว รัฐบาลทักษิณก็ย่อมมีความยากลำบากในการบริหารประเทศเช่นกัน แต่ในเอกสารประกอบการเรียนนี้กลับไม่กล่าวถึง กลับนำเสนอในทำนองว่าการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นการขับไล่รัฐบาลทักษิณ (ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลทักษิณนั้นมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน)

3. ความบิดเบือนของข้อเท็จจริงในเรื่องของการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร

ในหน้าที่ 163 หัวข้อที่ 25.1 มีการกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 2 รายจากการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาของกลุ่มพันธมิตรที่หน้ารัฐสภา


ตรงจุดนี้หากคณาจารย์มีจิตใจที่เป็นธรรมแล้ว ย่อมจะต้องนำผลการชันสูตรการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมทั้งสองคนนี้ เข้ามาบรรจุไว้ในเนื้อหาด้วย เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้วคณาจารย์ทำเสมือนกับว่าต้องการจงใจจะปกปิดถึงสาเหตุการเสียชีวิตของทั้งสองคนนี้ ถึงแม้ว่าการเสียชีวิตของน้องโบว์นั้นจะเป็นมีการโต้เถียงกันว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาหรือไม่ (ความเห็นของผู้เขียนเอง คือ น้องโบว์เสียชีวิตจากระเบิดปิงปองของการ์ดพันธมิตร - ขอให้ผู้อ่านรวมทั้งนักเรียนที่ได้อ่านลองศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม)

แต่สำหรับสารวัตรจ๊าบแล้วเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม และไม่ได้เสียชีวิตด้วยแก๊สน้ำตา เพราะสารวัตรจ๊าบนั้นเสียชีวิตด้วยระเบิด โดยตัวสารวัตรเองนั้นนั่งอยู่ในรถของตัวเอง แล้วรถคันนั้นมีการระเบิดขึ้น (ส่วนระเบิดในรถนั้นมาจากที่ใด ขอให้ผู้อ่านรวมทั้งนักเรียนที่ได้เข้ามาอ่านได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ก็คงจะเข้าใจอะไรได้ไม่ยาก) แค่จุดนี้ก็แสดงให้เห็นได้แล้วว่า คณาจารย์เหล่านี้จงใจที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องการสลายการชุมนุม

4. การบิดเบือนเรื่องการใช้กระสุนกระดาษสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ในหน้าที่ 167 นั้น หัวข้อที่ 25.2 ได้กล่าวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่ามีการสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนกระดาษนั้น


จุดนี้เป็นจุดที่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอย่างไม่น่าอภัย เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าได้มีการปรากฎตามสื่อต่างชาติ ทั้งรูปภาพคลิปวีดีโอ ว่าทหารใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากถูกกระสุนปืน M16 ยิงหลายราย ผู้เขียนไม่เข้าใจว่าในยุคสมัยอินเตอร์เนตนี้ ที่ข่าวสารยากที่จะปิดบัง รวมทั้งข่าวสารง่ายต่อการตรวจสอบ แต่ทำไมคณาจารย์เหล่านี้กลับทำเหมือนกับว่า จะบิดเบือนข้อมูลตรงจุดนี้ไปได้ง่าย ๆ หรือคณาจารย์เหล่านี้ยังคิดว่าประชาชนในสมัยนี้นั้นยังฉลาดน้อยเหมือนกับในสมัยก่อนอยู่

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ผู้เขียนหยิบยกเฉพาะประเด็นที่หลัก ๆ สำคัญ ๆ ออกมาโต้แย้งเหล่าคณาจารย์ แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายประเด็นนักแต่ผู้เขียนก็คิดว่าไม่อยากจะหยิบยกมาเป็นประเด็นมากจนเกินไปจนเหมือนกับเป็นการจับผิดไป แต่โดยภาพรวม ๆ แล้วเมื่อพิจารณาอ่านเอกสารประกอบการเรียนนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าแทนที่เอกสารนี้จะเป็นการนำเสนอ fact แต่กลับเป็นการเขียนเอกสารโดยใส่ความคิดเห็นของคณาจารย์เข้าไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นกลับเป็นความคิดเห็นที่เป็นความคิดเห็นเพียงฝ่ายเดียวเสียด้วย (ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

มาถึงจุดนี้ผู้เขียนก็ฉุกคิดขึ้นมาอีกหนึ่งเรื่อง คือ การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนของเรานั้น มีการบิดเบือนมาโดยตลอด หรือ อาจจะจงใจที่จะตัดประวัติศาสตร์บางตอนออกไปจากแบบเรียน โดยไม่ต้องการที่จะให้นักเรียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในบางช่วง ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่า

นับจากนี้ไป เราน่าจะที่ต้องร่วมกันรณณรงค์ในเรื่องของการบรรจุเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง นำเสนอแต่สิ่งที่เรียกว่า fact เข้าไปในเนื้อหาแบบเรียนให้นักเรียนได้ศึกษากันจริง ๆ จัง ๆ เสียที โดยอาจจะเริ่มจาก เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัย พ.ศ. 2475 ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชการที่ 8 เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์สมัย 6 ตุลาคม 2519

และถ้าจะให้ดีก็ควรที่จะเตรียมตัว ที่จะนำเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากนี้ไปอีกสัก 5 ปีเข้าบรรจุไว้ในแบบเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ด้วย เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลัง ๆ ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องกันเสียที
........

อ้างอิง
[1] http://www.thailandmirror.com/vlog/index.php/download
[2] http://www.pub-law.net/lect/dr_bwu.html

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker