ไทยเข้มแข็งอีกแล้ว-โครงการก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจมูลค่า 1 หมื่นล้านที่สตช.เสนอนายกฯอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯเป็นผู้อนุมัติให้ประมูลหนเดียว ผูกขาดรับเหมาก่อสร้างทั่วประเทศ สูงกว่าราคากลาง10% ทำให้มีข้อกังขาว่าเปิดช่องให้นักการเมืองแสวงหาประโยชน์หรือไม่?
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
1 กุมภาพันธ์ 2553
ตามที่ไทยอีนิวส์ได้นำเสนอข่าวโครงการกู้เงินไทยเข้มแข็งมาทำโปรเจ็คต์1หมื่นล้านบาท สร้างสถานีตำรวจ และัแฟลตตำรวจภายใต้การกำกับดูแลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส่อเค้าไม่โปร่งใส เพราะใช้วิธีประมูลจากส่วนกลางหาผู้รับเหมาแค่เพียงรายเดียว ส่อแววเปิดช่องนักการเมืองหาผลประโยชน์ และไม่เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคนั้น ล่าสุดมีความคืบหน้าที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่ืงใสอีกแล้ว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาได้มีการประมูลงานก่อสร้างอาคารที่พักตำรวจ 163 แห่ง โดยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ ไปเรียบร้อยแล้ว (หลักฐานปรากฏตามประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การประมูลงานก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 แห่ง ด้วยวิธีทาง อิเล็กทรอนิกส์ ) และมีข้อสังเกตในประกาศดังกล่าวว่า
ประเด็นที่ 1 ประกาศประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์งานแฟลตตำรวจ ของกองโยธาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กระทำในวันที่ 28 ธันวาคม 2552 สิ้นสุดการซื้อแบบวันที่ 5 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวันเวลาในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ในช่วงวันดังกล่าวมีวันหยุดติดต่อกันยาว ส่อเจตนาว่าอาจจะกีดกันการแข่งขันประกวดราคาอย่างยุติธรรม เจตนาให้คุณแก่ผู้รับเหมาที่เป็นเป้าหมาย
ประเด็นที่ 2 จากข้อมูลในประกาศของกองโยธาธิการ ตช. เงินงบประมาณ 3,709,880,000.00 บาท เฉลี่ยราคาหลังละ 22.76 ล้านบาทบาท
ราคาเริ่มต้นของการประมูล 3,521.00 ล้านบาท เฉลี่ยราคาหลังละ 21.60 ล้านบาท
ในขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าราคากลางของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เมื่อ 30 กันยายน 2552 งานอย่างเดียวกัน มีราคากลาง เพียง 20.69 ล้านบาท หรือเป็นราคากลางที่ต่ำกว่าราคาในการประมูลครั้งนี้ถึง 10%
เท่ากับว่าราคาเริ่มต้นของการประมูลสูงกว่าราคากลาง เท่ากับ 21.60-20.69=0.91 ล้านบาท
ประเด็นที่ 3 จำนวนแฟลตที่ก่อสร้างนั้นมีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้ง กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้รับเหมารายเดียวทำไม่ได้อย่างแน่นอน
ประเด็นที่ 4 ในจำนวน แฟลตที่จะทำการก่อสร้าง ทั้งหมด จะมีการก่อสร้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 24 หลัง ซึ่งตามนโยบายนั้น รัฐควรให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ และด้วยวิธีการพิเศษ เสียด้วยซ้ำ แต่ผลที่ออกมา กลับตรงกันข้าม จึงต้องตั้งคำถามว่านี้หรือคือการมีธรรมาภิบาล นี้หรือคือไทยเข้มแข็ง
*เทพเทือกผุดแฟลตตร.-โรงพักหมื่นล้าน พิลึกกู้มาสร้าง แต่ของเก่ายังใช้งานได้ไม่ให้รื้อ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ และแฟลตตำรวจทั่วประเทศในวงเงิน10,007.88ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณจากเงินกู้ไทยเข้มแข็ง อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนายสุเทพได้ระบุในการอนุมัติว่า
"
ให้กำชับห้ามรื้อทุบทิ้งอาคารเดิม ให้เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะในอนาคตของบฯสร้างใหม่ยาก"
*โปรเจ็คต์หมื่นล้านภายใต้เงื้อมมือของเทพเทือกส่อไม่โปร่งใส
โครงการก่อสร้าง1หมื่นล้านบาทในเงื้อมมือนายสุเทพนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างกันด้วยวงเงินสูงเกินปกติจากส่วนกลาง ทำเป็นสัญญาเดียวทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของสำนักงบประมาณ ชงลูกเป็นงบประมาณผูกพันหลายปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานอ้างว่าจะต้องจ้างรวมรายเดียว สัญญาเดียวทั่วประเทศ
โครงการที่นายสุเทพอนุมัตินี้ อ้างว่าเป็นการโครงการก่อสร้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนทั่วประเทศ 396 แห่ง วงเงิน6,298 ล้านบาท และการสร้างแฟลตตำรวจขนาด 30 ครอบครัว 163 แห่ง วงเงิน 3,709.88 ล้านบาท
ทั้งที่นายสุเทพ ได้อนุมัติให้ สตช.ทำการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง งานสองโครงการข้างต้นโดยวิธีประมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ แบบโครงการเดียว ทุกสถานที่ก่อสร้างทั่วประเทศให้หน่วยงานหนึ่งของสตช.จัดจ้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า นายสุเทพอาจจะมีเจตนารวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และมีการกล่าวหาว่าโครงการเช่นนี้อาจจะเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนลดจากผู้รับเหมารายใหญ่ได้ง่ายขึ้น
วงการรับเหมาก่อสร้างได้กล่าวหาว่า ราคากลางโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจทั่วประเทศ ได้ตั้งไว้สูงกว่าราคากลางที่ผู้รับเหมาทำอยู่ปัจจุบัน 10 % จึงน่าสงสัยว่าอาจจะเป็นเจตนาแอบแฝงที่สำนักงบประมาณรวมกับ สตช. และนายสุเทพ วางแผนไว้ หรือ ไม่ ? เนื่องจากการก่อสร้างสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งทั่วประเทศ และสร้างอาคารแฟลต 30 ครอบครัว ที่อยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ นั้นไม่มีผู้รับเหมารายหนึ่งรายใดทำได้แน่นอน เพราะต้องใช้กำลังมหาศาล ในทางปฏิบัติ จึงต้องจ้างเหมาช่วงแก่ผู้รับเหมาช่วงในพื้นที่ เป็นทอดๆ กันไป โดยผู้รับเหมาที่ถือสัญญาชนะประมูลได้ก็คงจะเอาเปรียบสารพัด ผู้รับเหมารายย่อยมีโอกาสล้มละลายสูง เพราะถูกโกงกันเป็นทอดๆ
ดังนั้นจึงน่าตั้งข้อสงสัยว่า ประการแรก หากนายสุเทพแทงหนังสืออนุมัติว่า อาคารเก่ายังใช้งานได้ให้เก็บไว้ใช้งาน แล้วทำไมต้องกู้เงินมาทำโครงการถึง 10,000 ล้านบาทอีกให้ประเทศไทยแบกภาระหนี้
ประการที่สอง การอ้างว่า กู้เงินมาทำโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เจตนาการรวบอำนาจอนุมัติไว้ที่ส่วนกลาง และเจตนาจะป้อนงานให้ผู้รับเหมารายเดียว จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ นายทุนของพรรคประชาธิปัตย์ และกระตุ้นเศรษฐกิจของนักการเมืองที่คุมโครงการ
ประการที่ 3 การกำหนดราคากลางที่สูงกว่างานแบบเดียวกันที่สตช.เคยทำไว้10% และสูงกว่าราคากลางทั่วๆไป20% อาจเป็นการ"บวก"มาให้สำหรับฝ่ายการเมืองหรือไม่
ดังนั้น สังคมจึงควรต้องตรวจสอบโครงการนี้ให้รอบคอบ และเฝ้าระวัง เพราะตัวโครงการเองก็ส่อไปในทางเปิดช่องให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่ายแล้ว