บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เหตุเกิดที่ พคท. (2553)

ที่มา ประชาไท

ในยุคที่สงครามอุดมการณ์กำลังวางวายเพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์ และสังคมไทยกำลังแสวงหาเส้นทางใหม่สำหรับระบอบการเมืองที่เหมาะสม ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้น เมื่อได้เกิดวาทะกรรมระหว่างกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็น “คณะกรรมการบริหารกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”(พคท.)ชุดใหม่ล่าสุด กับ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคฯชุดสมัชชาที่ 4 ซึ่งแสดงจุดยืนทางอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ และการนำอย่างชัดเจน

วาทะกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กระแสตื่นตัวของการเมืองแบบมวลชนได้คึกคักขึ้นในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้แกนนำของ พคท.ที่แสดงบทบาทยิวเร่ร่อน ที่ไม่ยอมชำระบาปนานเกือบ 3 ทศวรรษหลังจากความพ่ายแพ้ของพรรคฯ ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทเอาการเอางานครั้งใหม่อย่างไม่ยอมชำระหนี้สินเก่าที่คั่งค้าง (ได้แก่ ความผิดพลาด 3 ประการทางทฤษฎี ยุทธศาสตร์ และการนำ) โดยหวังว่ากลุ่มตนจะไม่เป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์
วาทะกรรมเรื่องชิงอำนาจการนำใน พคท. และการแสดงท่าทีของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แม้จะเกิดจากตะกอนที่ตกค้างมาจากอดีต แต่ก็ไม่อาจจะถืออย่างดูเบาว่าเป็นแค่ “ฝันละเมอของคนหลงยุค” เพราะโครงสร้างและเครือข่ายการจัดตั้งของ พคท.ที่ยังหลงเหลืออยู่ ยังสามารถรื้อฟื้นและส่งผลต่ออนาคตของการต่อสู้ของผู้รักความเป็นธรรม และต้องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีกว่าได้อีก ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของผู้เขียนที่จะต้องทำการวิเคราะห์ให้เห็นสาระและประเด็นของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ผู้เขียน ขอยืนยันและย้ำว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆทั้งในทางส่วนตัว กับวิชัย ชูธรรม ที่ถูกอ้างว่า เป็นเลขาธิการพรรคฯคนใหม่ และไม่ได้สังกัดหรืออยู่ใต้จัดตั้งของ พคท.สายใดๆ เลย (แล้วก็รู้สึกยินดีอย่างยิ่งกับเสียงวิจารณ์ที่ผ่านมากับข้อเขียนเดิมๆ ที่ว่า “ไม่ใช่คนของพรรค”) แต่เป็นผู้ที่มุ่งมั่นศึกษาลัทธิมาร์กซ-เลนิน-ความคิดเหมา เจ๋อ ตง มายาวนานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (อ่านข้อเขียนของมาร์กซ-เองเกลส์-เลนิน และนักคิดลัทธิมาร์กซอื่นๆ เกือบทุกเล่ม รวมทั้งสรรนิพนธ์เหมา ทั้ง 8 เล่มจนจบมาแล้วหลายเที่ยว) ไม่น้อยไปกว่าสมาชิกคนใดในกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็น “คณะกรรมการบริหารกลาง” ของ พคท.ชุดนี้หรือชุดไหนๆ
จากเอกสารพื้นฐานเรื่อง คำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยครบรอบ 67 ปี(ธันวาคม 2552) เอกสารประกอบคำแถลงเนื่องในวาระการก่อตั้ง พคท.ครบรอบ 67 ปี ของธง แจ่มศรี ฝ่ายหนึ่ง กับ คำชี้แจงภายใน (1 มกราคม 2553) และ แถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และภาระหน้าที่ (1 มกราคม 2553) ของกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นคณะกรรมการบริหารกลางอีกฝ่าย ผู้เขียนขอวิเคราะห์สาระของจุดยืนของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายออกมาได้ใน 3 หมวดหลักคือ ทางทฤษฎี ทางยุทธศาสตร์ และ การนำ ดังตารางแยกแยะต่อไปนี้

คณะกรรมการบริหารกลาง
ธง แจ่มศรี
ทฤษฎี
- ทุนนิยมกำลังเสื่อมทรามลงและมีจุดอ่อน ทำให้ไม่ใช่ทางออกสำหรับชาติกำลังพัฒนา รวมทั้งสังคมไทย ในขณะที่สังคมนิยมที่ประสานกับลักษณะพิเศษของแต่ละสังคมคือทางออกที่แท้จริง
-ชูคำขวัญยกระดับการศึกษาลัทธิมาร์กซ แต่กลับละทิ้งหลักการของลัทธิมาร์กซหันไปหยิบยืมหลักการอื่นมาผสมผสานเพื่อชี้นำแล้วอ้างว่าเป็นลัทธิมาร์กซ
- เลือกใช้ข้อมูลที่สนับสนุนความคิดตนเอง ไม่เน้นท่าทีแบบวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มต้นจากความเป็นจริง และเปิดใจกว้าง
- สังคมไทยเป็นทุนนิยมเต็มตัวแล้ว แต่โครงสร้างส่วนบนถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ ดังนั้น ขั้นตอนนี้คือการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน
- การวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยต้องยึดหลักลัทธิมาร์กซ-เลนินให้มั่น
ยุทธศาสตร์
-ศัตรูหลักของสังคมไทยคือกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณและพวกที่ฉ้อโกง และทำตัวเป็นเผด็จการใต้เสื้อคลุมของประชาธิปไตย จึงต้องหาทางจับมือกับกลุ่มทุนผูกขาดที่มีคุณธรรมมากกว่าโค่นกลุ่มนี้ก่อน
- ศัตรูหลักของสังคมไทยคือกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ ที่กลายเป็นกลุ่มทุนเก็งกำไรใหญ่ที่สุดของประเทศ
การนำ
- อ้างความชอบธรรมจากการดำรงอยู่ของคณะกรรมการบริหารกลางจากสมัชชาที่ 4 ของพรรคเพื่อยืนยันความชอบธรรม
- องค์กรนำได้สิ้นสภาพไปแล้วในทางพฤตินัยและนิตินัย

หากใช้มุมมองของนักลัทธิมาร์กซ เพื่อพิจารณาฐานะและความถูกต้องของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ต้องขอย้อนกลับไปพิจารณาถึงรากฐานของลัทธิมาร์กซที่แท้จริง ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 เรื่อง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สังคมและชนชั้น คือ
  1. ทฤษฎีปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์
  2. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มีองค์ประกอบโครงสร้างส่วนล่างคือพลังการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต(เศรษฐกิจ)เชื่อมโยงกับโครงสร้างส่วนบนที่สร้างรูปการจิตสำนึกให้กับสมาชิกในสังคม(การเมือง-สังคม-วัฒนธรรม)
  3. ทฤษฎีสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ ภายใต้กรอบที่มองผ่านทางการปะทะกันระหว่างชนชั้น ดังคำนำใน คำประกาศชาวพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ว่า "ประวัติศาสตร์ของสังคมทั้งหมดที่ผ่านมาล้วนแต่ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น"
นับแต่ถือกำเนิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ลัทธิมาร์กซ์ได้รับการยึดถือ แปลความและวิพากษ์วิจารณ์ จากบรรดานักวิชาการ นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล องค์กรต่างๆทั่วโลก รวมทั้งนำไปใช้เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มบุคคล 3 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในลัทธิมาร์กซ์แบบดั้งเดิม และนำลัทธิมาร์กซ์ ไปประยุกต์ใช้ โดยเน้นถึงความถูกต้อง ตรงตามทฤษฎีอย่างเคร่งครัด
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่เห็นว่า ทฤษฎีบางส่วนของลัทธิมาร์กซ์ ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้ว แต่ทฤษฎีบางส่วนของลัทธิมาร์ืกซ์ ยังคงถูกต้องและสามารถใช้ได้ จึงนำเอาเฉพาะส่วนที่ยังใช้ได้ ไปประยุกต์ใช้ตามมุมมองของกลุ่มตน
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้เชื่อถือในทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ แต่นำเฉพาะแนวคิดหรือข้อเขียนบางส่วนที่ตรงกับแนวคิดของตนมาใช้อ้างอิง ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง หรืออื่นๆ
เนื่องจากพัฒนาการของสังคมนิยมในโลกนี้ เกิดขึ้นมากมายจนกระทั่งกลายเป็น ความสับสนทางประวัติศาสตร์ของความคิดสังคมนิยม แต่ลัทธิมาร์กซก็รักษาความแตกต่างจากสังคมนิยมอื่นๆ ชัดเจน นั่นคือ ดำรงฐานะการเป็นแนวคิดสังคมนิยมจากล่างสู่บน ที่ตรงกันข้ามกับ สองแนวทางสังคมนิยมจากบนสู่ล่าง (อันประกอบด้วย สังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยมโดยรัฐแบบสตาลิน สังคมนิยมแบบคัสโตร ฯ)
สำหรับนักลัทธิมาร์กซ หลักการที่ยึดถือมานับแต่แรกใน แถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์ คือการยืนยันว่าเป้าหมายแรกของการปฏิวัติก็คือ “การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตย” ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อจะขยายเงื่อนไขให้กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงผู้เข้าร่วมการปฏิวัติให้ปรับตัวเหมาะสมกับสภาพทางการเมือง ผ่านจิตสำนึกที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อต่อต้านกับเผด็จการของผู้มีการศึกษาที่ลอยตัวเหนือมวลชน, เผด็จการทุกรูปแบบที่อ้างว่าทำเพื่อปกป้องประชาชน, ลัทธิชนชั้นนำปฏิวัติ, เผด็จการอำนาจนิยมในนามของคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่พวกทุนเสรีนิยม
จากพื้นฐานข้างต้น สามารถวิเคราะห์วาทะกรรมของคู่กรณีใน พคท.ได้ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับธง แจ่มศรีนั้น หากไม่นับความบกพร่องของรายละเอียดด้านเวลาที่เป็นข้อมูล (โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ อันเป็นกลุ่มทุนเก็งกำไรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีทรัพย์สินรวม 1.19 ล้านล้านบาท เปลี่ยนแปลงในปีเดียว ซึ่งความเป็นจริงใช้เวลามากกว่านั้น แต่ยอดรวมทรัพย์สินผู้เขียนเห็นตรงกัน) ก็ถือได้ว่า เขายังคงยึดกุมทฤษฎีมาร์กซ-เลนิน ในการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยออกมาอย่างแม่นยำและชัดเจน และชี้ให้เห็นการจำแนกมิตร จำแนกศัตรูอย่างถูกต้อง สมกับที่เป็นนักปฏิวัติลัทธิมาร์กซมายาวนาน
ไม่เพียงเท่านั้น การยอมรับว่า สังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมเต็มตัวในด้านเศรษฐกิจอันเป็นโครงสร้างส่วนล่าง แต่ภาคการเมือง การปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคม ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะทุนผูกขาดศักดินาที่มีอำนาจเหนือรัฐครอบงำบงการอยู่มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (โดยอ้างถึงงานศึกษาของทรงชัย ณ ยะลาเมื่อปี 2524 และ ฝ่ายวิชาการหน่วย 81 ของพรรคฯได้ยอมรับข้อบกพร่องนี้ไปแล้ว) ทำให้ขั้นตอนของการปฏิวัติสังคมไทยปัจจุบันเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ที่มีกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาที่มีอำนาจเหนือรัฐเป็นเป้าหมายหลัก เพราะกลุ่มนี้มีอำนาจเหนือกลุ่มทุนผูกขาดอื่นๆ ถือได้ว่านอกจากเป็นการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบลัทธิมาร์กซแล้ว ยังเป็นการวิพากษ์ตนเอง และชำระสะสางความผิดพลาดทางทฤษฎีที่ดำรงยาวนานอย่างเป็นทางการของธง แจ่มศรี ทำให้เห็นได้ชัดว่า ได้ก้าวข้ามปัญหาตกค้างทางทฤษฎีและยุทธศาสตร์ในอดีตมาแล้วเต็มตัว
ในทางตรงกันข้าม กลุ่มบุคคลที่อ้างเป็นคณะกรรมการบริหารกลาง ของ พคท. กลับแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องในทุกระดับออกมาอย่างชัดเจน ทั้งหลักทฤษฎี ยุทธศาสตร์ การนำ และ การใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ แถมยังแสดงออกชัดว่า พวกเขาเปลี่ยนสีแปรธาตุ ละทิ้งและปฏิเสธหลักการพื้นฐานของลัทธิมาร์กซอย่างสิ้นเชิง แล้วหยิบยืมหรือลอกเลียนแนวทางลัทธิแก้ รวมทั้ง นักสังคมนิยมเพ้อฝันแบบลัทธิปรูดองมาใช้อย่างไร้ยางอาย ซึ่งหากเป็นไปเช่นนี้ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ “หนี้เก่าไม่สะสาง แล้วยังเริ่มสร้างหนี้ใหม่” ขึ้นได้ง่ายดาย
เริ่มตั้งแต่ในทางทฤษฎี การประเมินสถานการณ์ทางสากล ที่มีข้อสรุปหยาบๆ ว่า วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองของโลกอย่างขนานใหญ่ ศูนย์กลางการเงินโลกเคลื่อนออกจากสหรัฐฯและตะวันตก มาสู่ตะวันออกที่มีจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลาง ในทางทหารสหรัฐฯสูญเสียอำนาจนำแบบมหาอำนาจเดี่ยวเบ็ดเสร็จในโลก และทุนนิยมไม่อาจเป็นความหวังและทางออกของโลกและชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายอีก ในขณะที่สังคมนิยมอย่างจีน คิวบา เวียดนามและลาว กลับมีอนาคตสดใสตามลำดับ ล้วนเป็นการวิเคราะห์อย่างอัตวิสัยและผิดพลาด
ในทางเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯมีรากฐานที่แท้จริงจากความผิดพลาดของธนาคารกลาง หรือ เฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ ในการมุ่งกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำติดดินนานเกินไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯมิให้ทรุดหนักลงระหว่างที่เตรียมทำสงครามอิรัคเพื่อยึดแหล่งพลังงานปิโตรเลียม และหวังจะกดค่าดอลลาร์ให้ตกต่ำเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังของตนเอง เปิดช่องให้กลุ่มทุนเก็งกำไรใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนำไปหมุนเก็งกำไรเป็นลูกโซ่ในตลาดต่างๆยาวนานนับ 10 ปี (นับแต่ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดอนุพันธ์ทางการเงิน แล้วมาจบลงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์) จนเกิดฟองสบู่แตกที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่วิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้โครงสร้างทุนนิยมโลกเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐาน เนื่องจากชาติต่างๆ ที่เรียกว่ากลุ่ม จี-20 ทุ่มทุนเข้าช่วยโอบอุ้มทุนนิยมสหรัฐฯให้อยู่รอดและเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันจำนวนมหาศาล (บทวิเคราะห์ที่แหลมคมที่สุดในกรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นของ อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ นักคิดระบบโลก หาอ่านได้จาก บรรณานุกรมท้ายข้อเขียนนี้)
โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นชาติสังคมนิยมที่ผูกค่าเงินหยวนติดกับค่าดอลลาร์สหรัฐฯเหนียวแน่น ทุ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของตนเองเข้าโอบอุ้มเศรษฐกิจสหรัฐจนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯไปแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า จีนซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเต็มตัวไปแล้วต้องการปกป้องตลาดสินค้าของตัวเองให้มีกำลังซื้อต่อไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่อเนื่อง
การเข้าโอบอุ้มทุนนิยมโลกของจีน เป็นกรณีศึกษาที่ยืนยันชัดเจนว่า แม้กระทั่งชาติที่ประกาศเป็นสังคมนิยมอย่างจีน ยังมองเห็นความสำคัญเพื่อให้ทุนนิยมโลกดำรงอยู่ต่อไป (มีข้อเท็จจริงเรื่องความสามารถบริหารทุนของรัฐบาลจีนที่ทำให้เกิดตลาดเงินยูโรดอลลาร์ ซึ่งนักการเงินในโลกทุนนิยมทั่วโลกรู้จักกันดี แต่นักสังคมนิยมทั้งหลายกลับซื่อบื้อในข้อเท็จจริงดังกล่าว สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบางบทของหนังสือ The Money Lenders ของ Anthony Sampson)
ข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า ศูนย์กลางการเงินโลกยังคงอยู่ที่สหรัฐฯ ได้แก่การที่เงินสกุลดอลลาร์ ยังคงเป็นสกุลหลักของโลกทุนนิยมต่อไป แม้จะมีความพยายามท้าทายจากรัสเซียและจีน เพื่อสร้างเงินสกุลใหม่ของโลกทดแทนดอลลาร์ แต่ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่างอินเดียและบราซิลไม่ยอมร่วมมือด้วย ทำให้บทบาทการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกยังอยู่ที่สหรัฐฯต่อไปอย่างน้อยใน 1 ทศวรรษข้างหน้า
ข้อสรุปของกลุ่ม “คณะกรรมการบริหารกลาง” ที่ว่า ชาติทุนนิยมไม่อาจสร้างสังคมที่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความเสมอภาคได้อย่างยั่งยืน สู้ชาติสังคมนิยมอย่างจีนที่ยืนหยัดหลักการพึ่งตนเองและเป็นตัวของตัวเองทางเศรษฐกิจ ทำให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมรสุมเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ยิ่งสะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยทางปัญญาและการใช้อัตวิสัยอย่างมืดบอด เพราะเป็นการเจตนาที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงจากพัฒนาการทางการเมืองภายในของจีนในรอบ 30 ปีมานี้ ว่า ได้ผ่านการต่อสู้ทางแนวคิดระหว่าง “กลุ่ม 4 คน” ที่ยืนหยัดแนวทางซ้ายจัด “แดงก่อน เชี่ยวชาญทีหลัง” ที่ก่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง กับ แนวทาง “ชี่ยวชาญก่อน แดงทีหลัง”นำโดยเติ้ง เสี่ยว ผิง เจ้าของคำขวัญ “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้” ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายหลัง ที่มีส่วนทำให้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจีนยอมรับวิถีการผลิตแบบทุนนิยมเป็นรากฐานภายใต้คำขวัญ 4 ทันสมัย ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด มิใช่เป็นเพราะจีนปฏิเสธแนวทางทุนนิยมแต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้น การอ้างว่า คิวบา เวียดนาม และลาว มีการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ก็เป็นการใช้อัตวิสัยแบบเหมาเข่งอย่างขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเวียดนามนั้นถึงขั้นเผชิญเศรษฐกิจที่เลวร้ายมากจนขนาดต้องลดค่าเงินด่องลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเป็นที่โด่งดังทั่วโลก ส่วนคิวบานั้น หากเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็เป็นเพราะบังเอิญราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งกระฉูดกะทันหันเพราะผลผลิตอ้อยจากแหล่งผลิตสำคัญลดลงทั่วโลก ส่วนลาวนั้น เศรษฐกิจดีขึ้นชั่วคราวเพราะการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันซีเกมส์ปลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน มิได้เป็นเพราะความสามารถของระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์ในประเทศ กลุ่ม “คณะกรรมการบริหารกลาง” ไม่เพียงแต่ไม่วิเคราะห์สังคมอย่างจริงจังเท่านั้น พวกเขายังเลือกจะใช้ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปเชิงอัตวิสัยอย่างมีอคติ และบิดเบือน เพื่อที่จะแสดงถึงการละเลยและปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซ-เลนิน และกระทั่งความคิดเหมา เจ๋อ ตง ไม่สมกับที่อ้างตนเป็นนักลัทธิมาร์กซแม้แต่น้อย
แรกที่สุดที่เห็นได้คือ พวกเขา ไม่ยอมกล่าวถึงกลุ่มทุนศักดินาอย่างจริงจัง นอกจากคำกล่าวเพียงสั้นๆว่า “ชนชั้นศักดินาก็ต้องปรับตัวเข้าสู่ระบอบทุนนิยม บางกลุ่มได้พัฒนาเป็นทุนใหญ่ผูกขาด” โดยไม่ยอมก้าวล่วงไปถึงบทบาทการใช้อำนาจแบบ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่เป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไป (ผู้เขียน เคยกล่าวถึงเรื่องนี้โดยละเอียดพอสมควร ในข้อเขียนเอากษัตริย์คืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา 2552 มาแล้ว) จากนั้นก็ก้าวข้ามไปสู่ประเด็นอื่นๆ โดยการกล่าวถึงโครงสร้างส่วนบนเป็นสำคัญ
การแสดงเจตนาไม่ยอมพูดถึงการดำรงอยู่ บทบาท และพัฒนาการของกลุ่มทุนศักดินาไทยอย่างจริงจัง ถือว่าละเมิดแนวคิดพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ-เลนิน และ เหมา เจ๋อ ตงในเรื่องการวิเคราะห์ลักษณะสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
เลนิน เขียนหนังสือเรื่อง พัฒนาการของทุนนิยมรัสเซีย พูดถึงการคลี่คลายของทุนนิยมแบบต่างๆในรัสเซีย ที่สร้างลักษณะพิเศษในการผูกขาดและขูดรีดโดยการร่วมมือของอำนาจรัฐในฐานะโครงสร้างส่วนบน และ What is to be done โดยมีข้อความบางส่วน ระบุถึง บทบาทที่แตกต่างกันอย่างเป็นรูปธรรมขององค์กรปฏิวัติโดย “คนงาน-นักปฏิวัติ” ที่เป็นประชาธิปไตยกับองค์กร “สมรู้ร่วมคิด” ของแกนนำที่ปิดลับและปฏิเสธฐานะในการเข้าร่วมของมวลชน
ส่วนในสรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง 8 เล่ม ซึ่งเป็นงานนิพนธ์ที่สะท้อนถึงความเป็นนักลัทธิมาร์กซ์ของเหมา ผ่านการกลั่นกรองจากความคิด และประสบการณ์รูปธรรมของการปฏิวัติ นับตั้งแต่ วิเคราะห์ลักษณะทางชนชั้นในสังคมจีนและ รายงานการสำรวจการเคลื่อนไหวของชาวนาในมณฑลหูหนาน ซึ่งได้วิเคราะห์ให้เห็นฐานะและลักษณะของชนชั้นต่างๆของสังคมจีนในขณะนั้น แล้วกล่าวถึง บทบาทและฐานะของชาวนาในสังคมจีน รวมถึงความสำคัญของปัญหาชาวนาในประเทศจีน ประกายไฟไหม้ลามทุ่ง วิเคราะห์การสะสมกำลังและใช้กลยุทธ์ ‘ชนบทล้อมเมือง’ ของกองทัพแดงครั้งเริ่มตั้งฐานที่มั่น ณ จิ่งกังซัน ปัญหาทางยุทธศาสตร์ของสงครามปฏิวัติของจีน เขียนเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1936 กล่าวถึงปัญหา ทางยุทธศาสตร์ และสงครามการปฏิวัติของจีน ว่าด้วยการปฏิบัติ เสนอว่า การรับรู้ของคนเราต้องมาจากการปฏิบัติที่เป็นจริง ว่าด้วยความขัดแย้ง ขยายความปรัชญาวิภาษวิธีวัตถุนิยมของลัทธิมาร์กซ์ กล่าวคือ การมองสรรพสิ่งมีสองด้านเสมอ นอกจากนี้ยังต้องพัฒนา ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้สมาชิกพรรคฯ ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงมวลชนที่ก้าวหน้า ได้เข้าถึงแนวคิดที่สำคัญจากลัทธิมาร์กซ์ และ ปัญหาการจัดการความขัดแย้งภายในประชาชนอย่างถูกต้อง เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับ การวิเคราะห์ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนจีนภายใต้ระบอบสังคมนิยม ตลอดจนเสนอท่าที และวิธีการจัดการกับปัญหาที่ถูกต้อง โดยการวิเคราะห์ให้เห็นถึงธาตุแท้ของความขัดแย้ง 2 ชนิด คือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับศัตรูของประชาชน และความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเอง
การที่ “คณะกรรมการบริหารกลาง” ปฏิเสธข้อเขียนของเลนิน และ เหมาฯ แต่กลับมีท่าทีเร่งเสนอทฤษฎีการปฏิวัติไทยรอบใหม่อย่างลนลาน ก็เท่ากับว่า พวกเขา มีฐานะเป็นแค่กากเดนของลัทธิมาร์กซ-เลนิน-และเหมา
ยิ่งการที่ระบุถึง “ชนชั้นพื้นฐานในเมืองและชนบท” ของสังคมไทยขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย โดยไม่ให้คำนิยามที่ชัดเจนนั้น ก็ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามมากขึ้นว่า พวกเขาประดิษฐ์ชนชั้นใหม่นี้ขึ้นมาจากฐานข้อมูลอะไร? และอย่างไร?
นอกจากนั้น แม้ “คณะกรรมการบริหารกลาง” จะยอมรับว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองที่เคยร่วมกับรัฐบาลทักษิณมาก่อน และส่วนใหญ่ก็มีประวัติการคอรัปชั่นโกงกินในระดับต่างๆกัน ไม่อาจเป็นผู้นำการแก้โครงสร้างอันเน่าเฟะของสังคม และแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนอย่างถึงที่สุดได้ อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนรัฐบาลผสมก็มีนโยบายอนุรักษ์นิยม เป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่เชิดชูสถาบัน และเอื้อประโยชน์ทุนผูกขาดใหญ่ต่างชาติ แต่กลับมีท่าทีผ่อนปรนและชื่นชมเมื่อกล่าวถึงพรรคนี้อย่างชัดเจน ด้วยการกล่าวว่า “ในปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีส่วนประกอบที่หลากหลายมากขึ้น” และ “นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายคน และคนอื่นๆที่ล้อมรอบช่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูงจากประเทศทุนนิยม มีความคิดไปทางแนวเสรีนิยมของทุนนิยมเสรี” ซึ่งทำให้พวกเขามองเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลนี้ เป็นไปในทางบวก”…เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว การส่งออกกระเตื้องขึ้น คนว่างงานลดเหลือ 4แสนกว่าคน การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นบวก ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆของรัฐบาลในระดับที่ต่างๆกัน ซึ่งในด้านนี้ ประชาชนยังต้องช่วงชิงและผลักดันให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น...”
ปัญหาหลักของสังคมไทยในสายตาของ “คณะกรรมการบริหารกลาง” จึงขมวดปมอยู่ที่เรื่องของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดทักษิณที่พวกเขาเห็นว่า “เผยโฉมหน้าของการเป็นเผด็จการทางการเมืองภายใต้เสื้อคลุมของประชาธิปไตย” และได้โกงกินบ้านเมือง จนกระทั่งถูก “การเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านของผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย” หลุดจากอำนาจ และได้พยายามกลับคืนมาอีกครั้งในทุกรูปแบบ โดยใช้กลุ่มนอมินีและ “ม็อบเสื้อแดง” เป็นเครื่องมือ
การพูดถึงพฤติกรรมที่เลวร้ายของทักษิณและพวกที่ “ซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ซื้อนักการเมือง และพรรคการเมือง “ ถึงเป็นการใช้ข้อมูลฝ่ายเดียวอย่างบิดเบือน เพราะโดยข้อเท็จจริง การซื้อเสียงเลือกตั้งเป็นวัฒนธรรมปกติของการเลือกตั้งของไทยมายาวนาน และทุกพรรคก็กระทำ เพียงแต่ใครจะกระทำได้แนบเนียนมากกว่ากันเท่านั้น ตัวอย่าง นายบุญมาก สิรินวกุล แห่งพรรคประชาธิปัตย์ซื้อเสียงที่ราชบุรีและถูกเว้นวรรคทางการเมือง พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ถูกเว้นวรรคทางการเมืองเพราะปกปิดทรัพย์สินที่ฉ้อฉล ตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ “ปล้น สปก.4-01” เห็นกันทนโท่ และล่าสุด การฉ้อฉลของคนพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลชุดนี้หลายโครงการ ก็สะท้อนข้อเท็จจริงได้ดี
การกล่าวถึง “ม็อบเสื้อแดง” ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและประชาธิปไตยอีกกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างถึงการสร้างความเสียหายต่อประเทศด้วยท่าทีติดลบรุนแรง ช่างตรงกันข้ามกับท่าทีที่พวก “คณะกรรมการบริหารกลาง” มีต่อพฤติกรรมของคนกลุ่มที่พวกเขาเรียกว่า “ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยที่ต่อต้านทักษิณ” อันหมายถึงคนเสื้อเหลือง (ที่แกนนำบางคนใน “คณะกรรมการบริหารกลาง” เข้าไปมีบทบาทโดยตรงอย่างเอาการเอางาน) ที่ปิดล้อมและยึดทำเนียบรัฐบาลยาวนาน ปิดล้อมสนามบิน ปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล และก่อความรุนแรงต่างๆนานา สร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท กลับมีเจตนาไม่กล่าวขวัญถึงแม้แต่น้อย
ไม่เพียงแต่การเลือกใช้ข้อมูลอย่างเจตนาบิดเบือนเท่านั้น หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไป จะพบท่าทีของนักฉวยโอกาสที่อาศัยความสับสนทางประวัติศาสตร์ของความคิดสังคมนิยม มาเป็นเกราะกำบังความชอบธรรมของกลุ่มตน ในขณะที่ธาตุแท้นั้นได้ปฏิเสธหลักการทุกหลักของลัทธิมาร์กซอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่นใน ข้อที่ 1) ของแถลงการณ์ “ท่าทีและภาระหน้าที่ของเรา” นั้น “คณะกรรมการบริหารกลาง” นำเสนอข้อเรียกร้องที่ผิดพลาด และเปิดเผยให้เห็นธาตุแท้ของพวกเขาอย่างถึงที่สุด นั่นคือ”ต้องสนับสนุน และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เรียกร้องผลประโยชน์ของประชาชน และความเป็นธรรมทางสังคมของกลุ่มต่างๆ…สามัคคีกับประชาชนทุกวงการต่อสู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติในปัจจุบัน นำเรื่องการคัดค้านการโกงกินผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม และปกป้องดินแดนและเกียรติภูมิของประเทศชาติขึ้นมาเป็นเป้าหมายสำคัญด้วย”
ท่าที “ต้องสนับสนุน และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เรียกร้องผลประโยชน์ของประชาชน และความเป็นธรรมทางสังคมของกลุ่มต่างๆ…สามัคคีกับประชาชนทุกวงการต่อสู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติในปัจจุบัน นำเรื่องการคัดค้านการโกงกินผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน..” เป็นการใช้สำนวนอำพรางเจตนาที่แท้จริงคือ การมุ่งโค่นล้มกลุ่มทุนทักษิณและพวก เพราะพวกเขาได้ย้ำชัดเจนว่า “กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดกลุ่มไหน ล้วนกดขี่ขูดรีดประชาชน ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติทั้งสิ้น การต่อสู้คัดค้านกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดกลุ่มไหนก็ล้วนเป็นผลดีต่อประชาชน แม้แต่ในระหว่างความขัดแย้งของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดสองกลุ่ม ประชาชนเราน่าจะวางจุดหนักไว้ที่กลุ่มที่ก่อผลเสีย และเป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด” ซึ่งโดยนัยหมายถึงการเลือกสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามทักษิณนั่นเอง
ท่าทีและยุทธศาสตร์เลือกข้างเช่นนี้ นอกจากเป็นการปฏิเสธหลักการของลัทธิมาร์กซ และปฏิเสธแนวคิดเหมา เจ๋อ ตง ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องการวิเคราะห์ลักษณะสังคมเพื่อวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ และจัดการปัญหาของการปฏิวัติที่เป็นรูปธรรม อย่าง “ศึกษาเป็น ใช้เป็น”แล้ว สะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยและความผิดเพี้ยนทางปัญญามากขึ้น
สำหรับมาร์กซ (ดูรายละเอียดได้จากข้อเขียนเรื่อง ความอับจนของปรัชญา หรือ The Poverty of Philosophy) การแข่งขันทางธุรกิจทุกชนิดในระบบทุนนิยม ล้วนเป็นไปเพื่อแสวงหากำไร แต่การผูกขาด (ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญภายในความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม) คือความพยายามจะแสวงหากำไรเกินระดับปกติจากการขูดรีดส่วนเกินของแรงงานโดยผ่านความฉ้อฉลของการใช้อำนาจรัฐ
มาร์กซ ถือว่า การผูกขาดและการแข่งขันในระหว่างกลุ่มทุนด้วยกันเอง ได้ต่อสู้กันอย่างเป็นไปตามหลักวิภาษวิธีในสังคมทุนนิยม (นอกเหนือจากการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ)และมีส่วนทำให้ทุนนิยมพัฒนาไปข้างหน้าจนถึงระดับทำลายตัวเอง ดังนั้น การดำรงอยู่ของกลุ่มทุนผูกขาดใหญ่ทุกชนิด จึงเป็นการกระทำที่ฉ้อฉลทั้งสิ้น การพยายามสร้างเกราะกำบังว่า ทุนผูกขาดใหญ่กลุ่มหนึ่งมีคุณธรรมมากกว่าเพราะฉ้อโกงน้อยกว่า และทุนกลุ่มที่มีคุณธรรมมากกว่ามีบทบาทที่เป็นอันตรายต่อสังคมและมวลชนน้อยกว่า จึงเป็นการบิดเบือนข้อสรุปของมาร์กซที่ถือว่า ทุกผูกขาดทุกชนิดล้วนฉ้อโกง และความเป็นมิตรหรือปฏิปักษ์ทางชนชั้น ก็ไม่ได้ขึ้นกับคุณธรรมส่วนบุคคลหรือกลุ่ม แต่ขึ้นกับความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นสำคัญ
การสมคบคิดกับกลุ่มทุนผูกขาดใดกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้มอีกกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างถึงคุณธรรมที่เหนือกว่า เป็นท่าทีแบบอัตวิสัยที่มิใช่หลักการของชาวลัทธิมาร์กซ หากเป็นท่าทีของลัทธิลาสซาล ที่ถูกมาร์กซ-เองเกลส์ระบุว่าเป็นพวกลัทธิแก้ (ผู้เขียนเคยกล่าวถึงเรื่องนี้แล้วในเหลือเชื่อ! ซ้ายเสื้อเหลืองไทย ฟื้นชีพลัทธิลาสซาล , 25 พฤษภาคม 2552)
แฟร์ดินันด์ ลาสซาล หนึ่งในต้นกำเนิดของแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือสังคมนิยมจากเบื้องบน เพราะมองเห็นว่าการจัดองค์กรเคลื่อนไหวแบบล่างขึ้นบนเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของรัฐซึ่งเขาถือว่ามีฐานะรัฐดุจดังคบไฟแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติตามหลักการของเฮเกล (ในขณะที่มาร์กซยืนยันว่า รัฐคือรุปแบบของการกดขี่ทางชนชั้น) ได้เคยประกาศว่า “ผมจะแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่กรรมาชีพรู้สึกว่าอำนาจเผด็จการจะครอบงำ กรรมาชีพจะแสดงความต่อต้านโดยสัญชาติญาณในทันที ทีนี้เมื่อมองถึงสถาบันชั้นสูงในฐานะผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นกลางกระฎุมพี เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นกลางกระฎุมพีก้าวขึ้นกลายเป็นเผด็จการ มันก็จะมีแรงต่อต้าน แต่การต่อต้านนั้นจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความยินยอมจากสถาบันชั้นสูงนั้นให้ถ่ายทอดอำนาจที่มีอยู่ไปสู่การเป็นสถาบันของมวลชนปฏิวัติ เมื่อนั้นแรงต่อต้านก็จะมีพลังมากยิ่งขึ้น” เป้าหมายขององค์กรจัดตั้งคือ การได้รับเสียงสนับสนุนจากกษัตริย์ผ่านรัฐสภาแห่งปรัสเซีย เพื่อที่องค์กรมวลชนของเขาจะได้กลายเป็นองค์กรพันธมิตรใกล้ชิดกับรัฐของบิสมาร์กเพื่อทำให้องค์กรมวลชนจัดตั้งของเขาเลื่อนฐานะไปใกล้ชิดกับอำนาจนำของรัฐต่อต้านทุนกระฎุมพีได้
คำประกาศดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ทฤษฎีที่เรียกเพราะพริ้งว่า ทฤษฎีสังคมร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ด้วยความช่วยเหลือของรัฐ - Productive Co-operative Societies with State-help) ถือว่า รัฐ(รวมทั้งรัฐแบบศักดินา)สามารถปกป้องกรรมกรจากการขูดรีดของนายทุนหรือนายจ้างได้ดีกว่าตัวนายทุนหรือนายจ้างที่เป็นศัตรูโดยธรรมชาติของกรรมกร ถูกมาร์กซวิจารณ์ว่า รัฐบาลในความคิดของลาสซาลคือ “รัฐบาลสังคมนิยมผู้จงรักภักดีแห่งปรัสเซีย” เพราะการสร้างพันธมิตรกับศักดินาเพื่อต่อสู้กับทุนกระฏุมพีเป็นการสนองตอบความต้องการของรัฐเยอรมนีในขณะนั้นที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ใต้อำนาจแคว้นปรัสเซียนำโดยพวกนิยมกษัตริย์ และมีโอกาสนำไปสู่รูปแบบระบอบ “สังคมนิยมภายใต้การปกครองของกษัตริย์
ลัทธิลาสซาล ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักลัทธิแก้ชื่อดังอีกคนหนึ่ง เอดูอาร์ด เบิร์นสไตน์ ไปไกลถึงขั้นระบุว่า การต่อสู้เชิงรูปธรรมของชาวสังคมประชาธิปไตย จึงไม่มีความจำเป็นต้องมุ่งยึดอำนาจรัฐ ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการสร้างวิกฤตทางสังคมและการเมือง แต่เน้นกระตุ้นการปรับปรุงเงื่อนไขคุณภาพชีวิตของชนชั้นกรรมกรภายใต้ระเบียบกติกาสังคมที่ดำรงอยู่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยหลักความร่วมมือกับอำนาจรัฐขณะนั้นๆแบบยื่นหมูยื่นแมว แล้วสงครามระหว่างชนชั้นจะถูกแทนที่ด้วยการประนีประนอมปรองดองกัน พร้อมกับความเป็นธรรมเล็กๆน้อยๆที่ชนชั้นปกครองมอบให้จนกว่าจะถึงขั้นเปิดทางให้กับสังคมนิยมโดยปริยายในอนาคตอันยาวไกล ซึ่งท่าทีนี้ เลนินโจมตีว่าเป็นท่าทีแบบ “ไก่คุ้ยกองขยะ”ตะหาก
สังคมนิยมแบบมีกษัตริย์ของลัทธิลาสซาลนี้ มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันกับสังคมนิยมเฟเบียนของอังกฤษ ที่เพียรสร้าง “เทวะแห่งสังคมนิยม” ในกำมือของผู้เชี่ยวชาญ ที่กุมฐานะผู้ชี้ทางสว่างให้แก่ผู้คน อันแตกต่างจาก สังคมนิยมข้างถนน ที่ผ่านกระบวนการต่อสู้ทางชนชั้นจากการปฏิวัติหรือของมวลชนซึ่งพวกเขาถือเป็นความบ้าคลั่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวสังคมนิยมก็คือ ลัทธิลาสซาลและเบิร์นสไตน์นี้เอง ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันอ้างถึง “ภารกิจรูปธรรมของสังคมประชาธิปไตย”ตกอยู่ใต้ลัทธิชาตินิยมคลั่งชาติ ขาดความกระตือรือร้นต่อจิตใจสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ เฉยเมยต่อการลุกขึ้นสู้ของชาวคอมมูนปารีส ค.ศ. 1871 (ซึ่งชาวลัทธิมาร์กซ ถือเป็นต้นแบบของชุมชนคอมมิวนิสต์มาจนถึงปัจจุบัน) และยังสนับสนุนให้พวกนิยมกษัตริย์คลั่งชาติส่งกองทัพไปปราบปรามคอมมูนปารีส ในฐานะพรรคการเมืองที่ว่านอนสอนง่าย ที่เป็นแค่ไม้ประดับไร้ค่าเท่านั้น
สิ่งที่เลวร้ายกว่าลัทธิลาสซาลในข้อเสนอของ “คณะกรรมการบริหารกลาง” ก็คือว่า ในขณะที่พวกลัทธิแก้เยอรมันสร้างสัมพันธ์กับฝ่ายนิยมกษัตริย์แบบ”ยื่นหมูยื่นแมว”นั้น แต่“คณะกรรมการบริหารกลาง”ในไทย กลับไม่เคยบอกแม้แต่คำเดียวว่า หากมวลชนผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยไทย เข้าร่วมมือสนับสนุนให้ทุนผูกขาดใหญ่อนุรักษ์ช่วยโค่นล้มกลุ่มทุนทักษิณแล้ว จะได้อะไรตอบแทน? หรือเป็นการร่วมมือฝ่ายเดียว?
ท่าทีต่อไปแบบลัทธิลาสซาลเช่นนี้ ดูเหมือนจะซ้ำรอยให้เห็นในแถลงการณ์ของ”คณะกรรมการบริหารกลาง” ที่ระบุข้อความว่า จะต้องเข้าร่วมสนับสนุน “...ปกป้องดินแดนและเกียรติภูมิของประเทศชาติขึ้นมาเป็นเป้าหมายสำคัญด้วย” ซึ่งเป็นการพ่วงเอาลัทธิชาตินิยมคลั่งชาติ Chauvinistic Nationalism (ที่เหยียดหยามดูแคลนชาติอื่นๆ)เข้ามานำเสนอ ทั้งที่ขัดแย้งกับแนวคิดสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งชาวลัทธิมาร์กซในอดีตนำไปดัดแปลงเป็นลัทธิรักชาติ(Patriotism)ในขบวนการปลดปล่อยประชาชาติต่อสู้กับจักรวรรดินิยมมาแล้ว
ท้ายที่สุด การที่ “คณะกรรมการบริหารกลาง”ระบุเอาไว้ในหัวข้อท่าทีที่ 2 “สร้างความสามัคคีในหมู่สหาย” ด้วยข้อเรียกร้องว่า”…ความแตกต่างที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถแก้ไขได้ เพราะว่าเป็นความขัดแย้งภายในของประชาชน ขอแต่ให้เราหันหน้าเข้าหากันด้วยความจริงใจ เริ่มต้นจากความเป็นจริง ไม่อคติไม่ทิฐิ รับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันสำรวจค้นคว้าความเป็นจริงด้วยท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์ และทรรศนะวิภาษวิธี..” ก็เป็นข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกับทฤษฎี “รู้รักสามัคคี” ที่บรรดาเครือข่ายราชสำนักพยายามเผยแพร่เพื่อมอมเมาประชาชนให้ลืมประเด็นเรื่องความยุติธรรมทางสังคมอย่างยิ่ง โดยการปฏิเสธสาระของความเป็นปฏิปักษ์และการต่อสู้ทางชนชั้น และยังสอดคล้องกับแนวคิดสังคมนิยมเพ้อฝันของลัทธิปรูดอง ที่ขัดแย้งกับท่าทีให้ “ศึกษาเพื่อยกระดับลัทธิมาร์กซ” อันเป็นถ้อยคำที่พูดให้สวยหรูอย่างสุดขั้ว
ผู้เขียนเอง เห็นด้วยกับทัศนะของ ศิวะ รณยุทธ์ ที่อยู่ในข้อเขียน สองก้าวข้าม เพื่อปฏิวัติประชาธิปไตย: ยุทธศาสตร์ที่เป็นเอกภาพ ยุทธวิธีที่หลากหลาย (29 ธันวาคม 2552) ที่วิเคราะห์ความขัดแย้งของสังคมไทยออกมาเป็น 3 ระดับ(ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครอง ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน และความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง) และวางจุดหนักไปที่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองที่กดขี่ขูดรีดสังคมไทยกับประชาชนเป็นความขัดแย้งหลัก เพื่อจะหาว่าศัตรูหลักของประชาชนไทยนั้นเป็นใคร มิใช่มองเห็นความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเอง แล้วเสนอแนะให้ประชาชนเข้าไปสนับสนุนทุนผูกขาดศักดินา ที่มีฐานะครอบงำสังคมแบบรัฐซ้อนรัฐ อันเป็นยุทธศาสตร์ “เลือกเป้าผิด” ที่ “คณะกรรมการบริหารกลาง”เสนอ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงข้อสรุปที่มีต่อ “คณะกรรมการบริหารกลาง” ผู้เขียนขอยกเอาข้อความบางส่วน ในแถลงการณ์ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มาร์กซ-เองเกลส์ ได้วิพากษ์พวกนักลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เพ้อฝัน ที่มุ่งสร้าง “สังคมนิยมจากเบื้องบน” และปฏิเสธ “สังคมนิยมจากเบื้องล่าง” เอาไว้ว่า
“ ผู้สร้างระบบเหล่านี้(-หมายถึงพวกสังคมนิยมเพ้อฝันอย่าง แซงต์-ซิมอง ปรูดอง ฟูริเยร์ โอเวน และคนอื่น ๆ-) แม้ได้มองเห็นความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น ได้มองเห็นบทบาทของปัจจัยทำลายในตัวสังคมที่ปกครองอยู่ แต่พวกเขามองไม่เห็นความเป็นฝ่ายกระทำทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ทางด้านชนชั้นกรรมาชีพ มองไม่เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ที่ชนชั้นนี้มีอยู่โดยเฉพาะ
เนื่องจากการพัฒนาของความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นมีจังหวะก้าวควบคู่กันไปกับการพัฒนาของอุตสาหกรรม ฉะนั้น ผู้สร้างระบบเหล่านี้จึงไม่อาจมองเห็นเงื่อนไขด้านวัตถุของการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไปแสวงหาวิทยาศาสตร์สังคมบางอย่าง และกฎของสังคมบางอย่างเพื่อสร้างเงื่อนไขเหล่านี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเคลื่อนไหวของสังคมก็จะต้องเข้าแทนที่โดยการเคลื่อนไหวทางประดิษฐ์คิดค้นโดยส่วนบุคคลของพวกเขา เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการปลดแอกก็จะต้องเข้าแทนที่โดยเงื่อนไขของการเพ้อฝัน การจัดตั้งเป็นชนชั้นขึ้นทีละขั้นของชนชั้นกรรมาชีพก็จะต้องแทนที่โดยองค์การจัดตั้งของสังคมที่พวกเขาเป็นผู้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ ในสายตาของพวกเขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ของโลกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งการโฆษณาและดำเนินแผนสังคมของพวกเขาให้ลุล่วงไปเท่านั้นเอง
จริงอยู่ พวกเขาก็สำนึกถึงเหมือนกันว่าแผนของพวกเขานั้นที่สำคัญคือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรซึ่งเป็นชนชั้นที่ทุกข์ยากที่สุด ในสายตาของพวกเขาเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นเพียงชนชั้นที่ทุกข์ยากที่สุดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น
แต่เนื่องจากการต่อสู้ทางชนชั้นยังไม่ขยายตัว และเนื่องจากฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขาเอง พวกเขาจึงสำคัญว่าตัวเองนั้นอยู่เหนือความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น พวกเขาต้องการจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกทั้งปวงในสังคม รวมทั้งสมาชิกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงมักจะวิงวอนต่อสังคมทั้งสังคมโดยไม่จำแนกอยู่เสมอ และที่สำคัญก็คือ วิงวอนต่อชนชั้นปกครอง พวกเขาเข้าใจว่า ขอแต่ให้คนทั้งหลายเข้าใจระบบของพวกเขาก็จะยอมรับว่าระบบนี้เป็นแผนที่ดีที่สุดของสังคมที่ดีงามที่สุด
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงปฏิเสธการปฏิบัติการทางการเมืองทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการทางการปฏิวัติทั้งปวง พวกเขาหวังจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตน โดยผ่านวิถีทางสันติและพยายามที่จะแผ้วถางทางให้แก่คำสอนศาสนาคริสต์เกี่ยวกับสังคมที่ใหม่ โดยผ่านการทดลองขนาดเล็กบางอย่างที่ไม่มีทางเกิดผลสำเร็จได้….”
ข้อความของมาร์กซ-เองเกลส์ที่ยกมานี้ ช่วยให้ข้อสรุปของผู้เขียนชัดเจนว่า กลุ่มบุคคลที่อ้างเป็น “คณะกรรมการบริหารกลาง”นั้น โดยเนื้อแท้แล้ว หาใช่นักลัทธิมาร์กซ หรือ นักสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ตามแนวทางของลัทธิมาร์กซตามที่อ้างแต่อย่างใด
ใครอยากจะเดินตามก้นบุคคลเหล่านี้ในฐานะสาวก หรือ ผู้ปฏิบัติงาน อย่างเซี่องๆ เหมือนอย่างที่พวกเขาพยายามจะประจบเอาใจจีน (ดังเจตนาที่ปิดไม่มิดในแถลงการณ์ของพวกเขา โดยที่ไม่รู้แน่ชัดว่าจีนจะพึงพอใจที่จะให้คบหาพวกเขาอยู่ต่อไปหรือไม่?) ก็อาจจะพบได้ในที่สุดว่า ปลายทางของบทบาทนักลัทธิมาร์กซจอมปลอมทีดำเนินบทบาท “ไม้ประดับไร้ค่า” นั้น หากไม่ใช่ความว่างเปล่า ก็จะเป็นหายนะทางปัญญา
.............................
หมายเหตุผู้เขียน
1) ข้อเขียนนี้ อาจจะยาวไปบ้าง แต่ผู้เขียนเห็นว่า มีความจำเป็น เพราะ “เทอดสยาม ชูธรรม” ยังไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะต้องพูดหรือวิจารณ์โดยไม่ต้องมีรายละเอียด
2) คำว่า กากเดนลัทธิเหมา หมายความว่า ความคิดเหมา เจ๋อ ตง ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของลัทธิมาร์กซ-เลนิน ภายใต้บรรยากาศที่เป็นรูปธรรมของสังคมจีน เป็นสิ่งที่ชาวลัทธิมาร์กซต้องศึกษาและเคารพ เพราะมีคุณูปการอย่างมหาศาลหากศึกษาเป็น ใช้เป็น แต่กากเดนลัทธิเหมา หมายถึง บุคคลที่ไม่เคยเข้าถึงความคิดเหมา แต่ชอบอ้างอย่างผิดๆถูกๆว่าเป็นความคิดเหมาเพื่อรองรับความชอบธรรมของตนเอง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงอาจจะเป็นพวกปฏิเสธความคิดเหมาเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้น คำว่า กากเดนลัทธิมาร์กซ-เลนิน-เหมา ในบทความนี้ ก็มีความหมายทำนองเดียวกันกับหมายเหตุข้างต้น
..................
ผู้ที่สนใจหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารต่อไปนี้
ตำนานยิวเร่ร่อน– เป็นนิทานปรัมปราของพวกตะวันตกในคัมภีร์คริสศาสนาฉบับเก่า ที่แพร่หลายไปทั่วตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหาอ่านได้จากเว็บไซท์ทั่วไป หรือที่ http://www.answers.com/topic/acts-19 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนยิวคนหนึ่งที่ยืนอยู่ริมทางที่พระเยซูถูกทหารโรมันบังคับให้แบกไม้กางเขนไปยังแดนประหาร แล้วก็กล่าวคำบริภาษพระเยซูตามกระแส ทำให้ถูกสาปจากความผิดบาปของตนเองให้ไม่รู้จักตาย แต่มีชีวิตอยู่อย่างระเหเร่ร่อนจนกว่าจะถึงวันสิ้นโลก
Karl Marx, Critique of the Gotha Programme 1875,http://www.marxists.org/archive/marx/works
Karl Marx, The Poverty of Philosophy http://www.marxists.org/archive/marx/works
คาร์ล มาร์กซ์ และ เฟรเดอริค เองเกิลส์ แถลงการณ์ชาวพรรคคอมมิวนิสต์,www.marxists.org/thai/archive/marx-engels
V I Lenin, The Development of Capitalism in Russia 1899http://www.marxists.org/archive/lenin/works
V I Lenin, What Is To Be Done? Burning Questions of our Movement, 1902http://www.marxists.org/archive/lenin/works/1901/witbd/
เหมาเจ๋อตุง, สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง -8 เล่มชุด, ชมรมหนังสือแสงตะวัน

\Eduard Bernstein, Ferdinand Lassalle as a social reformer (1893),http://www.marxists.org/reference/archive/bernstein/works
Rosa Luxemburg, Lassalle and the Revolution, 1904http://www.marxists.org/archive/luxemburg
Immanuel Wallerstein, The Sinking Dollar (May 15, 2009), http://fbc.binghamton.edu/257en.htm
Immanuel Wallerstein, The Politics of Economic Disaster (Feb. 15, 2009),http://fbc.binghamton.edu/257en.htm
Immanuel Wallerstein, What Was the Point of the G-20 Meeting?, April 15, 2009http://fbc.binghamton.edu/257en.htm
Immanuel Wallerstein Wall Street is Really Predicated on Greed, (April 1, 2008),http://fbc.binghamton.edu/257en.htm
Eduard Bernstein, Patriotism, Militarism and Social-Democracy (1907),http://www.marxists.org/reference/archive/bernstein/works
Anthony Sampson, The Money Lenders (1982), Viking Adult
Hal Draper, The Two Souls of Socialism (1966), http://www.marxists.org/archive/draper
David Riazanov, Lassalle and Bismarck(1928),http://www.marxists.org/archive/riazanov/1928

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker