บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มองความขัดแย้งการเมืองไทยผ่านแนวคิดมาคิอาเวลลี

ที่มา ประชาไท

ดร.วสันต์ ลิมป์เฉลิม วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางความคิดในการเมืองไทย ผ่านหลักคิดของ ของมาคิอาเวลลี ซึ่งเป็นปรัชญาที่เห็นว่า ความดี ความชั่ว ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในตัวเองหรือตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างขึ้น

“สิ่งที่มาคิอาเวลลีได้แสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าเป็นการสอนแก่เจ้าผู้ปกครอง
แท้ที่จริง กลับเป็นการสอนแก่ประชาชน

ฌอง ฌากส์ รุสโซ
สัญญาประชาคม ตอนที่ 3 บทที่ 6

เป็นเรื่องน่าแปลกใจมากว่า ทั้งๆที่อยู่ในยุคสารสนเทศ เหตุใดชนชั้นนำผู้คุมอำนาจหลักในสังคมไทยปัจจุบัน จึงดูเหมือนไม่ยี่หระหรือสามารถ ”สัมผัส” กับสามัญสำนึกของคนธรรมดาจำนวนมากในสังคมที่มีความเครียดหรือความไม่สบายใจจากสภาพที่สังคมมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสูงและยืดเยื้อ บทความนี้ไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่อย่างที่ทราบกันไม่ยากว่า ในการเคลื่อนไหวของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวแทนหนึ่ง ซึ่งล่าสุดได้นำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น มีนักรัฐศาสตร์ไทยบางคน เป็นผู้นำทางความคิดและการวางแผนข้อเสนอต่างๆ อย่างเรื่อง 30:70 หรือ 70:30 (เลือกตั้ง ส.ส.30-70% ที่เหลือมาจากจากอื่นๆ) การคิด “ปิดเกมแบบแหกกรอบ” อย่างการยึดทำเนียบรัฐบาล -ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น นักรัฐศาสตร์ดังกล่าวต่างได้เคยล่ำเรียนและพร่ำสอนมาไม่น้อยเกี่ยวกับแนวคิดของมาคิอาเวลลี (Machiavelli) ซึ่งมีฐานะเป็นบิดาปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ แต่ปัญหามีอยู่ว่า แนวคิดของมาคิอาเวลลีก็เป็นแนวคิดที่มีการโต้เถียงตีความกันไปได้อย่างแตกต่างหลากหลาย บทความนี้จะได้พิจารณาดูว่าการกำหนดแนวทางในการเคลื่อนไหวของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่นักรัฐศาสตร์บางคนไปเป็นกุนซือนั้น พอเทียบเคียงได้กับการนำแนวคิดของมาคิอาเวลลีมาใช้ในลักษณะใด จากนั้นจะได้เสนอว่า ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถใช้บริการแนวคิดของมาคิอาเวลลีแบบที่ลึกกว่า เพื่อเป้าหมายการสร้างความสามัคคี สงบ หรือการสร้างชาติไทยที่มีเอกภาพเข้มแข็งต่อไปได้อย่างไร แต่ก่อนอื่นใด ผู้เขียนขอเริ่มจากสรุปแนวคิดทั่วไปของมาคิอาเลลีอย่างสังเขปก่อน

แนวคิดของมาคิอาเวลลีในงานเรื่อง “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince)
แนวคิดหลักของมาคิอาเวลลีเคยถูกเข้าใจอย่างสับสนว่า คือข้อเสนอให้ใช้วิธีการที่ชั่วร้ายใดๆก็ได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง จนเกิดความหมายของคำว่า มาคิอาเวลเลียนนิสม์ (Machiavellianism)ที่หมายถึง ลัทธินิยมความชั่วร้าย เจ้าเล่ห์เพทุบาย แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า แนวคิดของมาคิอาเวลลีเป็นเรื่องวิธีการทำงานการเมืองให้สำเร็จ หรือเสนอความจริงที่มีผล ไม่ใช่เสนอในสิ่งที่ขัดกับโลกความจริงที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติใดๆ สาระสำคัญของวิธีการทำการเมืองให้สำเร็จ มาคิอาเวลลีเสนอให้ใช้สิ่งที่เรียกว่า “คุณค่า” (virtue) หรือคุณลักษณะที่เป็นเลิศที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งแก่นแท้ของคุณค่าคือความสุขุมรอบคอบ (prudence) นั่นเอง
ความคิดของมาคิอาเวลลีเรื่องคุณค่าซึ่งทำให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ไม่ได้จำกัดความคิดว่า ต้องยึดในกรอบของศีลธรรม (หรือ virtue ในอีกความหมายซึ่งหมายถึง คุณธรรมความดีงาม) เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า มาคิอาเวลลิเสนอความคิดแบบไร้ศีลธรรม (immoral) ประเด็นคือ เขาเสนอแบบไม่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม (amoral) ต่างหาก เพราะคุณค่าหรือคุณลักษณะที่เป็นเลิศที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย นั้นไม่ได้มีความหมายเท่ากับคุณงามความดี (คุณงามความดีอาจเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่า แต่คุณค่ายังสามารถครอบคลุมสิ่งอื่นๆ อีกมากได้ เช่น ความชาญฉลาด ความกล้าหาญ)
อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ปรัชญาการเมืองของมาคิอาเวลลีเป็นปรัชญาที่เห็นว่า ความดี ความชั่ว ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในตัวเองหรือตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างขึ้น ด้วยเหตุผลความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขนั่นเอง ดังนั้น หากสถานการณ์มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกระทำสิ่งที่เห็นกันว่าไม่ดีเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในการปกครอง ผู้ที่สุขุมรอบคอบก็ต้องกระทำ นี่นับเป็นคุณค่าของผู้ปกครอง แต่แม้การกระทำที่ว่าไม่ดีนั้น ก็ใช่ว่าจะกระทำการอย่างขาดความสุขุมรอบคอบก็หาไม่ ตรงกันข้ามผู้ปกครองจะต้องพยายามดำเนินการใดๆที่เนียนพอที่ทำให้ศีลธรรรมซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของระเบียบสังคม ไม่ได้ถูกกระทบอย่างรุนแรง เมื่อเจ้าผู้ปกครองจะทำสิ่งผิดศีลธรรม ก็ต้องลับ-ลวง-พรางไม่ทำให้ผู้อื่นเห็นว่าเจ้าผู้ปกครองเป็นคนไม่มีศีลธรรม
กล่าวได้ว่า มาคิอาเวลลีเสนอความความเข้าใจการเมืองตามที่มันเป็นจริงๆ โดยไม่ได้มีค่านิยมในใจไว้ล่วงหน้าในการเสนอคำตอบทางการเมือง หรือที่เรียกว่ามีลักษณะปลอดจากค่านิยม (value-free)และอาจดูเหมือนว่ามาคิอาเวลลีเสนอความรู้ในการทำให้เป้าหมายทางการเมืองบรรลุผล โดยไม่ได้กล่าวถึงตัวเป้าหมายทางการเมืองโดยตรงเลย ซึ่งก็ปรากฏว่าที่ผ่านมา ผู้นำการเมืองสำคัญฝ่ายต่างๆ ในหลายประเทศก็ล้วนได้นำแนวคิดมาคิอาเวลลีมาใช้ในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเมืองของตน ปัญหาที่น่าสนใจคือ หากฝ่ายที่ต่อสู้กันทางการเมืองนั้นต่างฝ่ายต่างก็ใช้แนวคิดของมาคิอาเวลลีด้วยเช่นกัน ผลจะเป็นอย่างไร สำหรับคำตอบสั้นๆ คือ คงขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายใดมี”คุณค่า” (virtue) เหนือกว่ากัน นอกจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมหรือเป็นเหตุปัจจัยผันแปรที่มาคิอาเวลลีเรียกเป็นศัพท์ว่า “โชคชะตา” (fortune)นั้น จะสนับสนุนฝ่ายใดมากกว่า ทั้งนี้มาคิอาเวลลีเห็นว่า คุณค่าคือความสามารถในการเข้าใจบทบาทของโชคชะตา และมีปฏิสัมพันธ์กับโชคชะตาอย่างก่อให้เกิดผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนัยตรงข้ามคือลดผลร้ายของโชคชะตาให้มากที่สุดเทาที่จะมากได้ คุณค่าจึงเป็นเรื่องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหนึ่งๆ พื้นฐานของชัยชนะจึงอยู่ที่ความสามารถอ่านสถานการณ์เฉพาะได้ถูกต้องแม่นยำ และกำหนดการดำเนินการได้อย่างเหมาะสม

เทียบเคียงยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกับงานเขียนของมาคิอาเวลลี
อย่างน้อยนับตั้งแต่ปี 2549 การวางตำแหน่งแห่งหนและยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมีลักษณะเทียบเคียงได้กับการนำแนวคิดของมาคิอาเวลลีมาใช้ในลักษณะตรงไปตรงมา ดังเช่น การปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อความในคำสอนของมาคิอาเวลลีที่สอนให้เจ้าผู้ปกครองต้องรู้จักที่จะต้องโกหก ไม่รักษาข้อตกลง เจ้าผู้ปกครองต้องรู้จักทำตัวเหมือนสิงโตที่มีกำลัง และเหมือนสุนัขจิ้งจอกที่มีปัญญา “จะต้องรู้วิธีระบายสีให้เรื่องราวผิดไปจากความเป็นจริง และจะต้องเป็นคนมือถือสากปากถือศีล และเป็นนักหลอกลวงที่ยิ่งใหญ่” “เขาจะต้องมีทีท่าว่าเต็มไปด้วยความสงสาร การรักษาข้อตกลง ความสัตย์ซื่อ ความเมตตากรุณา และเคร่งศาสนา” เพราะมนุษย์โดยทั่วไป จะตัดสินกันด้วยตามากกว่าด้วยมือ ขณะที่ทุกคนสามารถเห็นเจ้าผู้ปกครอง แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสัมผัสเจ้าผู้ปกครองได้จริง ๆ
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่ไม่ประนีประนอม หรือเดินเกมแบบชนะฝ่ายเดียว และผู้ชนะได้หมด (zero –sum game) นับแต่การยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนฝ่ายตนเข้ามามีอำนาจแทน ฯลฯ และสถานการณ์ล่าสุดที่มีแนวโน้มสูงที่จะมีการยึดทรัพย์สินทั้งหมดของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นั้น กล่าวได้ว่า น่าจะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับคำสอนของมาคิอาเวลลีที่ว่า ในการดำเนินการกับศัตรู จะต้องไม่ทำร้ายแต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้สามารถกลับมาแก้แค้นได้ เจ้าผู้ปกครองจะต้องทำร้ายให้ราบคาบชนิดที่ทำให้เจ้าผู้ปกครองไม่ต้องหวาดเกรงอริอีกต่อไป
คำสอนของมาคิอาเวลลีที่ให้ดำเนินการแบบเด็ดขาด ไม่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ นั้นยังกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับคำสอนแบบวิถีไทยทิศทางหนึ่งที่สะท้อนอยู่ในกลอนของสุนทรภู่ที่ว่า
“ประเพณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง อันเสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า ต่อภายหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะทำภายหลังยากลำบากครัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นการยึดทรัพย์นั้น มาคิอาเวลลีเสนอว่า เจ้าผู้ปกครองควรทำลายชีวิตศัตรูมากกว่ายึดทรัพย์ เนื่องจากคนที่ตายแล้ว ย่อมไม่สามารถมาแก้แค้นเอาคืนได้ กรณีกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น จะเห็นว่า ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้พยายามในการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีมาหลายครั้งก่อนหน้าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 หากพิจารณาจากวิธีคิดที่ผ่านมาแล้ว เชื่อว่าความพยายามขจัดพ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมองว่า การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยที่สร้างปัญหากระทบต่อฝ่ายอำมาตยาธิปไตยอย่างหนักนั้นสาเหตุมาจากคนๆเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ
การที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเลือกยุทธศาสตร์แบบเทหมดหน้าตัก ไม่ยอมประนีประนอมใดๆ อันน่าจะถูกกำหนดมาจากสภาวะทางจิตวิทยาที่รู้สึกไม่มั่นคงหรือมีความกลัวอย่างสูง (ภยาคติ) ทิศทางการเคลื่อนไหวของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยจึงกลับมีลักษณะสอดคล้องกับคำสอนของมาคิอาเวลลีที่กล่าวถึงการใช้พลังอำนาจอย่างสุดๆ เฉียบขาด ไม่บันยะบันยัง แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ยุทธศาสตร์และท่าทีหลักของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยที่กล่าวมาสะท้อนถึงเนื้อแท้เรื่อง “คุณค่า” ตามแนวคิดของมาคิอาเวลลีจริงหรือไม่ เพราะแนวคิดเรื่องคุณค่าของมาคิอาเวลลีไม่ได้กำหนดเป็นสูตรตายตัวในหนังสือ แต่ขึ้นกับบริบทสถานการณ์
ฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถใช้แนวคิดมาคิอาเวลลีในลักษณะใด
บทเรียนสำคัญอันหนึ่งของประชาชนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในการเคลื่อนไหวเมื่อเมษายน 2552 ในทัศนะของผู้เขียนคือ การยังขาดความสุขุมรอบคอบอย่างเพียงพอ เมื่อเทียบกับการวางแผนที่แยบยลของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ในแง่หนึ่ง แกนนำฝ่ายประชาธิปไตยมีแรงกดดันจากมวลชนที่ต้องการชนะเร็วๆ เพราะรับไม่ได้กับความไม่ชอบธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะจากมวลชนกลุ่มผู้ยากไร้ทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยที่มีความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจกลับเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ประชาชนผู้ยากจนจะมีภาวะทางจิตวิทยาที่รู้สึกว่า “หนึ่งวันที่ชีวิตเขาต้องทนทุกข์มันมีผลร้ายและมีความรู้สึกยาวนานกว่าหนึ่งวันของคนที่มีชีวิตร่ำรวยอยู่สุขสบาย” ปัญหาที่แกนนำฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องตระหนักคือจะทำอย่างไรหากการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน อาจต้องใช้เวลาที่ทอดนานออกไป
เมื่อเปรียบเทียบกรอบทางเลือกในการเคลื่อนไหว ฝ่ายประชาธิปไตยมีธรรมชาติที่เป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวในตัวเองมากกว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตย กล่าวคือ การเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นการเมืองแห่งการประนีประนอม การเมืองแห่งการให้อภัย การเมืองแห่งขันติธรรม การเมืองที่ยึดหลักนิติธรรมโดยแท้ (ไม่ใช้แค่ลมปากหรือวาทะศิลป์ลวงโลก) การเมืองแห่งสันติวิธี การเมืองที่อาศัยการเสนอข้อเท็จจริงและการโต้แย้งแลกเปลี่ยนด้วยเหตุด้วยผล การเมืองที่คิดแบบชนะทุกฝ่าย (win-win solution)
กล่าวโดยสรุป ฝ่ายประชาธิปไตยมีเป้าหมายและอุดมการณ์ทางการเมืองที่กำหนดกรอบในการเคลื่อนไหวที่ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะไปเลือกประกาศ “สงครามครั้งสุดท้าย” หรือประกาศ “ชัยชนะ” แบบที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยทำเมื่อปลายปี 2551
แต่อันที่จริง มองในอีกด้านหนึ่ง ธรรมชาติที่เป็นข้อจำกัดของฝ่ายประชาธิปไตยนั้นกลับเป็นจุดแข็งของฝ่ายประชาธิปไตยเองด้วยเช่นกัน เพราะลักษณะท่าที หลักการเคลื่อนไหวแบบประชาธิปไตยย่อมต้องสอดคล้องกับตัวระบอบปกครองนั่นเอง นั่นคือการเคารพและยืดถือการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจึงมีโอกาสสูงที่สุดในการระดมคุณค่า” (virtue) หรือคุณลักษณะที่เป็นเลิศที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายจากประชาชนจำนวนมากมายที่สุด

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker