25 ก.พ.53 สมัชชาสังคมก้าวหน้าออกแถลงการณ์ประณามการยอมรับผลการรัฐประหารทุกรูปแบบ ระบุ คณะรัฐประหารได้จัดตั้ง “กระบวนการยุติธรรมแบบยัดไส้” โดยตั้งปรปักษ์ทางการเมืองขึ้นตรวจสอบการทุจริตของนักการเมือง ในนามคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ทั้งออกประกาศ คปค.ฉบับ 30 ทำให้อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจค้นหาความจริงในพยานหลักฐานแต่ประการใด หากแต่พิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของพยานหลักฐานในการฟ้องคดีตามที่ คตส.มุ่งหมายเท่านั้น พร้อมทั้งชี้ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอำนาจตุลาการมักเพิกเฉยต่อกระบวนการตั้งองค์กรต่างๆ อันส่งผลโดยตรงต่อรูปคดี โดยวิธีล้มรัฐธรรมนูญ ขัดกระบวนการอันเป็นธรรมตามกฎหมาย และเชิญชวนประชาชนคัดค้านคำพิพากษาที่ไร้การพิพากษา
แถลงการณ์สมัชชาสังคมก้าวหน้า: ประณามการยอมรับผลของการรัฐประหาร ในทุกๆ รูปแบบ หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 คณะรัฐประหารได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และพยายามกำจัดฝ่ายรัฐบาลเดิมซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างบ้าคลั่งเอาเป็นเอาตาย โดยไม่ละอายใจในการระเบิด “ความร่านทางการเมือง” โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่พวกตนก่อเลย ยิ่งไปกว่านั้น คณะรัฐประหารได้ใช้วิธีการอัน “เนียน ทราม” จัดตั้ง “กระบวนการยุติธรรมแบบยัดไส้” ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 โดยเลือกเฟ้นฝ่ายปฏิปักษ์รัฐบาลเดิม ให้เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในนาม “คตส”ซึ่งคณะรัฐประหารทราบดีว่า การตั้งฝ่ายปฏิปักษ์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวขัดต่อคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 29 และ 46 แห่ง พรบ.ประกอบฯว่าด้วย ปปช. พ.ศ.2542 และอีกหลายฉบับ ฉะนั้น ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 2 วรรค2 จึงกำหนดว่า “มิให้นำกฎหมายนั้นมาบังคับแก่การได้รับแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบ” นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าว ยังได้ขยายอำนาจหน้าที่ คตส.ให้กว้างมหาศาล (ตามข้อ 5 วรรค 3 (1) – (3) และ วรรค4) ผิดจากกรอบอำนาจภายใต้ชื่อ “คตส” ตามรัฐธรรมนูญ40 และด้านการจัดเนื้อหาภายใน ปปช. (ประกาศ คปค. ฉบับที่ 19) ก็มีความสกปรกลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพิจารณาถึง การดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนกันของบุคคล คนเดียวกัน ใน 2 องค์กรที่มีลักษณะต้องถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ซึ่งสะท้อนความสำส่อนในกระบวนการยุติธรรมของผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย เมื่อ “หาพยานหลักฐาน” แล้วเสร็จ คตส.ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่น/ไม่ยื่น คำร้องต่อศาล ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่มีข้อยกเว้นบางกรณี (ประกาศ คปค. ฉบับ30 ข้อ9 วรรค1) ที่น่าสนใจก็คือ อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ตามกระบวนการปกติ เป็นเช่นไร ??? การส่งเรื่องของ คตส. ไปยังอัยการสูงสุด เพียงเพื่อให้ อัยการสูงสุด พิจารณาความสมบูรณ์ของพยานหลักฐานว่าครบถ้วนแล้วหรือไม่ และหากไม่ครบถ้วนอย่างไร อัยการสูงสุดมีหน้าที่ “ระบุรายงาน” ในแก่ คตส. เพื่อแก้ไขให้ครบถ้วนต่อไป (มาตรา 80 วรรค 2 พรบ.ประกอบฯ ว่าด้วย ปปช.) และถ้า คตส.ยืนยันความเห็นเดิม ก็ให้ คตส.มีอำนาจดำเนินการยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ เองได้ (ประกาศ คปค.ฉบับที่30 ข้อ 9 วรรค1)จะเห็นได้ว่า อัยการสูงสุด ซึ่งมิได้ถูก คณะรัฐประหาร แต่งตั้งนั้น ไม่ได้ “มีส่วน” ในการค้นหาความจริงในพยานหลักฐานแต่ประการใด หากแต่พิจารณาความ “สมบูรณ์ครบถ้วน” ของพยานหลักฐานในการฟ้องคดีตามที่ คตส.มุ่งหมายเท่านั้น และเป็นอำนาจยับยั้งที่ไม่เด็ดขาด นั่นหมายความว่า กระบวนการ “ผ่านอัยการสูงสุด”ก็ มิได้ทำให้พยานหลักฐานมีความบริสุทธิ์ ขึ้นมาแต่ประการใด บนฐานของ “ความปฏิปักษ์” ในการค้นหา-ไต่สวน ให้ได้“พยานหลักฐาน” ในการฟ้องคดีทุจริตของรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารโค่นไปนั้น “พยานหลักฐานโดยอคติ” นี้ ก็ถูกส่งผ่านไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ และการพิจารณาพิพากษาก็เป็นการพิจารณา ไปตามพยานหลักฐานจริงๆเท็จๆ จาก องค์กรปฏิปักษ์ต่อจำเลย เหล่านั้น นับว่าน่าเจ็บใจ ที่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการแทนปวงชน(แทบทุกครั้งในประวัติศาสตร์)กลับเพิกเฉยสยบยอม ต่อกระบวนการจัดตั้งองค์กรต่างๆ อันส่งผลโดยตรงต่อรูปคดี โดยวิธีโดยการล้มล้างรัฐธรรมนูญ (เช่น กรณีสวรรคต ) และขัดต่อ กระบวนการอันเป็นธรรมตามกฎหมาย (due process ; state-under-law ) ซึ่งเป็นสารัตถะของหลักนิติรัฐโดยแท้ ซึ่งในรัฐสมัยใหม่ due process ถือเป็นหัวใจของระบบกฎหมายในการประกันความมั่นคงทางนิติฐานะของประชาชน ไม่ให้ถูกรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ มิฉะนั้น ก็นับเป็นการพังทลายความมั่นคงของระบบกฎหมายของรัฐนั้นโดยสิ้นเชิง จริงอยู่ ที่การทุจริตคอรัปชั่นเป็นการ “ละเมิดกฎหมาย” แต่หากเทียบความร้ายแรง “รัฐประหาร”คือ การทำลายทั้งระบบกฎหมาย (throw out ; ยกเลิกมันทิ้งไปเลย) องค์กรตุลาการ พึงยึดมั่นในหลักการสากลว่า การจับใครมาขึ้นศาล หรือได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นการดำเนินคดีมิได้ ตามหลักการรักษาสมดุลระหว่าง crime control model กับ due process model “กลไกต่างๆ”ที่ถูกสถาปนา โดย/ ระหว่าง การรัฐประหาร ย่อมไม่ใช่ Due Process เพราะ เป็นการล้มล้างระบบกฎหมาย และคดียึดทรัพย์นี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็น “ส่วนหนึ่งในกระบวนการ และ ผลิตผลของการรัฐประหาร” ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้เลยทั้งในแง่กฎหมายและแง่การเมือง ในบ้านเมืองที่เป็น นิติรัฐ ที่ผ่านๆ มา ศาลไทยยอมรับ “การอยู่ร่วมกันเยี่ยงสัตว์”(Might is Right ; Law of the jungle)โดยไม่พยายามแสดงความรับผิดชอบต่อ “ปวงชน” ทั้งๆที่ “องค์กรตุลาการ”ได้ใช้ อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน จริงอยู่ที่เป็นได้ว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็ย่อมเงียบเสียงลง”(Inter arma Silent leges) แต่กระนั้น เมื่อเสียงปืนสงบเงียบลงไปแล้ว กฎหมายหรือความยุติธรรม จะมีเสียงขึ้นมาบ้างไม่ได้หรือกระไร !! กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า จึงขอประณามการยอมรับ “ผลของการรัฐประหารในทุกๆ รูปแบบ” และ ขอประกาศว่า “คำพิพากษาที่ไร้การพิพากษา ย่อมไม่อาจยอมรับได้ สามัญชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านโดยปฏิเสธการดำรงอยู่ของคำพิพากษาที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจอธิปไตยจากปวงชน พลังของคำพิพากษาย่อมสิ้นไป หากมหาชน “กระหน่ำต่อต้านมัน!” โค่นอำมาตยาธิปไตย จุดไฟสร้างสรรค์สังคมใหม่ พัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์! สมัชชาสังคมก้าวหน้า Social Move Assembly |