วันลุ้นระทึกสำหรับนายกฯอภิสิทธิ์ รองนายกฯกอร์ปศักดิ์ รมต.คลังกรณ์ หรือจะว่าไปก็ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ หรือลึกกว่านั้นก็ระทึกทั้งรัฐบาล วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติพร้อมแถลงคำวินิจฉัยกรณีพรรคเพื่อไทยตั้งข้อสงสัยพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาทเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
มาตรา 184 วรรคสองซึ่งระบุให้กระทำได้เฉพาะเมื่อเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
วันพุธนี้จึงขอนำเสนอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้แปลกจากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540
เมื่อรัฐธรรมนูญปี 40 ถูกยกเลิกตามประกาศคณะปฏิวัติจึงเป็นที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 คณะตุลาการฯชุดปัจจุบันผ่านการรับรองของวุฒิสภาในปี 2551 โดยมี ชัช ชลวร อายุ 61 ปีเป็นประธานคณะ
อีก 8 อรหันต์ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล อายุ 59 ปี จรูญ อินทจาร อายุ 65 ปี เฉลิมพล เอกอุรุ อายุ 64 ปี นุรักษ์ มาประณีต อายุ 60 ปี บุญส่ง กุลบุปผา อายุ 59 ปี วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อายุ 62 ปี สุพจน์ ไข่มุกต์ อายุ 64 ปี และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี อายุ 61 ปี จะเห็นว่าทั้ง 9 ท่านต่างอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน
คำตัดสินของคณะตุลาการจะมาโดยวิธีลงมติด้วยเสียงข้างมาก นี่แหละลุ้นระทึก
เพราะมีผลกระทบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความพยายามเพิ่มจีดีพีของประเทศ
อันนี้ผมว่ารัฐบาลต้องพร้อมรับและดำเนินการต่อไปไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ต้องไม่ฝากชะตากรรมไว้กับเงินด่วน 400,000 ล้านบาท เส้นทางเดินของประเทศมีให้เลือกมากกว่า 1 ทางอย่างแน่นอน
อยากพูดถึงคือต้องไม่ทุ่มทุกสรรพกำลังและงบประมาณกระตุ้น “ส่งออก” เพียงด้านเดียว พูดอย่างนี้เพราะมีผู้ส่งออกขาใหญ่กดดันรัฐบาลเป็นระยะๆ ถึงขั้นเสนอแบงก์ชาติแทรกแซงค่าบาท
ฟังแล้วช็อก พูดถึงดอลลาร์ละ 39-40 บาทไปโน่น
ถ้า 40 บาทจริงก็แน่นอนสินค้าไทยส่งออกระเบิดเถิดเทิงอานิสงส์ค่าเงินอ่อน เช่นกัน นักท่องเที่ยวจะแห่เที่ยวไทยมากขึ้นเพราะค่าเงินเขาแพงกว่าเงินเรา
ต้องคิดถึงเช่นกันได้แก่สินค้าจำเป็นต้องนำเข้า ปัจจุบันดอลลาร์ละ 34 บาทขึ้นเป็น 40 บาทอ้วกเป็นเลือดนะท่าน ไม่ว่าน้ำมันทั้งดิบและสำเร็จรูปซึ่ง 90% นำเข้า หรือเมกะโปรเจคท์รถไฟฟ้ามูลค่าหลายแสนล้านบาทก็ต้องพึ่งของนำเข้าแทบทั้งสิ้น
เครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทยได้แก่ส่งออก แต่เราก็ควรนึกถึงกลไกอื่นไม่ให้ชำรุดเสียหายด้วย ข้อเสนอคือตอบโจทย์ส่งออกฝืดโดย “กระตุ้นบริโภคในประเทศ”
วันนี้ 3 ประเทศที่จีดีพีทวนกระแสเป็นบวกพึ่งการบริโภคภายในทั้งสิ้น ข้อได้เปรียบคือผู้บริโภคของเขาเยอะมาก จีน 1,300 ล้านคน,อินเดีย 1,000 ล้านคน,อินโดนีเซีย 240 ล้านคน
ของเรา 64 ล้านคนโดยการบริหารจัดการที่ดีก็จะช่วยโด๊ปจีดีพีได้ ไม่ต้องทุบบาทอ่อนและไม่พึ่งเพียงพ.ร.ก.ชูชีพ 400,000 ล้านช่วยชีวิต.
แมงเม่า