หลักการ– ประชาธิปไตยคืออำนาจสูงสุดของรัฐมาจากประชาชน ในขณะที่หนึ่งรอบของการใช้อำนาจสูงสุดนั้นมีอายุปรกติคือ 4 ปี เส้นทางเดินในระหว่างนั้น มีความเห็นเหมือน มีความเห็นต่าง มีการเรียกร้อง มีการประท้วง มีการชุมนุม มีการใช้เสรีภาพ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงออก เพื่อผลักดัน ให้รัฐบาลดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาประชาชน แต่ตามรัฐธรรมนูญรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะคิด จะสร้าง จะบริหาร เพื่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเป็นจริงให้ได้ และจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ บนจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ และเช่นเดียวกันประชาชนก็มีเสรีภาพที่จะทำการชุมนุม โดยสันติ ปราศจากอาวุธได้
ทว่าบางครั้งเมื่อแนวความคิดนั้นเกิดขึ้นกับประเด็นสำคัญได้แก่ การเสนอให้ นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งนั้นคือเสนอให้ เปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร และอีกประเด็นหนึ่งซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้ คือ เปลี่ยนคณะผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติหรือการเรียกร้องให้มีการยุบสภา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ หากจำนวนผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมาก และไม่มีหนทางในการดำเนินการเพื่อที่จะตอบคำถามนี้ โดยใช้หลักเสียงข้างมาก เพราะในปัจจุบันคำถามนี้จะตอบโดย นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น ประชาชนหรือแม้กระทั่งผู้แทนของประชาชนยังไม่มีสิทธิสมบูรณ์ที่จะใช้เสียงข้างมากในการชี้คำตอบที่ควรมาจากประชาชนทั้งประเทศมากกว่านายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ปัญหาการเผชิญหน้าก็จะเกิดขึ้น และหลายครั้งก็มีประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยเรายังไม่ก้าวไปถึงขั้น สมบูรณ์ เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานหัวหน้าฝ่ายบริหารย่อมต้องมีหน้าที่อันชอบธรรมในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งควบคุมดูแลมิให้มีการละเมิดต่อกฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบสุขของสังคมและหน้าที่นี้ก็อาจขัดแย้งเป็นบางครั้งกับหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตย
ดังนั้นหนทางหรือบันไดหรือ road map ที่จะไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ พวกเราน่าจะต้องมาร่วมกันคิดและไปถึงให้ได้เพื่อให้ สิทธิและเสรีภาพยังคงมีอยู่ และประเทศไทยไม่สั่นคลอน เพราะหากประชาชนทุกๆคนออกมาแสดงความเห็นที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยพร้อมๆกัน ประเทศไทยอาจสั่นคลอน!!!
ก้าวที่หนึ่ง
รัฐบาลมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะตัดสินใจต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และมิควรต้องตกอยู่ภายใต้การติดสินใจเพราะผู้ชุมนุมถือความได้เปรียบเนื่องจากใช้มวลชนจำนวนมากหรือผู้ชุมนุมใช้วิธีกดดันโดยปิดหรือยึดสถานที่สาธารณะทั้งของรัฐหรือเอกชน และรัฐบาลควรมีเครี่องมือเพื่อจะตอบคำถามได้ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นไปด้วยความรวดเร็วทันเวลากับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
ก้าวที่สอง
ประชาชนหรือกลุ่มประชาชนผู้มีข้อเสนอให้มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยนโยบายของรัฐ ควรมีโอกาสได้เสนอเหตุผลต่อสาธารณชนโดยเฉพาะ โดยไม่ควรมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กลุ่มคนจำนวนมากมาปิดกั้นหรือบุกรุกหรือยึดครองสถานที่ราชการของรัฐหรือเอกชน เพื่อสร้างเงื่อนบีบให้ฝ่ายรัฐบาลต้องยอมตามที่คณะของตนเสนอ
ก้าวที่สาม
ต้องแก้ไขพรก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคง รวมทั้ง พรบ กฏอัยการศึก ให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิด และให้มีสาระสำคัญ คือ ให้มีการจัดตั้งกองทุนผู้ประสบภัยจากการเรียกร้องโดยกองทุนดังกล่าวจ่ายชดเชยให้ทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บหรือญาติของผู้เสียชีวิต รวมทั้งแก้ผลกระทบจากรายได้ของผู้ได้รับผลทางตรง
ก้าวที่สี่
การปิดสื่อสารมวลชน เป็นสิ่งที่ห้ามมิให้กระทำ เพราะการปิดกั้นข่าวสารจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระของข้อเรียกร้อง ทำให้ประชาชนผู้ชุมนุมกลับไปใช้วิธีเดิมคือใช้จำนวนคนและการปิดกั้นสถานที่สาธารณะ อย่างไรก็ตามต้องแก้ไขโทษที่เกิด จากการหมิ่นประมาททางการเมือง ให้ มีการรับโทษเฉพาะการปรับเท่านั้น ( ไม่รวมถึงการกระทำผิดโดยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ว่ากรณีใดๆ )
ก้าวที่ห้า
ให้มีการจัดเตรียมสถานที่ที่จะใช้ชุมนุมไว้ล่วงหน้าที่มีเวทีและระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนได้ใช้ หรือแม้ต้องพักแรม โดยให้มีการถ่ายทอดไปยังสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนผู้อื่นได้รับทราบข้อมูลหรือแนวความคิดที่ประชาชนผู้ชุมนุมต้องการนำเสนอเพื่อก้าวสู่บันไดขั้นสุดท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ( หมู่บ้านประชาธิปไตย )
ก้าวที่หก
กรณีมีการละเมิดกฎหมายและรัฐบาลจำเป็นต้องสลายผู้ประท้วง (กรณีประท้วงนอกเขตที่จัดไว้ จนรบกวนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้อื่นอย่างมาก ) ให้ใช้น้ำฉีดเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการในเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผ่านการฝึกจิตวิทยาฝูงชนและการควบคุมฝูงชนมาแล้ว ห้ามมิให้ใช้ปืนและแก็สน้ำตา แม้ว่าจะใช้กระสุนปืนยางก็ตาม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เว้นแต่หากมีการใช้อาวุธของทางฝ่ายผู้ชุมนุมอย่างชัดแจ้ง กรณีเช่นนี้รัฐบาลจะต้องเรียกประชุมสภาเพื่อตัดสินใจในการใช้กำลังตอบโต้ และในการขอการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร อาวุธที่นำมาต้องมีระดับความรุนแรงไม่มากกว่าอาวุธที่ทางฝ่ายก่อความไม่สงบนำมาใช้
ก้าวที่เจ็ด
ต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนตั้งแต่ ห้าแสนคน ขึ้นไปมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อให้มีการทำประชามติตาม พรบ.ประชามติ โดยประเด็นสำคัญ คือ การยุบสภา และการถอดถอนนายกรัฐมนตรี
โดยให้ถือผลประชามติเป็นหลัก ในการดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประชามติ