เรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 4.6 หมื่นล้าน ที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านรอกรมสรรพากรเก็บภาษี เผลอๆ ถ้ามีการฟ้องแพ่งข้อหาทำให้รัฐเสียหายตามมา ที่ว่า “ยึดไม่หมด” ก็อาจกลายเป็นถูกริบจนหมดตูดและติดหนี้หัวโตอีกต่างหาก
ผมจะไม่พูดถึงประเด็นที่ว่า เหตุใดศาลจึงตีมูลค่าคืนให้เฉพาะราคาหุ้นเมื่อปี 2544 ก่อนเป็นนายกฯ โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นตามความเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป กลับถือเสียว่ามูลค่าหุ้นที่เพิ่มมาจากการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์เสียหมด เพราะประเด็นนี้คงเป็นที่ถกเถียงกันเยอะแล้ว
ผมจะไม่พูดถึง 5 ประเด็นที่ศาลเห็นพ้องกับ คตส. เพราะผมได้แสดงความเห็นแล้ว ในการตั้งคำถามคุณสฤณีและคุณสมเกียรติ
แต่ผมอยากพูดถึง “ทฤษฎีใหม่” ในการใช้และตีความกฎหมาย
คำถามง่ายๆ ที่ทุกคนไม่ได้ถามในการที่ ปปช.และ คตส.ยื่นฟ้องคดีนี้คือ เหตุใดคุณไม่แยก 5 ประเด็นที่กล่าวหาว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ ฟ้องเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พร้อมกับฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายฐานทำให้รัฐเสียประโยชน์
แต่ ปปช.กับ คตส. กลับยื่นฟ้องโดยเอาทั้ง 5 ประเด็นมารวมว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์จนทำให้ตนเองร่ำรวยผิดปกติ ถือว่าได้ประโยชน์มาโดยมิชอบจากการดำรงตำแหน่ง ให้ยึดทรัพย์
เพราะอะไรครับ ก็เพราะการเอาผิดตามมาตรา 157 ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนตามองค์ประกอบของกฎหมายอาญา สมมติเช่น คุณตั้งข้อกล่าวหาว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ ในกรณีที่ ทศท.แก้ไขสัญญาลดค่าตอบแทนให้เอไอเอส ถ้าจะเอาทักษิณเข้าคุก คุณต้องพิสูจน์ว่าทักษิณเข้าไปสั่งการ มีพยานหลักฐาน แม้ไม่ถึงขั้นเอกสาร (ใบเสร็จ) คุณก็ต้องมีหลักฐานแวดล้อมพอสมควร
เชื่อขนมกินได้ ถ้าฟ้องอาญา 157 ทักษิณหลุดหมด เหมือนที่เนวินหลุด อาจมีข้อหาเดียวคือเงินกู้พม่า ที่มีสุรเกียรติ์เป็นพยานปากเอก ปปช.และ คตส.จึงแยกฟ้องเฉพาะประเด็นนี้ประเด็นเดียว
แต่การเอาผิดตามกฎหมาย ปปช. ต่างกัน เพราะเป็นการเอาผิดตาม “ทฤษฎีใหม่” ในการใช้และตีความกฎหมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้ตีความได้กว้างกว่า ไม่ต้องเคร่งครัดเหมือนการใช้ประมวลกฎหมายอาญา
ลองกลับไปอ่านคำพิพากษาก็ได้ว่า “กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 4 ให้ความหมายของคำร้องขอให้เงินเป็นของแผ่นดินมี 2 กรณี คือ “ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ” หมายถึงทรัพย์สินที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองและหลัง ออกจากตำแหน่งมีการเพิ่มผิดปกติ หรือมีหนี้ลดลงผิดปกติ ส่วน “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายถึงการมีทรัพสินมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง”
มีตรงไหนบอกว่าทุจริต มีแต่บอกว่าได้มา “โดยไม่สมควร”
หมายความว่าอะไร หมายความว่าศาลไม่ต้องพิสูจน์ว่าทุจริต แต่เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างกว่าว่า อะไรคือ “ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง”
ซึ่งองค์คณะเสียงข้างมาก ก็วินิจฉัยฉับๆ ทั้ง 5 ประเด็นว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปฯ และทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะนายกฯ จากนั้นก็สรุปว่าคำฟ้องทั้ง 5 กรณีเป็นใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง
ดูตัวอย่างประเด็นแก้สัญญาเอไอเอส
“...การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหลัก ด้วยการนำค่าใช้จ่าย ค่าเครือข่ายร่วม ซึ่งบริษัท เอไอเอส จะต้องรับผิดชอบตามสัญญา มาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ย่อมเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทศท. ที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการใช้บริการของลูกค้าเท่าจำนวนครั้งต่อนาทีที่มีการใช้บริการเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายอื่น นับจากวันที่สัญญาแก้ไขมีผลบังคับ เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนเมษายน 2551 ปรากฏจากรายงานการตรวจสอบว่า บริษัท เอไอเอส ใช้เครือข่ายร่วม 13,283,420,483 นาที คิดเป็นเงิน 6,960,359,401 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับจากการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบด้วยสัญญาหลัก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แท้จริงอยู่ในบริษัท ชินคอร์ป และในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว...”
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง! ไม่มีตรงไหนบอกว่าทุจริตนะครับ แต่ศาลวินิจฉัยว่า 1.เป็นการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบ โดยบรรยายถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ 2.เกิดขึ้นในขณะที่ทักษิณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นนายกฯพร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปสั่งการหรือไม่
หรือเอาอีกตอนหนึ่ง
“....องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคม จึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐ โดยไม่สมควร....”
ศาลวินิจฉัยว่า “เอื้อประโยชน์...โดยไม่สมควร”
การยึดทรัพย์ครั้งนี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนคำตัดสินว่าทุจริต ซึ่งคล้ายกับที่เคยยึดทรัพย์สฤษดิ์ ถนอม ประภาส แต่ตอนยึดทรัพย์สฤษดิ์ ถนอมใช้อำนาจเผด็จการ ตอนยึดทรัพย์ถนอม ประภาส ใช้อำนาจนายกฯ (อ.สัญญา) ตาม ม.17 ไม่ได้ใช้อำนาจศาล (ถนอม ประภาส จึงได้แก่ตายโดยไม่ติดคุก) ต่างกับที่ศาล (โดย อ.สัญญา) ตัดสินยึดทรัพย์พล.อ.ชำนาญ นิลวิเศษ โดยตัดสินว่าทุจริต ติดคุกด้วย แม้แต่รักเกียรติก็ติดคุกด้วย
ย้อนกลับไปที่ผมตั้งคำถามคุณสฤณี อันที่จริงผมเดาไว้ก่อนแล้วละว่าศาลไม่เอาตัวเลขที่คุณสฤณีอุตส่าห์คำนวณมาใช้หรอก เพราะเท่ากับศาลจะต้องลงไปวินิจฉัยในรายละเอียดแต่ละประเด็น ซึ่งกฎหมาย ปปช.ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
สังเกตไหมครับว่าแม้ศาลจะวินิจฉัยบางประเด็นว่าทำให้รัฐเสียหายเท่าไหร่ แต่ศาลก็ไม่ได้เอาความเสียหายนั้นมารวมแล้วหัก อย่างที่คุณสฤณีคิด (ประเด็น พรก.ภาษีสรรพสามิตก็ไม่ระบุความเสียหาย เพราะการส่งเงินเข้ารัฐไม่ได้ลดลง และการกีดกันอย่างคุณสมเกียรติพูด มันไม่เห็นเป็นรูปธรรม จึงระบุไม่ได้)
เพราะฐานการวินิจฉัยตามกฎหมาย ปปช. ไม่ต้องลงไปวินิจฉัยแต่ละประเด็น ซึ่งอันที่จริงถ้าแยกเป็นคดีก็จะสู้กันยาวเหยียด และวินิจฉัยยาวเหยียดเป็นวันเช่นกัน
สิ่งที่ศาลอธิบายทั้ง 5 ประเด็นจึงเป็นเรื่องความไม่สมควร คือมีพฤติกรรมที่เห็นว่าชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือได้ประโยชน์ ในขณะที่ทักษิณเป็นนายกฯ แต่มิได้ลงลึกพิสูจน์ว่าทักษิณสั่งการจริงหรือไม่ และมิได้ไต่สวนสืบสาวแยกแยะ ว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลองค์ประกอบอื่นหรือไม่ เพราะบางเรื่องเช่น พรก.ภาษีสรรพสามิต เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่แม้ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์ แต่ก็มีเหตุผลเชิงนโยบายที่โต้แย้งกันได้ว่ามีทั้งด้านดีด้านเสีย เช่นถ้ายอมรับว่ารัฐบาลมีนโยบายจะเอา ทศท. กสท.เข้าตลาดหุ้น การแปรค่าสัมปทานมาเป็นภาษีสรรพสามิตก็จำเป็น
เมื่อไม่แยกแยะการตัดสินใจเชิงนโยบายให้ชัดเจน ต่อไป นักการเมืองที่มาจากตระกูลธุรกิจก็ให้ระวัง ไม่ว่าคุณจะมาจากตระกูลโสภณพนิช ล่ำซำ พรรณเชษฐ์ ฯลฯ หรือว่าเขยซีพี เพราะการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐต้องให้คุณให้โทษแก่ธุรกิจทั้งสิ้น
ผมยังคิดเล่นๆว่า ถ้าศาลใช้ตัวเลขคุณสฤณี ก็จะมีเรื่องยุ่งอีกเยอะ คือต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชินคอร์ป ที่วันนี้เป็นของสิงคโปร์โตก จะเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต เพราะกระทบถึงผู้ถือหุ้นรายย่อย และถ้าตีความว่ามติ ครม.ให้หักภาษีออกจากค่าสัมปทาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไปถึงดีแทค ทรู ตลาดหุ้นเละเลย
แต่ฐานการวินิจฉัยตามกฎหมาย ปปช.แบบนี้ ไม่ต้องเอาตัวเลขของคุณสฤณีไปใช้ เพราะศาลใช้การสรุปพฤติกรรมโดยรวมว่า ได้ประโยชน์โดยไม่สมควร ฉะนั้น ก็มีช้อยซ์ให้เลือกเพียงว่า จะยึดหมดตามทฤษฎีวัวกินหญ้า ยึดแค่หลังปี 44 หรือยอมบวกมูลค่าเพิ่มจากความเติบโตทางเศรษฐกิจ (แต่ศาลไม่เลือกข้อหลัง)
พูดตามตรงนะ ถ้าศาลยกฟ้อง ปล่อยให้ทักษิณได้เงินคืนหมด ผมก็คงตะขิดตะขวงใจเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่าคือการแยกฟ้องแต่ละคดี แล้วมีคำตัดสินที่ชัดเจนในแต่ละคดี ต่อให้ไม่สามารถพิสูจน์ว่าทุจริต ก็แยกแยะบางเรื่องที่ชัดเจนมาฟ้องเรียกค่าเสียหายสิครับ อะไรไม่ชัดเจนก็จำต้องปล่อยไป เพราะหลักกฎหมายอาญาคือต้องมีพยานหลักฐานแน่ชัดหรือชั่งน้ำหนักได้ จึงจะลงโทษต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน
พูดถึงตรงนี้ก็ต้องมีคนโต้แย้งว่า ถ้ามัวแต่รอ “ใบเสร็จ” เมื่อไหร่จะจัดการนักการเมืองชั่วเลวได้ อ้า! นี่ไง เข้าประเด็นที่อยากพูดแล้ว
ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของการใช้ทฤษฎีใหม่หรือมาตรฐานใหม่ ในการใช้และตีความกฎหมาย โดยไม่ต้องรอ “ใบเสร็จ” เพราะความอึดอัดของสังคมที่รู้สึกว่านักการเมืองชั่วลอยนวลมานาน ซื้อเสียงกันมานาน โกงกินกันมานาน ไม่เคยทำอะไรได้ (เหมือนอึดอัดพ่อค้ายาบ้า ครั้งหนึ่งสังคมก็เลยเชียร์ให้ฆ่าตัดตอน)
เราจึงเห็นการวางมาตรฐานใหม่ กกต. “เชื่อได้ว่า” ไอ้หมอนี่ทุจริตเลือกตั้ง แจกใบแดง ตัดสิทธิ 5 ปี ชดใช้ค่าเสียหายเลือกตั้งซ่อม ไม่ต้องใช้ใบเสร็จ ไม่ต้องจับได้คาหนังคาเขา เพราะถ้ามัวรอหลักฐานขึ้นศาลแบบสมัยก่อน ก็เอาผิดใครไม่ได้
พัฒนามาอีก กกต.เชื่อได้ว่า... แจกใบแดง ถ้าเป็นกรรมการบริหารพรรค ยุบพรรคเลย ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ด้วย ไม่ต้องพิสูจน์ว่ามีส่วนรู้เห็นการ(เชื่อได้ว่า)ทุจริตหรือไม่
ปปช.ในคดีอาญาทำหน้าที่เป็นอัยการ แต่ความผิดทางวินัย กล่าวหาเองตัดสินเองเบ็ดเสร็จ เพราะเราเชื่อว่าถ้ามัวแต่ให้โต้แย้งอุทธรณ์คนผิดลอยนวล ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ
คดีที่ดินรัชดาก็ทำให้คนงงมาแล้ว ไม่ทุจริต แต่ติดคุก โดยคำพิพากษาร่ายยาวถึงพฤติกรรมที่เชื่อได้ว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ แต่ท้ายที่สุดก็บอกว่าไม่ผิดมาตรา 157 กลับไปผิดมาตรา 100 ปปช. ข้อกำหนดห้ามผู้ดำรงตำแหน่งปฏิบัติ ซึ่งอันที่จริงมันเป็นข้อห้ามทางจริยธรรม แต่มากำหนดเป็นความผิดอาญา การใช้และตีความจึงต้องเคร่งครัด แต่ตุลาการเสียงข้างมาก 5-4 ตีความว่าแม้ฝ่าฝืนโดยไม่เข้าองค์ประกอบทุจริต ก็ติดคุกเช่นกัน
ย้อนมาที่ผมตั้งคำถามกับคุณสฤณี ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าการกระทำของทักษิณที่เราเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สมควร และก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ เป็นที่สงสัยว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ แต่สิ่งเหล่านี้คือ “ข้อกล่าวหาทางการเมือง” หรือกระแสสังคม ซึ่งการที่จะยกระดับไปสู่ “ความผิดทางกฎหมาย” จะต้องมีการแยกแยะ พิสูจน์ ชั่งน้ำหนัก แม้ไม่ต้องการ “ใบเสร็จ” แต่การเอาผิดทางกฎหมาย ควรจะต้องมีอะไรมากกว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” แบบพรรคประชาธิปัตย์ที่ถนัดในการเรียงลำดับพฤติกรรมโยงใยว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แน่นอน ผมมอง 5 ประเด็นต่างจาก คตส.และตุลาการเสียงข้างมาก คือผมไม่ได้มองว่าทักษิณทำถูก โปร่งใส แต่ก็ไม่ได้มองแบบด้านเดียวว่าผิดหมด มันเป็นการตัดสินใจทางนโยบายที่ก้ำกึ่ง ต้องแยกแยะ ในเรื่องเดียวกันมันมีอะไรที่ปนเปอยู่ ในเรื่องเดียวกัน มันก็มีข้อกล่าวหาที่มั่วๆ แบบผู้กล่าวหาเองยังสับสน และปนอคติ
แต่สิ่งสำคัญกว่าที่ผมอยากพูดถึงคือ หลักคิด ซึ่งได้ข่าวว่า (ไม่ได้ดูเอง มีคนเล่าให้ฟัง) พงษ์เทพ เทพกาญจนา ออกทีวีกับกิตติศักดิ์ ปรกติ ดูเหมือนกิตติศักดิ์ก็ยังไม่ปรกติ-เอ๊ย-ก็ยังพูดในหลักคิดเดียวที่เคยถกกับผมเรื่องมาตรา 237 คือการใช้กฎหมายภิวัตน์เป็นประโยชน์กับสังคม กำจัดนักการเมืองซื้อเสียงโกงกินที่ไม่สามารถกำจัดได้ถ้ามัวแต่รอใบเสร็จ
แนวคิดนี้ถ้ากิตติศักดิ์ไม่ใช่อาจารย์กฎหมาย ถ้าเป็นสมัยเรายังอยู่ป่ากันเมื่อ 30 ปีก่อน ก็พอเข้าใจได้ว่าอยากตั้ง “ศาลประชาชน” จัดการแม่มให้เรียบ
คำถามสำคัญที่ผมอยากถามพวกที่ยึดหลักคิดนี้คือ หนึ่ง คุณเปิดช่องให้อำนาจอย่างมากมายแก่ศาลและองค์กรอิสระ ในการวินิจฉัย โดยไม่ต้องยึดกรอบการใช้และตีความกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดเมื่อจะลงโทษบุคคล ตามที่ยึดถือกันมา
คุณไว้วางใจได้อย่างไรว่าอำนาจนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหา หรือเป็นปัญหาเสียเอง เพราะอำนาจนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน หรือยึดโยงน้อยมาก
คุณมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ นี่ไม่ใช่ผมบังอาจว่าศาลเลือกปฏิบัติ แต่อย่าลืมว่าศาลไม่มีอำนาจเริ่มคดีเอง ต้องมีผู้ร้องเรียน ตั้งเรื่อง สอบสวน ส่งฟ้อง คิดง่ายๆ ถ้าคน 2 คนมีพฤติกรรมคล้ายกัน แต่ผู้มีอำนาจสอบสวนเลือกจับคนหนึ่งไม่จับอีกคนหนึ่ง มันก็แย่แล้ว
เอ้า ดูสิ กกต.วินิจฉัยคดียุบพรรค ปชป.หรือยัง
สอง การใช้กฎหมายภิวัตน์จะใช้เฉพาะทักษิณกับพวกพ้อง หรือจะใช้กับนักการเมืองทุกคนทุกฝ่าย หรือจะใช้เฉพาะนักการเมืองที่เป็นนักธุรกิจ แล้วพวก “นักการเมืองอาชีพ” ล่ะ หรือคุณมองแต่นักการเมือง ไม่ได้มองขุนนางอำมาตย์ ผู้มีอำนาจบารมี ที่หลายรายอาจไม่มีธุรกิจของตัวเองอย่างทักษิณ ไม่มีอำนาจชัดเจนบนโต๊ะ แต่ก็ใช้อำนาจที่มองไม่เห็นเอื้อประโยชน์พวกพ้องได้ (เช่นก๊วน “ทำบุญ” 11 คน)
นี่ไม่ใช่พาลนะครับ แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากฐานของคนมีอุดมการณ์เพื่อสังคม นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าในสังคมไทยเนี่ย ธุรกิจยักษ์ใหญ่ คนรวย ชนชั้นนำ ผู้ลากมากดี ผู้มีอำนาจทางการเมืองและราชการ เขาเอื้อประโยชน์กันมาหลายสิบปี ทักษิณก็เกิดมาจากระบบนี้ ทักษิณมันอยู่ใต้โต๊ะมาก่อน แล้วขึ้นมาใช้อำนาจบนโต๊ะให้เห็นได้ชัด
ถ้ากิตติศักดิ์อยากเห็น “ศาลประชาชน” ก็ต้องสนับสนุนให้จัดการแม่มให้เรียบ ไม่ใช่พอใจแล้วแค่ทักษิณ (นับจากนี้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ โย้ โย้)
ข้อนี้บังเอิ๊ญ เมื่อคืนผมไปกินข้าวกับเพื่อนพ้องน้องพี่ภาคประชาชนในพันธมิตร เขายืดอกว่าคดีนี้จะเป็นเยี่ยงอย่าง เป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ ส่งผลสะเทือนอันใหญ่หลวงต่อสังคมไทย จะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ตื่นหู ตื่นตา หน้าตื่น หลังตื่น ลุกขึ้นมาตรวจสอบอำนาจ ต่อต้านทุจริต มันจะไม่หยุดแค่นี้แน่ เราจะผลักดันให้มีการตรวจสอบทุกคนทุกฝ่าย ทั้งการเมือง ราชการ ขุนนางอำมาตย์ รับรองได้
เจ้าประคู้ณ ขอให้สมพรปากเถอะ! แต่นึกขึ้นได้ “อ้าว พี่ แล้วอย่างไอ้ห้อยล่ะ”
ไม่ได้ว่าพี่ไม่จริงใจนะ แต่พี่ทำได้แค่ไหน พี่มีอำนาจซักเท่าไหร่เชียวในระบอบที่พี่เตะหมูเข้าปากเขาไปแล้ว
ใบตองแห้ง
27 ก.พ.53