(1)
สำหรับคนทั่วไปแล้ว คงเรียกเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิ.ย. ของเมื่อ 77 ปีก่อนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ถูกพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน [1] ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เรียกเช่นนั้น
เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นี้คราใด ความคิดในหัวช่วงประถม-มัธยมก็มักผูกโยงให้คิดถึงการ ‘ปฏิรูปการปกครอง’ และการ ‘เลิกทาส’ สมัย ร.5 กับการจัดตั้งเมืองจำลองประชาธิปไตย ‘ดุสิตธานี’ สมัย ร.6 และเป็นความประสงค์ของ ร.7 ท่านอยู่แล้วที่เตรียมจะ ‘พระราชทานรัฐธรรมนูญ’ ให้แก่พสกนิกรชาวไทยในสักวันหนึ่งเข้าด้วยกันเสมอ ผมเชื่อเช่นนั้นมาตลอดว่าทั้งสามเหตุการณ์เป็นผลเชื่อมโยงถึงกัน แต่ถึงกระนั้นก็มาเกิดการยึดอำนาจของ “คณะราษฎร” ขึ้นเสียก่อน ทว่าพระองค์ก็ยินยอมพร้อมใจและให้ความร่วมมือด้วยดี รูปธรรมคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง [2]
พอโตขึ้นมาหน่อยได้เข้าเรียนด้านรัฐศาสตร์ ระดับ ป.ตรี อาจารย์แกก็พยายามอธิบายให้เห็นว่า นั่นถือเป็นประชาธิปไตยที่ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยัง ‘ไม่พร้อม’ มันจึงนำมาซึ่งการเมืองอันล้มเหลวในเวลาต่อมา[3] แน่ละ ผมเริ่มชักไม่แน่ใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ผมเคยรู้มาก็ระหว่างเรียน ป.โท นี่แหละ เนื่องจากอาจารย์วิชาการเมืองการปกครองไทยท่านนี้สั่งให้ไปอ่านหนังสือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475[4] บางบทมา ซึ่งต้องยอมรับว่างานชิ้นนี้ได้เปิดแง่มุมใหม่ๆ ให้ผมขบคิดมากมาย เป็นต้นว่ายืนยันว่าการปฏิวัติสยามเป็นสิ่งที่ควรเกิดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งสิ้น, สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของกลุ่มปัญญาชน ข้าราชการระดับกลาง คนชั้นระดับกลางและล่างว่าได้มีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันในการเรียกร้องเพื่อบั่นทอนหลักการยึดถือ ชาติกำเนิด เป็นใหญ่ก่อนหน้านั้นมานานพอควร, ผลลัพธ์ที่ได้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แตกแยก และบาดหมางใจภายในผู้นำส่วนต่างๆ ตามมา
อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นผมก็ยังคงเห็นว่าเหตุการณ์นี้นั้นเกิดขึ้นจากความพยายามโดยคนกลุ่มเดียว ซึ่งเป็น ชนชั้นนำ (Elite) โดยที่ ประชาชน (Followership) ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเลย คณะราษฎรมิได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ทั่วทั้งประเทศ แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่เป็น ผู้นำ (Leadership) ในระบบราชการ (ทั้งข้าราชการทหารและพลเรือน) เป็นการดึงเอาอำนาจจากมือ ‘เจ้า’ มาเป็นของเหล่า ‘อำมาตย์’ เท่านั้น สอดคล้องกับเหตุผลของ ร.7 ในข้อความตอนท้ายๆ ของพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อ 2 มี.ค. 2477 ความว่า“…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…” ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็คงคุ้ยเคยกันดี [5]
และแม้นผมจะจดจำ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ได้มานานแล้ว [6] แต่ผมก็ไม่เคยได้อ่าน ‘ที่มา’ แบบเต็มๆ เสียที จวบจนมาถึงยุคอินเตอร์เน็ตฟูเฟื่อง ผมถึงมีโอกาสได้ ‘อ่าน’ ในสิ่งที่ไม่มีทางจะได้เห็นใน ‘โลกจริง’ สมัยนี้เป็นอันขาด [7] ผมคล้อยตามสิ่งที่นครินทร์เคยย้ำ มันควรเกิดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเข้าใจ ‘สาเหตุ’ ผลักดันว่าเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นเพราะความล้มเหลว ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจของระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์เองนั่นหล่ะที่เป็น ‘ตัวการ’ จริงๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการมาของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (คปค.) และผ่องถ่ายอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ‘ดีที่สุด’ เรียบร้อยโรงเรียน “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) แล้วนั้น ความคิดผมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้อ่านบทความขนาดยาว “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร”: การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และ ‘อึ้ง’ กับประโยคจั่วหัวตรงไปตรงมาว่า “ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน… ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่นาน [8]
(2)
เท่าที่พอจำได้ ผมมาได้ยินคำว่าปฏิวัติครั้งแรกก็เมื่อตอน 23 ก.พ. 2534 เข้าให้แล้ว จากข่าวด่วนทางโทรทัศน์ ซึ่งใช้คำนี้เรียกการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทว่าภายหลังผมถึงได้รู้ว่าการเรียกเช่นนี้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากเอาเข้าจริงแล้ว การปฏิวัติ (Revolution) หมายถึง การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล การเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารบ้านเมือง เช่น ปฏิวัติการปกครอง [9] (ทว่าปรีดี พนมยงค์ใช้คำว่า อภิวัฒน์ เรียกแทน) การปฏิวัติใหญ่ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันของโลก ได้แก่ การปฏิวัติรัสเซีย ถึงสองครั้งในปีเดียว เมื่อช่วงปี ค.ศ.1917 การปฏิวัติจีน ปี ค.ศ.1949 การปฏิวัติคิวบา ในปี ค.ศ.1959 เป็นต้นดังนั้น สิ่งที่ รสช. กระทำ ในทางวิชาการถือเป็น การรัฐประหาร แค่นั้น ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Coup (อ่านว่า คู) ย่อมาจาก Coup d’ État (อ่านว่า คูเดะทา) ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน หรือการใช้กำลังยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล [10] รัฐประหารครั้งสำคัญๆ อย่างเช่น กรณีของยูกานดาโดยอีดี อามิน เมื่อปี ค.ศ.1971 หรือกรณีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟของปากีสถานในช่วงก่อนสหัสวรรษใหม่ เมื่อปี 1999 ฯลฯ
อาจกล่าวได้ว่า เรามักจะใช้คำว่าปฏิวัติปะปนกันกับคำว่ารัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง แม้อันที่จริง การปฏิวัตินับเป็น “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยครั้งนัก เพราะจะต้องโค่นล้มลงทั้งระบบ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ ทั้งที่เป็นระบอบการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา และระบบสังคมโดยรวม เช่น เปลี่ยนจากราชอาณาจักร (Kingdom) ไปสู่สาธารณรัฐ (Republic) ขณะที่การรัฐประหารนั้น จะมีวัตถุประสงค์อยู่เฉพาะที่การเปลี่ยนตัวหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ เพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่อยู่ภายใต้อาณัติผู้ก่อการรัฐประหารขึ้นมาแทน จึงมีแต่ตัวผู้นำและคณะผู้นำเท่านั้นที่ต้องเปลี่ยนแปลง
ด้วยเหตุนี้เอง เหตุการณ์ในเช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย. 2475 จึงนับเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงเพียงหนเดียวที่เคยเกิดขึ้นในบริบทการเมืองไทยการยึดอำนาจโดยการใช้กำลังในครั้งต่อๆ มา ถือว่าเป็นเพียงการทำรัฐประหารทั้งนั้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึง 10 ครั้งในประเทศไทย [11] แต่มีข้อสังเกตคือ คณะผู้ก่อการรัฐประหารหลายๆ คราวถึงกับประกาศตัวเองว่าเป็นคณะปฏิวัติและออกประกาศคณะปฏิวัติให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเลยทีเดียว อย่างในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์หรือจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งแง่หนึ่งย่อมเท่ากับเป็นการลดความสำคัญของคำนี้ลงอย่างราบคาบ จนกลายเป็นคำธรรมดาสามัญที่ใช้เรียกแทนการยึดอำนาจซะทุกครั้ง ทั้งที่คำๆ นี้ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากนัก
(3)
หากเปรียบเทียบความสำคัญของ “การปฏิวัติ 2475” กับเหตุการณ์ ‘นองเลือด’ ทางการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา’16, 6 ตุลา’19, พฤษภาทมิฬ’35 คำตอบก็ยิ่งแจ่มชัดว่าวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วันนี้ได้ถูกทำให้คลายความสำคัญลงและแทบจะหมดความหมายไปเลย ทั้งๆ ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้รัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดเพื่อจำกัดอำนาจผู้ปกครอง และกำหนดให้กษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐภายใต้ขอบเขตแห่งกฎหมายแท้ๆ ขณะที่ทั้งสามเหตุการณ์หลังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นข่าวเป็นภาพในสื่อสารมวลชนกระแสหลักทุกปี แต่กิจกรรมแด่วันที่ 24 มิ.ย. ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับ ‘น้อย’ และ ‘เงียบ’ ผิดกันลิบลับ ถ้าอธิบายโดยแผนภูมิเส้นกราฟก็คงเป็นเส้นกราฟที่พุ่งขึ้นฮวบฮาบในช่วงต้น ค่อยๆ ตกลงมาเรื่อยๆ และราบแบนยาวนาน ก่อนที่มาเริ่มกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในห้วงหลัง แบ่งเป็นยุคๆ ดังนี้
(1) 2475-2500 ในช่วงแรกที่คนของคณะราษฎรยังคงมีบทบาททางการเมือง วันที่ 24 มิ.ย. นับว่ามีความสำคัญ และแสดงนัยทางการเมืองหลายหลาก ถูกกำหนดให้เป็น วันชาติ ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าคณะราษฎร) เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีเพลงชาติ (ฉบับ 24 มิถุนา) จัดงานเฉลิมฉลองวันชาติยิ่งใหญ่ รวมทั้งกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการอีกด้วย
(2) 2500-2549 หลังจากที่คนของคณะราษฎรสิ้นสุดบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง พร้อมๆ กับเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการปฏิวัติ 2475 ซึ่งถูกทำลายลงโดยน้ำมือของเผด็จการทหารหลังจากนั้น เริ่มต้นจากการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ทำการยึดอำนาจในปี 2500 ต่อมารัฐบาลได้ออกมติให้ยกเลิก วันชาติ ตามติดๆ ด้วยการประกาศยกเลิกการหยุดราชการในวันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปี กิจกรรมที่อาจจัดขึ้นบ้างเพื่อระลึกถึงวันๆ นี้ล้วนแล้วแต่รู้กันในวงแคบๆ ผู้คนสมัยนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราก็เคยมีวันชาติอย่างหลายๆ ประเทศมาแล้ว
(3) 2549-??? ภายหลังจาก คปค. ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาด้วยชัยชนะในการ ‘เลือกตั้ง’ ชนิดถล่มทลาย แน่ละ วันที่ 24 มิ.ย. เริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตย และกลับมีพลังอีกครั้งในปีนี้ ดูได้จากกิจกรรมต่างๆ นานาที่กำลังจะเกิดขึ้นสารพัด [12] รวมทั้งยังมีข้อเสนอทำนองให้เปลี่ยนแปลง วันชาติ อีกด้วย เพราะอะไร? ถึงแม้นการสืบทอดอำนาจของ คมช. อาจสะดุดลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชต่อเนื่องรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ในที่สุดเกมอำนาจนี้สถานการณ์ก็พลิกกลับ กระทั่งตกมาถึงมือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งจนได้นั่นเอง
แน่นอนที่สุด การให้ความหมายและความสำคัญต่อวันๆ นี้ ย่อมผกผันไปตามสถานการณ์การเมือง ถ้าถามว่านัยของ 24 มิ.ย. 2475 ณ เวลานี้คืออะไร? หากตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงหมายถึง ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” (Turning Point) สำคัญที่สุดสำหรับประเทศนี้ ซึ่งเขา ‘กล้า’ ที่จะยืนยันหลักที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย เป็นครั้งแรก เพื่อให้เราฝ่าข้ามไปให้ถึงในโลกแห่งความเป็นจริง แม้นประชาธิปไตยในแบบที่คณะราษฎรปรารถนาให้เกิดขึ้นนั้นจะไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมไทยมาก่อนเลยก็ตามที
(4)
ครั้งหนึ่งผมเคยถามยายว่า ตอนที่เขาปฏิวัติกันที่กรุงเทพฯ (พ.ศ.2475) ยายพอจะรู้เรื่องไหม (ตอนนั้นยายอายุราว 10 ขวบ) ยายตอบว่าไม่รู้เลย และไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ทั้งบอกว่าการติดต่อไปมาหาสู่กันสมัยนั้นยากลำบาก ถนนหนทางยังไม่ดีเหมืือนสมัยนี้จะไปกรุงเทพฯ ก็ต้องไปทางเรือ ใช้เวลาเป็นเดือนๆ
ยายผมเป็นคน อ.เถิน จ.ลำปาง เคยเป็นลูกเสือชาวบ้าน ยายติดข่าวตอนสองทุ่มมากๆ แกเคารพบูชาในสิ่งที่ได้เห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ และมักย้ำเตือนด้วยการแสดงออกให้ผมเห็นอยู่เสมอ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวันนี้ถ้ายายยังอยู่ แกจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อบ้างหรือไม่ และเข้าใจความสำคัญของการปฏิิวัติครั้งกระนั้นแล้วหรือยัง?
ยายจากผมไปเมื่อ 12 ก.ค. 2548 ก่อนที่การ “รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในอีกหนึ่งปีเศษข้างหน้าจะมาถึง…
เชิงอรรถ
[1] จากการสำรวจแบบเร็วๆ พบว่าไม่มีหนังสือเรียนวิชาสังคม/ประวัติศาสตร์ในหลักสูตรปัจจุบัน (ไล่ตั้งแต่ชั้นประถมต้นจนถึงมัธยมปลาย) แม้แต่เล่มเดียวที่เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้โดยใช้คำว่าปฏิวัติ แทบทั้งหมดใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองแทน
[2] ภายหลังจึงทราบว่า พระองค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระในร่างธรรมนูญของคณะราษฎร แต่ขอแก้ไขเรื่องเดียว โดยเขียนคำว่า ‘ชั่วคราว’ เพิ่มเข้าไปก่อนจะทรงลงพระนามให้ใช้เป็น“พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” โปรดดูประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากในบันทึกความทรงจำของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ (เขียน), เออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (แปล), การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2550).
[3] อ่านข้อโต้แย้งที่มีต่อประเด็นนี้ของ ใจ อึ๊งภากรณ์: 24 มิ.ย. 2475 นิยายและความจริง http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24767
[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535).
[5] พึงพิจารณาภูมิหลังของเอกสารคลาสิกชิ้นนี้จาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7: ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2544), หน้า 20-30.
[6] ในตำราเรียนระดับมัธยมศึกษาบางเล่มที่เอ่ยถึงหลักข้างต้นก็ได้ตัดข้อความที่ขีดเส้นใต้ต่อไปนี้ออก
ข้อ 4) จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
[7] โปรดดู ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ใน http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=11&s_id=19&d_id=19
[8] ณัฐพล ใจจริง, ““คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร”: การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2551, หน้า 104-146.
[9] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542, (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2546), หน้า 648.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 941.
[11] ดังเกิดขึ้นในปี 2476, 2490, 2494, 2500, 2501, 2514, 2519, 2520, 2534 และล่าสุดปี 2549 โดยพยายามจงใจที่จะ ‘ลืม’ รัฐประหารครั้งแรก ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาทำการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน 2476 ไป อ้างใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในประเทศไทย” ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษ รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 221-228.
[12] ดู ปฏิทินกิจกรรมรำลึกวันชาติ 24มิถุนากระหึ่มทั้งประเทศ ใน http://thaienews.blogspot.com/2009/06/24_6825.html