วิทยา ตัณฑสุทธิ์24/6/2552
เมืองไทยเกิดอะไรขึ้น
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ได้เกิดเรื่องดีและร้ายพร้อมๆกัน ซึ่งทำให้ถามไถ่กันแซ่ดว่า นี่คือสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าจะเกิดวิกฤตระลอกใหม่หรือเปล่า เรื่องเหล่านี้ได้แก่
เรื่องดี วุฒิสภาลงมติคว่ำพระราชกำหนดขยายเพดานเก็บภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน ด้วยมติ 58-33 โดยอ้างว่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวยากเนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของการผลิตทุกชนิด
ต้องขอแสดงความชื่นชมและปรบมือให้ สว.ที่เห็นใจความทุกข์ของประชาชน มติครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลทุกประการ เพราะการที่รัฐบาลถังแตกแล้วหันมารีดเงินจากผู้ใช้น้ำมันด้วยการขึ้นภาษีพรวดเดียว 100 % คือจากลิตรละ 5 บาทเป็น 10 บาท เป็นเรื่องที่ทารุณเกินไป
ส่วนเรื่องร้ายก็คือ การสไตร๊ค์หยุดเดินรถไฟทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นักท่องเที่ยวต่างชาติเบื่อหน่ายอิดหนาระอาใจ บางคนก็็ไม่อยากมาเยือนเมืองไทยอีก
และเรื่องร้ายที่สองได้แก่ วุฒิสภาลงมติด้วยคะแนนเสียง 69-48 อนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เรื่องนี้ฝ่ายรัฐบาลสบาย แต่ประชาชนแบกหนี้ท่วมหัว
นั่นคือการลำดับเรื่องดีและร้ายที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2552 และกรณีพนักงานรถไฟสไตร๊ค์หยุดวิ่งทั่วประเทศ ได้ลุกลามไปถึงรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นเช่น การประปากับการไฟฟ้าที่ประกาศว่าจะร่วมวงสไตร๊ค์ด้วย
ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟบอกว่า ที่ต้องสไตร๊ค์ก็เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลขายกิจการให้แก่เอกชน ซึ่งแม้ผู้บริหารรถไฟจะอธิบายว่าการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยให้เอกชนบริหารจัดการก็เพื่อลดการขาดทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เอกชนไม่ได้ซื้อเอาไปทำเอง เพราะรัฐยังเป็นเจ้าของ 100 % เหมือนเดิม แต่แกนนำสหภาพรถไฟก็ไม่เชื่อ และหวาดระแวงว่าในอนาคตเอกชนจะเข้ามาฮุบกิจการทั้งหมด
เมื่อพูดไปกันคนละทางเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ขณะนี้รถไฟไทยขาดทุน 72,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริหารที่เป็นมาประสบความล้มเหลว ดังนั้นถ้าสหภาพแรงงานรถไฟไม่ยอมให้ปรับปรุงกิจการ แล้วเมื่อไหร่จึงจะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเหมือนประเทศอื่นๆ
สิ่งที่น่าคิดก็คือ รถไฟในยุโรปที่รัฐบาลบริหารในหลายประเทศ เคยประสบภาวะขาดทุนหนัก จนต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารในบางส่วน ซึ่งทำให้การบริการดีขึ้น และสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ในไม่กี่ปี ส่งผลให้พนักงานรถไฟมีรายได้สูง มีอนาคตก้าวหน้าและมีระบบสวัสดิการช่วยเหลือมากขึ้น
การสไตร๊ค์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณูปโภค เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายร้ายแรงพอๆกับการทำปฏิวัติรัฐประหาร หรือการปิดสนามบิน ดังนั้นเมื่อสหภาพรัฐวิสาหกิจเล่นบทแรงเช่นนี้จึงทำให้ต้องคิดกันหลายตลบ เพราะการสไตร๊ค์หยุดงานได้ทำให้มีแรงกระเพื่อมไปถึงคนกลุ่มต่างๆมากมาย
สิ่งที่เป็นข้อข้องใจสงสัยมีหลายประเด็นเช่น มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า เป็นการเล่นเกมเพื่อล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องแก่งแย่งผลประโยชน์ของนักลงทุนที่เป็นนักการเมือง
นั่นเป็นคำถามที่ต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และการสไตร๊ค์ครั้งนี้ทำกันแรง ซึ่งอาจส่งผลให้การเมืองพลิกเปลี่ยนไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง ก็ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์นี้คงไม่ทำประเทศไทยทรุดหนักจนหมดหนทางกอบกู้ให้ฟื้นคืนสภาพเดิม