บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันชี้ชะตาคดียึดทรัพย์"แม้ว"

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ




อีกไม่กี่อึดใจคดีประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศ จะรู้หัวรู้ก้อยกันเสียที

ว่าขุมทรัพย์มหึมา 76,621,603,061.05 บาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ

จะถูกยึดและตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่?

ศุกร์ที่ 26 ก.พ. เวลาบ่ายโมงครึ่ง องค์คณะคดียึดทรัพย์ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา 9 ท่าน มีกำหนดขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา

แต่ละท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและอาวุโส ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้แก่

1.นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนและหัวหน้าทีม เคยเป็นองค์คณะคดีการเมืองสำคัญหลายคดี อาทิ คดีที่ดินรัชดาฯ, คดีคลองด่านซึ่งพิพากษาจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม, คดีป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง

2.นายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เคยร่วมองค์คณะพิจารณาคดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลพม่าที่ขณะนี้พักคดีชั่วคราว เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ระหว่างหลบหนี

3.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา เคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย แม้เป็นเสียงเอกฉันท์ 9-0 ให้ ยุบ แต่เป็น 1 ใน 3 เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยให้ตัดสิทธิ์กก.บห. 5 ปี

4.นายพงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เคยเป็นองค์คณะพิจารณาคดีหวยบนดิน

5.นายอดิศักดิ์ ทิมมาตย์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา

6.ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

7.นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

8.นายพิทักษ์ คงจันทร์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา และเป็นองค์คณะคดีที่ส.ส.เพื่อไทยยื่นให้ถอด ถอนป.ป.ช. กรณีชี้มูลความผิดการสลายม็อบพันธมิตร และที่มีมติไล่ตำรวจสลายม็อบออกจากราชการ

9.นายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา

แม้กำหนดการอ่านคำพิพากษาจะเริ่มช่วงบ่าย แต่ขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลมีขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ โดยนายสมศักดิ์ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีจะนัดองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนมาประชุม นำคำวินิจฉัยส่วนตัวที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมาแถลงด้วยวาจา เพื่อลงมติเขียนเป็นคำวินิจฉัยกลาง

ขั้นตอนคือ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะสอบถามองค์คณะทีละประเด็น ว่าแต่ละท่านมีคำวินิจฉัยส่วนตัวอย่างไร

จากนั้นนับคะแนนเสียง ว่าประเด็นนี้เสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะเป็นไปในทิศทางใด

เมื่อได้ข้อสรุป จะนำหนึ่งในคำวินิจฉัยของเสียงส่วนใหญ่ มาตั้งเป็นคำพิพากษากลาง

มีกฎว่าองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนต้องลงมติในทุกประเด็นที่วินิจฉัย ห้ามงดออกเสียงเด็ดขาด

ประเด็นแรกเสร็จจะพิจารณาลงมติประเด็นอื่นๆ ต่อไปจนครบ ก่อนได้เป็นคำพิพากษากลางเพื่ออ่านในช่วงบ่าย โดยขั้นตอนการพิจารณาที่ละเอียดยิบ เต็มไปด้วยความรอบคอบคาดว่ากว่าจะทราบผลคดีคงหลังพระอาทิตย์ตกดิน

การนัดประชุมช่วงเช้าถือเป็นการ "เก็บตัว" องค์คณะทั้ง 9 คนจะออกไปไหนนอกห้องไม่ได้ รวมถึงห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อคนข้างนอก เพื่อป้องกันความลับรั่ว

การเริ่มต้นอ่านคำพิพากษา ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องในห้องพิจารณาคดี ไม่ว่าผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านการยึดทรัพย์ ทนายความ รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ต้องอยู่ในความสงบเรียบร้อย

ห้องพิจารณาคดีมีความจุ 300-350 คน เริ่มเปิดให้เข้าตั้งแต่เวลา 12.00 น. ผู้จะเข้าไปต้องผ่านการแลกบัตรและตรวจสแกนหาวัตถุระเบิดอย่างเข้มงวด

ในส่วนของการถ่ายทอดสด แม้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะไฟเขียวให้ช่อง 11 และเครือข่ายสื่อกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสดคำพิพากษา

แต่ นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยืนยันแล้วว่าอนุญาตให้ถ่ายทอดเฉพาะเสียงเท่านั้น

หลังอ่านคำพิพากษาแล้วจะนำไปลงในราชกิจจานุเบกษา ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตัวจะนำไปปิดประกาศไว้หน้าศาลฎีกาและเว็บไซต์ศาลฎีกา คาดว่าจะสามารถเผยแพร่คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ฉบับเต็มได้ในช่วงเย็นวันที่ 26 ก.พ.

สำหรับคดียึดทรัพย์ ก่อนหน้าพ.ต.ท.ทักษิณ มีอดีตนายกฯของไทยถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ 3 คนคือ

1.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกกล่าวหาว่าระหว่างยังมีชีวิตอยู่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์ของรัฐหลายครั้ง

ความจริงมาปรากฏก็เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่ อสัญกรรม โดยคนในครอบครัวฟ้องร้องกันเองแย่งกันเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้สังคมทราบว่ามีการคอร์รัปชั่นเข้ากระเป๋าตัวเองร่วม 2 พันล้าน

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯขณะนั้น ใช้อำนาจ ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณา จักร พ.ศ.2507 มีคำสั่งให้ทรัพย์สินกองมรดกของ จอมพลสฤษดิ์และของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ

แม้ยึดทรัพย์ได้สำเร็จ แต่ทรัพย์สินที่ตรวจสอบและตามยึดได้มีเพียง 600 ล้านบาทเศษ

2.จอมพลถนอม กิตติขจร และพวกคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร การยึดทรัพย์เกิดขึ้นหลังถูกขบวนการนักศึกษาและประชาชนขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16

ปี 2517 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกฯขณะนั้น ใช้อำนาจมาตรา 17 ยึดทรัพย์สินจอมพลถนอมและพวกรวมมูลค่า 400 ล้านบาทเศษ

ฝ่ายจอมพลถนอมจะต่อสู้โดยยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอทรัพย์สินคืนแต่ไม่สำเร็จ

3.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ภายหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาล "น้าชาติ" เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2534

ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่ออายัดทรัพย์และตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ของนักการเมืองที่เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ 10 คนนำโดยพล.อ.ชาติชาย มีพล.อ. สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน

ปรากฏว่ามีคำสั่งยึดทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท แต่ทั้ง 10 คนยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำตัดสินว่าคตส.ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์

จึงได้ทรัพย์สินคืนไปโดยไม่ถูกยึด

สำหรับคดียึดทรัพย์อดีตผู้นำรายที่ 4 อย่างพ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ถือเป็นจุดเริ่มวันอันตรายของการเมืองไทย

สงคราม"สี"กำลังจะรีเทิร์น

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker