ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน24/6/2552
ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีย่อมไม่เกิด
หมู่คณะและสังคมจะอยู่กันได้นั้นจะต้องอยู่กันโดยสันติ สามารถร่วมมือผนึกกำลังกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณนั้นการป้องกันการรุกรานจากภายนอก เป็นความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ความสามัคคีจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยความจำเป็นที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ขณะเดียวกันความสามัคคีก็เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่นอกจากจะต้องอยู่รวมกัน ร่วมมือร่วมใจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันนั้น ยังมีสิ่งที่เป็นนามธรรม กล่าวคือ ความสามัคคีเป็นคุณธรรมขั้นสูงที่มนุษย์ยินดีเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
การรวมกันโดยความสามัคคียังนำไปสู่การมีพลังอำนาจ สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งจากมนุษย์และจากธรรมชาติ มีคำกล่าวหนึ่งกล่าวว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ซึ่งหมายความว่า เพื่อรักษาความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ของชุมชน และของพรรคพวก จำเป็นต้องมีความสามัคคีเพื่อรักษาไว้ซึ่งความบริบูรณ์ของกลุ่มบุคคล ซึ่งถือเป็นพวกเดียวกัน แต่ในท่ามกลางการมีความสามัคคีนั้นจะต้องมีการสร้างวัฒนธรรมที่สามารถมองเห็นประโยชน์ของการรวมกันเป็นกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เห็นว่าการรวมกันเป็นกลุ่มโดยมีความสามัคคีนั้นไกลนอกเหนือจากผลประโยชน์ร่วมกัน หากแต่เป็นคุณสมบัติพิเศษที่จะอยู่ร่วมกันโดยอาจไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่เพื่อเกิดความรู้สึกเป็นชุมชน มีความอบอุ่น มีความสุขทางจิตใจ
อย่างไรก็ตาม ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องเป็นความสามัคคีที่อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน และควรจะมีลักษณะสร้างสรรค์ต่อสังคมของตน รวมทั้งการไม่เบียดเบียนรุกรานผู้อื่นด้วย เมื่อใดความสามัคคีนำไปสู่ความสูญเสียและทำลาย เกิดการแตกแยกในสังคม โดยความสามัคคีเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ ในสภาพเช่นนี้อาจทำลายชุมชนใหญ่ได้ หรือในกรณีที่สามัคคีร่วมมือกันกระทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ด้วยความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ก็จะทำลายจุดประสงค์หลักของความสามัคคี จนมีคำกล่าวว่า “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” “ รวมกันทำลาย แยกกันดีกว่า” ซึ่งหมายความว่า การรวมกลุ่มด้วยความสามัคคีเพื่อก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และกรณีเช่นนั้นแยกกันต่างคนต่างอยู่จะนำไปสู่ความเสียหายที่น้อยกว่าได้ สามัคคีจึงไม่ใช่รวมกันเพื่อทำลายแต่เพื่อสร้างสรรค์
แต่ความสามัคคีที่จะเป็นไปได้และมีความต่อเนื่องและยั่งยืนจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและความเป็นธรรม โดยผลประโยชน์ที่ได้นั้นจะต้องเฉลี่ยให้เกิดความพอใจกับทุกฝ่าย การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยกลไกต่างๆ ในสังคมจะต้องมีมาตรฐานที่คงเส้นคงวา ไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยมีสองมาตรฐาน จนเปลี่ยนหลักการเป็นหลักกู มุ่งแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก หรือกลุ่มของตนเท่านั้น ผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่ “พวกเขา และพวกเรา” ความยุติธรรม ความถูกต้อง กลายเป็นสิ่งซึ่งไม่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในคราที่มีความเห็นแตกต่าง มีจุดยืนที่แตกแยกไปจากกลุ่มของตน แม้จะถูกต้องก็รับไม่ได้ ผลสุดท้ายสังคมก็จะเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า เป็นสังคมพรรคพวกมากกว่าสังคมที่มีเหตุมีผล ในกรณีเช่นนี้การป่าวร้องให้มีความสามัคคีบนข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการต่างๆ ไม่มีความยุติธรรม และการปฏิบัติการขาดความชอบธรรม ความสามัคคีที่จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์ย่อมจะเกิดไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ การป่าวร้องซ้ำๆ ซากๆ เพื่อให้คนในสังคมเกิดความสามัคคีโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มีการเอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งในทางอำนาจ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่พึงประสงค์ทางสังคม ไม่สามารถกระจายไปทั่วถึง ตัวอย่างเช่น นายจ้างที่เอาเปรียบกดแรงงานค่าจ้าง จะคาดหวังให้คนงานมีความจงรักภักดีต่อบริษัท มีความสามัคคีระหว่างผู้บริหารกับผู้ใช้แรงงานย่อมเป็นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทรัพยากรทั้งหลายบนแผ่นดินที่เกิดโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการประดิษฐ์โดยมนุษย์ อาจจะมีความแตกต่างในแง่การแจกแจงเนื่องจากความขยันและความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน แต่ถ้าความแตกต่างนั้นเกินเลยไปถึงจุดที่ว่าผู้ได้เปรียบเป็นเสมือนเทวดา ส่วนผู้ซึ่งด้อยความรู้และปัญญาเป็นเสมือนยาจก การจะคาดหวังให้เกิดความสัมพันธ์ที่น่าชื่นชมของทั้งสองฝ่ายย่อมเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าในยุคใดทั้งสิ้น และนี่คือที่มาของทฤษฎีเรื่องความขัดแย้งทางสังคม ผลสุดท้ายความขัดแย้งทางสังคมมีสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ ความเหลื่อมล้ำในสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา นั่นคือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สถานะทางสังคม ซึ่งมีการแจกแจงอย่างไม่ยุติธรรม บนพื้นฐานของความไม่ยุติธรรมดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ที่จะนำไปสู่ความสามัคคี
ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว จะต้องมีการหาทางออกด้วยการสร้างระบบการแจกแจงที่จะทำให้ความรู้สึกแตกต่างของผู้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบบรรเทาลง และที่สำคัญที่สุดในกรณีของการมีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อใช้ทรัพยากรและการแจกแจงทรัพยากรมีความไม่เป็นธรรม และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องมีการวินิจฉัยตัดสินอย่างไม่เสมอภาคโดยมีสองมาตรฐาน บนพื้นฐานของความไม่ยุติธรรมดังกล่าวนี้ การป่าวร้องให้เกิดความสามัคคีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดหวังได้
สัจธรรมของสังคมมนุษย์ตั้งแต่โบรารณกาลมาแล้ว สรุปได้อย่างหนึ่งว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการรักใคร่ปรองดอง จะต้องทำให้สังคมนั้นมีความยุติธรรม ระบบการแจกแจงมีความเป็นธรรม ใครก็ตามที่เรียกร้องความสามัคคีจะต้องตระหนักข้อเท็จจริงที่ว่า
ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีย่อมไม่เกิด