องค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมากว่า ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน มีเฉพาะเงินปันผลค่าหุ้นจำนวน 6,890 กว่าล้านบาท และเงินที่ขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 39,400 กว่าล้านบาท รวม 46,373 กว่าล้านบาท พร้อมดอกผลของเงินจำนวนดังกล่าว
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ศาลฎีกา หลังจากองค์คณะผู้พิพากษาได้อ่านคำวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนครบถ้วนแล้วนั้น ได้มีการสรุปประเด็นสุดท้ายว่า เงินที่ได้มานั้นได้มาโดยสมควรและจะต้องตกเป็นของแผ่นดินตามที่ผู้ร้องได้ร้องหรือไม่ โดยศาลระบุว่า เมื่อการดำเนินการทั้งหมดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปและบริษัทในเครือ ย่อมทำให้ได้รับผลกำไร และมีปันผลกำไรตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงปรากฏแก่บุคคลทั่วไปถึงความมั่นคงของกิจการก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้สนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เงินปันผลค่าหุ้นและเงินค่าขายหุ้นให้เทมาเส็กจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้อำนาจหน้าที่ในระหว่างดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ตามปะกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และกฎหมาย ป.ป.ช. แต่โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 (คุณหญิงพจมาน ณ ป้องเพ็ชร) ได้รับเงินดังกล่าวมาตามการสมรส ศาลจะสั่งให้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่
ศาลเห็นว่า การรับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินไม่ว่ากรรมสิทธิ์เดี่ยวหรือร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรส คดีนี้ได้ความจากการไต่สวนว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ถือรวมกันนั้นเป็นจำนวนมาก และดำเนินกิจการมีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดมา ดังที่มีผู้ให้การว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักบริหาร ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ดูแลจัดการด้านการเงินและทรัพย์สินทั้งหมด ตอนจัดตั้งแอมเพิลริช และขายหุ้นชินคอร์ปนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้ออกเงินซื้อหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน แล้วผู้ถูกกล่าวหาจึงค่อยคืนเงินในภายหลัง นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ยังมีส่วนร่วมละเมิดข้อห้ามการเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ 2, 3, 5 อันเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาในการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันตลอดมา เมื่อฟังว่าเงินปันผลค่าหุ้น และการขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กได้มาโดยไม่สมควรเสียแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่อาจอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อรับการคุ้มครองสิทธิได้
ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย ส่วนเงินดังกล่าวต้องตกเป็นของแผ่นดินเพียงใด เห็นว่า
กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 4 ให้ความหมายของคำร้องขอให้เงินเป็นของแผ่นดินมี 2 กรณี คือ “ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ” หมายถึงทรัพย์สินที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองและหลังออกจากตำแหน่งมีการเพิ่มผิดปกติ หรือมีหนี้ลดลงผิดปกติ ส่วน “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายถึงการมีทรัพสินมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า มูลคดีของการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนี้แยกได้เป็น 2 กรณี เมื่อเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นก่อนเข้าดำรงตำแหน่งและยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติ หรือหนี้ลดลงผิดปกติ หรือไม่ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรหรือไม่ ที่ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 ค้านว่า ก่อนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีวาระแรก ทั้งสองมีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. รวม 1.51 หมื่นกว่าล้านบาท จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินในส่วนนี้ตกเป็นของแผ่นดินได้
เห็นว่า คตส.ดำเนินการไต่สวน ผู้ร้องได้กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียในบริษัทชินคอร์ปแล้วใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปและบริษัทในเครือ จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีอยู่ในกรณีหลัง อีกทั้งทางไต่สวนของ คตส.และคำร้องของผู้ร้องก็ไม่ได้มีคำขอบังคับไปยังทรัพย์สินอื่น ศาลจึงไม่ต้องพิจารณาตามคำคัดค้านดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ยังต้องพิจารณาต่อว่า เงินปันผลและเงินที่ได้จากการขายหุ้นโดยไม่สมควรทั้งจำนวนหรือไม่ หากพิจาณาความหมายของคำว่า ทรัพย์สินเพิ่มผิดปกติ ร่ำรวยผิดปกติ ไม่ว่ามูลคดีจะเป็นกรณีใด ทรัพย์สินอันจะนำมาพิจารณาย่อมต้องเป็นทรัพย์สินนอกเหนือจากผู้ดำรงตำแหน่งมีอยู่แล้ว อันอยู่ในความหมายธรรมดาของการร่ำรวยผิดปกติ
สำหรับเงินปันผล เป็นส่วนของกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของชินคอร์ปบางส่วน และได้จากเงินปันผลจากบริษัทเอไอเอส บริษัทไทยคมบางส่ยวน ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มานอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว และต้องตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวน ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นเงินที่มีมูลค่าเดิมของหุ้นอยู่ด้วย ทรัพย์สินที่นอกเหนือคือราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ถ้าตกเป็นแผ่นดินทั้งหมดย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ผู้ถูกล่าวหา และผู้คัดค้านที่1 หาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยให้ผู้คัดค้านที่ 2-5 ถือหุ้นชินคอร์ปไว้แทน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจในฐานะนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปและบริษัทในเครือ ย่อมไม่เป็นการสมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะได้รับประโยชน์ที่เป็นผลมาจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนั้น จึงถือว่าประโยชน์จากราคาหุ้นชินคอร์ปส่วนที่เพิ่ม นับตั้งแต่วันก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรก 7 ก.พ.44 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจให้ตำแหน่งหน้าที่ เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ศ.7 ปรากฏว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในปี 44 นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของหุ้น 1,419 ล้านหุ้นคิดเป็นเงิน 30,247 กว่าล้านบาท อันถือเป็นทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่แต่เดิมและไม่อาจให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้องได้
องค์คณะฯ จึงมีมติเสียงข้างมากว่า ทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน มีเฉพาะเงินปันผลค่าหุ้นจำนวน 6,890 กว่าล้านบาท และเงินที่ขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 39,400 กว่าล้านบาท รวม 46,373 กว่าล้านบาท พร้อมดอกผลของเงินจำนวนดังกล่าว
ปัญหาประการสุดท้ายคือ มีเหตุที่ศาลต้องเพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส.ตามคำคัดค้านหรือไม่ คตส.มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดบางส่วนแล้ว ศาลไม่ต้องพิจารณา ส่วนผู้คัดค้านอื่นอีกนั้น เงินปันผลและเงินได้จากการขายหุ้น 4.6 หมื่นล้านนั้นพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อพิจารณารายการทรัพย์สินที่ คตส.อายัดของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2-5 ผู้ที่ถือหุ้นแทนแล้ว ปรากฏว่า มีจำนวนเพียงพอกับที่ศาลให้ตกเป็นของแผ่นดิน จึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำคัดค้านอื่นให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ของ คตส.อีกต่อไป
ศาลพิพากษาว่า ให้เงินที่ได้จากการขายหุ้น และเงินปันผลจำนวน 46,373 กว่าล้านบาทพร้อมดอกผล เฉพาะดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันฝากเงินตกเป็นของแผ่นดิน โดยบังคับเอาบัญชีธนาคารบางส่วนตามที่กรรมการตรวจสอบได้อายัดไว้ หากไม่พอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นที่อายัดไว้ได้อีก หากได้เงินครบแล้ว ให้ถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินอื่น