บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

‘จาตุรนต์’ เตือน ‘อภิสิทธิ์’ ขึ้นแท่น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’

ที่มา ประชาไท

จาตุรนต์ เปิดกฎหมายโลก เตือนอภิสิทธิ์นิ่มๆ ขึ้นแท่น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ยันแม้ไทยยังไม่เป็นภาคี แต่มีช่องยกเว้นให้สำหรับรัฐบาลยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเปลี่ยนขั้ว

29 เมษายน 2553 โรงแรมเรดิสัน พระราม 9 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงถึงการตั้งข้อกล่าวหาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อการชุมนุม ผู้ชุมนุม ในเรื่องการก่อการร้าย ล้มสถาบัน และศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ โดยกล่าวเตือนนายอภิสิทธิ์ว่า ด้วยความห่วงใยต่อบ้านเมือง และต้องแสดงความห่วงใยต่อนายกฯอภิสิทธิ์เองด้วย การที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการยกระดับข้อกล่าวหาในลักษณะบิดเบือนใส่ร้าย กล่าวหาผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ยุบสภา และได้พยายามทำให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวการชุมนุมมีลักษณะเป็นขบวนการที่มีลักษณะเป็นการก่อการร้าย และเป็นขบวนการที่ต้องการล้มล้างสถาบัน ซึ่งการกล่าวหาในลักษณะนี้ ไม่ได้มีหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งยังได้กล่าวหาเกินจริงไปมาก มุ่งที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม และสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังเข้าปราบปราม ถึงขั้นที่จะใช้กำลังอาวุธเข้าเข่นฆ่าประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในลักษณะอย่างนี้ ถ้ายังทำต่อไป จะทำให้สุญเสียชีวิตเลือดเนื้อประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งจะทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงตอนนี้จึงมีจำเป็นที่จะต้องมาเตือน ช่วยกันเรียกร้องกดดันต่อนายกฯอภิสิทธิ์เปลี่ยนใจเสียใหม่ ล้มเลิกการกระทำและความพยายามต่างๆ เหล่านี้

“การกล่าวหาว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยผู้ก่อการร้าย หรือมีผู้ก่อการร้ายร่วมอยู่ในการขบวนการชุมนุม เป็นการกล่าวหาที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ แล้วยังไม่มีข้อกฎหมายรองรับเลย ถ้าจะพิจารณาจากความเห็นของรองเลขาธิการศาลยุติธรรม จะเห็นว่า การชุมนุมของ นปช. - คนเสื้อแดง ไม่เข้าข่ายที่จะถือได้ว่าเป็นการก่อการร้ายเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งยังมีข้อกฎหมายที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม การชุมนุมที่คุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ถือเป็นการก่อการร้าย จะเอากฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายมาใช้กับผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ได้”

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวด้วยว่า หากดูจากข้อกฎหมายในเรื่องที่จะบอกว่า การกระทำอย่างใดจึงจะถือว่าเป็นการก่อการร้ายนั้น แม้แต่การที่มีบุคคลไปยิงเอ็ม 79 ในที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งกรณีมีกลุ่มคนชุดดำที่ยิงใส่ทหารในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อการทำงานของเจ้าพนักงาน หรืออย่างมากก็พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน แต่ก็ไม่ถือเป็นการก่อการร้าย แม้แต่คนที่ยิงปืนเอ็ม 79 หรือคนที่ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ ก็ยังไม่ถือเป็นการก่อการร้าย เพราะการก่อการร้ายจะต้องมีเจตนาพิเศษ เป็นการก่อการร้ายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

“ข้ออื่นๆ ในคำชี้แจงของรองเลขาธิการศาลยุติธรรมก็เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ไม่มีอะไรที่ถือได้ว่าเป็นการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของประชาชนและแกนนำของ นปช.ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมที่เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย ยิ่งไม่เข้าข่ายการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย แต่รัฐบาลก็ยังคงดึงดันที่จะใช้คำนี้ และใช้หลักกฎหมายเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุมและสร้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารผู้ชุมนุม” นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ ยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจด้วยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ ในช่วง 6 ปีมานี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 4,100 กว่าคน และมีผู้บาดเจ็บที่มีอาการสาหัสอีก 6,500 กว่าคน รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่เรียกเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ว่าเป็นการก่อการร้ายแม้แต่ครั้งเดียว แต่ในกรณีนี้ที่มีการชุมนุมของประชาชนให้ยุบสภา กลับเรียกว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการใช้ความรุนแรงและมาตรการที่รุนแรงในการปราบปรามประชาชน

ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่รัฐบาลใช้มาเป็นข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม คือ การกล่าวหาว่ามีขบวนการล้มสถาบันล้มเจ้า การกล่าวหานี้ได้ทำในลักษณะจับแพะชนแกะ เอาชื่อคน ชื่อองค์กรต่างๆ มารวมกันเข้า และใช้การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง ไม่มีพยานหลักฐาน และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ นอกจากนั้นก็เห็นได้ชัดว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันทั้งสิ้น การกล่าวหาในลักษณะนี้ ก็จะทำให้เกิดความเกลียดชังต่อประชาชนผู้ชุมนุม เพระว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อ่อนไหว ประชาชนย่อมไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับเลยแม้แต่น้อย

“ทำให้เห็นได้ว่า ทั้ง 2 เรื่อง คือ ข้อกล่าวหาเรื่องการก่อการร้าย กับเรื่องล้มเจ้าล้มสถาบัน เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพื่อมุ่งที่จะปราบเข่นฆ่าประชาชน”

นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วยว่า เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ที่ใช้กำลังทหารไปขัดขวางการสัญจรของประชาชน และนำไปสู่การใช้อาวุธต่อประชาชนบาดเจ็บไปจำนวนมาก รวมทั้งยังได้เกิดอุบัติเหตุที่เจ้าหน้าที่ยิงกันเอง จนกระทั่งทำให้ทหารเสียชีวิตไป 1 คน แสดงให้เห็นถึงการใช้กำลังอาวุธ ใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็น ไม่เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสมกับการกระทำของผู้ชุมนุม

การดำเนินการในลักษณะนี้ของรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักว่าด้วยมาตรการในการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดว่า การจะใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม จะทำได้เฉพาะในกรณียกเว้นและเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งจะต้องทำในลักษณะที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมกับการชุมนุม เช่น หากผู้ชุมนุมใช้อาวุธ จึงจะใช้อาวุธตอบโต้ เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่ แต่การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ในทั้ง 2 เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 และเมื่อวานนี้ (28 เมษายน 2553) ได้ใช้เกินกว่าความจำเป็นอย่างมาก

“ในหลักว่าด้วยการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า แม้ว่าจะได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดยังต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม ไม่สามารถที่จะใช้อาวุธเข้าประหัตประหารประชาชนได้ตามอำเภอใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อมีการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ – พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะยิงใครทิ้งเล่นๆ ได้ตามใจชอบ หลักการเหล่านี้ได้มีเป็นหลักสากลไว้อยู่แล้ว และขณะนี้รัฐบาลนี้ได้ละเมิดหลักการนี้อย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ ยังได้เปิดประเด็นเพื่อเตือนถึงนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า “ผมอยากจะเตือนไปถึงนายกฯอภิสิทธิ์ว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เมื่อลงนามในอนุสัญญาแล้วนี้ รัฐบาลที่ได้ดำเนินการขัดต่อหลักว่าด้วยการสลายการชุมนุมของสหประชาชาติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต่อไปข้างหน้า เมื่อมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล และรัฐบาลนั้นสามารถที่จะลงนามเพื่อเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ก็สามารถที่จะหยิบยกเรื่องการสลายการชุมนุมทั้งวันที่ 10 เมษายน วันที่ 28 เมษายน 2553 รวมถึงถ้าจะมีการสลายการชุมนุมขึ้นอีกที่ราชประสงค์ มาเป็นคดีฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาที่กรุงเฮกได้

“การฟ้องนี้จะเป็นการฟ้องต่อบุคคล เช่น การฟ้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่เป็นพลเรือน แม้จะไม่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารโดยตรง แต่เป็นพลเรือนที่สั่งการให้ทหารเข้ากระทำการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน การดำเนินคดีในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นและถูกตัดสินโดยศาลคดีอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เหมือนกับผู้นำบางประเทศได้ถูกดำเนินคดีกันมาแล้ว”

“เพราะฉะนั้นที่อยากจะเตือนก็คือว่า ต้องหยุดการสร้างเรื่อง บิดเบือน ให้ข่าวแต่ฝ่ายเดียว เพื่อสร้างความเกลียดชังและสร้างความชอบธรรมในการปราบเข่นฆ่าประชาชน เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ จะทำให้ประเทศเข้าสู่กลียุค ในยุคที่ประชาชนกับรัฐต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือ ประชาชนต่อประชาชนประหัตประหารกันเอง สิ่งที่ต้องเตือนก็คือ ถ้ายังคงทำอย่างนี้ต่อไป ในอนาคตคุณอภิสิทธิ์ในฐานะบุคคลคนหนึ่งไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตำแหน่งใดหรือไม่ อาจจะถูกดำเนินคดีในศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ และจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงมาก จึงอยากให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการอย่างที่ทำโดยเร็วที่สุด” นายจาตุรนต์ กล่าวย้ำ

ในตอนท้าย ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงสถานะของอนุสัญญาว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นายจาตุรนต์ อธิบายว่า ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นภาคี แต่จะเป็นภาคีหรือไม่ก็ตาม ก็มีช่องทางหรือข้อยกเว้นที่สามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาให้พิจารณาได้โดยรับบาลลงนามยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งหากได้รัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเมื่อใด การไปลงนามภาคีในอนุสัญญานี้ก็ทำได้ง่ายๆ และสามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาได้

“ความผิดก็จะเป็นความผิดฐาน ‘เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ เมื่อมีการปราบปรามโดยใช้กำลังอาวุธทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ซึ่งเวลานี้ถือได้ว่าเข้าข่ายแล้ว แต่ว่าหากมีการสลายที่ราชประสงค์อีก และเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายที่ทำให้คนเสียชีวิตบาดเจ็บจำนวนมาก ก็จะเข้าการเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เข้าข่ายตามอนุสัญญานี้ทันที” นายจาตุรนต์กล่าว

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker