บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

อย่ามากไป

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ เหล็กใน




แรงพอๆ กันทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มเสื้อแดง

ฝ่ายรัฐเองก็แสดงท่าทีกระเหี้ยนกระหือรือจะใช้อำนาจจากปลายกระบอกปืน เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม

พร้อมยัดข้อหาอันแสนโบราณคือต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

รัฐบาลที่สนุกกับการใช้อำนาจ มักจะตั้งข้อหานี้กับฝ่ายตรงข้าม หรือต้องการปลุกปั่นให้มวลชนเกลียดชัง

เพราะสำหรับเมืองไทย และคนไทยแล้วเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด

ยิ่งพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทุกคนบนแผ่นดินไทยเคารพรักเหนือเกล้าทั้งสิ้น เพราะพระองค์ทรงเสียสละมากมายเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

อย่าว่าแต่ลงมือกระทำเลย แค่คิด คนๆ นั้นก็ไม่มีที่ยืนบนแผ่นดินนี้แล้ว

และด้วยเหตุผลสำคัญนี้เอง จึงทำให้ผู้มีอำนาจหลายยุคหลายสมัย นำเรื่องนี้มาเป็นข้อหาให้กับบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม

6 ตุลา 19 นั้นชัดเจน

นักศึกษาถูกยัดข้อหาไม่จงรักภักดีและต้องการให้เมืองไทยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

นำไปสู่การปราบปรามอย่างโหดร้าย

รัฐบาลชุดนี้มีหลายคนที่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้น ย่อมรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร

แต่ไม่น่าเชื่อว่ายังนำข้อหานี้มาเล่นงานผู้อื่นได้

ขณะเดียวกันทหารบางกลุ่ม หรือบางพวกก็เริ่มสนุกกับการ "รบในเมือง"

สนุกกับการรบกับคนที่ด้อยกว่าทั้งทักษะ และอาวุธ

เราจึงเห็นทหารพกอาวุธสงคราม ขี่มอเตอร์ไซค์อย่างมั่นใจไปทั่วเมืองหลวง

ซึ่งภาพเหล่านี้จะหาดูไม่ได้หากอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีกองกำลังที่มีทักษะ และอาวุธที่สามารถต่อกรได้เท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกันกลุ่มเสื้อแดง ก็ไม่ได้สำเหนียกว่าสิ่งที่ทำอยู่และดูเหมือนจะมากขึ้น ยิ่งทำให้เสียงสนับสนุนหรือเห็นอกเห็นใจน้อยลงไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะการปิดถนนเพื่อป้องกันตำรวจ-ทหารจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแทบไม่มีประโยชน์อันใด แต่ก็ทำ

และคนที่เดือดร้อนคือประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ต้องถูกตรวจค้นหรือเจอท่าทีคุกคาม

ลำพังเท่าที่ผ่านมาก็สร้างความเดือดร้อนและเอือมระอาให้คนกรุงเทพฯ ในระดับหนึ่งแล้ว

แกนนำจึงต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหว เพราะการเอาชนะอำนาจรัฐทำไม่ได้หากมวลชนไม่ยืนอยู่เคียงข้าง

ทั้งรัฐบาล และม็อบจะทำอะไรก็ให้มันอยู่ในกรอบพอเหมาะ พอควรแก่เหตุ

น้อยไปก็อาจจะไม่ได้ผล แต่ถ้ามากเกินไปจนเข้าขั้นโอเวอร์แอ๊กชั่น

มันจะเป็นผลร้ายย้อนกลับมาเล่นงานตัวเองในอนาคต

ขอวิถีไทยคืนมา

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_79872

สถานการณ์เวลานี้...อยู่ในยุค "ไม่มีใครฟังใคร" กันแล้ว มุ่งเอาชนะเพื่อชิงอำนาจกันอย่างเปิดเผย

อำนาจรัฐใช้ได้แค่ควบคุมสื่อ แต่ไร้ซึ่งความ เชื่อมั่นในการรักษาบ้านเมือง

บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติระส่ำระสายขนาด หนัก คนไทยแตกเป็นก๊ก รอวันนองเลือดเท่านั้น

ตั้งสติให้ดี ถอยไปคนละก้าว แล้วพูดจาภาษาเดียวกันจะได้หรือไม่??!!

มึงก็แน่...กูก็แน่...ถ้าอย่างงั้นก็นับถอยหลังรอวันประเทศพินาศได้เลย!!

ตอนนี้...ผู้คนที่รักสันติแท้ๆ ไม่ใช่พูดแต่ปาก กำลังสับสนและ "ขาดกำลังใจ" หรือหมดที่พึ่งกันแล้ว

ทั้งผู้ที่อยากฆ่า...และผู้ที่ท้าทายให้ฆ่า... ยังมีเวลาทบทวนสติ ยังมีเวลากลับตัวกลับใจ และยังมีเวลาสกัดกั้นวิกฤติ "ไทยฆ่าไทย" อยู่แค่เอื้อม!!

ขอให้พวกท่านจริงใจกับประชาชนตาดำๆ เหมือนที่ปากพวกท่านพร่ำพูดว่าจะทำเพื่อประชาชนอยู่ทุกวัน

ถ้าพวกท่านทำได้...วิกฤติทุกอย่างจะจบลงอย่างรวดเร็วทันทีทันใด เพราะชีวิตอีกชีวิตเดียว หรือเลือดเนื้อของประชาชนอีกหยดเดียว ก็ต้องไม่เกิดขึ้น!!

ถ้าพวกท่านหยุดสงครามกลางเมืองได้...หยุดสงครามประชาชนได้...ถึงจะเรียกได้ว่าพวกท่านรักชาติ รักประชาชน และจรรโลงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติด้วยหัวใจอย่างแท้จริง

กลับเข้ามาเรื่องจอทีวี...ขอขอบคุณทุกรายการบันเทิงที่พยายามสร้าง "ขวัญและกำลังใจ" ให้แก่ประชาชนหรือผู้ชม ในยามบ้านเมืองกำลังขาดกำลังใจอยู่ในขณะนี้

กำลังใจแบบใดก็ได้ที่เรามอบให้กันและ กัน เพื่อลดทิฐิความเคียดแค้นชิงชัง มองเห็นคนไทยคือเพื่อนร่วมชาติ ไม่ใช่ศัตรูที่จะจ้องทำลายล้างกัน

อย่างมุมหนึ่งเล็กๆในรายการ "ตลาด สดสนามเป้า" นำเสนอครอบครัวค้าขาย พ่อและลูกชายทุ่มเท "กำลังใจ" ให้กับผู้เป็นแม่จนต่อสู้เอาชนะมะเร็งร้ายได้สำเร็จ

ผมดูด้วยความตื้นตัน...บอกกับตัวเองว่า นี่ไงวิถีไทยแท้ คือความกตัญญูรู้คุณ คือความรักและความเอื้ออาทรต่อกันในยามชีวิตวิกฤติ!!

แล้วทุกอย่างก็จะเอาชนะวิกฤติได้โดยความรักความกตัญญูนั่นเอง!!


"แจ๋วริมจอ"

ต่างชาติมองไทย

ที่มา ไทยรัฐ

ความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองของคนไทยที่กำลังร้าวฉานไปใหญ่โต เพราะไม่ยอมย้ายเวทีไปเล่นใน "เวทีการเมือง" คือ "รัฐสภา" ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุมหลายครั้ง มีการบาดเจ็บล้มตาย ทำเอาประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน และ ประชาคมโลก ต่างก็มองประชาธิปไตยแบบไทยๆด้วยความเป็นห่วง

ประชาธิปไตยเมืองไทย วันนี้ ยังเหมือน "บัวใต้น้ำ" มีการใช้ประชาธิปไตยไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติเป็นโรคแทรกซ้อน

ประชาธิปไตยเมืองไทย เรา "ลอกแบบ" มาจาก "อังกฤษ" อย่างผิวเผิน ลอกมาอย่างลวกๆ โดยลอกมาแต่เรื่อง "การเลือกตั้ง" เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ลอกแบบเรื่องการพัฒนา "จิตใจประชาธิปไตย" ควบคู่ไปด้วย เพราะ ประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนต้อง "มีหน้าที่" และ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ด้วย นอกเหนือจาก "สิทธิ" ที่พึงได้รับตามระบอบประชาธิปไตย

แต่คนไทย "รู้จักแต่การใช้สิทธิ" ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ "ไม่รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ" ตามระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการใช้สิทธิประชาธิปไตยเมืองไทยจึงพิกลพิการอย่างที่เป็นอยู่

สองวันก่อน เพื่อนบ้านอาเซียนไทยที่เศรษฐกิจกำลังไปโลด คือ สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ต่างก็ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในบ้านเมืองไทย และเรียกร้องให้มีการ "เจรจาอย่างสันติ" เพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่กัดกร่อนประเทศไทยมานานหลายปีแล้ว

กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ เรียกร้องให้คนไทย ยอมละวางความเห็นที่แตกต่างกัน หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และหาทางออกด้วยสันติวิธี

นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ถึงกับขันอาสาขอคนเป็น "คนกลาง" เพื่อช่วยเหลือคนไทยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย เพื่อเปิดให้มีการเจรจาสองฝ่าย

ฟังแล้วรู้สึกอับอายเพื่อนบ้านบ้างไหม

ล่าสุด นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ไปจนถึง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย แสดงว่าความขัดแย้งรุนแรงในไทย ได้สร้างความวิตกให้กับเพื่อนบ้านไปจนถึงสหรัฐฯและยูเอ็นแล้ว เพราะไม่อยากเห็นความรุนแรงบานปลายเหมือนในแอฟริกาในอดีต

เราต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ได้ฉุดให้เพื่อนบ้านอาเซียนทั้งหลายมีปัญหาไปด้วย เพราะข้อตกลงความร่วมมือต่างๆในอาเซียนเดินหน้าไปไม่ได้ ทำให้อาเซียนเสียประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

ที่พังยับเยินต่อหน้าเห็นๆก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อ สี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการช็อปปิ้งใจกลางกรุง ถูกปิดเป็นสถานที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง แถมยังมีการปะทะกันรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ลูกค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ต่างก็สั่งห้ามคนของเขาเข้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะ บริษัทญี่ปุ่น ห้ามผู้บริหารทุกคนมาประชุมที่เมืองไทยโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าการเจรจาการค้า การเซ็นสัญญา ระงับหมด

ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ได้ออกคำแนะนำเพิ่มเติม เตือนไม่ให้คนอังกฤษเดินทางมาเมืองไทย ถ้าไม่มีความจำเป็น ห้ามทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด บริษัทท่องเที่ยวอังกฤษ ประกาศพร้อมที่จะคืนเงินค่าทัวร์เมืองไทยเต็มจำนวน ถ้ามีการยกเลิกการเดินทางมาไทยภายในวันศุกร์ที่ 30 เมษายนนี้

ผมได้แต่หวังว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะมีสติเสียที และหันหน้ามาเจรจากันทันที เพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศและคนไทยทุกคนที่กำลังย่อยยับ.

"ลม เปลี่ยนทิศ"

รอเช็กบิลหลังพลิกขั้ว

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_79967

จาตุรนต์ - อภิสิทธิ์

เหตุเกิดที่เมืองไทย แต่ฝรั่งดันรู้ก่อนทุกที

"friendly fire" โดยถ้อยคำที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและบีบีซี ได้นำเสนอภาพข่าวรายงานไปทั่วโลก เหตุการณ์ที่พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาระ ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิต ระหว่างเหตุปะทะกับม็อบเสื้อแดงที่บริเวณอนุสรณ์สถาน ย่านดอนเมือง

ฟันธงเลยว่า "พวกเดียวกันเองยิง"

ขณะที่สื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ก็ยังยึดเอาตามที่ "เสธ.ไก่อู" พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงเหตุการณ์เสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน

อุบข่าวกันนิ่งเลย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด พลทหารณรงค์ฤทธิ์ก็เป็นชีวิตที่ 28 แล้วที่สังเวย "เกมแลกเลือด" เพิ่มสถิติตายรายวัน

เลยจุดของคำว่า "มิคสัญญี" จ่อใกล้สงครามกลางเมือง

เรื่องของเรื่อง สถานการณ์เขม็งเกลียวไหลมาถึงชั่วโมงนี้ โฆษก ศอฉ.ก็ยอมรับเต็มปากเต็มคำแล้วว่า ทหารใช้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริงในการสลายม็อบเสื้อแดง ประกอบกับภาพข่าวที่หน่วยแม่นปืนส่อง สไนเปอร์ติดกล้องเล็งไปที่บริเวณชุมนุม โดยมีทหารคอยชี้เป้า

พร้อมเหนี่ยวไกตลอดเวลา

ฉากนี้ถือว่า "เพิ่มน้ำหนัก" ให้แกนนำ นปช.ที่เดินเกมขอ "ตัวช่วย" ต่างประเทศ ตะโกนเรียกให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) องค์กรนิรโทษกรรมสากล

ส่งตัวแทนเข้ามาสังเกตการณ์วิกฤติการเมืองไทยในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ฝ่ายถืออำนาจจ้องทุบม็อบแดง โดยมีม็อบหลากสี เครือข่ายม็อบพันธมิตรฯ เป็นลูกคู่ ตะโกนเชียร์เย้วๆให้ลุยเผด็จศึก

เอาเป็นว่า ก่อนที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และฝ่ายถืออำนาจจะคึกตามเสียงเชียร์

ล่าสุด นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงจองกฐินล่วงหน้า จากกรณีปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกลุ่ม นปช. โดยเฉพาะการใช้อาวุธปราบปรามประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์และขัดต่อหลักปฏิบัติสากล หลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ รัฐบาลใหม่

ที่ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปัตย์ สามารถดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศได้ทันที

การฟ้องนี้จะเป็นการฟ้องต่อบุคคล เช่น การฟ้องต่อนายอภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นพลเรือน แม้จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารโดยตรง แต่เป็นพลเรือนที่สั่งการให้ทหารเข้ากระทำการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

การดำเนินคดีในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นและถูกตัดสินโดยศาลคดีอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เหมือนกับผู้นำบางประเทศได้ถูกดำเนินคดีกันมาแล้ว

รอเช็กบัญชีหลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ

ตามจังหวะ "กระตุกขากางเกง" กันไว้ ไม่ให้ย่ามใจในกระบองที่ถืออยู่ในมือ

แต่ที่ตั้งท่า "เคลียร์กันเลย" โดยไม่ต้องรอเปลี่ยนขั้วอำนาจ

โดยการยืนยันของ พล.ท.เชวงศักดิ์ ทองฉลวย นายทหารคนสนิท เปิดคิวล่วงหน้า วันที่ 30 เมษายน "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคเพื่อไทย จะเดินทางเข้าไปที่รังใหญ่ ศอฉ. ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ด้วยตัวเอง เพื่อขอความชัดเจนกรณี "ขบวนการล้มสถาบัน"

ไม่ต้องรอให้ ศอฉ.ออกหมายเรียก อย่างที่เย้วๆกัน

ถ้าไปตามนัด ก็ชัดเจนว่า ได้เวลาโชว์ลูกเก๋ายี่ห้อทหารเฒ่าไม่มีวันตาย "บิ๊กจิ๋ว" ลุยถั่วเข้าถ้ำเสือ คิวนี้คงไม่ใช่แค่คิวสร้างภาพทางการเมืองอย่างที่ "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ชิงดักคอ

ด้วยข้อหาล้มสถาบัน โทษประหารเจ็ดชั่วโคตร เดิมพันเป็นเดิมพันตาย

"บิ๊กจิ๋ว" ไม่แลกด้วยช็อตตื้นๆแน่

แต่ก่อนอื่นเลย ในฐานะเจ้าของแผนผังเครือข่ายขบวนการล้มสถาบันที่แจกกระดาษเอสี่ โยงคนนั้นลากเอี่ยวคนนี้ ประจานชื่อผ่านสื่อมวลชนชัดๆกันไปแล้ว

"หัวโจก" อย่าง "บิ๊กจิ๋ว" ไปปรากฏตัวตรงหน้า ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าอ้ำๆอึ้งๆ แล้วลับหลังก็ออกมาบลัฟกันท่านั้นท่านี้

ตามจังหวะมันก็ยิ่งกระตุ้นคำถามย้อนกลับไปที่ ศอฉ. "ปล่อยของ" ขบวนการล้มสถาบัน

แล้วจะยังไงต่อไปดี.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

สร้างวิกฤติชาติระลอกใหม่

ที่มา ไทยรัฐ

การประกาศจัด ม็อบชนม็อบ ของภาครัฐบาล การประกาศสลายการชุมนุม อย่างชัดเจนของ ศอฉ. การออกมาสำทับว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศในข้อหา ผู้ก่อการร้ายและล้มล้างสถาบัน เป็นยุทธวิธีที่ต้องย้อนไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาและพฤษภาทมิฬ แต่เผอิญว่าผิดยุคผิดสมัยเพราะข้อมูลสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบันและการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นระบบสากล ประเทศไทยจึงถูกจับจ้องจากชาวโลกอย่างไม่กะพริบตา

ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลที่ กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รายงานในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ว่า สหประชาชาติเริ่มสนใจที่จะแทรกแซงปัญหาวิกฤติของประเทศไทยเท่านั้น

แต่ข้อมูลเชิงลึก มีบุคคลสำคัญ ในระดับสากลหลายคนหลายองค์กรด้วยกันที่มีข้อมูลอยู่ในมือและพร้อมที่จะเข้ามาคลี่คลายวิกฤติในประเทศไทย รอระยะเวลาที่เหมาะสม จากข้อกังขาในเชิงของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ไปจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเวลานี้

เมื่อใดก็ตามที่การต่อสู้เรียกร้องของผู้ชุมนุม กลายเป็นสงคราม กลางเมือง ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะมีองค์กรสากลสหประชาชาติขอเข้ามาตรวจสอบทันที

นึกถึงสภาพของประเทศไทยเวลานั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม เท่าที่ได้ยินมามีผู้นำประเทศต่างๆทั้งในย่านนี้และยุโรปเริ่มจะซุบซิบนินทาการเมืองการปกครองในบ้านเรา เกรงว่าจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำลายความเชื่อมั่นในด้านของความมั่นคงและการลงทุนจะถูกมองว่าเป็นโซนอันตราย

เป็นประเทศโลกที่สาม

สุดท้ายความขัดแย้งแตกแยกของคนไทย การเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศไทยก็จะเป็นวิกฤติความมั่นคงระลอกใหม่ ไม่แตกต่างจากความวิตกกังวลของการก่อการร้ายสากลเท่าไหร่นัก

เอาเถอะอนาคตของประเทศไทยจะติดหล่มจมปลักอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง ที่สำคัญกว่าคือคนไทยจะอยู่กันอย่างไร ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งจะปฏิบัติิตัวอย่างไร

หรือจะให้อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน

ก็ไม่ต่างอะไรจากประเทศที่ ตกอยู่ในภาวะสงคราม แต่นี่เป็นสงครามที่รัฐบาลรบกับประชาชน หรือประชาชนส่วนหนึ่งรบกับประชาชนอีกส่วนหนึ่ง

หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง การที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดี การที่รอง นายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ดี หรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงผู้ชุมนุมในท่วงทำนองขึ้นมึงขึ้นกู

ส่อเจตนาชัดเจน

ผู้ชุมนุมไม่ได้มีแค่พันคนหรือหมื่นคนหรือแสนคน จนบัดนี้ยังประเมินไม่ได้ว่ากำลังคนเสื้อแดงหรือคนที่เห็นด้วยกับแนวความคิดของเสื้อแดง ที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล คนที่ไม่พอใจกับระบบสองมาตรฐาน ชาวไร่ชาวนาที่เดือดร้อนจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ มีอยู่อีกเป็นจำนวนเท่าไหร่

จะรับมือไหวไหม.

หมัดเหล็ก

การ์ตูน เซีย 30/04/53

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_79932

การ์ตูน เซีย 30/04/53

‘จาตุรนต์’ เตือน ‘อภิสิทธิ์’ ขึ้นแท่น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’

ที่มา ประชาไท

จาตุรนต์ เปิดกฎหมายโลก เตือนอภิสิทธิ์นิ่มๆ ขึ้นแท่น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ยันแม้ไทยยังไม่เป็นภาคี แต่มีช่องยกเว้นให้สำหรับรัฐบาลยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเปลี่ยนขั้ว

29 เมษายน 2553 โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงถึงการตั้งข้อกล่าวหาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อการชุมนุม ผู้ชุมนุม ในเรื่องการก่อการร้าย ล้มสถาบัน และศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ โดยกล่าวเตือนนายอภิสิทธิ์ว่า ด้วยความห่วงใยต่อบ้านเมือง และต้องแสดงความห่วงใยต่อนายกฯอภิสิทธิ์เองด้วย การที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการยกระดับข้อกล่าวหาในลักษณะบิดเบือนใส่ร้าย กล่าวหาผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ยุบสภา และได้พยายามทำให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวการชุมนุมมีลักษณะเป็นขบวนการที่มีลักษณะเป็นการก่อการร้าย และเป็นขบวนการที่ต้องการล้มล้างสถาบัน ซึ่งการกล่าวหาในลักษณะนี้ ไม่ได้มีหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งยังได้กล่าวหาเกินจริงไปมาก มุ่งที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม และสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังเข้าปราบปราม ถึงขั้นที่จะใช้กำลังอาวุธเข้าเข่นฆ่าประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในลักษณะอย่างนี้ ถ้ายังทำต่อไป จะทำให้สุญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งจะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงตอนนี้จึงมีจำเป็นที่จะต้องมาเตือน ช่วยกันเรียกร้องกดดันต่อนายกฯอภิสิทธิ์เปลี่ยนใจเสียใหม่ ล้มเลิกการกระทำและความพยายามต่างๆ เหล่านี้

“การกล่าวหาว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยผู้ก่อการร้าย หรือมีผู้ก่อการร้ายร่วมอยู่ในการขบวนการชุมนุม เป็นการกล่าวหาที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ แล้วยังไม่มีข้อกฎหมายรองรับเลย ถ้าจะพิจารณาจากความเห็นของรองเลขาธิการศาลยุติธรรม จะเห็นว่า การชุมนุมของ นปช. - คนเสื้อแดง ไม่เข้าข่ายที่จะถือได้ว่าเป็นการก่อการร้ายเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งยังมีข้อกฎหมายที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การชุมนุมที่คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ถือเป็นการก่อการร้าย จะเอากฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายมาใช้กับผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ได้”

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวด้วยว่า หากดูจากข้อกฎหมายในเรื่องที่จะบอกว่า การกระทำอย่างใดจึงจะถือว่าเป็นการก่อการร้ายนั้น แม้แต่การที่มีบุคคลไปยิงเอ็ม 79 ในที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งกรณีมีกลุ่มคนชุดดำที่ยิงใส่ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อการทำงานของเจ้าพนักงาน หรืออย่างมากก็พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน แต่ก็ไม่ถือเป็นการก่อการร้าย แม้แต่คนที่ยิงปืนเอ็ม 79 หรือคนที่ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ ก็ยังไม่ถือเป็นการก่อการร้าย เพราะการก่อการร้ายจะต้องมีเจตนาพิเศษ เป็นการก่อการร้ายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

“ข้ออื่นๆ ในคำชี้แจงของรองเลขาธิการศาลยุติธรรมก็เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่มีอะไรที่ถือได้ว่าเป็นการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของประชาชนและแกนนำของ นปช.ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมที่เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย ยิ่งไม่เข้าข่ายการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย แต่รัฐบาลก็ยังคงดึงดันที่จะใช้คำนี้ และใช้หลักกฎหมายเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุมและสร้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารผู้ชุมนุม” นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ ยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจด้วยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ในช่วง 6 ปีมานี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4,100 กว่าคน และมีผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสอีก 6,500 กว่าคน รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่เรียกเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ว่าเป็นการก่อการร้ายแม้แต่ครั้งเดียว แต่ในกรณีนี้ที่มีการชุมนุมของประชาชนให้ยุบสภา กลับเรียกว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการใช้ความรุนแรงและมาตรการที่รุนแรงในการปราบปรามประชาชน

ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่รัฐบาลใช้มาเป็นข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม คือ การกล่าวหาว่ามีขบวนการล้มสถาบันล้มเจ้า การกล่าวหานี้ได้ทำในลักษณะจับแพะชนแกะ เอาชื่อคน ชื่อองค์กรต่างๆ มารวมกันเข้า และใช้การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ไม่มีพยานหลักฐาน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ นอกจากนั้นก็เห็นได้ชัดว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น การกล่าวหาในลักษณะนี้ ก็จะทำให้เกิดความเกลียดชังต่อประชาชนผู้ชุมนุม เพระว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อ่อนไหว ประชาชนย่อมไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับเลยแม้แต่น้อย

“ทำให้เห็นได้ว่า ทั้ง 2 เรื่อง คือ ข้อกล่าวหาเรื่องการก่อการร้าย กับเรื่องล้มเจ้าล้มสถาบัน เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพื่อมุ่งที่จะปราบเข่นฆ่าประชาชน”

นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วยว่า เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ที่ใช้กำลังทหารไปขัดขวางการสัญจรของประชาชน และนำไปสู่การใช้อาวุธต่อประชาชนบาดเจ็บไปจำนวนมาก รวมทั้งยังได้เกิดอุบัติเหตุที่เจ้าหน้าที่ยิงกันเอง จนกระทั่งทำให้ทหารเสียชีวิตไป 1 คน แสดงให้เห็นถึงการใช้กำลังอาวุธ ใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น ไม่เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสมกับการกระทำของผู้ชุมนุม

การดำเนินการในลักษณะนี้ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักว่าด้วยมาตรการในการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดว่า การจะใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม จะทำได้เฉพาะในกรณียกเว้นและเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งจะต้องทำในลักษณะที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมกับการชุมนุม เช่น หากผู้ชุมนุมใช้อาวุธ จึงจะใช้อาวุธตอบโต้ เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ แต่การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ในทั้ง 2 เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 และเมื่อวานนี้ (28 เมษายน 2553) ได้ใช้เกินกว่าความจำเป็นอย่างมาก

“ในหลักว่าด้วยการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า แม้ว่าจะได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดยังต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม ไม่สามารถที่จะใช้อาวุธเข้าประหัตประหารประชาชนได้ตามอำเภอใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อมีการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ – พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะยิงใครทิ้งเล่นๆ ได้ตามใจชอบ หลักการเหล่านี้ได้มีเป็นหลักสากลไว้อยู่แล้ว และขณะนี้รัฐบาลนี้ได้ละเมิดหลักการนี้อย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ ยังได้เปิดประเด็นเพื่อเตือนถึงนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า “ผมอยากจะเตือนไปถึงนายกฯอภิสิทธิ์ว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เมื่อลงนามในอนุสัญญาแล้วนี้ รัฐบาลที่ได้ดำเนินการขัดต่อหลักว่าด้วยการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต่อไปข้างหน้า เมื่อมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล และรัฐบาลนั้นสามารถที่จะลงนามเพื่อเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ก็สามารถที่จะหยิบยกเรื่องการสลายการชุมนุมทั้งวันที่ 10 เมษายน วันที่ 28 เมษายน 2553 รวมถึงถ้าจะมีการสลายการชุมนุมขึ้นอีกที่ราชประสงค์ มาเป็นคดีฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาที่กรุงเฮกได้

“การฟ้องนี้จะเป็นการฟ้องต่อบุคคล เช่น การฟ้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่เป็นพลเรือน แม้จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารโดยตรง แต่เป็นพลเรือนที่สั่งการให้ทหารเข้ากระทำการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน การดำเนินคดีในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นและถูกตัดสินโดยศาลคดีอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เหมือนกับผู้นำบางประเทศได้ถูกดำเนินคดีกันมาแล้ว”

“เพราะฉะนั้นที่อยากจะเตือนก็คือว่า ต้องหยุดการสร้างเรื่อง บิดเบือน ให้ข่าวแต่ฝ่ายเดียว เพื่อสร้างความเกลียดชังและสร้างความชอบธรรมในการปราบเข่นฆ่าประชาชน เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ จะทำให้ประเทศเข้าสู่กลียุค ในยุคที่ประชาชนกับรัฐต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือ ประชาชนต่อประชาชนประหัตประหารกันเอง สิ่งที่ต้องเตือนก็คือ ถ้ายังคงทำอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตคุณอภิสิทธิ์ในฐานะบุคคลคนหนึ่งไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตำแหน่งใดหรือไม่ อาจจะถูกดำเนินคดีในศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ และจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงมาก จึงอยากให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการอย่างที่ทำโดยเร็วที่สุด” นายจาตุรนต์ กล่าวย้ำ

ในตอนท้าย ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงสถานะของอนุสัญญาว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นายจาตุรนต์ อธิบายว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นภาคี แต่จะเป็นภาคีหรือไม่ก็ตาม ก็มีช่องทางหรือข้อยกเว้นที่สามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้พิจารณาได้โดยรับบาลลงนามยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งหากได้รัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเมื่อใด การไปลงนามภาคีในอนุสัญญานี้ก็ทำได้ง่ายๆ และสามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาได้

“ความผิดก็จะเป็นความผิดฐาน ‘เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ เมื่อมีการปราบปรามโดยใช้กำลังอาวุธทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งเวลานี้ถือได้ว่าเข้าข่ายแล้ว แต่ว่าหากมีการสลายที่ราชประสงค์อีก และเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายที่ทำให้คนเสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก ก็จะเข้าการเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เข้าข่ายตามอนุสัญญานี้ทันที” นายจาตุรนต์กล่าว

เกษียร เตชะพีระ: ‘หน้าที่ทางการเมืองของแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า’

ที่มา ประชาไท

ผมคิดว่าที่เรากำลังประสบอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันคือกระแสคลื่นการปฏิเสธอำนาจรัฐ (widespread dissent from state power) แสดงออกไม่เพียงในรูปการชุมนุมยืดเยื้อฝ่าฝืนประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง บุกค้นโรงพยาบาล วางยางรถยนต์ขวางชานชาลาและเส้นทางรถไฟฟ้ากลางกรุงเทพฯ หากแผ่กระจายกว้างออกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือ-อีสาน-กลางในรูปกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งด่าน ปิดถนน ตรวจค้น คุมตัวทหาร-ตำรวจ ฯลฯ

แก่นแท้ของมันคือการที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไม่ยอมรับอำนาจรัฐ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในทางการเมือง

นี่เป็นการฟาดตรงหัวใจของอำนาจรัฐ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วอำนาจรัฐจะทำงานได้ต้องตั้งอยู่บนการยินยอม-ยอมรับ (consent) ของผู้คน ไม่ใช่การใช้กำลังข่มขู่บังคับ (coercion)

ไม่มีรัฐที่ไหนกุมปืนจ่อหัวผู้คนพลเมืองทุกคนทั่วประเทศให้ทำตามคำสั่งได้ ส่วนใหญ่ที่สุดรัฐดำเนินงานต่อไปได้ก็เพราะคนส่วนข้างมากยอมรับอำนาจรัฐและยินยอมทำตามคำสั่งของรัฐเอง

รัฐที่อำนาจเข้มแข็งคือรัฐที่ผู้คนพลเมือง (รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเอง) ให้การยอมรับสูงและยินยอมทำตามคำสั่งรัฐโดยดุษณีไม่มีข้อแม้หรือกระทั่งทำตามอย่างแข็งขัน โดยรัฐมิพักต้องใช้กำลังข่มขู่บังคับหรือใช้ก็เพียงเล็กน้อย

ในทางตรงข้าม รัฐที่อำนาจอ่อนแอ คือรัฐที่ถูกผู้คนพลเมือง (รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ) ปฏิเสธ ไม่ยอมนับถือว่าเป็นรัฐของตัว และดิ้นรนขัดขืนเฉื่อยเนือยเกียร์ว่างต่อคำสั่งของรัฐทุกวิถีทาง

ตามความหมายนี้ ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา อำนาจรัฐกำลังอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและถูกท้าทายหนักขึ้นทุกที

%%%%%

รัฐบาลอภิสิทธิ์สูญเสียการยินยอม-ยอมรับของสังคมไปอย่างมากหลังเกิดเหตุเมษาฯวิปโยคเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน ศกนี้

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกตั้งคำถามท้าทายเรื่องความชอบธรรมของที่มาแห่งอำนาจอยู่บ้าง เพราะถึงแม้มันจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการรัฐสภา แต่ก็ดูไม่ชอบมาพากลที่บรรดาตัวแทนพรรคร่วมไปประชุมก่อตั้งรัฐบาลกันขึ้นในค่ายทหารและอาศัยกลุ่มการเมืองที่แปรพักตร์เป็นฐานพลิกคะแนนเสียงในสภา

แต่จุดด่างพร้อยนี้เทียบไม่ได้เลยกับความผิดพลาดสาหัสร้ายแรงที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจสั่งการใช้กำลังทหารเข้า “ขอยึดพื้นที่คืน” จากที่ชุมนุมของ นปช. บนถนนราชดำเนินในเวลากลางคืน จนส่งผลให้มีประชาชนผู้ชุมนุมและทหารรวมทั้งผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตรวม 25 คนและบาดเจ็บกว่า 800 คน

โดยที่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัสนับร้อยและหลายคนอาจต้องพิการหรือทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ขณะที่การสอบสวนสืบหาผู้ใช้อาวุธสังหารในคืนนั้นต้องดำเนินต่อไปเพื่อหาคนผิดมารับโทษตามกฎหมาย รัฐบาลเองจักต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนอย่างเต็มที่ไม่ว่าใครเป็นคนยิงก็ตาม – ไม่วันนี้ก็วันใดวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

ถ้าก่อนหน้านั้นความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ดูคลุมเครือไม่ชัดเจน หลังคืนนองเลือดวันที่ 10 เมษายนฯ มันก็พังพินาศแหลกลาญไม่มีชิ้นดีต่อหน้าต่อตาคนทั้งประเทศและทั่วโลก

สำหรับผู้ชุมนุมเรือนพันเรือนหมื่นและญาติมิตรครอบครัว จะให้พวกเขายอมรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าเป็นรัฐบาลของพวกเขา และยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาอดรู้สึกไม่ได้ว่ากลางดึกชุ่มเลือดคืนนั้น รัฐบาลดูจะมุ่งเอาชีวิตของเขาและคนที่เขารัก และก็ได้เอาชีวิตของผู้ร่วมชุมนุมกับเขาไปนับสิบๆ คน?

%%%%%

หลังเมษาฯวิปโยค รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สูญเสียสิทธิอำนาจทางศีลธรรมหรือสิทธิธรรมที่จะปกครอง (the moral authority to rule) ไปแล้ว

สำหรับรัฐ ๆ หนึ่ง นี่เป็นวิกฤตอย่างยิ่งและยากมากที่จะธำรงรักษาการยอมรับ-ยินยอมของผู้คนพลเมืองรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองไว้ต่อไป

นี่คือที่มาสำคัญที่สุดของกระแสคลื่นการปฏิเสธอำนาจรัฐปัจจุบัน

ทางออกก็คือต้องหาทางประกอบสร้างสิทธิอำนาจทางศีลธรรมหรือสิทธิธรรมที่จะปกครองขึ้นมาใหม่ (reconstitution of the moral authority to rule) เพื่อให้ผู้คนพลเมืองกลับมายอมรับใหม่ว่านี่เป็นรัฐบาลของพวกเขา และยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลอีกครั้ง

เพื่อการนี้ ที่ผ่านมา หนทางที่การเมืองไทยเลือกเดินคือนายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลทั้งชุดลาออก ฟอร์มรัฐบาลใหม่ ดังหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาคม พ.ศ.2535

จากนั้นสิทธิธรรมในการปกครองจึงค่อยๆ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาโดยรัฐบาลใหม่ของนายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ และ อานันท์ ปันยารชุน (2)

แต่นายกฯอภิสิทธิ์กลับไม่ยอมสละอำนาจอย่างที่นายกฯ จอมพลถนอม กิตติขจร และพลเอกสุจินดา คราประยูรได้ยอมเสียสละมาแล้วในสถานการณ์คล้ายๆ กัน

ตรงกันข้าม ดูเหมือนรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเลือกวิธีการอื่นในการซ่อมแซมค้ำยันสิทธิธรรมในการปกครองของรัฐบาลไว้

%%%%%

แผนผังเครือข่ายขบวนการล้มเจ้าของ ศอฉ.

หากดูจากคำกล่าวของนายกฯอภิสิทธิ์ในรายการทีวีเอ็นบีที “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันที่ 25 เมษายน ศกนี้ที่ว่า "ชื่อต่างๆ ที่ปรากฎออกมา ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ต่างคนต่างทำ ทั้ง เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก) พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ) หรือแกนนำผู้ชุมนุม" ตามมาด้วยคำแถลงของ พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ประกอบแผนผังเครือข่าย

ขบวนการล้มเจ้า (ดูภาพข้างบน) วันถัดมา ก็พอเห็นได้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์เลือกวิธีการใดในการพยายามฟื้นฟูสิทธิธรรมในการปกครองที่ย่อยยับลงไปขึ้นมาใหม่

ชื่อบุคคล-กลุ่ม-องค์กรที่ปรากฏในแผนผังดังกล่าว มีทั้งผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯหรือทุจริตไปแล้ว, ผู้ที่ถูกตำรวจกล่าวหาหรือกำลังถูกดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม, ผู้ที่ยังไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ แต่ถูกประณามโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าไม่จงรักภักดี ฯลฯ

ทรรศนะที่ปรากฏต่อสาธารณะของบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้มีหลากหลายคละกันทั้งต่อต้านสถาบันกษัตริย์, คัดค้านการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายป้ายสีกันทางการเมือง, ต่อต้านรัฐประหาร, ต้องการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ปลอดพ้นการแทรกแซงทางการเมืองโดยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

เท่าที่ปรากฏ สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาทั้งหมดทุกคนเข้าด้วยกันก็คือลูกศรและคำบรรยายในแผนผังของ ศอฉ.กับรัฐบาลเอง

โดยอาศัยคำกล่าวหาและแผนผังที่ร่างเอง-โยงเอง-อ้างเองเช่นนี้ ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศจึงตั้งคำถามโดยสามัญสำนึกถึงรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณในเรื่องนี้ว่า: ‐

“คำถามเรื่องหลักฐานเป็นประเด็นหลักในกรณีนี้ เหมือนที่บ่อยครั้งมันมักเป็นในกรณีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯต่าง ๆ ในช่วงหลายปีหลัง หลักฐานชนิดไหนที่คุณสุเทพจะถือว่าเพียงพอแก่การออกหมายจับ? แล้วจะหาหลักฐานที่ว่านี้มาอย่างไร? จะเปิดเผยมันต่อสาธารณะไหม? หรือจะเก็บงำมันไว้ลับหูลับตาผู้คนที่อาจตั้งคำถามถึงความจริงแท้ของมัน?” (Elizabeth Fitzgerald, 27 April2010, เว็บไซต์ New Mandala)

แต่ไม่ว่าเครือข่ายดังกล่าวมีจริงหรือไม่? หรือแผนผังดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ? มันล้วนเป็นประเด็นต่างหากออกไปจากหน้าที่ทางการเมืองที่แท้จริงของแผนผังเครือข่ายล้มเจ้า นั่นคือการส่งสารถึงคนไทยว่า: ‐

หากท่านไม่ยอมรับรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าเป็นของท่านและไม่ยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาล เพราะท่านเห็นว่ารัฐบาลนี้ฟอร์มขึ้นในค่ายทหารร่วมกับกลุ่มการเมืองยี้ก็ดี หรือเพราะรัฐบาลนี้ปราบม็อบผิดพลาดจนทำคนตายกว่ายี่สิบและบาดเจ็บหลายร้อยก็ดี

ไม่เป็นไร เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน ขอให้ท่านหันมายอมรับรัฐบาลนี้เป็นของท่านและทำตามคำสั่งของรัฐบาลเสียใหม่ในฐานะที่รัฐบาลนี้เป็นผู้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้จากเครือข่ายล้มเจ้าตามแผนผังของรัฐบาลที่ยังรอหลักฐานการพิสูจน์เทอญ!

และแล้วต้นทุนการเมืองวัฒนธรรมก้อนสุดท้ายของรัฐชาติไทยก็ถูกล้วงหยิบฉวยใช้มาชะลอความเสื่อมทรุดผิดพลาดเฉพาะหน้าของรัฐบาลอย่างนั้นเอง.....

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: วิเคราะห์สถานการณ์ ในวันคืนสุดท้ายก่อนการนองเลือดใหญ่

ที่มา ประชาไท


คำชี้แจง: ข้อเขียนข้างล่างนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งในแง่ข้อมูลและความคิดกับคนที่ติดตามสถานการณ์ที่ผมรู้จัก 2-3 คน แต่การเรียบเรียงออกมาทั้งที่เป็นข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เห็นข้างล่างทั้งหมด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผมคนเดียว ผมพยายามเขียนอย่างสั้น รวบยอดที่สุด ไม่มีการอภิปรายรายละเอียดในแต่ละประเด็น ซึ่งความจริงสามารถอภิปรายขยายความได้อีกมาก

(1) ขณะนี้การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ของรัฐบาล และการตัดสินใจที่จะ "ชน" กับการสลายการชุมนุม ของทักษิณและแกนนำ นปช. (รวมทั้งความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะใช้ยุทธวิธี "คนชุดดำ" ที่เป็น "อาวุธลับ" ของพวกเขา) แทบจะกล่าวได้เลยว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แน่นอนแล้ว

(2) ซีกรัฐบาลที่ผลักดันให้สลายการชุมนุมด้วยกำลัง (ไม่ประนีประนอมเด็ดขาด) ที่สำคัญคือ y และบรรดาคนแวดล้อมใกล้ชิด, เปรมและเครือข่าย และบรรดาฮาร์ดไลน์ ใน ปชป. เช่น ชวน บัญญัติ กรณ์

ส่วนอภิสิทธิ์-สุเทพ แม้เริ่มแรกของความขัดแย้งนี้ ระดับ "ฮาร์ดไลน์" จะน้อยกว่าพวกนี้เล็กน้อย แต่เพิ่มมากขึ้นๆ ถึงระดับที่เอาด้วยกับวิธีแก้ปัญหาด้วยการสลายชุมนุมแล้ว

(3) ที่เป็น "ตลกร้าย" (irony) คือ ในซีกรัฐบาล ตัวสำคัญที่มีลักษณะ "ฮาร์ดไลน์" น้อยสุด กลับเป็นอนุพงษ์ ที่นอกจากเสนอให้รัฐบาลพิจารณายุบสภา (ซึ่งเป็นการเสนอที่นับว่าใหญ่มาก แม้อนุพงษ์จะไม่กล้าถึงขนาดออกมาแตกหัก ออกทีวี เสนอให้ยุบ เหมือนสมัยรัฐบาลสมชาย) และเสนอให้แก้ปัญหาการเมืองด้วยการเมือง

แต่อนุพงษ์เองก็คงไม่สามารถ "เตะถ่วง" การเตรียมสลายการชุมนุมได้ และคงเดินหน้าเตรียมการไปด้วย แม้จะอย่างช้าๆ กว่าที่พวกฮาร์ดไลน์ หรืออภิสิทธิ์-สุเทพ จะชอบใจ

กรณีเอกสาร "เครือข่ายล้มเจ้า" และการพูดที่แวดล้อมในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่ง นอกจากเพื่อสร้างข้ออ้างแบบ "ละครแขวนคอ" สำหรับการใช้กำลังปราบแล้ว มีผลในแง่การบีบคนอย่างอนุพงษ์ด้วยว่า ปล่อยให้ "ขบวนการล้มเจ้า" ดำรงอยู่โดยไม่ปราบได้อย่างไร

เหตุที่ขุนทหารอย่างอนุพงษ์ กลายเป็นตัว "เตะถ่วง" การใช้กำลังอาวุธสลายชุมนุม ไม่เกี่ยวกับเรื่องความเป็นคนดีอะไร แต่มาจากโครงสร้างทางการเมืองและอำนาจของสังคมไทยโดยรวม คือ ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้ ที่ทหารจะขึ้นกุมอำนาจแท้จริง เป็นหัวหน้ารัฐบาล (ไม่เหมือนสมัยก่อน 14 ตุลา หรือแม้แต่ไม่เหมือนกรณีสุจินดา) ดังนั้น ทหารจึงอยู่ในฐานะเป็นได้เพียง "เบ๊" ของรัฐบาล และกำลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ต่อให้ทำได้สำเร็จ (สลายชุมนุมด้วยอาวุธ) ก็ไม่ได้อะไร คือ ไม่ได้เป็นตัวกุมอำนาจเอง (ไม่เหมือนสมัยก่อน ที่ถ้าทำสำเร็จ ก็ประกาศรัฐประหารเป็นรัฐบาลเองได้) แต่ถ้าล้มเหลว ก็ถูกด่าประณามไป นี่คือ "เหตุผลเชิงโครงสร้าง" ที่ทำให้เห็นเรื่อง irony ที่ อนุพงษ์ กลายเป็น ฮาร์ดไลน์ น้อยที่สุด (แม้แต่ในกรณี 7 ตุลา ที่ y และบรรดาคนใกล้ชิด รวมทั้งพวกพันธมิตร ออกมาโวยวายให้อนุพงษ์ยึดอำนาจ แต่อนุพงษ์ไม่กล้าทำ ก็มาจาก "เหตุผลเชิงโครงสร้าง" แบบเดียวกัน)

(4) ซีกทักษิณและแกนนำฮาร์ดไลน์ นปช. (โดยเฉพาะ จตุพร) ตัดสินใจ "ชน" เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว การ "ชน" อย่างมาก ก็ "เสมอตัว" ไม่เสียมากกว่าที่เป็นอยู่ (พวกเขาไม่ได้เอาเรื่องชีวิตคนที่อาจจะเสียเพิ่มขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการคำนวณอยู่แล้ว)

ตัวทักษิณเอง หลังความล้มเหลวเรื่องฎีกา และหลังการถูกยึดทรัพย์แล้ว ก็ไม่มีแรงจูงใจอะไรให้ "ยั้ง" อีก (ก่อนหน้านี้ ยังหวังว่า 2 เรื่องนี้ อาจจะมีสัญญาณประนีประนอมจากอีกฝ่าย)

(5) กำลัง "คนชุดดำ" เป็นของซีกทักษิณ-แกนนำฮาร์ดไลน์ นปช. ค่อนข้างแน่นอน ไม่เพียงดูจากการที่คนเหล่านี้ โจมตีเฉพาะทหารรัฐบาล แต่จะเห็นว่า ขณะที่มีการจับ "แดงปลอม" ในหมู่ผู้ชุมนุมได้ตลอดเวลา กลับไม่สามารถ จับ "คนชุดดำ" ได้สักคนเดียว และการปฏิบัติงานใหญ่โตระดับนี้ (แฝงตัวในหมู่ผู้ชุมนุม โจมตีทหารสำคัญของรัฐบาลด้วยอาวุธ) เป็นไปไม่ได้ที่ระดับทักษิณ และแกนนำ จะไม่รู้เห็นด้วย (ความจริง ผมได้ยินการบอกเล่าในเชิง "ข่าวกรอง" และ "ข้อมูลเชิงลึก" ในทิศทางนี้ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องยึดถือ "ข่าวกรอง" เหล่านั้น ผมก็ยังเห็นเช่นนี้อยู่เอง)

การโยนระเบิดสถานที่ต่างๆ คงเป็นฝีมือของคนกลุ่มนี้ เพื่อทำให้สถานการณ์เสียเสถียรภาพมากขึ้น

การยิงผุ้ชุมนุมสีลม ก็น่าจะเป็นฝีมือคนกลุ่มนี้ ไม่น่าจะใช่ฝีมือซีกรัฐบาล ไม่ใช่เพราะรัฐบาลสร้างสถานการณ์ไม่เป็น แต่ถ้ารัฐบาลจะสร้างสถานการณ์ด้วยกรณีอย่างสีลม ควรจะต้องมีมาตรการ "ต่อเนื่อง" ซึ่งเห็นได้ว่า ไม่มี

(6) การตัดสินใจ "ชน" ของทักษิณและแกนนำ นปช.ครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจอย่างรู้ตัวว่า กำลังชนกับอะไร เพราะในแง่ทักษิณเอง ดังที่กล่าวข้างต้นว่า "แรงจูงใจ" ที่จะ "ยั้ง" ไม่เหลืออีกแล้ว (ไม่นับความโกรธกรณียึดทรัพย์อีก) ในแง่แกนนำ นปช.หลายคน ก็เช่นกัน การ "ชน" นั้น อย่างแย่สุดสำหรับพวกเขาก็ "เสมอตัว" ไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ หรือไม่แย่กว่าการ "ยอมลง" เพราะถ้ายอมลง ก็โดนคดีต่างๆ เล่นงานหนักแน่

ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมใหม่ๆ (ก่อนกรณี 10 เมษา หลายวัน) มี "บทวิเคราะห์" ใน ไทยอีนิวส์ เสนอว่า การรณรงค์ครั้งนี้ ทักษิณรู้ตัวว่า ในที่สุดแล้วจะแพ้ จะถูกปราบ แต่มีเป้าหมายลึกกว่านั้น คือ เพื่อ "ฉีกหน้ากาก" คนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ดึงให้คนเหล่านั้น "ออกมาเล่นเอง" เพื่อทำให้มวลชนที่สนับสนุน เกิดอาการ "ตาสว่าง" โดยเฉพาะ "ตาสว่าง" ยิ่งกว่าเดือนตุลาคม 2551 เพราะหวังว่า จะทำให้ x ออกมาเอง ผมเห็นว่า บทวิเคราะห์นั้น มีลักษณะ overstated คือ พูดเกินไปอยู่ แต่ไม่ถึงกับ ไม่จริงเสียทีเดียว ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ "ชน" ในขณะนี้ อาจจะไม่ถึงกับเป็นข้อสรุปที่แน่นอนตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุมวันแรกๆ (อย่างที่บทความนั้นเสนอ) แต่อย่างน้อย ต้องเป็นไอเดียประเภท "คาดการณ์" อยู่บ้างแน่นอน แต่หลังการชุมนุมพัฒนาไป และเห็นได้ชัดว่า อีกฝ่าย ไม่มีทีท่าจะยอมประนีประนอม ฝ่ายทักษิณและแกนนำ นปช. ก็ตัดสินใจในทางนี้ แน่นอนแล้ว และไม่ยอม "ลง" เด็ดขาด ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตคนจำนวนมาก (ดังที่กล่าวว่า การเสียชีวิตคน ไม่อยู่ในการคำนวนสำคัญของพวกเขา)

เห็นได้ชัดเช่นกันว่า การตัดสินใจ "ชน" ของทักษิณและแกนนำ นปช. เป็นการตัดสินใจที่รู้ว่าจะ "ชน" กับใคร การพูดถึง "จ.จ." ของจตุพร และการที่วิสา ถึงกับออกมาพูดบนเวที เมื่อวันก่อนว่า "ข่าววงในการประชุมของรัฐบาลว่า....นายอภิสิทธิ์แจ้งที่ประชุมว่า นายปีย์ มาลากุล ได้แจ้งมาว่า ผู้ใหญ่สูงสุดไม่ให้ยุบสภาโดยเด็ดขาด" (ข่าวมติชนออนไลน์ 26 เมษายน เวลา 21.45 น.) แสดงว่า ต้องมีการพูดคุยกันแล้วในเรื่องนี้ในหมู่แกนนำ พูดง่ายๆ คือรู้ดีว่า ข้อเรียกร้องยุบสภา ไม่มีทางสำเร็จ ไม่ว่าจะถึงขั้นปะทะ แต่ก็ยังยืนยันจะปล่อยให้มีการปะทะ โดยถือว่า นี่เป็นการปะทะ หรือ "ชน" กับใครบางคน

"กิจกรรม" ของ จิ๋ว-สมชาย เมื่อหลายวันก่อน เป็นสิ่งที่ต้องมาจากทักษิณแน่นอน เพราะในขณะที่ จิ๋ว อาจจะมี ความเป็นตัวเองอยู่บ้าง สมชาย ไม่มีทางทำอะไรสำคัญๆ โดยไม่ปรึกษาทักษิณแน่ กิจกรรมดังกล่าว คิดว่า เป็นทั้งการที่ทักษิณ "กดดัน" และเป็นทั้งการ "เปิดทางลงให้" ใน "นาทีสุดท้าย" (โดยเฉพาะคงหวังให้ x จะ "บายพาส" y และเครือข่าย) แต่ในเมื่อไม่มีสัญญาณตอบรับอะไร การตัดสินใจ "ชน" ก็เป็นสิ่งที่ทักษิณ-แกนนำ นปช. เดินหน้าต่อไป

ในบรรดา แกนนำ นปช. คนอย่าง จรัล คงพยายาม ดึงให้ไปสู่ทิศทาง "หาทางลง" การให้สัมภาษณ์ รอยเตอร์ หลัง 10 เมษาไม่กี่วัน และก่อนที่จะมี "ข้อเสนอใหม่ 30 วัน" คงมาจากความพยายามนี้ อันที่จริง เชื่อว่าข้อเสนอ "30 วัน" ส่วนหนึ่ง นอกจากเพื่อเปิดเกมรุกรัฐบาลแล้ว คงเป็นผลมาจากการ "ประนีประนอม" หรือ การที่ฝ่าย ฮาร์ดไลน์ ในแกนนำ ยอม "อ่อน" ให้กับคนอย่างจรัล ในการถกเถียงภายในบ้าง แต่จริงๆ แล้ว เป็นการ "อ่อน" ในลักษณะที่ไม่จริงจังอะไร เพราะข้อเสนอเพิ่มวันเพียง 15 วัน ไม่มีทางนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติอะไร โดยเฉพาะถ้าท่าทีทั่วไป เรื่องการยึดราชประสงค์ ยังคงเดิม

(7) ณ วินาทีนี้ สิ่งที่เป็น irony ที่สุด (นอกจากกรณีอนุพงษ์ ที่กล่าวถึงข้างต้น) คือ อาจจะมี เพียง "ปาฏิหาริย์" เท่านั้น ที่สามารถ "หยุด" การนองเลือด ในวินาทีสุดท้ายได้ เพราะไม่มี factor อื่นอีก ที่มี "กำลังภายใน" ในระดับที่สามารถบีบให้ ฮาร์ดไลน์ ทั้ง 2 ซีก ยอม "ถอย" ได้

ผมเชื่อมาสักระยะหนึ่ง และเห็นว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาในระยะไม่กี่วัน (หรือย้อนหลังไปถึงปลายปีก่อน) ยืนยันความเชื่อนี้ว่า ขณะนี้ "ปาฐิหาริย์" "ไม่ฟังชั่น" (หมดสภาพทำงาน) แล้ว มีลักษณะเป็นเพียง automation (กลไกที่ทำงานโดยอัตโนมัติ) ไม่สามารถมีinitiative เองแล้ว .....

อันที่จริง การที่ "ปาฐิหาริย์" อยู่ข้างเดียวกับซีกรัฐบาล ไม่เป็นที่ต้องสงสัย แต่หาก "ปาฐิหาริย์" ยัง "ฟังชั่น" เหมือนก่อน ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เล็กๆ ของการ "ลง" ของ ฮาร์ดไลน์ ทั้งสองฝ่ายได้

(8) ผมเสียใจอย่างไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ ถึงการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงธรรมดาๆ เมื่อ 10 เมษา และความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีการเสียชีวิตอีกหลายคน

ตั้งแต่การล่มสลายของขบวนการฝ่ายซ้ายในกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ที่ "หัว" ของ "พลังประชาธิปไตย" ที่ "หัว" ของความต้องการสิทธิความเป็นคน สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของมวลมหาประชาชน ยืนอยู่ด้วยคนที่คุณสมบัติ (credentials) ทางประชาธิปไตย มีอยู่น้อยนิด นี่เป็นความจริงตั้งแต่กรณี 17 พฤษภาคม มาจนถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ....

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker