บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ใจ อึ๊งภากรณ์ แนวคิดเรื่องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ของอำมาตย์

ที่มา thaifreenews

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
9 กุมภาพันธ์ 2553

แนวคิดเรื่องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ของอำมาตย์

หัวข้อนี้อาจดูแปลกๆ เพราะอำมาตย์เป็นพวกทำลายประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและทั่วโลก แม้แต่อำมาตย์เอง และโดยเฉพาะนักวิชาการเหลืองที่รับใช้อำมาตย์ ยังต้องสร้างเรื่องเพื่อให้รูปแบบการปกครองของเขาดูดีอาศัยความชอบธรรมจากคำว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่มันคือเผด็จการชัดๆ

สุจิต บุญบงการ


ในงานสัมมนาในปลายเดือนมกราคมปี ๒๕๕๓ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน สุจิต บุญบงการ นักวิชาการเหลือง พยายามใส่ร้ายว่าขบวนการคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งทั่วไปในรอบสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่อย่างที่สุจิตว่า

สุจิตพยายามชี้ถึง “พลังเงียบ” ของคนที่ไม่เอาทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องจากพลังเงียบไม่ออกความเห็น(มันจึงเงียบ) เราไม่มีวันทราบว่าเขาคิดอย่างไร และในขณะเดียวกันไม่มีข้อมูลอะไรที่เสนอว่าพลังเงียบดังกล่าวเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

อย่างไรก็ตาม สุจิตก็ท่องสูตรนักวิชาการอนุรักษ์ และพูดถึง “ประชาสังคม” ว่าเป็นพลังในการสร้างประชาธิปไตย

ประชาสังคมของคนอย่างสุจิตคือคนชั้นกลาง นักวิชาการ และนักเอ็นจีโอ ซึ่งถ้าพิจารณาในบริบทของสังคมไทยแล้วคนกลุ่มนี้เข้าข้างเผด็จการ สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา และดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย”

ตกลงแล้วสำหรับนักวิชาการอำมาตย์ พลเมืองส่วนใหญ่ที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ไม่ฉลาดเท่าตัวเขาเองเพราะไปถูกหลอก ถูกซื้อ ไม่เหมือนนักวิชาการ นักเอ็นจีโอ หรือคนชั้นกลางที่ “รู้จริง” อันนี้เป็นแนวอภิสิทธิ์ชนชัดๆ แต่มันมีที่มาที่ไปและเชื่อมกับแนวคิดอนุรักษ์สากลด้วย

รัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยจนถึงยุคช่วงพฤษภา ๓๕ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาอเมริกา ที่เสนอแนวคิด “โครงสร้างหน้าที่”

แนวคิดนี้เน้นการสร้างประชาธิปไตยเหมือนวิศวกรสร้างเครื่องจักร คือมีการออกแบบสถาบันการเมืองต่างๆ และกระบวนการทางการเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงของการปกครองของชนชั้นอภิสิทธิ์ โดยชนชั้นอภิสิทธิ์เองและนักวิชาการชนชั้นกลาง

สำหรับเขารูปการปกครองประชาธิปไตยสมบูรณ์คือสหรัฐอเมริกา แต่เขาจะไม่พูดถึงการที่ประชาชนสหรัฐเบื่อหน่ายกับการเมืองสองขั้วของนายทุน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำแต่อย่างใด นอกจากนี้มีการอธิบายว่า “วัฒนธรรมตะวันตกทำให้ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตย” ซึ่ง “ไม่เหมือนสังคมไทย”

แนวคิดนี้เสนอทฤษฏี “การทำให้ทันสมัย” ที่อธิบายว่าประเทศด้อยพัฒนายังเป็นเผด็จการเพราะชนชั้นกลางยังไม่เติบโตและสังคมยังไม่สุกงอม อันนี้กลายเป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวในการที่สหรัฐ ถือว่าเผด็จการทหารไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเสรี” ในสงครามเย็น เพราะในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจเจริญไทยคงเป็นประชาธิปไตย “ไปเอง”

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

นักวิชาการสหรัฐแนวนี้ที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการไทยรุ่นเดียวกับสุจิต บุญบงการ คือ Fred Riggs ที่เขียนว่าไทยเป็น “รัฐข้าราชการที่กำลังพัฒนา” และประชาชนไทยส่วนใหญ่ “เหมือนเด็ก ไม่รู้เรื่องและไม่สนใจการเมือง” ในสถานการณ์แบบนี้นักวิชาการ “ผู้รู้จริง” จะต้องออกไปสอนประชาชนเรื่องประชาธิปไตย และนี้คือแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า ที่มีคนอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวหน้า สถาบันพระปกเกล้าตั้งชื่อมาตามอดีตกษัตริย์(เซ็นเซอร์) และเต็มไปด้วยนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา


ตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก มีกระแสวิชาการใหม่อีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมาแทนแนวโครงสร้างหน้าที่ กระแสนี้เน้นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่สังกัดกับองค์กรรัฐ และก่อกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องประเด็นของตนเอง คนเหล่านี้เป็นพลังหลักในการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในความเห็นของนักวิชาการสายนี้

ข้อดีคือเน้นบทบาทประชาชน และเน้นการสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชนจากล่างสู่บน ในสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาสังคม” แต่ข้อเสียมาจากการนิยามว่าใครเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม เพราะนักวิชาการฝ่ายขวาอนุรักษ์จะเน้นว่าต้องเป็นคนชั้นกลาง และเอ็นจีโอ หรือพูดง่ายๆ เป็นคนที่มีการศึกษา “ไม่โง่”

แต่เราทราบดีว่าคนชั้นกลางในไทยสนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทั้งๆ ที่เคยสนับสนุนการต่อสู้กับเผด็จการ รสช. ในพฤษภา ๓๕ พูดง่ายๆ คนชั้นกลางโลเล เข้าข้างเผด็จการหรือประชาธิปไตยแล้วแต่ผลประโยชน์ และเอ็นจีโอก็ไปสนับสนุน ๑๙ กันยา ทั้งๆ ที่เคยต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในอดีต

นอกจากนี้ชนชั้นกลางทั่วโลกก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างออกไป5 เช่นในสิงคโปร์ก็สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และในยุโรปตะวันออก และเกาะเฮติ เอ็นจีโอมักสนับสนุนเผด็จการหรือผลประโยชน์ธุรกิจ7

ประเวศ วะสี

ชัยอนันต์ สมุทรวานิช


นักวิชาการที่เสนอแนว “ประชาสังคมแบบชนชั้นนำ” อย่างนี้นอกจาก สุจิต บุญบงการ แล้ว มี ประเวศ วะสี และ ชัยอนันต์ สมุทรวานิช โดยที่ประชาสังคมของเขาจะร่วมมือกับรัฐอำมาตย์ และผู้ที่ “เป็นภัยต่อประชาธิปไตย” คือประชาชนส่วนใหญ่ที่ขาดการศึกษาและ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” โดยเฉพาะขบวนการคนเสื้อแดง


แนวทางสร้างประชาธิปไตยของคนก้าวหน้า

สำหรับคนก้าวหน้า เรามองว่าประชาธิปไตยต้องมาจากการต่อสู้ของประชาชนคนชั้นล่างเอง มันต้องเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการก้าวหน้าอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มองว่า “ประชาสังคม” คือขบวนการของชาวบ้าน ไม่ใช่คนชั้นกลาง

นิธิ เอียวศรีวงศ์


หรือนักวิชาการมาร์คซิสต์ที่มองว่าการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกรรมาชีพ หรือคนจนกับชนชั้นปกครองคือวิธีขยายประชาธิปไตย โดยไม่มีการแยกระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อเรื่องปากท้องเศรษฐกิจกับเรื่องการเมือง

ฝ่ายก้าวหน้าจะมองว่าประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการออกแบบของ “วิศวกรรัฐศาสตร์” โดยเฉพาะพวกนักวิชาการเสื้อเหลือง หรือมาจากการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางและเอ็นจีโอ และแน่นอนรัฐประหารสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

ที่สำคัญคือ เราไม่ได้มองว่าประชาชนโง่ ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใด การที่พลเมืองไทยเลือกไทยรักไทยจำนวนมาก มาจากการใช้ปัญญาในการคิดเรื่องการเมือง และบ่อยครั้งคนที่จบมหาวิทยาลัยอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ทำให้ตาบอด คือไม่กล้าใช้ปัญญาอย่างสุจริต เพราะข้อสรุปจะตรงข้ามกับผลประโยชน์ตนเองในฐานะคนรวย

สำหรับเรา คนเสื้อแดงคือพลังทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย จะเรียกว่ามวลชนคนชั้นล่าง หรือจะเรียกว่าประชาสังคมของประชาชนธรรมดาก็ได้

และในการเสนอว่าคนเสื้อแดงคือประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย เราเข้าใจดีว่ามนุษย์ธรรมดาที่ตื่นตัวทางการเมืองและเข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง นำความคิดเก่าๆหลากหลายที่อยู่ในหัวสมองมาเคลื่อนไหวอีกด้วย บางครั้งก็ก้าวหน้า เช่นการสนับสนุนประชาธิปไตยหรือการชื่นชมนโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจน แต่บางครั้งก็มีความคิดล้าหลังที่ได้มาจากสังคมอำมาตย์ตกค้างอยู่ เช่นการไม่เคารพคนรักเพศเดียวกัน หรือการกดขี่ชาวมุสลิมภาคใต้เป็นต้น

ในโลกจริงไม่มีใครเป็นเทวดาหรือเป็นพระแต่กำเนิด ขบวนการของเราเป็นขบวนการของพลเมืองผู้ทำงานที่มือเปื้อนดินทรายที่พยายามทำไปและเรียนรู้ไป แต่ที่สำคัญเราต้องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยและความทันสมัย

ในขณะที่ชนชั้นกลาง พันธมิตรฯ นักวิชาการเหลือง และเอ็นจีโอส่วนใหญ่ ต้องการปกป้องสภาพเดิมหรือหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ในอดีต เขากลัวอนาคตในขณะที่เราต้อนรับอนาคต


อิทธิพลของพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองในขบวนการกรรมาชีพ

สหภาพแรงงานถือว่าเป็นการรวมตัวกันของพลเมืองธรรมดา และถือว่าเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” และส่วนหนึ่งของประชาสังคมที่มีความสำคัญ นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้องถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

คนงานกรรมาชีพส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของ ไทยรักไทย ไม่ใช่ว่าพรรคนี้แค่ครองใจคนในชนบทเท่านั้น เพราะคนงานในเมืองมักจะมีญาติพี่น้องพ่อแม่ที่ได้ประโยชน์จากโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ลดภาระของกรรมาชีพในเมืองที่เคยต้องเลี้ยงดูครอบครัวในชนบท

อย่างไรก็ตามขบวนการเสื้อแดงจนถึงทุกวันนี้ยังละเลยการสร้างกระแส และกลุ่มอิทธิพลในสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการละเลยแหล่งพลังสำคัญ

ในบางสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้า หรือในโรงงานประกอบรถยนต์ในภาคตะวันออกบางแห่ง พวกพันธมิตรฯได้เข้าไปสร้างอิทธิพลระดับหนึ่ง แต่ลักษณะอิทธิพลของพันธมิตรฯนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเสริมพลังกรรมาชีพหรือสหภาพแรงงานในด้านชนชั้นแต่อย่างใด และแน่นอนเป็นการต่อสู้เพื่ออำมาตย์ (เซ็นเซอร์) และนายทุนใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดคนงานส่วนใหญ่มานาน มันจึงมีความขัดแย้งในตัวเอง

ลักษณะพิเศษของขบวนการแรงงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลพันธมิตรฯ มีดังนี้

สมศักดิ์ โกศัยสุข

สาวิทย์ แก้วหวาน

มักจะเป็นผู้นำแรงงานที่มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข หรือสาวิทย์ แก้วหวาน ซึ่งเคยจัดกลุ่มศึกษาให้กับผู้นำแรงงานบางส่วน แต่เป็นกลุ่มศึกษาประเภท “บนลงล่าง” ที่ไม่เปิดโอกาสให้แรงงานนำตนเอง แต่สอนให้เชื่อฟังอาจารย์ใหญ่มากกว่า การดึงคนงานมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อำมาตย์และคนชั้นสูง ในลักษณะที่ขัดต่อประโยชน์ตนเองต้องทำภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามคนงานก็คิดเองเป็น ซึ่งทำให้มีการทะเลาะถกเถียงระหว่างคนงานสายเหลืองกับแดงพอสมควรในเกือบทุกที่

ผู้นำแรงงานที่เข้ากับพันธมิตรฯ มีแนวโน้มจะเป็นผู้นำแรงงานเต็มเวลา ไม่ต้องทำงานในโรงงานข้างเคียงคนงานธรรมดา และบ่อยครั้งได้รับเงินเดือนในระดับสูงกว่าคนงาน อาจได้เงินเดือนจากเอ็นจีโออีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้นำเหล่านี้ห่างเหินจากคนงานรากหญ้าที่อาจชอบนโยบาย ไทยรักไทย ดังนั้นสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของผู้นำเหล่านี้ช่วยให้เขาเป็นเหลืองได้

วิธีการต่อสู้ของสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา มักจะมองว่าการรณรงค์ในหมู่สมาชิกให้มีการนัดหยุดงาน “ทำยาก” ผู้นำสหภาพเลยหันไปหาทางลัด โดยการเน้นการเจรจาผูกมิตรกับฝ่ายบริหาร หรือนักการเมืองมากกว่าการปลุกระดมสมาชิก อันนี้เห็นชัดในกรณีรถไฟและ กฟผ. แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกสหภาพจะไม่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประโยชน์คนงานเลย มีหลายกรณีที่ออกมาสู้ แต่วัฒนธรรมการหาพรรคพวกในหมู่ “ผู้ใหญ่” นำไปสู่การร่วมกับนายทุนอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และทหาร คมช.

เวลาสหภาพที่มีแกนนำเป็นเหลืองต่อสู้กับนายจ้าง เช่นในโรงงานรถยนต์ภาคตะวันออก แกนนำจะเน้นยุทธวิธีการอ้างถึงผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลเหลืองที่สนับสนุนเขา หรืออาจนำพวกอันธพาลพันธมิตรฯ มาขู่นายจ้าง แทนที่จะปลุกระดมและสร้างความเข้มแข็งของแรงงานและสหภาพเอง ในระยะยาวการต่อสู้แบบนี้จะทำลายสหภาพ และพวกผู้ใหญ่เหลืองๆ ก็จะไม่สนใจว่าลูกน้องแรงงานเคยไปรับใช้เขาในอดีต เพราะผลประโยชน์ผู้ใหญ่คือผลประโยชน์นายทุน

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเหมารวมว่าสมาชิกทุกคนในสหภาพหนึ่งจะมีแนวคิดเหมือนแกนนำ และเราไม่ควรมองว่าการต่อสู้ของสหภาพเหลืองจะทำเพื่อเบื้องบนอย่างเดียวตลอดกาล ถ้าเราสามารถชักชวนให้มีการสู้เพื่อประโยชน์แท้ของคนงานในเรื่องประจำวัน เราจะมีโอกาสทำลายความจงรักภักดีที่เขามีต่อพันธมิตรฯได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงมากขึ้น

อเนก เหล่าธรรมทัศน์

เราต้องข้ามพ้นหนังสือ สองนัคราประชาธิปไตย ของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดูเหมือนมีอิทธิพลสูงในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่คนที่วิจารณ์และคัดค้านรัฐบาล ไทยรักไทย และสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ดังนั้นเราคงต้องมาทบทวนวิเคราะห์หนังสือเล่มนี้ในบริบทการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เขียนในช่วงที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันในเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่สำคัญคือหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นก่อนที่จะเห็นผลรูปธรรมของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และก่อนที่จะมีการก่อตั้งพรรค ไทยรักไทย และในช่วงภายหลังเอนกเข้าไปเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และหลังจากนั้นร่วมก่อตั้งพรรคมหาชน ในที่สุดนักวิชาการคนนี้ไปสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ข้อเสนอหลักในหนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" คือ มันมีความแตกแยกสำคัญระหว่างสองซีกในสังคมไทย (สองนัครานั้นเอง) คือระหว่างคนเมืองและคนชนบท

เอนกเสนอว่าคนเมืองเป็นคนชั้นกลาง และคนชนบทเป็นชาวไร่ชาวนา และเสนอต่อไปว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่ใช้วิจารณญาณ และมาตรฐานคุณธรรมในการเลือกหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่างๆ และคนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ส่วนชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีคะแนนเสียงข้างมากในวันเลือกตั้ง โดยมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นในลักษณะการเลือกเจ้านายอุปถัมภ์ คือจะเลือกผู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ตน และจะไม่มองว่าการซื้อขายเสียงผิดหรือขัดกับคุณธรรม เพราะเป็นพิธีกรรมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง เอนกมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวชนบทนี้ไม่ใช่ภายใต้ความคิดอิสระเหมือนชนชั้นกลาง แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณตามระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยไพร่กับนาย

ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวชนบทเป็นฐานคะแนนของรัฐบาล แต่คนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาลเพราะไม่พอใจกับนโยบายต่างๆ แต่การวิเคราะห์สังคมไทยแบบนี้ของเอนก ที่มองว่าเส้นแบ่งหลักคือระหว่างเมืองกับชนบทมีปัญหาหลายประการคือ

เอนกมองว่าคนเมืองคือชนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการรายย่อยที่แสวงหารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่มีกลุ่มส่วนน้อยของชนชั้นกลางที่เป็นนักศึกษา นักวิชาการ และคนทำงานเอ็นจีโอ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในสังคม แต่ภาพคนเมืองแบบนี้มองข้ามคนงานปกคอขาวที่ทำงานในออฟฟิสบริษัทเอกชนหรือร้านค้า มองข้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจ คนขับรถเมล์ คนขับแทกซี่ คนงานในโรงงาน และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งปกคอขาวและปกคอน้ำเงิน

เอนกมองข้ามการแบ่งชนชั้นในชนบท และการที่เกิดเมืองต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กในต่างจังหวัด ซึ่งทำให้คนต่างจังหวัดไม่ได้เป็นแค่ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น

การเสนอว่าคนชนบทเป็นผู้ที่ขึ้นกับนายอุปถัมภ์ เป็นการดูถูกความสามารถของเขาที่จะคิดเองอย่างอิสระ เป็นการโทษคนชนบทว่าเป็นฐานเสียงนักการเมืองแย่ๆ


ระบบอุปถัมภ์ในชนบท?

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับประเด็นปัญหายุคนี้เมื่อเราพิจารณาข้อเสนอของเอนกในการแก้ปัญหาการซื้อขายเสียงและระบบอุปถัมภ์ในชนบท


เอนกมีข้อเสนอสำคัญสองข้อคือ

รัฐบาลต้องลงมาพัฒนาชนบทโดยตรงเพื่อให้การผลิตในชนบทเชื่อมโยงกับระบบตลาดของทุนนิยม ต้องมีการเพิ่มเทคโนโลจี และทุ่มเทงบประมาณรัฐในด้านนี้ ชนบทจะได้มี "ความเป็นเมือง" มากขึ้น

ต้องมีพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้นโยบายกลายเป็นประเด็นหลักในการเลือกรัฐบาลของชาวชนบท แทนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจะมีผลในการลดอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นอีกด้วย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำนิยามของระบบอุปถัมภ์ที่นักสังคมศาสตร์ทั่วไปใช้กัน และที่อเนกใช้ในหนังสือ"สองนัคราประชาธิปไตย" ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวมักเป็นสายสัมพันธ์ปัจเจกระหว่างนายกับผู้ได้รับอุปถัมภ์ ไม่ใช่สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และในกรณีที่พรรคการเมืองเป็นผู้อุปถัมภ์ ผลประโยชน์ที่พรรคยื่นให้ประชาชนเป็นผลประโยชน์พิเศษที่ตกกับคนกลุ่มหนึ่งตระกูลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ และพรรคการเมืองแบบนี้มักไม่สนใจการเสนอนโยบายเลย

ถ้าเราอ่านแล้วตั้งคำถามว่า ไทยรักไทย ทำอะไร? มันคงเริ่มชัดเจนว่า ไทยรักไทย ทำตามข้อเสนอของเอนกทุกข้อ คือมีการทุ่มเทงบประมาณลงในหมู่บ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า มีการรณรงค์ให้ทำ OTOP มีการพยายามพัฒนาระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข และรัฐบาลเริ่มลดอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นและการซื้อขายเสียงลงโดยการเชื่อมชนบทกับนโยบายรัฐบาลโดยตรง และที่สำคัญ ไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองแรกในรอบ 20 กว่าปีที่เสนอนโยบายชัดเจนในการหาเสียง และพยายามทำตามนโยบายดังกล่าวเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตามในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเสื้อเหลือง มีการพูดเกือบจะเป็นหนึ่งเลยว่ารัฐบาลทักษิณ "สร้างระบบอุปถัมภ์ในชนบทผ่านนโยบายประชานิยม” และมีการเสนอต่อว่าสาเหตุที่คนจนและคนชนบทลงคะแนนเสียงให้ ไทยรักไทย ในปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙ ก็เพราะ "ชาวชนบทไม่ได้ตัดสินใจอย่างอิสระ เนื่องจากถูกดึงมาเข้าระบบอุปถัมภ์ และไม่ได้รับรู้ข้อมูลแท้เกี่ยวกับรัฐบาล”

และที่แปลกที่สุดคือมีการอ้างถึงหนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เพื่อพยายามให้น้ำหนักกับแนวคิดนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่มีการมองกลับหัวกลับหางอย่างสิ้นเชิงแบบนี้? คำตอบคือข้อมูลความจริงไม่เคยเป็นอุปสรรค์ต่อการโกหกของนักวิชาการเสื้อเหลืองเลย

แล้วอเนกทำอะไรในยุค ไทยรักไทย? ในยุคที่นำ พรรคมหาชน เอนกอาศัยการอุปถัมภ์จากเจ้าพ่อการเมืองแบบเก่าสองคนคือเสธ.หนั่นกับวัฒนา อัศวเหม

ต่อมาหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เอนกเสนอว่าประชาธิปไตยที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ “แบบไทยๆ” หรือแบบอำมาตย์นั้นเอง เพราะมองว่าประชาชนต้องแบ่งอำนาจกับทหารและกษัตริย์

ในความเป็นจริง การเลือกตั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าคนชนบท และคนจนในเมือง ชื่นชมในนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ไทยรักไทย และในเมื่อมีแค่พรรค ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน และ ไทยรักไทย ให้เลือกในโลกจริง ชาวชนบทใช้วิจารณญาณและความคิดอิสระในการเลือกรัฐบาลของพรรคที่มีนโยบายชัดเจน ในขณะที่ชนชั้นกลางที่เคยนิยม ไทยรักไทย ในช่วงต้นๆ เปลี่ยนรสนิยมตามแฟชั่นและวิ่งตามฝูงโดยไม่มีความคิดอิสระ แถมยังดูถูกคนจน ไม่ไว้ใจการลงคะแนนเสียงในระบบประชาธิปไตย และหันมาเรียกร้องให้กษัตริย์แต่งตั้งรัฐบาลตามมาตรา 7 และหลังจากนั้นก็เชียร์รัฐประหาร

ปัญหาหลักของ ไทยรักไทย ไม่ได้อยู่ที่การสร้างระบบอุปถัมภ์ในชนบท และไม่ได้อยู่ที่การสร้างเผด็จการใดๆ หรือการคอร์รัปชั่นเป็นพิเศษมากกว่าพรรคอื่นหรือองค์กรอื่นๆ แต่อยู่ที่การปราบปรามประชาชนในภาคใต้และในสงครามยาเสพติด พร้อมกับการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งทำลายประสิทธิภาพของนโยบายสวัสดิการของรัฐบาล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและก้าวหน้า เกิดข้อเสียเพราะมีงบประมาณไม่พอเนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย และใช้กลไกตลาดในการคิดบัญชีภายในระบบเอง

ยิ่งกว่านั้นการเซ็นสัญญา FTA ที่ให้อภิสิทธิ์อันไม่ชอบธรรมแก่บริษัทยาที่สร้างกำไรจากลิขสิทธิ์ยาราคาแพง มีผลในแง่ลบต่อเป้าหมายของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกด้วย

สรุป

ปัญหาประชาธิปไตยในไทย ไม่ใช่ปัญหาของการที่ประชาชนขาดการศึกษาหรือตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ แต่อย่างใด แต่ปัญหาประชาธิปไตยมาจากจุดยืนและการกระทำของอำมาตย์กับชนชั้นกลาง และการดูถูกไม่เคารพพลเมืองธรรมดาของนักวิชาการและผู้นำเอ็นจีโอ

อำมาตย์และพวกเสื้อเหลืองมองว่าเขาฝ่ายเดียวเข้าใจประชาธิปไตยและมีสิทธิ์ใช้อำนาจและอิทธิพลในสังคม

แต่ฝ่ายเรามองว่าประชาธิปไตยแท้สร้างจากพลเมืองธรรมดา จากล่างสู่บน และขบวนการเสื้อแดงมีบทบาทสำคัญตรงนี้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker