หลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด จีที 200 แล้วพบว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบวัตถุระเบิดได้จริง ทำให้ถูกเปรียบเปรยว่า แทบไม่ต่างอะไรจาก"ไม้ล้างป่าช้า" จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หน่วยงานต่างๆเลิกซื้อจีที 200 และไปทำความเข้าใจกับบุคคลากรให้เลิกใช้เครื่องมือดังกล่าวนั้น
จากคำแถลงของ พล.ต.ศุภกร สงวนชาติศรไกร เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก ระบุถึงการจัดซื้อ เครื่องจีที 200 ของกองทัพบกว่า มีการจัดซื้อในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จำนวน 59 เครื่อง สมัยนายสมัคร สุนทรเวช 107 เครื่อง สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 44 เครื่อง และสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 547 เครื่อง รวมแล้ว 757 เครื่องโดยใช้งบประมาณจาก 3 ส่วน คือ 1.เงินบริจาค 2.เงินสนับสนุนจาก กอ.รมน. และ 3.งบประมาณ
โดยมีการจัดซื้อทั้งหมด 12 ครั้ง ครั้งแรกจัดซื้อ 2 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9.5 แสนบาท ครั้งที่สอง 24 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9.5 แสนบาท พร้อมการ์ดจำนวน 10 ใบ หลังจากนั้นจัดซื้ออีกล็อตใหญ่ 751 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท พร้อมการ์ด 18 ใบ
อย่างไรก็ตามจาการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า ในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 จำนวน 8 ครั้งแรก รวม 466 เครื่อง เป็นเงินทั้งหมด 419.5 ล้านบาทนั้นมีรายละเอียดดังนี้
ครั้งที่ 1 ปลายเดือนกรกฎาคม 2550 จำนวน 2 เครื่อง ๆละ 950,000 บาท เป็นเงิน 1,900,000 บาท
ครั้งที่ 2 วันที่ 18 ส.ค. 2551 จำนวน 2 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 1,800,000 บาท
ครั้งที่ 3 วันที่ 3 ก.ย. 2551 จำนวน 19 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 17,100,000 บาท
ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ก.ย. 2551 จำนวน 18 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 16,200,000 บาท
ครั้งที่ 5 วันที่ 30 ก.ย. 2551 จำนวน 44 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 39,600,000 บาท
ครั้งที่ 6 วันที่ 27 ก.พ. 2552 จำนวน 222 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 199,800,000 บาท
ครั้งที่ 7 วันที่ 8 เม.ย. 2552 จำนวน 129 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 116,100,000 บาท
ครั้งที่ 8 วันที่ 28 เม.ย. 2552 จำนวน 30 เครื่อง ๆ ละ 900,000 บาท เป็นเงิน 27,000,000 บาท
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า การจัดซื้อ"ไม้ล้างป่าช้า"เป็นไปอย่างถี่ยิบโดยเฉพาะในปี 2552 แค่ปลายกุมภาพันธ์ถึงปลายเมษายนจัดซื้อถึง 381 เครื่อง ซึ่งการจัดทั้งหมด เป็นการจัดซื้อผ่านบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เพียงรายเดียว
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO.,LTD.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มทุนอีก 4 ครั้ง
ล่าสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2552 เพิ่มเป็น 250 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 174/68-71 หมู่ 9 ถนนวิภาวดี แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ มีนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ถือหุ้นใหญ่ 2,399,999 หุ้น จากทั้งหมด 2,500,000 หุ้น
นายสุทธิวัฒน์มีบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านอุปกรณ์สื่อสาร เทคโนโลยี ซอฟแวร์ อีกอย่างน้อย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ลิบราเวย์ จำกัด , บริษัท แอโรว์เทคนิค เอวิเอชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอวิเอ ซิสเต็ม จำกัด และ บริษัท เอวิเอ ซาบ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา (ให้บริการโครงข่าวสื่อสารและอุปกรณ์ซอฟแวร์)
หุ้นส่วนธุรกิจของนายสุทธิวัฒน์ คือ พล.อ.อภิชิต กานตรัตน์ อดีตผู้ทรงวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด เรืออากาศเอก ขจรศักดิ์ วัฒนางกูร และกลุ่มบริษัท ซาบ จากประเทศสวีเดน ซึ่งตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องบนกริฟเฟ่นให้กองทัพอากาศ
นอกจากนั้นพล.อ.อภิชิตยังเป็นกรรมการ บริษัท เอวิเอ ซาบ เทคโนโลยี จำกัดอีกแห่งหนึ่ง
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ทำการค้ากับกองทัพมานาน ตั้งแต่ปี 2542 เคยเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์วิทยุสื่อสารให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด , กรมสื่อสารทหารอากาศ กองทัพอากาศ , กรมการขนส่งทหารบก กองทัพบก นับสิบรายการ อาทิ เครื่องมือสื่อสารเพื่อใช้ราชการกองกำลังเฉพาะกิจ 976 ไทย/อีรัก วงเงิน 25.1 ล้านบาท , ชิ้นส่วนซ่อมเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 วงเงิน 19.3 ล้านบาท , รถวิทยุในระบบควบคุมอากาศยานทางยุทธวิธี จำนวน 39.2 ล้านบาท , ซ่อมบำรุงเรดาร์แบบเคลื่อนที่แบบgiraffe 34.2 ล้านบาท , ซื้อระบบโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต(VOIP) จำนวน 5.2 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากขาย "จีที 200" ให้กองทัพบก เอกชนรายนี้ยังขายเครื่องมือชนิดเดียวกันให้หน่วยงานอื่นอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ กรมศุลกากร จำนวน 6 เครื่อง เมื่อวันที่ 19 มิ ถุยายน 2552 ราคา 2,560,000 บาท (เครื่องละ 426,666 บาท)และกรมราชองครักษ์ จำนวน 3 ชุด เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2552 ราคา 3,600,000 บาท (ชุดละ 1,200,000 บาท)
จากเครือข่ายดังกล่าวจึงไม่แปลกที่กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานแรกที่ใช้เครื่องทีจี 200 มาตั้งแต่ปี 2548 และอ้างว่า ใช้อย่างบประสิทธิภาพ โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ ที่มาแถลงข่าวร่วมกับกองทัพบกระบุว่า มั่นใจเบื้องต้นว่า จีที 200 ทำงานได้จริงๆ ซึ่งในปีพ.ศ. 2548 ถึงปี 2549 กองทัพอากาศได้นำมาใช้งานในกองทัพอากาศดอนเมืองซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ยากต่อการทำงานค้นหาสิ่งแปลกปลอมภายในท่าอากาศยานอย่างได้ผล
นอกจากนี้ทาง สน.สายไหม ยังได้ติดต่อขอนำเครื่องมือจีที 200 ไปใช้ในการตรวจหาอาวุธปืนของคนร้ายซึ่งชี้เป้าได้อย่างแม่นยำค้นพบหลักฐาน และการนำเครื่องจีที 200 ไปใช้ใน อ.รามัน จ.ยะลาในการตรวจค้นบ้านของหน่วย ฉก. ซึ่งพบบ้านต้องสงสัย 2 หลัง เครื่องมือชี้ไปที่ 1 ใน 2 บ้านต้องสงสัยเมื่อเข้าไปตรวจค้นปรากฎว่าพบชายฉกรรจ์หลบซ่อนอยู่ในบ้าน 6 คน พร้อมอาวุธครบมือ ยอมรับว่าประสิทธิภาพของการใช้ จี ที 200 เพราะเห็นกับตาและใช้กับมือ
แต่วันนี้ผลการทดลองทางวิทยาศาตร์กับความรู้สึกของผู้ใช้กำลังสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง