ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
25 มิถุนายน 2552
มันคงไร้เหตุผลสิ้นดี ถ้านักธุรกิจจากทั่วโลกสามารถเข้ามาหาเงินในเมืองไทยได้อย่างสะดวก แล้วชาติพันธุ์พื้นเมืองกลับถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ในเมื่อทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ทำให้รัฐไทยเลิกตั้งคำถามต่อนักลงทุนว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" แล้วทำไมต้องถามชาวไร่ชาวนาตามป่าเขา ถามปัญญาชนที่คิดแตกต่างจากรัฐ หรือแม้แต่ถามผู้ใช้แรงงานจากประเทศบ้านด้วยคำถามแบบนี้
หมายเหตุไทยอีนิวส์:ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในการสัมมนาทางวิชาการ "70ปีสยามเป็นไทย" เรื่อง "พัฒนาการของรัฐกับความขัดแย้งภายในของชาวสยาม" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสเปลี่ยนแปลงการปกครอง24มิถุนายน2475ครบรอบ77ปี เมื่อวันที่24มิถุนายน2552 ดังมีความน่าสนใจดังต่อไปนี้
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในระยะหลังก็ทำให้อำนาจผูกขาดในการนิยามความเป็นชาติและปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมแห่งชาติลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อระบบการเมืองการปกครองของไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และสังคมไทยมีแนวโน้มเป็นเสรีนิยมมากกว่าเดิม การตรวจสอบท้าทายค่านิยม ตลอดจนบรรทัดฐานของความเป็นคนไทยที่รัฐกำหนดจึงมีโอกาสเกิดมากขึ้นเป็นธรรมดา ยังไม่ต้องพูดถึงการถอนตัวจากวัฒนธรรมแห่งชาติของคนรุ่นโลกาภิวัฒน์
พูดอีกแบบหนึ่ง คือ ในปัจจุบัน คนไทยเริ่มมีความคิดไม่ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความเป็นชาติและความเป็นไทย และการผูกขาดคำนิยามของจินตภาพเหล่านี้ นับวันจะทำได้ยากขึ้น
เพราะฉะนั้น ในระยะที่ผ่านมา ถ้าประเทศไทยไม่มีกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง(Conflict Resolution) ที่สอดคล้องกับสภาพพหุลักษณ์(Pluraism) ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเพียงพอ หรือถ้าหากยังมีการยืนกรานนิยามความเป็นชาติในแนวทางใดแนวหนึ่งอย่างตายตัว โดยไม่มีการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจนำไปสู่การปะทะรุนแรงระหว่างหมู่ชนที่ได้ชื่อว่าสังกัดชาติเดียวกันได้ทุกหนแห่ง
การขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้าไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตในต่างจังหวัดให้เกี่ยวโยงและขึ้นต่อระบบตลาดเท่านั้น หากยังจัดจำแนกชนชั้นในสังคมชนบทขึ้นมาใหม่ (Class Differentiation) ขณะที่ตัวเมืองต่างจังหวัดกลายเป็นศูนย์กลางการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเติบโตของชนชั้นกลางในภูมิภาค และการปรากฏขึ้นของชนชั้นนำใหม่ในท้องถิ่น(Local Elites) ซึ่งทุกวันนี้ชนชั้นนำและคนชั้นกลางในต่างจังหวัดอาจจะใช้ภาษาและมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับพวกเดียวกันในเมืองหลวงมากกว่าบรรดาชาวนาชาวไร่ที่อยู่ล้อมรอบพวกเขาเสียอีก
ระบบรัฐสภาไทยนั้นมีปัญหาหลายอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นนำจากภูมิภาคต่างๆเข้าสู่ศูนย์อำนาจ และโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง มวลชนที่เป็นฐานเสียงย่อมสามารถต่อรองเอาผลประโยชน์จากนักการเมืองได้บ้าง ด้วยเหตุนี้การมีอยู่ของผู้แทนและนักการเมืองต่างจังหวัดจึงเท่ากับมีคนกลางคอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐที่รวมศูนย์กับประชาชนระดับรากหญ้าอยู่ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือ สายสัมพันธ์นี้ได้ลดทอนความรู้สึกเป็น"คนนอก"ของภูมิภาคที่มีอัตลักษณ์ต่างจากเมืองหลวงและภาคกลางไปได้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการขยายตัวอย่างกว้างขวางของเศรษฐกิจทุนนิยม และการเข้าถึงเอเยนต์การเมืองในระบบรัฐสภาด้วยความสม่ำเสมอมากขึ้น โอกาสที่ประชาชนเหล่านี้จะแปลกแยกแตกหักกับรัฐก็มีอยู่ไม่น้อย ทั้งในรูปของการแยกดินแดน และการร่วมขบวนปฏิวัติของฝ่าย"ซ้าย" ซึ่งสถานะดังกล่าวทำให้ในสายตาของรัฐ อิสานนับเป็นปัญหาความมั่นคงอยู่พักใหญ่เลยทีเดียว
ปัญหาที่ตกค้างมาจากกระบวนการสร้างชาตินั้น มาถึงวันนี้อาจจะไม่ใช่ "เรื่องส่วนตัว" ระหว่างรัฐไทยและชาติไทยเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ทั้งตัวรัฐและประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองได้ถูกพลังอำนาจอื่นที่ไร้พรหมแดนเข้ามาดัดแปลงจนเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปไม่น้อย กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง
ที่นับว่าอันตรายก็คือ ขณะที่รัฐกำหนดสังคมไม่ได้เหมือนเดิมหรือเท่าเดิม ตัวสังคมเองก็แตกกระจายเป็นส่วนเสี้ยว ขาดการเชื่อมโยงกัน และยังไม่มีพลังพอที่จะพลิกฐานะมาควบคุมกำกับรัฐได้อย่างเป็นระบบเช่นกัน
อันที่จริง ก่อนเกิดวิกฤตพ.ศ.2540 และการเปิดเสรีทั่วด้านตามแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) การพัฒนาแบบไม่ทั่วถึง(Uneven Development) ก็ผลิตปัญหาโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ตัวรัฐชาติเองก็สูญเสียฐานะไปหลายส่วน และอาจจะควบคุมกำกับทิศทางการพัฒนาประเทศไม่ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เป็นแค่ประเด็นทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากยังมีนัยสั่นคลอนระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติอย่างลึกซึ้งถึงราก
ประการแรก จินตภาพเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนถูกกัดกร่อนให้อ่อนลง เนื่องจากพลังอำนาจจากนอกประเทศเข้ามามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐไทยได้ในสัดส่วนที่สูงมาก
ประการต่อมา แนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเองก็ถูกหักล้างไปมากเนื่องจากการเข้ามาผสมปนเปของผลประโยชน์ต่างชาติจนแยกไม่ออกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแท้จริงแล้วเป็นผลประโยชน์ของใคร อันนี้ไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแนวคิดผลประโยชน์แห่งชาติไม่ค่อยสมจริงมาตั้งแต่แรกแล้ว
และประการสุดท้าย ในเมื่อรัฐชาติ ไม่ว่าระบบใด ล้วนอาศัยจินตภาพเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ เมื่อมาถึงจุดนี้ ข้ออ้างดังกล่าวจึงขาดความหนักแน่นน่าเชื่อถือลงไปไม่น้อย กระทั่งเริ่มถูกคัดค้านถี่ขึ้นเรื่อยๆ
สภาพดังกล่าวหมายความว่าการสร้างฉันทานุมัติทางการเมือง(Political Consensus) จะกระทำโดยอาศัยข้ออ้างลอยๆเกี่ยวกับชาติไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งก็มีชนชั้นนำบางกลุ่มฝืนทำอยู่ หากจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มก้อนองค์กรต่างๆ จากภาคประชาชนหรือประชาสังคมมาตกลงกับรัฐหรือตกลงกันเองจึงจะแก้ปัญหาได้
เรื่องที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทุกวันนี้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์อำนาจยังคงพยายามจัดเระเบียบการปกครองตามกรอบคิดเก่าๆอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่สถานการณ์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทั้งระบบอำนาจนิยมนอกเครื่องแบบและระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยอำนาจรัฐแบบแนวดิ่ง ต่างก็ล้มเหลวในการดูแลบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ทางออกยังพอมีอยู่บ้าง ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ทางอำนาจได้ทันเวลา ซึ่งเราในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม พูดให้ชัดก็คือ
อันดับแรก ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ หรือที่ชอบเรียกว่าปฏิรูปการเมืองนั้น จุดเน้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่การปรับแบ่งพื้นที่ระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ แม้ว่าสิ่งนี้จะจำเป็น หากจะต้องเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคประชาชน อันประกอบด้วยประชาธิปไตยทางตรงของชุมชนรากหญ้า และบทบาทตรวจสอบของภาคประชาสังคมในเมืองมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐที่ถูกผูกมัดไว้กับอิทธิพลไร้พรหมแดนอย่างหนึ่ง กับเพื่อป้องกันตัวจากแรงอัดกระแทกของทุนนิยมข้ามชาติอีกอย่างหนึ่ง
อันดับต่อมา ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดความสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อำนาจลงบ้าง และหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบทางเลือก(Alternative) ของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น กล่าวคือ รัฐจะต้องเลิกวางแผนหากำไรให้คนส่วนน้อยในนามของคนทั้งชาติ หรืออย่างน้อยต้องเลิกใช้ข้ออ้างแบบนั้นเสียที รวมทั้งต้องกระหนักว่าการใช้อำนาจของรัฐชาติขับเคลื่อนการเติบโตแบบทุนนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง นับเป็นการใช้อำนาจทำร้ายพลเมืองส่วนใหญ่อย่างรุนแรงที่สุด เพราะมันมีผลให้การจัดสรรทรัพยากรไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง วิบากกรรมดังกล่าวส่งผลให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และนับวันยิ่งกลายเป็นเบี้ยทางการเมืองที่ถูกใช้ประโยชน์โดยชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ
ในขณะที่รัฐไทยมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาของระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น และมีลักษณะชาติน้อยลง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ไว้อย่างเต็มเปี่ยมจะยิ่งแก้ปัญหาภายในประเทศไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ช้าก็เร็ว จะต้องมีการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่ให้กับประชาสังคม สามารถกำกับรัฐและชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตน เพราะฉะนั้น มีแต่ต้องแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป เราจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้ในอนาคต คนไทยยุคหลังสมัยใหม่อาจจะกลับคล้ายชาวสยามในอดีต คือ มีอัตลักษณ์ ที่ผิดแผกแตกต่างกันทั้งประเทศ แต่ก็คงสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าพื้นที่การเมืองถูกจัดสรรไว้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
มันคงไร้เหตุผลสิ้นดี ถ้านักธุรกิจจากทั่วโลกสามารถเข้ามาหาเงินในเมืองไทยได้อย่างสะดวก แล้วชาติพันธุ์พื้นเมืองกลับถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ในเมื่อทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ทำให้รัฐไทยเลิกตั้งคำถามต่อนักลงทุนว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" แล้วทำไมต้องถามชาวไร่ชาวนาตามป่าเขา ถามปัญญาชนที่คิดแตกต่างจากรัฐ หรือแม้แต่ถามผู้ใช้แรงงานจากประเทศบ้านด้วยคำถามแบบนี้
ระเบียบอำนาจใหม่ในทิศทางดังกล่าวยังคงต้องอาศัยเวลาผลักดันให้ปรากฏเป็นจริง แต่แนวโน้มสถานการณ์หลังรัฐชาติหรือหลังสมัยใหม่ (Post Modernity) ก็นับว่าเปิดโอกาสให้ทิศทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางการเมืองใหม่ที่ไม่ได้เอารัฐเป็นตัวตั้ง หากถือมนุษยชาติ ชุมชนท้องถิ่น และปัจเจกภาพของปัจเจกบุคคลเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าประเด็นการเข้าถึงทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม ตัวตนทางวัฒนธรรม หรือคุณค่าความเป็นคน