บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

24 มิถุนา วันชาติ และตราสัญลักษณ์โทรทัศน์ไทย(1)

ที่มา Thai E-News

โดย อรรคพล สาตุ้ม
23 มิถุนายน 2552


สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 9 นั้น ในอดีต คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี"แล้วการจนถึงการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปดวงตาสีม่วง คือ โมเดิร์นไนน์ทีวี และกรณีตราสัญลักษณ์ ITV ทีวีเสรี-TITV และTPBS และในตอนที่2ของบทความกรณีตราสัญลักษณ์ NBT ถูกเปลี่ยนเป็นสทท.11 สัญลักษณ์มือถือหอยสังข์



วันชาติและตราสัญลักษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทยช่อง 4 หรือ ช่อง 9

สถานีโทรทัศน์ไทย คือ ทีวีช่อง 4 หรือ TTV (อังกฤษ: Thai Television Channel 4) นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท “ไทยโทรทัศน์” จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อันเป็นที่มาของชื่อสถานีฯ ที่รู้จักกันทั่วไปคือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และบรรดาข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ว่าต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีการส่งโทรทัศน์ในประเทศขึ้น ผู้นำรัฐบาลจึงได้ให้ “กรมประชาสัมพันธ์” จัดตั้ง โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ ต่อที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2493 และต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและตั้งงบประมาณขึ้น ในปี พ.ศ. 2494 และในระหว่างเดือนกันยายน- พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เหล่าข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 7 คน ได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินการส่งโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย

คณะผู้ก่อตั้งบริษัท มีอยู่ 7 คน ประกอบไปด้วย หลวงสารานุประพันธ์ , ขาบ กุญชร , ประสงค์ หงสนันทน์, เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และ เลื่อน พงษ์โสภณ หลังจากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 11 ล้านบาท และหน่วยงานภาครัฐแห่งอีก จำนวน 8 แห่ง ถือหุ้นมูลค่า 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท และวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี เมื่ออาคารดังกล่าวสร้างเสร็จ และติดตั้งเครื่องส่งแล้ว จึงมีพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 เมื่อวันศุกร์ที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติ และวันต้นไม้ประจำปีของชาติในสมัยนั้น

โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ในช่วงแรกมีการแพร่ภาพออกอากาศในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่มวันและเวลาออกอากาศมากขึ้นตามลำดับ โดยใช้เครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที และเพลงเปิดการออกอากาศของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ ในวันออกอากาศวันแรก ซึ่งระหว่างพ.ศ. 2495-พ.ศ. 2519 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูป “วิชชุประภาเทวี” หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือนางพญาแห่งสายฟ้า ประดับด้วยลายเมฆ และสายฟ้า อยู่ภายในรูปวงกลม ที่ออกแบบโดย กรมศิลปากร ซึ่งแสดงออกเป็นต้นแบบแห่งความเป็นทีวีไทย

ตราสัญลักษณ์ช่อง 4






จากช่อง 4 เปลี่ยนเป็นทีวีสีช่อง 9 และตราสัญลักษณ์

ช่วงเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 เมื่อท.ท.ท. ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และประมาณปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ออกอากาศจริงในราวปีพ.ศ. 2519 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ส่งผลทำให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย

และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 รัฐบาลภายใต้การนำของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท., M.C.O.T.) เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Channel 9) มาดำเนินการต่อ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท. โดยรัฐบาลมอบทุนประเดิม จำนวน 10 ล้านบาท

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท.ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 14 ไร่ ต่อมา ในราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการความรู้คือประทีป ในขณะนั้นตอบรับคำเชิญของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับบริษัท แปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ส่งผลให้คู่ผู้ประกาศข่าวที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ ดร.สมเกียรติ และนางสาวกรรณิกา ธรรมเกษร นั่นเอง

โดยต่อมาปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่า “แดนสนธยา” เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่นายแสงชัยก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ได้เป็นอย่างดี แต่แล้วนายแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต ระหว่างนั่งรถยนต์เดินทางกลับบ้านพัก ที่เมืองทองธานีถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหารนายแสงชัย ต่อมา นางอุบลถูกลอบสังหารเสียชีวิตบนรถยนต์ ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับนายแสงชัย

ซึ่งตั้งแต่พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา จะเห็นถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แดนสนธยา และบริบทพัฒนาการของการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบต่อทวีไทย


พัฒนาการช่อง4 หรือ ช่อง9 จากอดีต-ปัจจุบัน

กระนั้น หลังจากที่สถานีได้เปลี่ยนไปออกอากาศในระบบวีเอชเอฟ ทางช่อง 9 แล้ว จึงได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในเป็นรูปคลื่นกระจายสัญญาณ โดยฝั่งซ้ายมีสีที่กระจายอยู่ 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ อยู่ภายในวงกลมสีเหลือง ซึ่งอยู่ฝั่งขวา แต่อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์นี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้นๆ ก่อนจะโอนกิจการไปเป็นของ อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2520 แล้วไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปกรอบจอโทรทัศน์ ภายในแบ่งเป็นแถบเส้นโค้งสามแถบ ก็มีสามแม่สีแสง คือ แดง เขียว น้ำเงิน และตัวเลข 9 สีดำ ทับอยู่ใจกลางสัญลักษณ์ ทั้งหมดเดินเส้นด้วยสีขาว และมีเส้นขอบสีดำอยู่ภายนอกสุด แต่ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 อ.ส.ม.ท. ได้จัดตั้งขึ้น ก็ได้มีการเพิ่มคำย่อของหน่วยงานว่า อ.ส.ม.ท. ประทับไว้อยู่ข้างล่างสุดของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งแสดงออกการเปลี่ยนแปลงของทีวีขาว-ดำ สู่การเชื่อมโยง แม่สีทางแสงประกอบด้วย สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน โดยผ่านยุคประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นเอง

กำเนิดสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และตราสัญลักษณ์

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ถือกำเนิดขึ้นจากดำริของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในขณะนั้น ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการรายงานเสนอข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงทั้งหมด และเพื่อทันต่อเทคโนโลยี การสื่อสารของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเป็นการปราศจากความเป็นแดนสนธยาภายในองค์กรอีกด้วย และวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแล อ.ส.ม.ท. และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เป็นสักขีพยาน

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานีเป็นรูปดวงตาสีม่วง คือ โมเดิร์นไนน์ทีวี มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปวงกลม มีเส้นตัดกันอยู่ทางซ้ายมือ แทนลูกโลก ทางขวามือมีตัวเลข 9 สีม่วงซ่อนอยู่ ด้านบนมีเส้นโค้งสีเทา ลักษณะโดยรวมคล้ายดวงตา ด้านล่างมีตัวอักษรย่อ “MCOT” หรือ “อสมท” สีส้ม เดินเส้นขอบสีเทา กำกับอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นตราแรก ก่อนที่ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย จะถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา และการปรับรูปแบบการนำเสนอเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่มข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึงประกาศเพิ่มความสัมพันธ์ และเพิ่มบทบาทให้กับเครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น โดยได้เริ่มออกอากาศตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นมา

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจนการควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จากกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5ของประเทศ มีประชากรใน ขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้จัดให้มีรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ในด้านต่างๆ นำเสนอในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) เพื่อให้ผู้ชมได้รับข่าวสาร และความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และมุ่งหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน

แม้ปัจจุบัน ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จะเปลี่ยนเป็น โมเดิร์นไนน์ทีวีแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเรียกโมเดิร์นไนน์ทีวีว่า “ช่อง 9” แทนคำว่า โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน เนื่องจากเรียกง่ายๆ เป็นตัวเลขส่งระบบวีเอชเอฟและเป็นชื่อเดิมของสถานี ซึ่งมาจากคำว่า “ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.” และความเป็นสมัยใหม่ของทีวีไทย ซึ่งต้องการตอบสนองการบริโภคความเป็นไทย หลังวิกฤติการณ์ทางการเมืองปี2535-รัฐธรรมนูญปี 2540-วิกฤติเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ โดยนำเสนอผ่านตราสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวทางออกแบบใหม่เพื่อแบรนด์ของทีวี และต่อมาความขัดแย้งทางการเมืองสงครามสื่อกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยกลุ่มสื่อเครือผู้จัดการ(ASTV) จนถึงช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นรัฐประหารในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะและขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ข่าวการรัฐประหารโดยได้พยายามติดต่อช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อการออกโทรทัศน์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมไว้ จึงทำให้การออกโทรทัศน์ไม่ได้ และมีการโฟนอินไปยังช่อง 9 ประกาศใช้ พ.ร.ก สถานการณ์ฉุกเฉิน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งนั่นก็เป็นผลสืบเนื่องต่อปัญหาทางการเมืองไทย และจะอธิบายถึงตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย

กรณีตราสัญลักษณ์ ITV ทีวีเสรี-TITV และTPBS : วิกฤติทับซ้อนทางเศรษฐศาสตร์การเมืองความเป็นไทย

เมื่อปัญหาทางการเมืองของระบอบทักษิณดังกล่าว ที่มีจากตัวอย่างของช่อง 9 เกี่ยวเนื่องช่วงระยะเวลาทับซ้อนมาโดยมองผ่านไอทีวี ซึ่งนำเสนอความเป็นทีวีเสรี แตกต่างจากช่อง 3,5 ,7 และมิติเวลาการเกิดช่อง ITV (อังกฤษ: Independent Television ชื่อย่อ: itv) หลังจากยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล้อมรอบด้วยฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์ในยุคที่มีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 และ17พฤษภาคม 2535 โดยสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือกำเนิดจากดำริของรัฐบาลในสมัยที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้สู่ประชาชน

โดยเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยในโครงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าวนั้น ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งไว้ว่า ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งสามารถบิดเบือนการนำเสนอข่าว ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ ประชาชนจึงไม่สามารถรับรู้ข่าวที่ทหารเข้าปราบปรามประชาชนในช่วงนั้นได้ ประจวบเหมาะกับการที่มีเสียงเรียกร้องของประชาชน ให้รัฐบาลใช้นโยบายจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าว เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง และรายการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้นมา แต่ก็พบกับปัญหาว่า ไอทีวี ถูกแทรกแซงสื่อโดยกลุ่มทุนชินวัตร เข้าไปถือหุ้นส่วนของไอทีวี ต่อมาถึงการประสบปัญหาการขาดทุนในการบริหารงาน

อนึ่ง ทำให้เกิดเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของ ITV และเปลี่ยนชื่อเป็นTITV-TPBS คือ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ จัดตั้งพร้อมองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดตั้ง สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในปี 2550 ขณะนั้น ซึ่งหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ต้องการจะนำช่องสัญญาณระบบยูเอชเอฟ ออกอากาศช่อง 29 ซึ่งเดิมเป็นสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ถูกสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรียึดคืนสัมปทาน หลังจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับสัมปทาน และบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ไม่ชำระค่าสัมปทาน และค่าปรับกว่า 97,000 ล้านบาท โดยนำช่องสัญญาณนี้มาจัดทำเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ

นับเป็นมิติใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนไทย ภายหลังจากที่แนวความคิดของ สถานีโทรทัศน์เสรี ล้มเหลว ทั้งนี้ ส.ส.ท. ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยได้เข้ามาบริหารคลื่นความถี่ช่อง 29 ซึ่งเป็นของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ก็ดำเนินการสถานีโทรทัศน์เป็นการชั่วคราว และได้เตรียมความพร้อมเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ (หรือชื่อในขณะนั้นคือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) จะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังจากผ่านการทดลองออกอากาศเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งตราสัญลักษณ์ของTPBS ก็ผ่านการประกวดคล้ายคลึงกับกรณี ตราสัญลักษณ์ของ ช่อง 11 โดยการประกวดอัตลักษณ์ของสถานีฯ ขึ้นใหม่ อันได้แก่ สัญลักษณ์ (Logo) และ Interlude ของทางสถานี



ตราสัญลักษณ์ iTV-TITV-TPBS





ผลการประกวดดังกล่าวได้ตัดสินให้แบบของทีม KITWIN ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแนวคิดในการออกแบบคือความเป็นอิสระ โดยใช้นกเป็นเครื่องหมายของความมีอิสระ ประกอบกับอักษรไทยคำว่า “ไทย” และมีอักษรภาษาอังกฤษคำว่า “ThaiPBS” กำกับที่ตอนบน และตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยได้แถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการประกาศเปลี่ยนชื่อสถานีโทรทัศน์เป็น ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 และเริ่มใช้อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

โดยต่อมา เนื่องจากมีผู้ชมจำนวนมากเกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อสถานีว่า ควรจะอ่านว่า ไทยพีบีเอส หรือทีวีไทย หรือไทยทีวี ทำให้ทางองค์การฯ ได้ปรับปรุงตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยทำออกมาเป็น 3 รูปแบบ คือตราสัญลักษณ์ขององค์การฯ ตราสัญลักษณ์ของทีวีไทย และตราสัญลักษณ์ของวิทยุไทย โดยมีกำหนดเปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่ในวันที่ 15 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งองค์การฯ

ทั้งนี้ ในส่วนของสัญลักษณ์ใหม่ที่องค์การฯ จะใช้ ยังคงอัตลักษณ์ของทีม KITWIN ซึ่งเป็นภาพนกสีส้มกำลังกระพือปีกบินไว้เช่นเดิม แต่จะปรับปรุงส่วนหัวของนกเป็นสีส้ม เช่นเดียวกับส่วนปีก เพื่อแยกสัญลักษณ์รูปนก กับตัวอักษร ย ในคำว่า ไทย ออกจากกัน แล้วนำชื่อของสถานีฯ ทีวีไทย ประทับอยู่ส่วนล่างสุดของตรา โดยใช้สีส้มที่เข้มขึ้นกว่าสีในตราเดิม โดยเป็นตราที่จะใช้ร่วมกับ ส.ส.ท. และวิทยุไทย ซึ่งจะเปลี่ยนเพียงตัวอักษรส่วนล่างของตราเท่านั้นและได้มีการเพิ่มตัวอักษร “thaipbs.or.th” ลงไปบริเวณด้านล่างของตราสัญลักษณ์ที่ใช้ออกอากาศเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์เวปไซต์ของทางสถานี

ดังนั้น ความซับซ้อนของความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การแสวงหาอัตลักษณ์ของตราสัญลักษณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งของบริบททางการเมือง รวมทั้งการเกิดกรณี PTV-ASTVและกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งจะสะท้อนผ่านช่อง 11 ด้วย โดยการสร้างอัตลักษณ์ของตราสัญลักษณ์จากไอทีวี ซึ่งไม่เคยปรากฏคำว่า “ไทย”มาก่อนกลายเป็นตราสัญลักษณ์ ที่มีคำว่าไทย( Thai PBS) จุดเปลี่ยนทางประวัติความเป็นมาของทีวีไทย

ดังนั้น สถานการณ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งบ่งบอกรับรู้ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เหมือนกับกำเนิดของช่อง 4 และพัฒนาการเป็นช่อง 9 จนกระทั่งถึงตราสัญลักษณ์ช่อง 3, 5, 7 ซึ่งไม่มีวิกฤติของการออกแบบเพื่อความเป็นไทยแบบช่องไทยพีบีเอส นั้นเอง......................

เอกสารอ้างอิง

i ช่อง 9 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki และดูเพิ่มเติม ตำนานโทรทัศน์กับจำนง รังสิกุล และสินิทธ์ สิทธิรักษ์ กำเนิดโทรทัศน์ไทย (พ.ศ. 2493-2500)วันที่ 24 มิ.ย. 2498 โดยสินิทธ์ สิทธิรักษ์ ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า จอมพลป. มักเกี่ยวข้องกับวันชาติด้านเทคโนโลยี สื่อ 24 มิ.ย. 2494 เปิดสถานีวิทยุ 10 กิโลวัตต์ และ 24 มิ.ย. 2496 วิทยุ 50 กิโลวัตต์ เป็นต้น
ii สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนาถึง 5 ธันวา” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2547: 72-121
iii อรรคพล สาตุ้ม “24 มิถุนา , 28 กรกฏา,14-6ตุลา,4 ธันวา-10 ธันวา”และ Young PAD ที่มา http://www.prachatai.com
ivช่อง 9 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki เพิ่งอ้าง
v รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker