คดีโด่งดังที่เรียกกันง่ายๆว่า "คดียึดทรัพย์" นั้นไปเกี่ยวข้องกับ "ศาลโลก" เข้าอย่างจัง เนื่องจากระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเอาไว้ว่า
"ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไว้บ้าง หากไม่ได้รับความยุติธรรม ก็จะเสาะแสวงหา ไม่ว่า(ความยุติธรรม)จะอยู่ที่ใดก็ตาม"
พิธีกรถามต่อว่า ที่เคยระบุเอาไว้ว่า หากไม่ได้รับความยุติธรรมจะไปฟ้องศาลโลก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ คำตอบก็คือ
"คนวิจารณ์ไม่ได้เปิดตำราดูก็เลยไม่เข้าใจ" แล้วก็ยกเป็นอุทธาหรณ์สอนบรรดาคนที่ไม่เคยเปิดตำราดูว่า "เคยมีกรณีตัวอย่างเช่น มีดะโต๊ะชาวมาเลเซียเป็นประชาชนธรรมดายื่นฟ้องรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งไอซีโอเจ (ที่จริงควรเป็น ไอซีเจ) ตัดสินให้รัฐบาลมาเลเซียชดใช้เงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์"
วันถัดมา อดีตนายกรัฐมนตรีพูดเรื่อง "ศาลโลก" อีกว่า
"ที่ผมพูดเพราะมีตัวอย่างที่คนมาเลเซียไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลประเทศ เขาจึงดำเนินการผ่านกระบวนการต่างๆไปที่ไอซีเจ (คราวนี้ย่อถูกครับ) ในที่สุดชนะ"
เพราะถูกต่อว่าต่อขานว่า ไม่เปิดตำราวิพากษ์วิจารณ์ ก็เลยต้องไปพลิกหนังสือหนังหาดูสักหน่อย เพราะเชื่อตามที่เล่าเรียนมาเป็นวรรคเป็นเวรว่า ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หรือปัจเจกบุคคลใด ก็ไม่สามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องต่ออะไรก็ตามที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "ศาลโลก" ได้
พลิกตำราดูแล้วก็พบว่า คดีพลเรือนสัญชาติมาเลเซียที่ "ถึงมือ" ศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ-อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ท ออฟ จัสทิซ) นั้นมีอยู่เพียงคดีเดียว นั่นคือคดีที่เกี่ยวข้องกับ "ดะโต๊ะ พารัม คูมารัสวามี"
ไล่เรียงทุกตัวอักษรที่เกี่ยวเนื่องกับคดีที่ว่านั้นแล้ว ก็ตาสว่างถึงบางอ้อว่า ทำไมถึงมีคนเชื่อถือคำพูดของพ.ต.ท.ทักษิณ น้อยลงทุกที เพราะนอกจากข้อเท็จจริงที่ว่า คดีของดะโต๊ะพารัม ถึงมือ ศาลโลกแล้ว ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุดแล้ว ส่วนที่เหลือในคำกล่าวของพ.ต.ท.ทักษิณ ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงไปทั้งหมด
หนึ่ง ดะโต๊ะ พารัม ไม่ใช่ "ประชาชนธรรมดา" อย่างแน่นอน ขณะที่มีการยื่นเรื่องต่อของ ดะโต๊ะ พารัม ถึง ไอซีเจ นั้น นักกฎหมายชื่อดังรายนี้ดำรงตำแหน่งเป็น "ทูตผู้ชำนัญพิเศษ" ด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายในกระบวนการยุติธรรม ประจำตัวเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งในเวลานั้นคือ นายโคฟี่ อันนัน นักการทูตคนสำคัญชาวกานา
สอง ดะโต๊ะ พารัม ไม่ได้เป็นผู้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อ ไอซีเจ ตรงกันข้ามตัวดะโต๊ะเองตกอยู่ในสภาพของ "จำเลย" ด้วยซ้ำไป
สาม ไอซีเจ ไม่ได้พิจารณาคดีของดะโต๊ะ พารัม ในแง่มุมของความยุติธรรม หากแต่เป็นการพิจารณาในเชิง "การตีความ" ถ้อยคำในสนธิสัญญาระหว่างประเทศมากกว่าอย่างอื่น
สี่ คำพิพากษาของไอซีเจ ไม่ได้ "ตัดสินให้รัฐบาลมาเลเซียชดใช้เงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์" เพียงแต่ระบุไว้ในคำพิพากษาว่าศาลมาเลเซีย ไม่มีสิทธิที่จะไปเรียกค่าเสียหาย ค่าใช้จ่าย หรือค่าดำเนินการใดๆจาก ดะโต๊ะ
ห้า ดะโต๊ะ พารัม ไม่ได้เป็นผู้ชนะในคดีนี้ หากจะถือว่าการพิจารณาคดีดังกล่าวมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ผู้ที่ควรถูกยึดถือว่าเป็นผู้ชนะคือ สหประชาชาติ ที่ได้บรรทัดฐานสากลว่าด้วย "เอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูตโดยสมบูรณ์" ต่อ "ทูตผู้ชำนัญพิเศษ" หรือ "สเปเชี่ยล รัพพอร์เจอร์" ของยูเอ็นให้ยึดถือกันมาจนถึงทุกวันนี้
การทำความเข้าใจคดีของดะโต๊ะ พารัม คูมารัสวามี ให้ถ่องแท้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ "ขอบเขตอำนาจ" ของสิ่งที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "ศาลโลก" ควบคู่กันไปด้วย
คำว่า "ศาลโลก" เป็นคำเรียกรวมๆอย่างไม่เป็นทางการต่อศาลระหว่างประเทศ 2 ศาล หนึ่งคือ ศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) อีกหนึ่งคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซึ่งตั้งอยู่ที่ "กรุงเฮก" ประเทศเนธอร์แลนด์ทั้งสองศาล
ศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ตามนัยของกฎบัตรสหประชาชาติ ขอบเขตอำนาจของศาลมีอยู่ 2 ลักษณะ หนึ่งคือการทำหน้าที่พิพากษาข้อพิพาทระหว่างรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในกฎหมายระหว่างประเทศ ตามการยื่นคำฟ้องร้องของรัฐ อีกหนึ่งคือ การทำหน้าที่เป็น "ที่ปรึกษา" ให้ความเห็นในเชิงกฎหมายต่อ องค์การสหประชาชาติ หรือหน่วยงานในสังกัด หรือ หน่วยงานที่เป็นองค์กรชำนัญพิเศษอื่นใด ตามที่แต่ละหน่วยงาน "ร้องขอ"
ศาลอาญาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1998 (2541) ตามบทบัญญัติใน "ธรรมนูญแห่งกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" (Rome Statute of the International Criminal Court) และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1กรกฎาคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ.2545) มีภาคีสมาชิก 110 ประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามรับรองไอซีซี แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน เป็นศาลพิจารณาคดีที่ "บุคคล" เป็นจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาใหญ่หลวงที่ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อประชาคมระหว่างประเทศโดยรวม, พิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, พิจารณาคดี อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และ อาชญากรรมสงคราม
ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับคดีของ ดะโต๊ะ พารัม แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับขอบเขตอำนาจศาลของ ไอซีเจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่เป็น "ผู้ให้ความเห็นในทางกฎหมาย" ต่อสหประชาชาติหรือหน่วยงานใดๆของสหประชาชาติ
คดีของ ดะโต๊ะ พารัม คูมารัสวามี ที่ถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งทูตพิเศษของเลขาฯยูเอ็นตั้งแต่ปี 1994 เริ่มต้นเมื่อปี 1996 กว่าจะสิ้นสุดก็ในปี 1999 ที่ผ่านมา
คดีนี้ เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรมในมาเลเซียอย่างรุนแรงก่อนหน้านั้น ที่เรียกกันว่า "คดี อาเยอร์ โมเล็ค" ซึ่งส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมในมาเลเซียถูกตรวจสอบอย่างหนักจากสาธารณะและสื่อมวลชนลงเอยด้วยการกล่าวหาว่ามี "พฤติกรรมไม่เหมาะสม" เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่บางกลุ่มบางเหล่าในระบบ
ดะโต๊ะ พารัม ในฐานะทูตพิเศษของยูเอ็นในด้านนี้โดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นชาวมาเลเซียโดยกำเนิดอีกด้วย ได้รับการร้องเรียนถึง "ความผิดปกติ" ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่บ้านเกิด และเริ่มการสอบสวนตามคำร้องดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากเลขาฯยูเอ็น
พฤศจิกายน ปี 1995 นิตยสาร "อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเมอร์เชี่ยล ลิติเกชั่น" ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของ ดะโต๊ะพารัม ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความไม่ปกติดังกล่าวไว้ภายใต้ชื่อเรื่อง "กระบวนการยุติธรรมมาเลเซียกำลังถูกไต่สวน"
เดือนธันวาคม ปี 1996 บริษัทเงินทุน เอ็มบีเอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่กรณีในคดี "อาเยอร์ มาเล็ค" ยื่นฟ้องร้องต่อศาลสูงมาเลเซีย (ศาลที่มีขอบเขตอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศ) กล่าวหา ดะโต๊ะ พารัม ว่าหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จากถ้อยคำให้สัมภาษณ์ในนิตยสารดังกล่าว ที่ทำให้ "ตีความได้ว่า" โจทก์ และ ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ พยายามที่จะ "ติดสินบน" องค์คณะผู้พิพากษาของศาลสูงแห่งกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในคดีเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1995 เรียกค่าเสียหายราว 30 ล้านริงกิต
บริษัทหลักทรัพย์อีกบริษัทในเครือเดียวกันคือบริษัทหลักทรัพย์ เอ็มบีเอฟ นอร์เธิร์น ซีเคียงริตี้ ยื่นฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน จากความเห็นที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือเล่มเดียวกัน ต่อด้วยบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของทั้ง 2 บริษัท ยื่นฟ้องร้อง ดะโต๊ะ พารัม ในข้อหาเดียวกัน จากกรณีเดียวกัน รวมวงเงินเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากทั้ง 4 บริษัทที่เป็นโจทก์แล้วเท่ากับ 112 ล้านดอลลาร์
ดะโต๊ะ พารัม ต่อสู้คดี โดยอ้างว่า การให้ความเห็นดังกล่าว เป็นการให้ความเห็นในฐานะและในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ "ทูตพิเศษ" จึงมีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต ที่ศาลควรยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมาเลเซีย ไม่เห็นด้วย โดยถือว่า การให้สัมภาษณ์สื่อ เป็นการกระทำ "นอกเหนือภาระหน้าที่" ของทูตพิเศษ และ เห็นว่า เอกสิทธิ์คุ้มครอง ครอบคลุมเพียงเมื่อ "ปฏิบัติภารกิจ" ไม่ได้ติดอยู่กับตัวในทุกเวลา ทุกสถานการณ์
ระหว่างนั้น นายโคฟี่ อันนัน พยายามยื่นจดหมายยืนยันการมีเอกสิทธิ์คุ้มครองของดะโต๊ะ พารัมหลายครั้ง แต่ศาลสูงมาเลเซียเลือกที่จะปฏิเสธจดหมายเหล่านั้นยังคงดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ศาลอุทธรณ์มาเลเซีย พิพากษายืนในประเด็นเรื่องเอกสิทธิ์ตามมาในเวลาต่อมา
คดีทั้งหมด กลายเป็นประเด็นเรื่อง "เอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต" ของดะโต๊ะ พารัม ว่า เป็นสถานะที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ กับ ใครคือผู้ที่จะชี้ขาดในเรื่องเอกสิทธิ์ที่ว่านี้
ในที่สุด สหประชาชาติ โดย คณะมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคม (อีโคซอค) ยื่นเรื่องนี้สอบถามความเห็นไปยัง ไอซีเจ
องค์คณะ 15 คนของไอซีเจ ลงมติด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 1 ให้ถือว่า ดะโต๊ะ พารัม มีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต "โดยสมบูรณ์", รัฐบาลมาเลเซียจำเป็นต้องแจ้งความเห็นของไอซีเจต่อศาลฎีกามาเลเซีย เพื่อให้ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าวตามพันธะผูกพันในฐานะรัฐสมาชิก, ศาลมาเลเซียไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายใดๆ จากดะโตะ พารัม ศาลฎีกามาเลเซีย เห็นพ้องตามความเห็นดังกล่าว มีความเห็นให้ยกฟ้องคดีทั้งหมดของดะโต๊ะ พารัม
ทุกอย่างยุติลง เมื่อเดือนเมษายนปี 1999!
ข้อเท็จจริงในคดี ดะโต๊ะ พารัม คูมารัสวามี ชาวมาเลเซีย ไม่สามารถเทียบเคียงใดๆกับข้อเท็จจริงในกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาเทียบเคียงเพื่ออธิบายถึงความเป็นไปได้ของการฟ้องร้องต่อศาลโลกนั้น-ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นไปด้วยเจตนา หรือเหตุผลใด
การวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เปิดตำรา อาจทำให้เกิดความผิดพลาดโดยธรรมชาติได้ แต่น่าจะเป็นความผิดพลาดที่ "เข้าใจได้" อยู่บ้าง
แต่การกางตำราเพื่อนำมาใช้บิดเบือนข้อเท็จจริงต่างหาก ที่ "ไม่สามารถ" เข้าใจได้ เอาเสียเลย ว่าทำไปเพื่ออะไร!