บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โอกาสเดียว 'ยึด' และ 'ยึดหมด' : ข่าวคดียึดทรัพย์ในสายตานักข่าวเทศ

ที่มา ประชาไท

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย


(ที่มาของภาพ: มังกรดำ) ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถือเป็นการกลับเมืองไทยครั้งแรกนับตั้งแต่เขาออกจากประเทศไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติและเกิดการรัฐประหารโค่นอำนาจเขาเมื่อ 19 กันยายน 2549 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 เขาเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้งโดยไม่กลับมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ดินรัชดา ล่าสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทอีกคดี นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สื่อทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย

000

สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับข่าวการเมืองในไทยกันหนาแน่นตลอดสัปดาห์นี้ ยิ่งใกล้วันศุกร์ วันที่สื่อทั้งหลายเรียกมันว่า judgement day มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลงข่าวและบทวิเคราะห์กันคึกคักมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของการรายงานของสื่อนอกเน้นหนักไปที่สองเรื่องใหญ่คือ แนวทางของคำพิพากษาที่จะออกมา กับผลสะเทือนทางการเมืองจากการตัดสินหนนี้ ทั้งต่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศชี้ไปในทางทิศทางคล้ายกันว่าวันศุกร์นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีน่าจะถูกตัดสินยึดทรัพย์เป็นแม่นมั่น channelnewsasis.com รายงานภายใต้หัวข้อ Thailand braces itself ahead of Thaksin verdict บอกว่าคดียึดทรัพย์กลายเป็นปัญหาเข้าทำนองกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของไทย เพราะไม่ว่าจะรับมืออย่างไรก็ดูจะมีแต่เสียกับเสีย Federico Ferrara นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ความเห็นกับสื่อรายนี้ว่า ถ้าศาลสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกเขาจะเจอเสียงวิจารณ์ว่าสองมาตรฐาน แต่ถ้าไม่ยึดสถานการณ์อาจจะยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกเพราะจะไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่มาหรือยืนยันความชอบธรรมของการทำรัฐประหารโค่น พ.ต.ท.ทักษิณลงจากอำนาจแต่แรกได้ นักวิชาการรายนี้บอกว่าหากจะทำอย่างนั้น ทางที่ดีก็ควรจะขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับเมืองไทย คืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ไปเลยอาจจะดีกว่า

สำนักข่าว Bloomberg ดูจะรายงานสอดคล้องกันในประเด็นเรื่องการยึดทรัพย์ รายงานหัวข้อ Thai Verdict on Thaksin’s Billions Unnerves Society เมื่อ 24 ก.พ. อ้างความเห็นคุณสุวัฒน์ บำรุงจตุดม นักวิเคราะห์ของบัวหลวงเซคเคียวริตี้ที่วิเคราะห์สถานการณ์เอาไว้ในรายงานของบริษัทว่า คำตัดสินน่าจะออกมาในรูปถูกยึดทรัพย์แน่นอนเพราะไม่เช่นนั้นคงทำให้เกิดคำถามมากหลายโดยเฉพาะกับความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้

000

ส่วน Sydney Morning Herald โดย Ben Doherty อ้างความเห็นนักวิเคราะห์ไทยบอกว่าโอกาสที่จะไม่ถูกยึดทรัพย์มีน้อยมาก แม้แต่การยึดแค่บางส่วนก็ยังแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะการตัดสินเช่นนั้นรังแต่จะทำให้ทุกฝ่ายคับข้องไม่พอใจไปหมด หนังสือพิมพ์ยังอ้างความเห็นของอาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ชี้ว่า ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีเองและปรปักษ์ไม่มีใครจะพอใจกับการได้มาแบบครึ่งๆกลางๆ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เองหากเสียบางส่วนก็ย่อมจะอยากได้คืนทั้งหมดรวมทั้งอำนาจทางการเมือง ขณะที่ปรปักษ์การเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็มองว่าคดียึดทรัพย์หนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการประหารทางการเมืองที่จะต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังกล่าวเอาไว้อีกว่า เหตุการณ์วันที่ 26 ก.พ. นี้ไม่ใช่โอกาสในอันที่จะยุติศึกความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดง แต่เป็นเรื่องที่จะกระพือความแตกแยกในสังคมไทยให้ร้าวลึกหนักยิ่งขึ้นและยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดความรุนแรงระลอกใหม่มากกว่า ที่ที่มีการเสริมการป้องกันอย่างแข็งขันก็คือกรุงเทพฯ กำลังทหารและตำรวจต่างเตรียมพร้อมเพื่อรักษาความปลอดภัย สื่อรายนี้บอกว่า คนจำนวนมากเห็นว่าความขัดแย้งจะดำรงอยู่ รวมทั้งสุริยะใส กะตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ปรปักษ์ทางการเมืองของอดีตนายรัฐมนตรีเองก็มองเช่นนี้

000

นอกจากนั้นสื่อต่างประเทศก็เน้นรายงานไปที่ประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่บอกว่ากระทบกระเทือนแล้วเพราะนักลงทุนถอยห่างหรือไม่ก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆ Bloomberg อ้างความเห็นนาย Burkhard P. Varnholt จาก Bank Sarasin & Co บอกว่าแม้ไทยจะเป็นตลาดที่น่าสนใจแค่ไหน แต่ตอนนี้ต้องเลี่ยงตลาดนี้ไว้ก่อนในฐานะนักลงทุน Channel News Asia อ้างคำพูดของนาย Nordor von der Luehe ประธานสภาหอการค้าต่างประเทศในไทยบอกว่า ปัญหาการเมืองเป็นตัวขัดขวางทำให้ไทยไม่สามารถฉวยประโยชน์จากโอกาสที่มีมาถึงในขณะนี้ได้ รายงานบอกเช่นกันว่า มีน้อยคนนักที่จะเชื่อว่าการตัดสินของศาลหนนี้จะยุติศึกการเมืองในไทยได้

แต่ขณะที่รายงานข่าวของสื่อระบุไปในทิศทางนี้ ก็ยังมีสื่อบางรายที่ไม่ได้เล่นข่าวประเทศไทยจะตกเหวตามกระแส Financial Times โดย Tim Johnson รายงานว่า นักลงทุนต่างประเทศในไทยดูจะไม่ค่อยยี่หระมากนัก ในรายงาน Investors shrug off Thai political drama ของเขาซึ่งพาดพิงเอาไว้อย่างชวนให้คนเบื่อสื่อไทยสะใจว่าในช่วงนี้ “คนอ่าน นสพ.ไทยคงช่วยไม่ได้ที่จะได้ความรู้สึกว่า ประเทศนี้กำลังจะเจอสงครามล้างโลก Armageddon”

ทว่านักลงทุนต่างชาติดูจะมีวิธีคิดที่แตกต่าง ตลาดหุ้นยังไม่ได้ดิ่งเหว นักธุรกิจต่างประเทศอย่างนาย Yuhei Ohmi แห่ง Japan Bank of International Cooperation ในไทยบอกว่าวิกฤติการเมืองในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ คนไทยเองก็เป็นคนที่ระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเงิน และมีความสามารถในการรับมือปัญหา แล้วก็บอกว่า นักลงทุนประเภทที่อยากเห็นสถานที่ที่ตนไปลงทุนมั่นคงไร้ปัญหาเห็นท่าจะต้องเลี่ยงเมืองไทย คนที่จะสนใจเมืองไทยตอนนี้ จะต้องเป็นคนที่เข้าใจว่าประเทศนี้ “ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา” รายงานบอกว่าทั้งๆ ที่เจอปัญหาการเมืองแบบนี้ บวกกับเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ แต่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยก็ยังรักษาอัตราขยายตัวไว้ได้ระดับคงที่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนาย David Nardone จาก Hemaraj Land and Development บอกว่า ตอนนี้นักลงทุนหน้าใหม่ต่างชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ปัญหาที่รายงานชิ้นนี้ระบุถึงว่าเป็นอุปสรรคการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติกลับเป็นเรื่องปัญหาการชะลอการลงทุนที่มาบตาพุดที่สะดุดเพราะเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker