บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ดอกไม้กลางใจ

ที่มา Thai E-News


ประพันธ์โดย สุชาดา (นามปากกาของสุพิศ ศรีเจริญ)
เค้าโครงจากเรื่องจริง ลูกผมต้องเข้าICUเพื่อแลกให้ใครบางคนได้เข้าสปาและ ลูกผมเสียชีวิตแล้วเมื่อคืนตอนตีสาม

หมายเหตุไทยอีนิวส์:สุพิศ ศรีเจริญ หรือนามปากกา"สุชาดา" ผู้สื่อข่าวสังกัดกองบรรธิการTHAIFREEDOM และสมาชิกชมรมผู้สื่อข่าวเสรีภาพไทย ได้เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ พร้อมกับสลักจิต แสงเมือง นักข่าวสังกัดเดียวกัน ขณะเดินทางไปทำข่าวเพื่อสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย คัดค้านต่อต้านเผด็จการอำมาตย์ที่จังหวัดสระบุรี เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา (อ่านข่าว)

"สุชาดา"ยังเป็นนักเขียนนวนิยายขนาดสั้นเผยแพร่ต่อประชาชนในวงกว้างอีกด้วย.."ดอกไม้กลางใจ"เป็น1นวนิยาย"อิงสังคมการเมือง"ที่เธอเขียนและเผยแพร่ไว้ โดยมีเค้าโครงจากกระทู้ที่เคยเผยแพร่ในเวบบอร์ดฟ้าเดียวกัน


อารัมภบท

เรื่องราวชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่แสนจะอบอุ่น

ท่ามกลางสังคมเมืองที่แสนจะชุลมุนวุ่นวาย

พวกเขามีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักและดูแลซึ่งกันและกัน

อย่างดีตลอดมา แต่แล้วเหตุการณ์อันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง

ทำให้ครอบครัวของเขาต้องพลิกผันจากสุข

กลายเป็นความทุกข์เพียงชั่วข้ามคืน เหตุการณ์นั้นคืออะไร

โปรดติดตามได้ในเล่มค่ะ............


************************



“ทำไมวันนี้กลับช้านักละคะ” บุษาาถามสามีทันทีที่ก้าวเข้ามาในบ้านด้วยท่าทีเหนื่อยล้า การันต์ไม่ทันตอบ บูเก้บุตรสาววัยหกขวบก็ชิงพูดขึ้น

“รถติดจ้ะ” สองสามีภรรยามองมาที่บุตรสาวเป็นตาเดียว คุณมารดาสัพยอกว่า

“รู้ดีนักนะ”

“ก็มันจริงนี่คะแม่”

“แต่บางทีคุณพ่ออาจไปเถลไถลที่ไหนก็ได้นะลูก”

“อ้าวคุณ..พูดแบบนี้ลูกจะมองผมยังไง” คุณสามีว่า

“ก็มองว่าคุณแอบหนีเที่ยว แล้วปล่อยให้ฉันกับลูกหิ้วท้องรอทานข้าวนะสิคะ”

“แต่บูเก้รู้ว่าคุณพ่อไม่เที่ยว เพราะถามเรื่องกลับบ้านช้าทีไร คุณพ่อตอบรถติดทูเกที” บุตรสาวกล่าวอย่างรู้ใจ บิดาสียิ้มปลื้มเมื่อมีคนรู้ใจ คุณมารดาค้อนขวับ

“นั่นนะสิ ลูกยังรู้เลย ไม่น่าถามเลยเนาะ” การันต์แกล้งถามบุตรสาว ย่อตัวคว้าร่างป้อมเข้ามาหอมแก้มยุ้ยฟอดใหญ่เป็นรางวัล

ทั้งที่เหน็ดเหนื่อยจากงานและการเดินทางท่ามกลางการจราจรติดขัดอย่างหนักในเมืองใหญ่ แต่เมื่อพบหน้าบุตรสาวและภรรยาความเหนื่อยล้านั้นก็แทบมลายหายไปสิ้น บุษบาค้อนขวับที่พ่อลูกเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย

“ใช่คะ..คุณพ่อรีบไปอาบน้ำเถอะ บูเก้หิวข้าวแล้ว” การันต์วางร่างน้อยลงหันไปถามภรรยา

“คุณยังไม่หาของว่างให้ลูกทานอีกเหรอ”

“ยังค่ะ ฉันก็เพิ่งมาถึงก่อนหน้าคุณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง” คุณสามีชะงักอุทานลั่น

“อ้าว...แล้วไปแวะที่ไหนกันมา”

“แวะเวอะที่ไหนกันล่ะคะ รถติดยาวเหยียดเกือบชั่วโมง ไม่รู้ไปเจอขบวนเจ้าใหญ่นายโตที่ไหน พอกลับถึงบ้านยังเจอยัยบูเก้ดื้อไม่ยอมอาบน้ำอีก ฉันละปวดหัว คุณรีบไปอาบน้ำอาบท่าเถอะ จะได้ลงทานข้าว วันนี้ว่าจะนอนเร็วหน่อย พรุ่งนี้เช้าฉันมีประชุม”

“จ้ะๆ..รอเดี๋ยวนะ”

ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเขาก็กลับลงมาด้วยชุดลำลอง ทั้งสามชีวิตพร้อมหน้าพร้อมตากันที่โต๊ะอาหาร

“บูเก้..ทานดีๆ สิลูก” บุษาาดุเมื่อเห็นบูเก้ตักอาหารหกเลอะเป็นทางจากถ้วยแกงจืดถึงชามข้าว

“ก็ช้อนกลางมันเล็กนี่คะคุณแม่” หนูน้อยว่า มารดาอ้าปากค้างกับเหตุผลข้างๆ คูๆ ของบุตรสาว ไม่ทันตักเตือนคุณสามีก็ผสมโรง

“เออ..มันก็จริงของลูกนะ ทีหลังคุณหาช้อนกลางใหญ่ๆ มาให้แกหน่อยละกัน”

“ทัพพีเลยดีมั้ยคะ” บุษบาประชด

“ใหญ่ไปหน่อย เล็กกว่านั้นมีมั้ย” หล่อนหน้ามุ่ยเมื่อการันต์กล่าวออกมา

ตอนแรกหล่อนนึกเคืองบุตรสาวที่โต้แย้งตลอด แต่เมื่อได้ฟังคุณสามีก็นึกขึ้นได้ว่านิสัยแบบนี้ติดมาจากคุณพ่อผู้แสนดีของแกนั่นเอง

“คุณก็..เข้าข้างลูกผิดๆ อยู่เรื่อย”

“ผิดตรงไหน ผมพูดความจริงคุณก็รับไม่ได้อีก” บุษบาตาเขียวเมื่ออีกฝ่ายดันทุรังไปข้างๆ คูๆ

“เอ๊ะ..คุณนี่ ผิดแล้วยังไม่ยอมรับผิดอีก”

“แต่หนูว่างานนี้คุณพ่อถูกนะคะ” บุตรสาวเถียงแทน มารดาหันขวับไปมอง คุณสามีกลัวจะบานปลายชิงกล่าวตัดบท

“เรื่องแค่นี้เอง คุณก็ถือเป็นอารมณ์ไปได้”

“เอ๊ะ..คุณนี่...” หล่อนกล่าวเท่านั้น บุตรสาวก็พูดขึ้น

“คุณพ่อคุณแม่อย่าทะเลาะกันเลยนะคะ คุณครูที่โรงเรียนสอนว่าผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าลูกๆ เข้าใจมั้ยคะ” ทั้งคู่หันมาสบตา แล้วยิ้มให้กันเมื่อถูกลูกสาวสั่งสอนเข้าให้ ทั้งที่ความจริงเรื่องของเรื่อเกิดจากเด็กหญิงตัวน้อยนี่ต่างหากที่เป็นต้นเหตุ

“พ่อกับแม่ไม่ได้ทะเลาะกันซะหรอก แค่คุยกันเสียงดังเท่านั้นเอง”

“โกหกต่อหน้าต่อตาเลยนะคะ”

“อ้าว..ทำไมว่าพ่อกับแม่แบบนี้ละลูก” บิดาถามหน้าตื่น

“ก้อ..พ่อกับแม่ทะเลาะกันเมื่อกี้ บูเก้ได้ยินเต็มสองหู แต่พ่อกลับปฏิเสธ” เจอบุตรสาวมาไม้นี้สองสามีภรรยาพูดไม่ออกได้แต่หันมาสบตากัน

“ทีหน้าทีหลังอย่าทำแบบนี้อีกนะคะ โกหกตกนรกนะจะบอกให้” คุณมารดาพยักหน้ากลั้นหัวเราะแก้มตุ่ย ตาคู่สวยเป็นประกายพราวเช่นเดียวกับคุณสามี

“จ้ะ..คุณลูกบังเกิดเกล้า” การันต์รับปากก่อนปิดท้ายว่า

“ทานข้าวต่อเถอะ หิวไม่ใช่เหรอ..เราน่ะ” ไม่ทันขาดคำเด็กหญิงก็ตักอาหารใส่ปากเคี้ยวตุ้ยๆ สองสามีภรรยาหันมาสบตาก่อนจะมองไปที่ดวงใจตัวน้อยที่เฝ้าฟูมฟักมาร่วมหกปีอย่างทะนุถนอม

****** **************

หลังอาหารบุษบาพาบุตรสาวเข้านอน ส่วนการันต์หอบงานมาทำต่อจนดึกดื่นจึงกลับห้องพัก เมื่อล้มตัวลงนอน ภรรยาลืมตาขึ้นถาม

“คุณ..วันหยุดนี้ฉันว่าจะพายัยหนูไปหาพ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัด คุณมีธุระที่ไหนหรือเปล่า”

“ไม่จ้ะ..ผมว่าง”

“งั้นไปด้วยกันนะคะ”

“ได้สิ..แล้วจะไปค้างคืนหรือเปล่า”

“ค้างค่ะ มีวันหยุดติดต่อกันตั้งหลายวัน แม่บ่นคิดถึงหลานสาวเต็มแก่ แต่ถ้าคุณไม่สะดวก เราไปเช้าเย็นกลับก็ได้”

“ผมไม่มีปัญหา ถึงไม่ว่างก็จะรีบเคลียร์งานให้เสร็จ ไม่ต้องห่วง โทรบอกแม่คุณได้เลย”

“ค่ะ”

บุษบาโล่งอกหลับตาลงอย่างเป็นสุข ใจอยากให้ถึงวันหยุดเร็วๆ การันต์ถอนหายใจยาววาดแขนโอบเอวภรรยานึกถึงงานกองโตที่รออยู่ในวันพรุ่งนี้ เขาต้องรีบจัดการให้เสร็จเพื่อจะพาลูกเมียไปพบพ่อตาแม่ยายที่ต่างจังหวัด

ชายหนุ่มยกมือกายหน้าผากนึกถึงอีแก่คันเก่าที่วันนี้ทำท่าว่าจะตายอยู่บนถนนถึงสองครั้ง หากต้องออกต่างจังหวัดบ่อยๆเห็นทีคงต้องยอมขายทิ้งดาวน์รถใหม่สักคัน เพื่อลูกและเมียซึ่งเปรียบเสมือนดวงใจของเขาจะได้ปลอดภัยและสะดวกสบายในการเดินทาง

เกือบสว่างหลังจากสาวใช้วัยกลางคนเตรียมอาหารเช้า หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องบอกว่าอาหารเช้ามากๆ สำหรับบูเก้และเครื่องดื่มให้สองสามีภรรยาแล้ว ดารินทร์ก็รีบเข้าไปช่วยบุษบาดูแลเรื่องการแต่งกายของเด็กหญิง ทว่าวันนี้ทั้งคุณบุษและบูเก้ตื่นสายกว่าปกติ

“บูเก้ บูเก้ตื่น..ลูก ตื่น ลุกเดี๋ยวนี้เลย” บุษบาเสียงดังกว่าปกติ เนื่องจากพยายามแงะเด็กหญิงจากที่นอนแต่บุตรสาวงอแงไม่ยอมตื่น

“คุณแม่..หนูปวดหัว” เด็กหญิงหลับตาพึมพำยกมือขึ้นจับหน้าผากเล็กๆ ของตัวเอง

“ไม่ต้องเลย แผนนี้ใช้กับแม่ไม่ได้ผลหรอกนะ ลุกสิลูก”

“หยุดสักวันไม่ได้เหรอแม่ ที่โรงเรียนเขามีไข้หวัดระบาด หนูกลัว”

“ลูกแม่แข็งแรงออก หวัดทำอะไรไม่ได้หรอก”

“แต่หนูปวดหัว” มารดายกมือขึ้นอังหน้าผากบุตรสาวเห็นเป็นปกติก็เดาเอาว่าบูเก้ใช้ไม้เดิมคือแกล้งป่วยเพื่อขอหยุดเรียน

“ไม่เอานะลูก วันนี้แม่สายมากแล้ว ลุกขึ้นอาบน้ำนะคะ” เด็กหญิงยังนอนเงียบไม่ยอมขยับ จนมารดาหัวเสีย หันไปมองดารินทร์ซึ่งยืนมองตาปริบๆ ทำอะไรไม่ถูก

“เอาไงดีคะคุณบุษ สงสัยวันนี้แกจะป่วย ไปโรงเรียนไม่ไหว”

“ป่วยการเมืองนะสิ” ว่าพลางอุ้มร่างน้อยตรงไปยังห้องน้ำ เด็กหญิงทำตัวอ่อนดวงตาปิดสนิท และเมื่อมารดาทำท่าจะวางกับพื้นเปียกๆ บูเก้กอดคอบุษบาไว้แน่น

“คุณแม่น่ะ”

“ก็เราเกเรกับแม่ก่อนทำไมล่ะ ที่งอแงนี่เพราะไม่ได้ทำการบ้านที่ครูให้มาหรือเปล่า” เด็กหญิงปรือตาขึ้นมองสีหน้าเก้อกระดากเมื่อถูกมารดาจับได้

“ใช่มั้ยลูก บอกแม่มาซะดีๆ”

“แม่ก้อ..ไม่ใช่อย่างนั้นซะหน่อย” เด็กหญิงอ้อมแอ้มตอบไม่ยอมสบตา

“แม่ไม่ชอบคนโกหก หนูรู้ใช่มั้ย” เด็กหญิงพยักหน้ากล่าวเสียงอ่อน

“ทราบค่ะคุณแม่”

“นึกแล้วเชียว..ไม่ได้ทำการบ้านทีไรเป็นแบบนี้ทุกที” มารดากล่าวสีหน้างอง้ำ

“ก็มันยากนี่คะคุณแม่ หนูว่าจะให้คุณพ่อสอน แต่พ่อก็เข้าห้องทำงานไปซะก่อน”

“แล้วแม่ล่ะ” นางถามพลางถอดชุดนอนบุตรสาวาเพื่อจัดการอาบน้ำให้

“หนูเห็นแม่รีดผ้ากองเบ้อเริ่ม เลยไม่อยากกวนนี่คะ” คำตอบที่ได้รับทำเอามารดาอึ้ง ถึงแม้บูเก้ยังเด็กแต่หลายครั้งที่ลูกแสดงความเห็นอกเห็นใจและห่วงใยนางและสามี

“ทีหน้าทีหลังไม่เอานะลูก ถึงพ่อแม่จะยุ่งหรือเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นการบ้านหรือธุระของลูกละก้อ..พ่อกับแม่ว่างเสมอแหละ..จำไว้นะ” บุษบาทอดเสียงอ่อน มือทั้งสองข้างจัดการล้างหน้าล้างตาให้เด็กหญิง

“ค่ะคุณแม่” บูเก้รับคำเสียงอ่อย ก่อนตบท้ายว่า

“งั้นวันนี้บูเก้ขอหยุดนะคะ”

“ไม่ได้จ้ะ เดี๋ยวเรียนไม่ทันเพื่อน เกิดสอบตกขึ้นมาไม่ได้เป็นหมอรักษาอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ จะหาว่าแม่ไม่เตือนไมได้นะ”

“จริงด้วย งั้น..หนูไปขอลอกการบ้านเพื่อนที่โรงเรียนก็ได้” มารดานิ่วหน้าไม่พอใจเท่าใดนัก

“ครั้งนี้ครั้งเดียวนะลูก”

“ค่ะ ต่อไปบูเก้จะทำเอง ถ้าทำไม่ได้จะให้พ่อกับแม่สอน” นางพยักหน้าคว้าผ้ามาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้บุตรสาวหลังจากอาบน้ำเรียบร้อย

“ดีลูก โตขึ้นจะได้เป็นหมอที่เก่ง พ่อแม่ ปู่ย่าตายายรอรักษากับหนูอยู่นะ”

“ค้าแม่”

“ดีมาก เสร็จแล้วออกไปหาพี่ดารินทร์ก่อนนะ เขาจะได้แต่งตัวให้ แม่ขออาบน้ำเดี๋ยวเดียวแล้วจะตามไป” บุษบาว่าพลางเปิดประตูให้เด็กหญิงออกจาห้องน้ำ

******************

ไม่นานการันต์ก็ลงมาพร้อมที่โต๊ะอาหาร นั่งจิบกาแฟพร้อมอ่านหนังสือพิมพ์ยามเช้า ส่วนคุณภรรยาเฉพาะดูแลเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของตัวเองและบุตรสาวก็แทบจะหมดเวลา หล่อนออกจากห้องได้ก็รีบดื่มโอวัลติน และกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำแทบทุกเช้านั่นคือการเร่งคุณสามี

“คุณ..สายแล้ว เร็วเข้า ไปอ่านที่ทำงานแล้วกัน”

“ไปถึงก็เกือบได้เวลางาน เอาเวลาที่ไหนมานั่งอ่านหนังสือ”

“ฉันเห็นข้าราชการหลายคนถึงเวลางานยังเดินออกหาของกินอยู่เลย บ้างก็เดินซื้อของในตลาดนัด บางคนพอไปถึงเซ็นชื่อเสร็จก็กินก่อน งานมาทีหลัง หรือไม่ก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์สบายใจเฉิบ ปล่อยให้ชาวบ้านนั่งรอหัวโด่” นางว่าพลางลุกขึ้นคว้ากระเป๋าสะพายมาคล้องแขน

“แต่ที่ทำงานผมไม่มีนะ” คุณสามีตอบขณะเดินตามภรรยาไปที่รถ

“ที่คุณไม่มี แต่ที่ฉันมี”

กว่าสองสามีภรรยาจะออกจากบ้านก็เกือบเจ็ดโมง พาหนะคันเก่าวิ่งไปติดแหง็กอยู่บนถนนหลวงท่ามกลางการจราจรติดขัดเหมือนรถคันอื่นๆ ซ้ำบางวันยังถูกมอเตอร์ไซค์ปาดซ้ายปาดขวาน่าหวาดเสียว กว่าจะไปถึงที่ทำงานก็อ่อนล้าหงุดหงิด

บางวันพบสารถีขับรถไม่รู้จักกฏกติกามารยาทก็ทำเอาพกความหงุดหงิดเข้าที่ทำงานไปลงกับคนใกล้ชิดหรือมีเรื่องเม้าท์ต่อเป็นที่สนุกปาก นี่แหละชีวิตประจำวันของคนเมืองที่แสนจำเจแต่ไม่น่าเบื่อ เพราะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้องตัวเองและครอบครัว

*******************

เย็นวันต่อมา บุษบาต่อโทรศัพท์หามารดาเพื่อบอกเรื่องจะพาสามีและบุตรสาวไปหา

“แม่...วันหยุดนี้บุษจะพาการันต์กับยัยหนูไปหานะคะ”

“จริงเหรอลูก”

“ค่ะ..แม่อยากได้อะไรมั้ยบุษจะซื้อไปฝาก”

“ไม่ล่ะ ..บุษลองถามยัยหนูสิว่าอยากทานอะไรแม่จะได้เตรียมไว้ให้”

“โอ๊ย..รายนั้นน่ะไม่ยุ่งยากหรอกค่ะ มีแกงจืด กับสารพัดไข่แค่นี้พอแล้ว”

“งั้นแม่จะทำขนมตาลของชอบลูกไว้รออีกอย่างแล้วกัน”

“ขอบคุณค่ะ แม่แล้วยาล่ะ หมดหรือยัง”

“ยังอยู่ เรื่องนั้นน่ะไม่ต้องห่วง แค่หนูพายัยบูเก้มาหา แม่ก็ดีใจมากแล้ว”

“แล้วยาเส้นของพ่อล่ะ ยังอยู่หรือเปล่า”

“เอ..น่าจะอยู่นะ แต่ไม่รู้มากหรือน้อย เมื่อเช้ายังเห็นมวนสูบอยู่เลย”

“ยังไง ช่วยถามพ่อให้หน่อยนะแม่ แล้วถ้าหมดโทรบอกบุษด้วย จะได้แวะซื้อไปฝาก”

“อย่าดีกว่าลูก..แม่อยากจะให้แกอดเหล้าอดยาช่วงเข้าพรรษาอยู่ด้วย”

“พ่อแกแก่แล้ว ปล่อยแกเถอะแม่”

“แม่ก็อยากจะปล่อยอยู่หรอก แต่แกมาสูบใกล้ๆ แม่เหม็น อีกอย่างกลัวเป็นโรคปอดตายด้วย เอางี้..หนูซื้อลูกอมมาเยอะๆ ยาเส้นน่ะ..ไม่ต้อง แล้วหาซื้อมะนาวถูกๆ มาด้วย”

“แถวบ้านไม่มีเหรอแม่”

“เมื่อก่อนน่ะ..มี แต่ตอนนี้มันเหลือแต่ต้น ไม่รู้มือดีที่ไหนมาแอบเก็บไปจนเกลี้ยงหลายครั้งแล้วเนี่ย

เออ..แล้วจะค้างกันหรือเปล่า”

“ค้างสิแม่ วันหยุดติดต่อกันตั้งหลายวัน ไม่ค้างได้ไง”

“งั้นก็ดีเลย วันก่อนมีหมอดูแขกเดินทางผ่านมา กำนันให้ดูดวงชะตาคนในบ้าน แม่นมาก แกศรัทธาเลยให้พักอยู่ท้ายไร่ พวกชาวบ้านแห่กันไปดูกลับมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดูแม่นเหมือนตาเห็น หนูมาช่วงนี้ก็ดีแล้ว แม่จะพาไปหา ดูดวงเอาฤกษ์เอาชัยซะหน่อย”

“ไม่รู้การันต์เขาจะยอมไปหรือเปล่านะสิ”

“ทำไมล่ะ”

“คือ เขาไม่ค่อยเชื่อเรื่องพวกนี้”

“แต่แม่ว่าก็น่าสนใจนะ ของแบบนี้ไม่เชื่อก็อย่าหลบหลู่ ฟังคำทำนายทายทักเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัวมันก็ไม่เสียหายอะไรนี่ ชาวบ้านแถวนี้เขานับถือกันมากเลยนะลูก”

“แต่เขาขับรถไปเหนื่อยๆ คงอยากพักผ่อนมากกว่า”

“เอาเถอะ มาก่อนแล้วแม่จะคุยกับเขาเอง”

“ค่ะแม่”

“เจ้าแก่นมันก็บ่นคิดถึงบูเก้ นี่ถ้ารู้ว่าเพื่อนจะมา คงมารอตั้งแต่เช้าตรู่” หญิงสูงวัยหมายถึงเด็กชายวัยไล่เลี่ยกับหลานสาว

“ขนาดนั้นเลยเหรอคะ”

“อือ...แก่นมันชอบเล่นกับยัยหนู ตั้งแต่กลับไปครั้งที่แล้ว แก่นมันมาถามแม่ทุกอาทิตย์ว่าบูเก้จะมาอีกเมื่อไหร่” บุษบาหัวเราะ

“นี่ถ้ายัยหนูรู้ว่ามีเพื่อนรออยู่ละก้อ...ต้องเร่งให้ออกจากบ้านแต่ไก่โห่แน่ๆ”

“ไม่ต้องรีบร้อนนักหรอก สงสารพ่อการันต์เขาหนทางมันไกล ทำงานมาทั้งอาทิตย์ให้เขาพักผ่อนเยอะๆ แล้วขับรถขับลาก็ระมัดระวังหน่อย..อ้อ..แล้วบอกผัวเราด้วย..ว่าเมาไม่ขับ”

“เขารู้ค่ะแม่ ถ้าจะเดินทางไกลรายนั้นนอนแต่หัวค่ำ เรื่องเหล้ายาปลาปิ้งเขาจะดื่มกินแต่เฉพาะงานสังสรรค์เท่านั้นแหละ”

“เออ..ดี แม่จะได้หมดห่วง งั้นวันหยุดนี้พบกัน”

“จ้ะแม่” หลังวางสาย บุษบาเดินไปคว้าผ้าเช็ดตัวตรงเข้าห้องน้ำอย่างเป็นสุข อยากเร่งวันคืนให้ถึงวันที่จะได้กลับไปหาบิดามารดาที่ต่างจังหวัดให้มาถึงไวๆ

ถึงแม้ชีวิตในแต่ละวันของหล่อนจะจำเจซ้ำซากวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ หากแต่เมื่อคิดถึงบิดามารดา สามีและบุตรสาวทุกคนเปรียบเสมือนดวงใจของหล่อน โดยเฉพาะบูเก้เจ้าหญิงตัวน้อยๆ ที่กำลังเจริญเติบโต อนาคตแกวาดหวังไว้ว่าจะเป็นหมอ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะรักษาพ่อแม่และญาติพี่น้องให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้บุษบาตั้งความหวังและความฝันถึงความสำเร็จของบุตรสาวเพียงคนเดียวไว้เช่นนั้น

“คุณ..โทรศัพท์หาแม่หรือยัง” การันต์ถามเมื่อภรรยาออกจากห้องน้ำเดินตรงมาที่โต๊ะเครื่องแป้ง

“เรียบร้อยแล้วคะ”

“ท่านว่าไงบ้าง หยูกยาหมดหรือยัง”

“ยังค่ะ แต่ก่อนไปฉันว่าจะแวะซื้อไปให้ซะหน่อย”

“อือ..ก็ดี แล้วของฝากอย่างอื่นล่ะ ท่านอยากได้อะไรมั้ย”

“ไม่ค่ะ แล้วยังสั่งห้ามไม่ให้ซื้อยาเส้นไปฝากพ่อด้วยนะ”

“ทำไมล่ะ”

“แกอยากให้พ่ออดเหล้ายาเข้าพรรษาค่ะ”

“พ่อแกแก่ขนาดนี้แล้ว แม่ยังจะห้ามอีกเหรอ” ภรรยาพยักหน้า

“แกบอกให้ซื้อลูกอมกับมะนาวไปแทน”

“ไม่มีปัญหา ว่าแต่มะนาวที่บ้านไม่มีเหรอ” สามีถามสีหน้าสงสัย

“มีแต่ต้น ส่วนลูกไม่รู้มือดีที่ไหนมันสอยไปหมด”

“อยู่ข้างทางก็แบบนี้แหละ ขนาดแม่ปากเก่ง คนมันยังกล้าอีกเนาะ” บุษบาตาขุ่นเมื่อสามีพูดถึงมารดาแบบนั้น

“ปากเหรอนั่น”

“อะไร..ผมชมแม่คุณต่างหาก เห็นปกติไม่ค่อยมีใครกล้าเอาของในสวนแกไปได้นี่นา แล้วคราวนี้ไหง..ปล่อยให้มะนาวเหลือแต่ต้น”

“ยังจะย้ำอีกแน่ะ..เดี๋ยวเถอะ”

“ผมพูดเล่นน่า..แล้วเรื่องของสดของแห้งล่ะ ต้องแวะซื้อไปหรือเปล่า”

“เรื่องอาหารการกินน่ะไม่ต้องห่วง..แค่รู้ว่าเราจะไปคงเตรียมไว้เพียบ” คุณสามีพยักหน้ายิ้มออกมา นึกถึงการไปบ้านแม่ยายแต่ละครั้งกลับมาทีไรน้ำหนักเพิ่มเป็นกิโล หนำซ้ำยังมีผลหมากรากไม้มาฝากเพื่อนร่วมงานอีกต่างหาก

“เอ..แต่บุษว่าไปแต่เช้าหน่อยก็ดีนะ แม่บอกจะพาไปดูดวงกับหมอแขกด้วย” การันต์กำลังคว้าผ้าเช็ดตัวเดินเข้าห้องน้ำชะงักหันมาหา

“ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องดวง คุณก็น่าจะรู้นี่”

“แต่แม่บอกว่าชาวบ้านเขาลือกันว่าแม่นมาก” สามีหน้าเบ้

“ผมว่า..คนเราถ้าใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ฟุ้งเฟื้อฟุ่มเฟือย และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทุกอย่างก็ดีเองนั่นแหละ”

“แต่ไปหาท่านสักครั้ง ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไรนี่คะ หรือว่าคุณกลัวหมอดูจะทักว่าคุณแอบไปมีอีหนู” การันต์เบิกตากว้างเสียงหลง

“อ้าว..ไหงพาลแบบนี้ล่ะคุณ”

“ก็มีจริงมั้ยล่ะคะ” หล่อนแกล้งถาม

“คุณนี่..อย่ามาซี้ซั้วโมเมอำส่งแบบนี้นะ”

“เอ..มันชักจะยังไงๆ ท่าทางคุณดูวิตกจริตเกินเหตุ”

“บ้าสิ ผมก็แค่ไม่อยากให้คุณเชื่อเรื่องดวงมากเกินไป เคยได้ยินมั้ย คนเราสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้” คุณภรรยาส่ายหน้า

“ฉันเคยได้ยินแต่มือทำรวย หวยทำจน” สามีตาขุ่นถอนหายใจยาวถึงแม้ไม่เชื่อเรื่องดวงสักเท่าไหร่ แต่เพราะความรักและเกรงใจภรรยาจึงไม่อยากขัด

“ก็ได้ๆ..ตามใจคุณแล้วกัน”

“ก็ลองไม่ตามฉันดูสิ..เป็นเรื่อง” คุณสามีทำท่าเหมือนจะค้อน ก่อนเดินดุ่มๆ เข้าห้องน้ำ ไปอย่างเงียบเชียบ บุษบายิ้ม ตั้งแต่ใช้ชีวิตร่วมกันมา การันต์ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เขารักและดูแลหล่อนกับลูกอย่างดีไม่เคยขาดตกบกพร่อง เพียงเท่านี้หล่อนก็พอใจและไม่ต้องการอะไรอีก

*********************

เกือบเที่ยงรถของการันต์จึงไปถึงบ้านสวน บูเก้ก้าวลงจากรถเป็นคนแรก เหตุเพราะเห็นแก่นตั้งแต่พาหนะของบิดาเลี้ยวเข้าเขตบ้าน

“ดูลูกคุณสิ ลงจากรถได้ก็วิ่งแน้บไปหาเพื่อนเล่น แทนที่จะไปหาตายายก่อน” บุษบานั่งหน้ามากับสามีบอกกล่าวสุ้มเสียงไม่สบอารมณ์

“ลูกผมคนเดียวซะที่ไหน ลูกคุณก็ด้วยแหละ แล้วทำไมไม่สั่งสอนแกว่ามาถึงให้ไปไหว้ตายายก่อน เพื่อนเล่นเอาไว้ทีหลังล่ะ” โดนศอกหลับมาแบบนี้ทำเอาคุณภรรยาหน้าคว่ำ

“ฉันก็สอน แต่ลูกไม่จำเองนี่นา”

“ยัยบูเก้แกฉลาด ปกติว่าง่าย ผมพูดอะไรแกทำตามไม่เคยเหลวไหล” การันต์กล่าวไม่ทันจบ บุษบาก็สวนขึ้น

“นี่คุณกำลังหาว่าฉันไม่ได้บอกแกเหรอคะ”

“ผมยังไม่ได้พูดอะไรเลย”

“ไม่พูดก็เหมือนพูดนั่นแหละ” หล่อนเสียงเขียวหน้างอหงิก ค้อนขวับเปิดประตูลงจากรถพร้อมข้าวของที่ซื้อหามาฝากบิดามารดา

“อ้าว...คุณแล้วเสื้อผ้าข้าวของท้ายรถล่ะ” การันต์ร้องถาม หล่อนหันมาตอบเสียงสะบัด

“คุณไง..ขนตามมาสิ” การันต์ถอนหายใจยาว ลงไปเปิดกระโปรงรถมองกระเป๋าเดินทางสองใบและตุ๊กตุ่นตุ๊กตาของบุตรสาวอีกเพียบ

“ปากหนอปาก..ไม่น่าเลย”

บุษบายิ้มหวานตรงเข้าไปหามารดาที่ออกมาชะเง้อชะแง้มองอยู่หน้าบ้าน

“สวัสดีค่ะแม่”

“ไหว้พระเถอะ..แล้วนั่นซื้ออะไรมาเยอะแยะล่ะแม่บุษ”

“กับข้าวค่ะ แล้วก็ของกินของใช้นิดหน่อย แล้วพ่อล่ะ..อยู่หรือเปล่า”

“มีเหรอ..จะไม่อยู่ ตั้งแต่เช้าแกไม่ยอมออกไปไหนเลย ขนาดแม่ให้ออกไปเก็บมะม่วงมาตำน้ำพริก แกยังไม่ยอมไป สงสัยแกกลัวแม่จะได้หน้าคนเดียว” คำค่อนแคะของมารดามีผลทำให้เสียงกระแอมกระไอที่บุษบาจำได้ดีกว่าเป็นเสียงของบิดาดังออกมาจากในบ้าน นางกานดายิ้มแป้นขยิบหูขยิบตาเหมือนจะบอกกับบุตรสาวให้เข้าไปหานายอำนวย

“วันนี้พ่อเขาลงมือทำลาบ น้ำตกของโปรดของหนูเองกับมือเลยนะ แกลุกขึ้นมาตั้งแต่ตีสาม” ประโยคท้ายมารดากระเส่า บุษบายิ้มปลื้มอกปลื้มใจกับความรักที่บุพการีมีให้อย่างเหลือล้น

“แล้วแม่ละคะ”

“พ่อเราตื่น แม่จะนอนอยู่ได้ไงล่ะ” หล่อนหัวเราะโอบเอวมารดายื่นหน้าไปจุ๊บแก้วเหี่ยวๆ ฟอดใหญ่

“ขอบคุณค่ะแม่ กำลังหิวอยู่พอดี”

“แล้วบูเก้ล่ะ” นางถามพลางกวาดสายตามองไปรอบๆ

“วิ่งเข้าสวนไปกับเพื่อนแล้วค่ะ”

“อ้าว..แล้วแกไม่หิวเหรอ”

“คงไม่มั้ง รายนั้นนั่งกินขนมมาตลอดทางจนหลับคาปาก”

“แล้วไม่คิดจะช่วยพ่อการันต์ขนข้าวของเข้าไปข้างในเหรอลูก” นางถามสีหน้าสงสัยเมื่อเห็นลูกเขยขนกระเป๋าลงมาจากรถเพียงลำพัง

“ไม่เป็นไร รายนั้นเขาแข็งแรง ขนของแค่นี้ไม่มีปัญหา” มารดาทำหน้ายุ่งเดินเคียงบุตรสาวเข้าไปหาสามี ปล่อยให้คนแข็งแรงมองค้อนตากลับ จำต้องขนกระเป๋าเข้าบ้านพร้อมของเล่ยบุตรสาวเพียงลำพัง

“ยัยบุษ ทำไมไม่ช่วยพ่อการันต์เขาขนของล่ะ” บิดาถามเมื่อบุตรสาวเข้ามาไหว้ทรุดตัวลงนั่งข้างๆ

“ไม่เป็นไรหรอกพ่อ ให้เขาคนเดียวแหละ..ดีแล้ว รายนี้เขาชอบออกกำลังกาย เมื่อเช้าพอตื่นก็รีบมาเลยไม่ได้ทำกิจวัตรประจำวัน ต้องให้ยกกระเป๋าขนของเข้าบ้านแทน แบบนี้ถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งแทนเมื่อเช้าไงจ้ะ” หล่อนว่าไปโน้น บิดาพยักหน้าหงึกหงักพยายามเข้าใจ ทั้งที่ยังงงๆ

“เออ..แปลกดี มีวิธีการออกกำลังกายแปลกๆ..ปกติพ่อก็ชอบออกกำลังกายเหมือนกัน แต่ถ้าไปไหนมาไหนกับแม่เอ็ง หรือจะเป็นเพื่อนบ้านก็แล้วแต่ ถ้าปล่อยให้พ่อขนของคนเดียวแบบนี้ละก็..พ่อไม่ยอมเด็ดขาด” บุษบาซ่อนยิ้มเสว่าไปอีกเรื่อง

“หิวจัง เห็นแม่บอกพ่อทำของโปรดบุษไว้ด้วย”

“ไม่ใช่มีแต่ของพ่อรอก แม่แกก็ทำขนมไว้รอเหมือนกัน เห็นขูดมะพร้าวตั้งแต่ยังไม่สว่าง” สิ้นเสียงนางกานดาก็หยิกหมับเข้าให้ โทษฐานเอาเรื่องจริงมาเปิดเผย

“โอ๊ยยย..อะไรของแกวะ”

“ก็แกอยากปากเสียทำไมล่ะ” บิดาขยับจะตอบโต้ บุษบาชิงห้ามไว้

“พอเลย พ่อ..แม่ ทะเลาะกันเป็นเด็กๆ ไปได้” สองสามีภรรยารุ่นเดอะเงียบไปอึดใจ บิดาหล่อนกวาดสายตาไปรอบๆ ไม่เห็นหลานรักก็เอ่ยถาม

“แล้วบูเก้ล่ะ..อยู่ไหน”

“วิ่งตามเจ้าแก่นเข้าสวนไปแล้ว อีกเดี๋ยวพอหิวก็กลับมาเองแหละ” สามพ่อลูกคุยกันไม่นาน การันต์ก็เข้ามาสมทบด้วยสีหน้าเหนื่อยอ่อน

“ออกกำลังวิธีนี้มันดีเหรอพ่อรันต์” ลูกเขยตีสีหน้างงๆ ย้อนถาม

“ออกกำลังกายอะไรพ่อ”

“อ้าว..ก็ขนข้าวของขึ้นไปชั้นสองคนเดียวตั้งหลายรอบไง เห็นแม่บุษบอกว่าที่เราทำคนเดียวเพราะต้องการออกกำลังกาย” การันต์มองภรรยาเหมือนค้อนก่อนตอบ

“อ้อ..ครับ ดีพ่อ”

“แล้วนี่หิวกันหรือยัง พ่อเขาทำลาบกับน้ำตกไว้รอ ส่วนแม่มีขนมของโปรดด้วย” คุณกานดาถามลูกเขย

“หิวครับ แต่รอบูเก้ก่อนก็ได้”

“พ่อไปตามให้เอง เป็นห่วงอยู่เหมือนกันเจ้าแก่นมันยิ่งชอบเล่นแผลงๆ อยู่ด้วย เกิดพาไปปีนต้นหมากรากไม้ตกลงมาละแย่เลย” นายอำนวยลุกขึ้นก้าวไปข้างหน้าไม่กี่ก้าวบุษบาก็ร้องบอก

“บุษไปด้วยจ้ะ ไม่ได้เข้าสวนมาตั้งนาน คิดถึงต้นไม้ใบหญ้าแถวนี้”

“ผมไปด้วย” การันต์ลุกตาม คุณภรรยายังงอนหันมาตอบ

“คุณอยู่กับแม่ที่นี่แหละ พักผ่อนให้สบาย เหนื่อยไม่ใช่เหรอ” สามีเงียบกริบได้แต่พยักหน้าจำยอม

*****************

สองพ่อลูกเดินตามกันเข้าไปในสวน ไม่นานก็ได้ยินเสียงเรียกของบุตรสาว

“แม่..ตา..หนูอยู่นี่” บุษบาและนายอำนวยกวาดตามองไปรอบๆ แต่ไม่พบ

“บูเก้..อยู่ไหนลูก”

“บนต้นมะม่วงนี่ไงแม่” บุษบาเงยหน้าขึ้น เห็นบุตรสาวและเพื่อนวัยเดียวกันยิ้มเผล่บนกิ่งไม้ห้อยขาลงมา หล่อนเบิกตากว้างร้องลั่น

“บูเก้..ลงมาเดี๋ยวนี้นะ” สิ้นเสียงลูกสาว นายอำนวยก็ร้องเตือน

“ค่อยๆ ลงนะลูก ไม่ต้องรีบร้อน เดี๋ยวตกลงมาแข็งข้าหัก”

“จ้ะตา” นายอำนวยตาขุ่นหันไปหาเพื่อนหลานสาว

“เจ้าแก่นเอ็งนี่มันน่าตีนักนะ พาหลานข้ามาปีนต้นไม้เป็นลิงเป็นข้างแบบนี้ได้ไง”

“ฉันเปล่าชวนนะตา บูเก้ชวนฉันเองต่างหาก”

“แน่ะ..ว่าแล้วยังมาเถียง เดี๋ยวเถอะเอ็ง” ขณะสองชายต่างวัยกำลังเถียงกันอยู่นั้นบุษบาเดินไปใต้ต้นไม้ตามองร่างป้อมๆ ของบุตรสาวแทบไม่กระพริบด้วยความเป็นห่วงกลัวจะตกลงมา

“บูเก้..ลงมาสิลูก ยายทำของชอบไว้รอตั้งเยอะแน่ะ” คำว่าของชอบฝีมือยาย บูเก้รู้ดีว่ารสชาติอร่อยนักหนา เด็กหญิงค่อยๆ ไต่ลงมาและเมื่อถึงระยะใกล้พื้นดินก็กระโดดผลุง แต่ไปสะดุดรากไม้ถึงกับหน้าคะมำล้มลงไม่เป็นท่า เด็กหญิงไม่ทันร้องสักแอะ แต่มารดาส่งเสียงลั่น

“ว้าย...บูเก้..เป็นยังไงบ้างลูก เจ็บตรงไหนกรือเปล่า” บุษบาตรงเข้าไปคว้าร่างบุตรสาวให้ลุกขึ้นยืน ตากวาดมองสำรวจไปทั่ว เด็กหญิงหน้าเบ้ทำท่าจะร้องไห้ แต่เมื่อเห็นแก่นและตาอำนวยก็ส่ายหน้าปฏิเสธ ด้วยเกรงมารดากับตาจะประสานเสียงไม่ยอมให้ออกมาเล่นกับแก่นอีก

“ทีหน้าทีหลังอย่าขึ้นไปเล่นแบบนี้อีกนะลูก” บุษบากล่าวพลางจับมือบุตรสาวไว้

“จ้ะแม่”

“แก่น ตามไปกินขนมที่บ้านมั้ย” ตาอำนวยชวนเด็กชายซึ่งมีสวนติดกับสวนของแก

“ได้เหรอตา”

“ได้สิ..ทำไมจะไม่ได้ล่ะ”

“ก็เห็นบูเก้ว่า ยายทำขนมไว้ให้พ่อกับแม่เขา ไม่ได้เผื่อฉันหรอก” บุษบาหันไปสบตาบุตรสาวไม่คิดว่าบูเก้จะหวงของกินฝีมือตากับยายขนาดนี้

“แล้วเชื่อเขามั้ยล่ะ” ตาอำนวยถาม

“เชื่อจ้ะ แต่ฉันอยากกิน แม่ก็อนุญาตตั้งแต่เช้าแล้วด้วย บูเก้..ฉันขอไปด้วยคนนะ” เด็กแก่นบอกชายสูงวัย ก่อนจะหันไปขออนุญาตเด็กหญิง บูเก้พยักหน้าก่อนตบท้ายว่า

“ให้กินก็ได้..แต่เธอต้องเอาฝรั่งที่บ้านมาแลก”

“ได้..แต่ขอเป็นพรุ่งนี้นะ” บุษบาฟังข้อเสนอของบุตรสาวด้วยรอยยิ้ม ใจคิดไปว่ายัยบูเก้เค็มเหมือนใครกันนะ เพราะตัวเองและสามีไม่มีนิสัยเช่นนี้

******************

“บูเก้..มาหายายสิลูก” ยายกานดาเรียกหลานสาวเมื่อบุษบาและสามีจูงมือป้อมๆ คนละข้างพากันเดินเข้ามาใกล้ โดยมีเด็กชายวัยเดียวกันแต่ร่างกายสูงโก้งเก้งตามมาด้วย เด็กหญิงละมือจากทั้งคู่ตรงเข้าไปนั่งข้างๆ

“บูเก้ธุคุณยายสวยๆ สิลูก” การันต์เตือน เด็กหญิงยกมือพนม

“สวัสดีค่ะคุณยาย” หญิงสูงวัยเอื้อมมาจับมือน้อยนั้นไว้

“ไหนแม่เราว่าหนูคิดถึงตากับยายมากไงละลูก”

“ก็คิดถึงนะสิคะ”

“แล้วไหง พอมาถึงบ้าน กลับเข้าสวนไปกับเจ้าแก่นซะล่ะ”

“ก็แก่นคิดถึงบูเก้เหมือนกัน แถมยังมายืนรอจนขาแข็ง บูเก้เลยไปกับแก่นก่อน”

“ใครบอกล่ะว่าเจ้าแก่นมันรอจนขาแข็ง” ตาถามอยากรู้เต็มแก่

“แก่นบอกจ้ะ”

“แต่ยายเห็นมันนั่งอยู่ที่เก้าอี้นะลูก จะยืนขาแข็งได้ยังไง”

“ แก่นก็ยืนบ้างนั่งบ้างนะสิยาย ใครจะยืนอยู่ได้ตั้งหลายชั่วโมง” เด็กหญิงแก้ตัวแทนเพื่อนเสียงใส

“งั้นหรอกเหรอ แล้วหนูรู้ได้ยังไงว่าเจ้าแก่นมัยคิดถึงหนูมากกว่าที่ตายายคิดถึง”

“ก็ตากับยายไม่ได้ไปรอบูเก้ใต้ร่มไม้นี่คะ” คำตอบนั้นทำเอาทั้งสี่ยิ้ม คุณกานดาถอนหายใจเฮือก

กล่าวกับสามี

“คราวหลังเห็นทีเราสองคนต้องออกไปรอหลานข้างนอกแล้วมั้งตา”

“ถ้างั้นคงต้องไปรอปากทาง” นายอำนวยว่าพลางมองค้อนให้กับคำแนะนำที่แสนจะไม่ได้เรื่องนั้น ลูกเขยซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ย้อนถาม

“ทำไมต้องไปรอข้างนอกล่ะพ่อ..แม่”

“ก็เพราะเจ้าแก่นมันรออยู่หน้าบ้านนะสิ มันถึงได้พายัยหลานไปก่อน” ยายของบูเก้ตอบ เจ้าแก่นยิ้มสีหน้ากระลิ้มกระเหลี่ย

“ยาย..ตาบอกว่ายายทำขนมเหรอ”

“เออ..ถามทำไม”

“ยายไม่คิดจะเรียกฉันกินบ้างเหรอ”

“คิดสิ..แล้วหิวหรือยังล่ะ”

“หิวจ้ะ หิวค่ะ” คำนี้เด็กทั้งสองกล่าวเกือบพร้อมกัน

“งั้นก็รอเดี๋ยวจะยกมาให้”

“หนูช่วย” บูเก้ขันอาสา

“อย่าเลย ยายคนเดียวไหว” หญิงสูงวัยขยับไปไม่กี่ก้าวเสียงบุษบาก็ดังขึ้น

“ที่ยายไม่ยอมให้หนูช่วย คงเพราะกลัวบูเก้จะยกมาเทลงพื้นเหมือนครั้งก่อนมั้ง” มารดาท้าวความถึงอดีต

วันนั้นบูเก้ขันอาสาถือขนมชั้นออกไปให้ญาติๆ ซึ่งเพิ่งกลับจากทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา แต่ดันสะดุดขาตัวเองล้มลง ส่งผลให้ขนมทั้งถาดคว่ำผลุบ วงสนทนาแตกทันที เพราะเจ้าของบ้าน ลูกสาวและลูกเขยทิ้งแขกมาหาเด็กหญิงที่ส่งเสียงร้องไห้จ้า

“คุณแม่น่ะ พูดแบบนี้ได้ไง” บุษบาตีหน้าซื่อย้อนถาม

“แม่พูดผิดตรงไหนเหรอ”

“คุณพ่อ ดูคุณแม่สิ แบบนี้ไม่ดีเลยนะคะ เรื่องแล้วไม่รู้จักแล้วซ้ำเติมบูเก้อยู่เรื่อย” เด็กส่งเสียงแจ้วๆหญิงฟ้องบิดาสีหน้าบูดบึ้ง

“คุณแม่เขาล้อเล่นนะลูก..คุณก้อ..ลูกอาย ไม่เห็นเหรอ” เด็กหญิงยิ้มออก แต่แล้วรอยยิ้มนั้นก็มีอันหุบสนิทเมื่อได้ยินประโยคต่อมา

“ทีหน้าทีหลังคุณอย่าเอาความจริงของลูกมาล้อเล่นแบบนี้อีกน่ะ”

“คุณพ่อ..คุณพ่อล้อหนูทำไม” บิดาส่ายหน้าปฏิเสธลั่น

“พ่อเปล่านะลูก พ่อกำลังเตือนแม่เขาต่างหาก” เด็กหญิงหน้างอเดินตุบปัดตุบป่องเข้าไปหาตา

อำนวย ชายสูงวัยลูบหลังลูบไหล่หลานสาว กล่าวกับสองสามีภรรยา

“รู้ๆ กันอยู่ว่ายัยหนูไม่อยากได้ยินเรื่องนี้ ทีหลังอย่าพูดอีกล่ะ” กล่าวจบก็ก้มลงบอกหลานสาว

“ตาดุพ่อกับแม่หนูให้แล้ว รับรองทีหน้าทีหลัง ไม่กล้าหือ” เด็กหญิงยิ้มยักคิ้วหลิ่วตากับบุพการีเมื่อตัวเองมีเกราะคุ้มกันอย่าหนาที่พ่อกับแม่ไม่กล้าหือ

ไม่นานทุกคนในบ้านก็ได้ทานขนมฝีมือยายของบูกเก้กันถ้วนหน้า ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนสุขภายในบ้านไร่นั้น

**********************

ยามเย็นที่บ้านนายอำนวยวันนี้ ภายในบ้านเต็มไปด้วยความสุขด้วยเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะ เด็กหญิงผลัดเปลี่ยนตอบคำถามตายาย ส่วนเด็กแก่นไม่ยอมกลับอยู่จนค่ำมืดร่วมรับประทานอาหารเย็นฝีมือยายกานดาอีกมื้อ

“ไอ้แก่น ค่ำแล้วเมื่อไหร่จะกลับซะทีเดี๋ยวแม่เอ็งก็ถือไม้เรียวมาตามถึงนี่หรอก”

“ไม่หรอกจ้ะ แม่ฉันรู้ว่าอยู่ที่บ้านตาวย เขารู้ว่าบูเก้มา ตากับยายต้องทำขนมเลี้ยง”

“แล้วยังไง” ยายกานดาถาม

“ก็แม่ฉันอยากให้ฉันได้กินขนมอร่อยๆ เพราะฉะนั้น ไม่ตามแน่ ย.ห.”

“อะไรของเอ็งวะ ย.ห.” นายอำนวยถามสีหน้าฉงน

“ก็ย่าห่วงไงตา”

“อ้อ..เออ..แม่เอ็งนี่คิดดีเนาะ” เด็กชายยิ้มโชว์ฟังหรอ ไม่รู้ว่าชายสูงวัยชมหรือประชดกันแน่

“แล้วตอนนี้กินอิ่มแล้วจะกลับบ้านได้หรือยัง”

“ได้แล้วจ้ะยาย”

“งั้นก็กลับไปสิ มัวรออะไรอยู่” เจอไม้นี้เจ้าแก่นยกมือไหว้กราดลาไปทั่ว และก่อนลุกขึ้นไม่วายหันมาบอกเด็กหญิง

“แล้วพรุ่งนี้จะมาใหม่นะ” บูเก้ยิ้มไม่ทันตอบยายกานตาก็พูดขึ้น

“มาได้ แต่เป็นบ่ายๆ ละกัน”

“อ้าว..ทำไมล่ะยาย”

“ก็เช้าว่าจะพายัยบูเก้กับพ่อแม่เขาไปหาหมอแขกที่บ้านกำนันนะสิ ว่าจะพาไปให้ท่านดูดวงซะหน่อย” เด็กชายยิ้มรับยังไม่ทันกล่าวอะไร ตาอำนวยก็แกล้งดักคอ

“อย่าบอกน่ะว่าเอ็งจะไปกับเขาด้วย”

“ไม่ไปหรอก ฉันขี้เกียจไปนั่งพับเพียบเรียบแต้แบบผู้หญิงเขา งั้นบ่ายพรุ่งนี้ฉันมาใหม่ละกัน

เราไปก่อนนะบูเก้”

“จ้ะ..แล้วอย่าลืมเอาฝรั่งมาให้ด้วยล่ะ”

“จะลืมได้ไง เธอสั่งมาหลายครั้งแล้วนี่”

****************************

ก่อนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อน บุษบาเอ่ยถามมารดา

“เราจะไปหาหมอดูกี่โมงจ้ะแม่”

“ไปเช้าๆ หน่อยก็ดี แม่เตรียมดอกไม้ธูปเทียนไว้พร้อมแล้ว จะได้กลับเร็วๆ ”

“แล้วทำไมต้องไปเช้าล่ะ บ่ายเขาไม่ดูดวงเหรอ” การันต์ถาม

“เขาดูแค่ครึ่งวัน แล้วถ้าไปสายคนมันเยอะ ไปกันแต่เช้านี่แหละดี ท่านจะได้มีเวลาให้เราซักถามตามที่เราอยากรู้”

“แต่ผมว่า เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ใจนะแม่ ใครทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น”

“มันก็จริง แต่บางทีดูดวงเพื่อเสริมบารมี ก็ทำให้จิตใจเราสบายขึ้น” การันต์ขยับจะอธิบายแต่ภรรยาก็ขัดขึ้นก่อน

“งั้นพรุ่งนี้เช้าบุษจะลงมาช่วยแม่ทำอาหารนะ จะได้ไปกันแต่เช้าหน่อย”

“เออ..ดี แล้วอย่าตื่นสายล่ะ”

“จ้ะแม่”

การันต์เดินตามบุษบาซึ่งจูงมือบุตรสาวเข้าห้องพักไปอย่างไม่สบอารมณ์ หล่อนพอจะดูออกจึงไม่เซ้าซี้เพราะแน่ใจว่าหากพูดถึงเรื่องดูดวงขึ้นมาอีกการันต์ต้องมีปัญหา ดีไม่ดีเช้าขึ้นมาคุณสามีอาจแผลง ฤทธิ์ไม่ยอมไปซะดื้อๆ จึงเงียบเสียง

*******************

วันรุ่งขึ้นคุณกานดาพาบุษบา การันต์และบูเก้ไปบ้านไร่ของกำนันซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เมื่อไปถึงพบว่ามีผู้คนเริ่มทยอยมาไม่มากนัก กานดา บุษบาและบูเก้แทรกเข้าไปแถวหน้า ส่วนการันต์เขาไม่เชื่อเรื่องแบบนี้จึงแยกไปชมนกชมได้ข้างนอก กระทั่งใกล้ถึงคิวบุษบาจึงออกไปตามให้มาฟังพร้อมกัน

“ไหน..ใครจะดูแจ้งวันเดือนปีเกิดมา” บุษบาบอกวันเดือนปิเกิดของตัวเองสามีและบุตรสาว หมอเขมรนำไปขีดๆ เขียนๆ ชั่วครู่ก็เงยหน้าขึ้น

“ดวงการงานรุ่ง เจ้านายรักเอ็นดูเพราะความขยันของพวกเอ็งทั้งสอง”

“แล้วหลานสาวอีฉันละคะ โชค วาสนาและการเรียนเป็นยังไงบ้าง” นางกานดาเอ่ยถามเมื่อบุตรสาวและลูกเขยได้แต่ฟังไม่ยอมซักถาม ชายร่างท้วมผิวดำมองไปยังเด็กหญิงที่กำลังดื่มน้ำผลไม้แล้วส่ายหน้าถอนหายใจยาว

“เด็กมีโรคประจำใช่มั้ย”

“เจ้าค่ะ โรคภูมิแพ้ หอบหืดอะไรทำนองนี้แหละ”

“เด็กคนนี้กำลังมีเคราะห์” บุษบาและมารดาหันมาสบตากันนึกหวั่นไหวกับคำทำนาย

“เด็กตัวแค่นี้เหรอจะมีเคราะห์” การันต์หลุดปากออกมาตามองหมอแขกเหมือนไม่เชื่อถือ

“เออสิวะ เคราะห์หนักซะด้วย”

“หมอจะทำพีธีสะเดาะเคราะห์ แล้วให้เราจ่ายเงินเป็นค่าทำพิธีเท่าไหร่ล่ะ” กรรันต์ดักคออย่างคนไม่เชื่อถือ หมอแขกตาขวาง แต่พยายามสงบสติอารมณ์ตอบเสียงเรียบ

“ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเสียทองให้ข้าหรอก เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา” การันต์หันไปสบตาภรรยาซึ่งนั่งข้างบุตรสาวเหมือนกับจะบอกว่าไม่น่ามาให้เสียเวลาเลย

“แล้วถ้าไม่ทำละหมอ” การันต์ย้อนถาม

“นั่นมันเรื่องของเอ็ง ข้าเตือนแล้ว บอกแล้ว เพราะข้ามองไม่เห็นอนาคตของเด็กคนนี้”

“หมายความว่ายังไงคะ” บุษบาถามสีหน้าและน้ำเสียงไม่พอใจ การันต์หน้าตึงขยับตัวจะลุกหนี แต่ภรรยาสะกิดไว้พร้อมทั้งปรามด้วยสายตา

“ก็หมายความตามนั้นแหละ ไม่มีอนาคต”

“พูดให้ชัดๆ เอาตรงๆ เลยพ่อหมอ อย่าอ้อมค้อม” นางกานดาเสียงดังกว่าปกติด้วยความไม่สบายใจ

“คนที่ไม่มีอนาคตมีอยู่สองประเภท คือใกล้คนตาย และคนที่กำลังจะถึงฆาต..” ไม่ทันสิ้นเสียงการันต์ก็ลุกพรวดเดินออกไปหน้าตาเฉย บุษบาตาวาวเม้นปากแน่นอึดใจก็บอกมารดา

“แม่ฉันออกไปรอข้างนอกนะ” หล่อนลุกขึ้นจูงมือบุตรสาวเดินแหวกกลุ่มชาวบ้านออกไปอย่าง

ไม่พอใจ

“รอแม่ด้วย” นางกานดารีบยกมือลา ควักเงินออกจากกระเป๋านำไปวางในพานแล้วตามไปที่รถของการันต์

ทันทีที่แม่ยายเข้าไปนั่ง ลูกเขยก็พูดขึ้น

“หมอดูบ้าบออะไรแบบนี้ มันหวังจะเอาเงินเรานะสิ ทีหน้าทีหลังแม่อย่าพามาให้เสียเวลา เสียอารมณ์อีกนะ”

“ก็เห็นชาวบ้านพูดกันว่าแม่นนักหนา ใครจะไปรู้ล่ะว่ามันมั่วขนาดนี้ พูดออกมาได้ ว่ายัยบูเก้ไม่มีอนาคต นี่ถ้าตาแก่มาด้วยละก้อ..ได้ลุกขึ้นด่าเอ็ด” นางกานดากล่าวเสียงเครียด บุษบานั่งเงียบกริบกอด

บุตรสาวที่มัวแต่ชมวิวทิวทัศน์ภายนอกโดยไม่รับรู้ถึงความเคร่งเครียดภายใน

******************************

กลับถึงบ้านนายอำนวยออกมายิ้มเผล่ผัดหน้าขาววอกรับกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว เมื่อหลานสาวลงจากรถก็ร้องถาม

“บูเก้..ซื้อขนมมาฝากตาหรือเปล่า”

“เปล่าจ้ะตา พ่อไม่ยอมแวะที่ไหนเลย บูเก้หิวข้าว แม่บอกให้มากินบ้าน” นายอำนวยหันไปหาภรรยาเหมือนจะถาม แต่เมื่อเห็นสีหน้าเคร่งเครียดของทั้งสามก็ทนเก็บความสงสัยเอาไว้

“มา..งั้นไปกับตา จะหาข้าวให้กิน” ชายสูงวัยว่าพลางจูงมือหลานสาวเดินเข้าไปในบ้านโดยมีทั้งสามตามติด

หลังทานอาหารเรียบร้อยการันต์และภรรยาก็กลับเข้าห้อง ส่วนบูเก้แก่นพาเข้าไปเล่นในสวน และเมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังตาอำนวยถามภรรยา

“หมอดูเขาว่าไงบ้าง”

“ยัยบุษกับพ่อการันต์ดวงดี แต่บูเก้เขาว่าไม่มีอนาคต”

“หมายความว่ายังไง ไม่มีอนาคต”

“เขาว่ามีคนอยู่สองประเภทที่ไม่มีอนาคต คือคนใกล้ตาย กับคนที่กำลังจะถึงฆาต” ตาอำนวยเบิกตากว้างลุกพรวดขึ้น

“อ้าวๆ..มันพูดจาหมาๆ แบบนี้ได้ยังไงวะ ถ้าอยู่ใกล้ๆ ละก้อ พ่อจะซัดให้หงาย”

“ก็เพราะเหตุนี้แหละ พ่อการัตน์กับแม่บุษถึงได้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ขากลับขับรถเป็นพายุ บูเก้หิว เขายังไม่ยอมจอดที่ไหนเลย”

“มันก็น่าโมโหจริงๆ นั่นแหละ อีแบบนี้ต้องป่าวประกาศให้ทั่ว ชาวบ้านจะได้เลิกงมงายซะที”

“แต่ฉันรู้สึกกลัวนะแก พอเห็นยัยบูเก้เขาถามเลยว่าแกมีโรคประจำตัวหรือเปล่า พอฉันบอกว่ามีโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดแกก็ทักอย่างที่เล่า”

“มันมั่ว ไอ้โรคนี้ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นแล้วมันทรมาน อย่าไปคิดมากเลย”

“แกก็พูดได้สิ ไม่ลองมาเป็นฉันดูบ้างนี่ คนแทบทั้งหมู่บ้านเขารู้กันทั้งนั้นว่าหมอแขกดูแม่น ขนาดไหน แล้วถ้าเกิดยัยบูเก้ดวงไม่ดีขึ้นมาจริงๆ เราจะทำยังไง”

“เอาไว้ข้าจะเอาดวงยัยหนูไปให้หลวงตาที่วัดดูอีกทีแล้วกัน” ภรรยาพยักหน้าเห็นดีด้วย

“เออ..ก็ดีเหมือนกัน…แล้วจะไปเมื่อไหร่ล่ะ”

“ก็รอให้ยัยบุษกลับไปก่อน เกรงใจพ่อการันต์เขา รายนั้นไม่เชื่อเรื่องดวงไม่ใช่เหรอ” ภรรยาพยักหน้าใจคอไม่ปกติ

*********************

แก่นพาเด็กหญิงออกจากสวนไปที่บ้าน แล้วพาซ้อนท้ายจักรยานปั่นเข้าไปในโรงเรียน ระหว่างทางเด็กหญิงร้องบอก

“แก่นสอนถีบจัดยานบ้างสิ”

“ไม่เอาเดี๋ยวรถพัง”

“ถ้าพัง เราจะให้พ่อกับแม่ซื้อให้ใหม่นะ”

“แน่นะ”

“แน่สิ”

“งั้น..ได้เลย” แก่นจอดรถเปลี่ยนให้เด็กหญิงฝึกเป็นสารถี โดยมีแก่นคอยจับท้ายวิ่งบ้างจูงบ้างเพื่อไม่ให้พาหนะคันนั้นล้มลง

เวลาผ่านไปพักใหญ่แก่นก็เริ่มละมือจากจักรยานให้บูเก้ปั่นไปข้างหน้า

“ว้าว..สนุกจังเลย กลับไปเราจะให้พ่อซื้อจักรยานให้ กลับมาคราวหน้าเราจะปั่นแข่งกับเธอ”

เด็กหญิงพูดจ๋อยๆ คิดว่าแก่นจับท้ายรถ แต่เมื่อไม่ได้ยินเสียงตอบจึงหันกลับไปดู พบแก่นยืนยิ้มเห็นฟันหรอห่างหลายเมตร เท่านั้นเองมือที่จับแฮนด์ก็ส่ายไปมา ชั่วครู่จักรยานคันเก่าของแก่นก็ล้มครึบ เด็กหญิงล้มลงหน้าทิ่มไปวัดพื้นสนามหญ้าภายในโรงเรียนลั่น

“แก่นบ้า เจ็บนะ เขาจะฟ้องตายาย” แก่นรีบวิ่งเข้าประคองบูเก้ร้องไห้สะอึกสะอื้นมองดูเข่าและข้อศอกตัวเองซึ่งมีลอยถลอกเลือดซึมออกมา

“ขอโทษนะบูเก้ เจ็บมากมั้ย”

“นายลองทำรถล้มดูบ้างสิ” เด็กหญิงตอบเสียงเครือหน้าคว่ำ

“ถ้าเธอไม่หันมามองเรามันก็ไม่ล้มหรอก”

“ก็เราถามนายไม่ตอบทำไมล่ะ”

“เราขอโทษอีกครั้งละกันนะ ไป..เราจะพากลับบ้าน ป่านนี้พ่อกับแม่เธอเป็นห่วงแย่แล้ว” เด็กหญิงพยักหน้าเดินกระย่องกระแย่งซ้อนท้ายจักรยาน โดยมีแก่นเป็นสารถีปั่นไปตามทางอย่างไม่รีบร้อน เพราะอยากให้บูเก้หยุดร้องไห้ก่อนถึงบ้าน

“เธอจะบอกคนที่บ้านมั้ยว่ารถล้ม”

“บอกสิ..ทั้งเข่าทั้งแขนเราเยินขนาดนี้ไม่บอกก็เห็นอยู่ดีแหละ”

“มันก็จริงของเธอเนาะ เฮ้อ.งั้นต่อไปนี้พ่อแม่เธอคงไม่ให้ออกมาเล่นกับเราอีกแน่ๆ”

“ไม่หรอก เราจะบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เจตนา” เด็กหญิงพูดอย่างเด็กแก่แดด

“จริงนะ”

“จริง แล้วพรุ่งนี้แก่นมารับเราอีกนะ”

“ได้..แต่วันนี้เราไม่เข้าไปในบ้านเธอหรอกนะ กลัวตากับยายเธอด่า”

“ได้ ไม่มีปัญหา”

เด็กหญิงลงจากรถเดินโขยกเขยกเข้าบ้าน บุษบาซึ่งนั่งหันหน้ามาทางประตูเห็นก่อนใครก็รีบเข้าหาบุตรสาวตากวาดมองไปทั่วร่าง

“บูเก้ เป็นอะไรลูก” เสียงและสีหน้าของภรรยาทำให้การันต์ซึ่งนั่งโขลกหมากรุกอยู่กับพ่อตาลุก

พรวดจนกระดานหมากกรุกคว่ำไม่เป็นท่า พ่อตาถึงกับโวยลั่น

“อ้าว..เฮ้ย พอทำท่าจะแพ้ ก็ล้มกระดานเลยเหรอวะ” การันต์ไม่ตอบลุกได้ก็ตรงไปจับตัวบุตรสาวก้มลงมองเข่า ส่วนบุษบาลูบคลำมือไม้ที่มีลอยถลอกด้วยความเป็นห่วง

“หนูไม่เป็นไร หัดปั่นจักรยาน มันล้ม” บิดาพยักหน้าเข้าใจ แต่บุษบาไม่เห็นด้วย

“ทีหน้าทีหลังไม่เอานะลูก เกิดเจ็บหนักกว่านี้จะทำยังไง”

“คุณก้อ กะอีแค่จักรยานล้ม ไม่หนักหนาสาหัสหรอก ใช่มั้ยลูก”

“ค่ะ..พรุ่งนี้บูเก้จะไปหัดต่อ”

“พอเลย แค่นี้ยังเจ็บไม่พออีกเหรอ”

“ไม่เจ็บสักหน่อย”

“ยังจะมาเถียง มานี่เลย..แม่จะพาไปล้างแผลทายาให้” บุษบาจูงมือบุตรสาวตรงไปยังตู้ยา นายอำนวยมองตาปริบๆ และเมื่อเห็นลูกเขยไม่ยอมขยับจึงขวักมือเรียก

“เจ้ารันต์..มาต่อกันเถอะ” สิ้นเสียงพ่อตา ชายหนุ่มก็ก้าวเข้าไปตั้งตัวหมากรุกมาโขลกกันต่อ และเมื่อเสียงบูเก้ดังขึ้น สองชายต่างวัยก็จะหันไปมอง

“แม่..เบาๆ หน่อย หนูเจ็บนะ”

“ขนาดเจ็บพรุ่งนี้ยังคิดจะให้แก่นสอนอีกเหรอ”

“แม่ก็..การหัดปั่นจักรยานก็ถือเป็นวิชาความรู้อีกแขนงหนึ่ง”

“แขนงไหนอีกล่ะ” มารดาถามอย่างหมั่นไส้ ส่วนบิดากับตาอำนวยหูพึ่งเมื่อได้ยินหลานสาวเริ่มเปิดฉากแล็คเชอร์มารดา

“ก็วิชาความรู้นอกห้องเรียนไง วิชาแขนงนี้เรียนรู้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักจบ เพราะชีวิตคนเรามักมีเรื่องแปลกๆ อยู่เรื่อย เข้าใจยังแม่” มารดาอ้าปากค้างไม่ทันตอบ คุณสามีซึ่งกำลังโขลกหมากรุกก็ร้องถาม

“เก่งนี่ลูก ใครสอนล่ะ”

“ครูที่โรงเรียนสิพ่อ เขาว่าตอนนี้กำลังเน้นเรื่องการเรียนการสอนกับเหตุการณ์จริง เช่นการปลูกต้นไม้แก้ภาวะโลกร้อน ใช้กระดาษรีไซค์เคิ้ล ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ปิดไฟเมื่อไม่ใช้แล้ว อะไรทำนองเนี่ย อ้อ..ครูยังสอนให้ประหยัดน้ำด้วยนะ” ตาอำนวยกับลูกเขยสบตากันยิ้มๆ ส่วนคุณแม่ได้แต่พยักหน้า

“เรื่องนี้แม่ก็สอนบูเก้เหมือนกัน แต่แม่อยากรู้ว่ามันเกี่ยวอะไรกับการหัดจักรยานของหนู”

“ก็จักรยานมันไม่ต้องเติมน้ำมันนี่จ้ะ ถ้าหนูปั่นจักรยานได้ ต่อไปแม่ก็ไม่ต้องขับมอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาด เพราะบูเก้จะปั่นพาแม่ซ้อนท้ายไปซื้อของเอง”

“เออๆ..หลานตาคิดดี ใช้ได้ๆ แม่เรายังคิดไม่ทันเลย ตาอนุมัติ พรุ่งนี้ไปเรียนกับเจ้าแก่นต่อได้”

บุษบาหันขวับตาขุ่นใส่บิดา แต่ไม่กล้าค้าน

***************************

บูเก้อยู่บ้านสวนของตายายหลายวันอย่างมีความสุข กระทั่งหมดวันหยุดพักทั้งสามจึงลากลับ

“บูเก้แล้วกลับมาเยี่ยมตากับยายอีกนะ”

“จ้ะยาย..มาคราวหน้าบูเก้จะซื้อจักรยานมาทิ้งไว้ที่นี่ จะได้ปั่นพายายไปวัด” เด็กหญิงร้องบอก คุณยายหน้าเสียนึกสยองกลัวไม่ได้ตายก่อนเวลาอันควร

“ไม่ต้องหรอกลูก”

“ทำไมล่ะยาย” เด็กหญิงถามสีหน้าสงสัย

“ก็ขายายไม่ค่อยดี ไม่อยากเป็นแบบเจ้าแก่นที่ถลอกปอกเปิกเพราะบูเก้ปั่นไปล้มเมื่อวานนะสิ” ตาอำนวยยิ้มเมื่อยายกานดาพูดถึงวีรกรรมหลานสาว

“แต่กว่าจะอีกที หนูก็ปั่นเก่งแล้วนะยาย”

“ว่าแต่พ่อกับแม่เราเขาจะซื้อให้หรือเปล่าล่ะ” ตาอำนวยถาม เด็กหญิงหันไปหาบิดามารดา เห็นการันต์มองมายิ้มๆ แล้วก็พยักหน้า บูเก้จึงหันไปตอบตา

“ซื้อสิตา พ่อกับแม่ไม่ขัดขวางการเรียนรู้นอกห้องเรียนของบูเก้อยูแล้ว”

“บูเก้ลาตากับยายซะสิลูก จะกลับบ้านกันซะที บ่ายแล้วนะกว่าจะถึงก็ค่ำมืดพอดี” บุษบาเตือนเมื่อเด็กหญิงไม่มีทีท่าขยับ

กว่าสามชีวิตจะออกจากบ้านสวนก็ปาเข้าไปอีกครึ่งชั่วโมง ระหว่างทางเด็กหญิงพูดเป็นต่อยหอยกระทั่งเพลียจึงหลับไปเอง การันต์หันมาถามภรรยา

“ผมว่าแวะซื้อจักรยานให้ลูกก่อนเข้าบ้านดีมั้ยคุณ”

“อย่าเพิ่งเลย วันนี้ฉันเหนื่อย อยากพักผ่อน”

“ตามใจ” ทั้งสองนั่งเงียบมาอีกครู่ใหญ่บุษบาก็พูดขึ้น

“คุณค่ะ ฉันอยากพาลูกไปทำบุญ บอกตรงๆ ฉันไม่สบายใจเลยเรื่องที่หมอแขกทักวันนั้น”

“คุณก็..คิดมากไปได้ หมอดูมันก็คู่กับหมอเดานั่นแหละ อย่าเก็บมาใส่ใจเลย”

“แต่ถึงยังไงฉันก็อยากพาลูกไปทำบุญอยู่ดี”

“ผมไม่ขัดหรอก เอาไว้เสาร์หน้า ผมจะพาคุณกับยัยหนูไปเอง”

“ดีค่ะ”

วันรุ่งขึ้นชีวิตที่แสนจำเจของคนเมืองก็วนเวียนกลับมาอีกครั้ง บุษบารีบอาบน้ำให้เด็กหญิงก่อนจะส่งตัวให้แม่บ้านช่วยจัดการแต่งตัว ไม่นานสองสามีภรรยาก็พร้อมออกไปทำงาน ส่วนบูเก้มีรถโรงเรียนมารับถึงบ้าน ก่อนการันต์ออกไปทำงาน เด็กหญิงร้องถาม

“คุณพ่อขา วันนี้บูเก้จะได้จักรยานมั้ยคะ”

“ขอผลัดไปอีกสองสามวันนะ เอาไว้วันหยุดพ่อกับแม่จะพาไปเลือกด้วยกัน จะได้ถูกใจหนูไง”

“ก็ได้ค่ะ” เด็กหญิงรับคำอย่างง่ายดาย ทั้งที่ความจริงบุษบายังไม่อยากให้สามีซื้อรถให้บุตรสาวเพราะเห็นว่าแกยังเล็กเกินไป

กลางสัปดาห์ขณะที่บุษบากำลังทำงานเพลินๆ เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น

“คุณแม่น้องบูเก้ใช่มั้ยคะ”

“ใช่ค่ะ..เอ่อ..จากที่ไหนคะเนี่ย”

“ดิฉันโทรมาจากโรงเรียนน้องบูเก้ค่ะ”

“มีอะไรเหรอคะ”

“น้องบูเก้ไม่สบายค่ะ แกมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ดิฉันพาเข้าไปพักที่ห้องพยาบาลแล้ว ตอนนี้แกกำลังหลับ อยากให้ผู้ปกครองมารับเด็กไปดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ”

“ค่ะ ค่ะ..ดิฉันจะรีบไปเดี๋ยวนี้”

***********************

หลังจากวางสายบุษบาโทรหาสามีบอกข่าวเรื่องบุตรสาว และเย็นวันนั้นการันต์กลับถึงบ้านเร็วกว่าปกติ ทันทีที่เห็นแม่บ้านก็เอ่ยถาม

“บูเก้ล่ะ”

“อยู่ข้างบนกับคุณบุษค่ะ” ไม่ทันสิ้นเสียงร่างสูงของเขาก็เดินดิ่งไปที่บันได ไม่นานก็เข้ามาอยู่ในห้อง เห็นบุตรสาวนอนดูทีวีโดยมีภรรยาอยู่ข้างๆ ก็ถอนหายใจยาวออกมา

“ไง..ถูกหมอฉีดยากี่เข็ม”

“ไม่ฉีด แต่หมอให้ยามาทานค่ะคุณพ่อ” เด็กหญิงตอบพลางลุกขึ้นนิ่ง การันต์อ้าแขนสวมกอดร่างตุ้ยนุ้ยก้มลงหอมแก้มยุ้ยฟอดใหญ่

“แบบนี้ก็แสดงว่าหายป่วยแล้วสิ”

“ค่ะ ครูที่โรงเรียนแตกตื่นไปเอง บูเก้ไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย”

“งั้นพรุ่งนี้ก็ไปโรงเรียนได้แล้วใช่มั้ย” การันต์ถาม

“ค่ะคุณพ่อ”

“แต่แม่ว่าหยุดตามที่คุณหมอบอกก็ดีเหมือนกันนะ ตอนนี้หวัดสองพันเก้ากำลังระบาดอยู่ด้วย”

“แต่หนูไม่ได้เป็นนี่คะ”

“ถึงหนูไม่เป็น แต่เพื่อนที่เรียนห้องเดียวกันอาจเป็นก็ได้นี่ลูก”

“นั่นสิ เอาตามที่แม่เขาบอกแล้วกัน ครูเขาอนุญาตแล้วนี่ หนูเองก็ยังหอบมีน้ำมูกอยู่เลยไม่ใช่

เหรอ” เด็กหญิงหน้าหงิกเมื่อเจอบิดามารดาประสานเสียง

“ก็ได้ค่ะ”

“ดี..งั้นเดี๋ยวพ่อจะออกไปหาซื้อขนมกับการ์ตูนมาให้หนูดู จะได้ไม่เหงา” เด็กหญิงยิ้มออกเมื่อได้ยินบิดาพูดถึงของชอบ

หลังอาหารเย็นวันนั้นบุษบาเข้ามาดูแลลูกด้วยตัวเอง หลังจากเล่านิทานให้ฟังจนหลับสนิท นางก็ทอดตัวลงกอดร่างตุ้ยนุ้ยของบุตรสาวเอาไว้ มองดูใบหน้าอ่อนเยาว์นั้นอย่างแสนรัก ก้มลงจรดจมูกลงที่แก้มใส นึกขันตัวเองที่วิตกกังวลเกินเหตุทั้งที่ความจริงบูเก้ไม่ได้มีอาการหนักหนาสาหัสอะไร แต่อีกใจก็ค้านว่า

“นี่แหละหนา หัวอกของพ่อแม่ ใครไม่เจอกับตัว ไม่มีวันรู้หรอกว่ายามลูกเจ็บป่วย พ่อแม่ต้องทนทุกข์ทรมานขนาดไหน และหากเลือกได้ หล่อนและสามีขอเจ็บแทนซะเองยังจะดีซะกว่าให้เกิดกับดวงใจตัวน้อยๆ ในอ้อมแขน”

วันรุ่งขึ้นสองสามีภรรยาไปทำงานตามปกติ แต่กว่าจะออกจากบ้าน บุษบาสั่งแม่บ้านให้ดูแลบุตรสาวชนิดไม่ให้คลาดสายตาเลยทีเดียว

ขณะบุษบากำลังทำงานอยู่นั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ทันทีที่รับสายปลายทางก็ละล่ำละลักว่า

“คุณบุษค่ะ หนูบูเก้อาการไม่ดีเลยค่ะ”

“ดารินทร์..ยัยหนูเป็นยังไง”

“แกหอบ หายใจไม่ออกค่ะ”

“งั้นเหรอ รอเดี๋ยว ฉันจะรีบกลับเดี๋ยวนี้แหละ” หลังวางสายบุษบารีบเก็บงานบนโต๊ะมือไม้สั่นใจคอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใบหน้าขาวนวลซีดเผือดราวกับไร้เลือดฝาดหล่อเลี้ยง เมื่อเรียบร้อบก็ตรงไปลาเจ้านายแล้วออกจากที่นั่นทันที ระหว่างทางก็โทรบอกสามี

“คุณ...รีบกลับบ้านด่วนเลยนะคะ ยัยหนูไม่สบาย”

“เป็นอะไรมากหรือเปล่า”

“แกหอบ หายใจไม่ออกค่ะ”

“แล้ว..ทำไมไม่ให้ดารินทร์พาไปหมอ”

“เรื่องนี้แกตัดสินใจแทนเราไม่ได้หรอกค่ะ”

“คุณก็น่าจะสั่งแกไปนี่นา”

“เอ๊ะคุณนี่..มาว่าฉันทำไมเนี่ย”

“ขอโทษที ผมกำลังยุ่ง”

“คุณเห็นงานสำคัญกว่าลูกเหรอคะ” บุษบาถามเสียงดังราวตวาดทั้งที่ไม่เคยทำแบบนี้กับสามีมาก่อน

“ไม่ใช่ยังงั้น”

“งั้นก็เร็วเข้า ดารินทร์บอกว่าลูกอาการไม่ค่อยดีเลย”

“จ้ะๆ ผมจะรีบไปเดี๋ยวนี้เลย”

********************


ไม่นานสองสามีภรรยาก็กลับมาถึงบ้านด้วยสีหน้าตื่นตระหนกไม่แพ้กัน การันต์อุ้มร่างน้อยของบูเก้ซึ่งบัดนี้มีอาการหอบหายใจไม่สะวดกออกจากบ้านตรงไปที่รถ

สายตาของการันต์มองไปข้างหน้าอย่างตั้งอกตั้งใจ ขณะที่ภรรยาประคองบุตรสาวด้วยหัวใจจดจ่ออยากให้ร่างน้อยไปถึงมือหมอโดยเร็ว

“คุณ..ขับเร็วกว่านี้ไม่ได้หรือไง”

“ผมเร็วอยู่แล้ว คุณก็รู้นี่ว่ารถมันติด” คำตอบที่ได้รับทำให้บุษบาเงียบเสียง เพราะรู้ดีว่าถนน

เส้นวิภาวดีติดตลอดทั้งวันไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน หรือยามสายเช่นนี้

“อ้าว..เฮ้ย....” เสียงอุทานของสามีทำให้บุษบาเงยหน้าขึ้นถาม

“มีอะไรคะคุณ”

“เขาปิดถนน” บุษบาหน้าเสียบ่นออกมาดังๆ

“ทำไมต้องมาปิดเอาตอนนี้ด้วยนะ ”

“คงมีบุคคลสำคัญเดินทางไปทำธุระแถวนี้มั้ง เลยต้องอำนวยความสะดวกกันหน่อย”

“จะไปไหนมาไหนไม่มีใครว่าหรอก แต่ก็น่าจะแจ้งให้ประชาชนอย่างเราๆ รู้บ้าง แบบนี้ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ตายกลางทางกันพอดี” หล่อนกล่าวทั้งสีหน้าและน้ำเสียงบอกชัดว่าไม่พอใจ

“เดี๋ยวผมจะลงไปขอความกรุณาจากเจ้าหน้าที่ให้เราผ่าน คุณรออยู่บนรถนะ”

“ค่ะๆ” การันต์เปิดประตูลงจากรถไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ชั่วครู่ก็กลับมาสีหน้าผิดหวัง

“เขาว่าไงบ้างคะ” บุษบาถาม

“เขาไม่อนญาต ตอนนี้กำลังเคลียร์เส้นทางให้บุคคลสำคัญผ่าน”

“บุคคลสำคัญ แล้วชีวิตลูกเราไม่สำคัญหรือไง” หล่อนถามน้ำตาคลอ การันต์ถอนหายใจยาว ตอบคำถามภรรยาไม่ได้เช่นกัน

“คุณบอกเหตุผลเขาหรือเปล่าว่าลูกเราป่วยหนัก”

“บอกแล้ว แต่เขาไม่อนุญาต” การันต์ยืนกรานเสียงดังกว่าเมื่อครู่ เพราะยังฉุนเจ้าหน้าที่ไม่หาย บุษบาพ่นลมหายใจยาวออกมากล่าวเสียงเครือ

“เขาจะรู้มั้ยเนี่ยว่าการเดินทาง การปิดถนนโดยไม่แจ้งให้ชาวบ้านชาวเมืองเขารู้ล่วงหน้า มันทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนขนาดไหน”

“ใจเย็นน่าคุณ..เราวกไปกลับรถหน้าสโมสรตำรวจก็ได้”

“แต่มันเสียเวลาคุณก็รู้นี่ ดูลูกเราสิ อาการแกแย่ลง เกิดเป็นอะไรขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ”

“ลูกเราต้องไม่เป็นอะไร คุณเชื่อผมเถอะ” การันต์เลี้ยวรถกลับไปหน้าสโมสรตำรวจตรงข้ามโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งเป็นทางเข้ากองทัพอากาศฝั่งถนนพหลโยธินเพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐ แต่ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ก็ปิดทางสัญจรส่งผลให้รถติดยาวเหยียด

“คุณเราจะทำยังไงดี” บุษบาถามท่าทีร้อนรน ยิ่งเมื่อก้มลงเห็นอาการบุตรสาวก็ยิ่งเครียดหนัก

“คุณนะคุณ..ไม่น่าพามาทางนี้เลย น่าจะเลี้ยวซ้ายเข้ารามอินทรา แล้วตรงเข้าสะพานใหม่...” ภรรยากล่าวไม่ทันขาดคำ สามีก็เสียงเขียว เพราะเครียดกับหนทางข้างหน้า

“แล้วผมจะรู้มั้ยเล่าว่าเขาจะปิดถนนเส้นนี้” บุษบาหน้าเสีย เงียบกริบมีเพียงน้ำตาเท่านั้นก็ไหลออกมาเป็นทาง

และเมื่อก้มลงเห็นบุตรสาวมีอาการหอบถี่ๆ นางก็ยิ่งทุรนทุราย หากเลือกได้ก็อยากเป็นแทนแกซะเดียวั้น การันต์มองกระจกเห็นภรรยาน้ำตานองก็สำนึกได้ว่าไม่ควรพูดจาแบบนั้น

“คุณ..ใจเย็นๆ เถอะ อีกเดี๋ยวเขาคงเปิดถนน”

“กว่าจะเปิดลูกเรามิแย่เหรอคุณ” ชายหนุ่มทำเป็นไม่ได้ยินเสียง มองไปยังเบื้องหน้า เห็นรถติดยาวเหยียดเป็นแพ

“ทำไมนะ ทำไมถึงเป็นแบบนี้”

สองสามีภรรยานั่งอยู่ในรถอย่างกระสับกระส่าย ทำได้แค่ภาวนาขอให้บุคคลสำคัญท่านนั้นเดินทางผ่านไปโดยเร็ว เพื่อเขาจะได้พาเจ้าหญิงตัวน้อยยอดดวงใจของครอบครัวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

************************

กว่าจะถึงโรงพยาบาลเวลาก็ล่วงเลยไปมาก สองสามีภรรยามองดูภาพเจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความกระวนกระวาน กระทั่งร่างเด็กหญิงถูกนำเข้าไปในห้องฉุกเฉิน

“หมอครับ ลูกผมเป็นยังไงบ้าง” การันต์ละล่ำละลักถามเมื่อแพทย์เปิดประตูออกมา

“สมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด”

“แล้วพอมีทางรักษาหายมั้ยคะหมอ” บุษบาถาม

“แกมีอาการติดเชื้อ เลือดออกในสมอง แต่ทางโรงพยาบาลจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ” บุษบาแทบล้มทั้งยืนขณะที่สามีหน้าเซีดเผือด

“แกจะหายเป็นปกติใช่มั้ยคะคุณหมอ”

“ผมก็คิดแบบนั้น ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนหรือเลือดออกมาอีก น่าเสียดายเด็กมาถึงมือหมอช้าไปหน่อย ถ้ามาเร็วกว่านี้อาการคงไม่หนักหนาสาหัสเป็นตายเท่ากันแบบนี้”

“คุณหมอ คุณหมอ คุณหมอต้องช่วยลูกผมให้ได้นะครับ”

“เราจะพยายามเต็มที่ แต่ก็อยากให้ญาติทำใจไว้บ้าง..”ไม่ทันสิ้นเสียงบุษบาก็กรดลั่น

“ไม่จริง เป็นไปไม่ได้ ลูกสาวดิฉันต้องไม่เป็นอะไร แกยังเด็ก ยังมีอนาคต แกอยากเป็นหมอรักษาดิฉัน คุณหมอต้องช่วยแกให้ได้นะคะ ได้โปรดเถอะ” บุษบากล่าวเสียงขาดๆ หายๆ ราวกับหัวใจใกล้แตกสลาย

“ทางเราพยายามเต็มที่แน่ครับ”

“ช่วยลูกฉันด้วยนะคะ คุณหมอ ช่วยลูกฉันด้วย”

“ครับๆ ทางเราพยายามเต็มที่อยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ญาติเตรียมทำใจไว้บ้าง เด็กมาถึงมือหมอช้า มาก....” บุษบาฟังหูซ้ายทะลุหูขวา ยิ่งเห็นสภาพบุตรสาวไม่ดีขึ้น ก็ยิ่งใจเสีย นางร้องไห้โฮ แทบจะทรุดลงไปกองกับพื้น หากไม่มีแขนทั้งสองข้างของสามีประคับประคองเอาไว้

นายแพทย์ท่านนั้นมองอย่างเห็นใจ เข้าใจ ไม่มีแพทย์คนไหนที่ไม่อยากช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่ในเมื่อเวลามีอยู่อย่างจำกัดก็สุดวิสัยจะแก้ไข จึงได้แต่เดินห่างออกไป

“คุณ..ตอบฉันสิว่าลูกเราจะต้องไม่เป็นอะไร” หล่อนเค้นเสียงออกมาจากลำคอ มือบางจับแขนสามีบีบแน่น

“บุษ...บุษ อย่าทำแบบนี้สิ หมอบอกแล้วไงว่าจะพยายามช่วยเต็มที่ คุณต้องเข้มแข็งนะ” การันต์เตือนสติ ทั้งที่ขณะนี้เขาเองก็แทบยืนไม่อยู่เช่นกัน

ไม่นานร่างเด็กน้อยก็ถูกเข็นออกมาจากห้องฉุกเฉินไปไว้ที่เตียงผู้ป่วย สองสามีภรรยานั่งเฝ้า

บุตรสาวลืมสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างรอบกาย ใจจดจ่ออยู่แต่ร่างน้อยตรงหน้า

“บู้เก้ ลืมตาขึ้นมาพูดกับแม่สิลูก บูเก้” บุษบาส่งเสียงเรียกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีปฏิกริยาตอบสนอง

การันต์ตาแดงกล่ำมือข้างหนึ่งจับมือน้อยๆ กุมไว้ ราวกับกลัวว่าหากเขาปล่อยมือ ร่างที่นอนอยู่นี้จะอันตรธานหายไปกับอากาศธาตุ

เวลาผ่านไปนานทั้งสองยังคงนั่งอยู่อย่างนั้น กระทั่งตอนเกือบตีหนึ่งร่างที่นอนอยู่บนเตียงก็สะดุ้งเฮือกหลายครั้ง สองสามีภรรยาเบิกตากว้าง บุษบาร้องลั่น

“คุณหมอๆ ช่วยด้วย ช่วยลูกดิฉันด้วย” ชั่วครู่ทั้งแพทย์พยาบาลก็กรูกันมาที่เตียงของบูเก้

“ญาติออกห่างก่อนนะคะ ขอให้หมอทำงานหน่อย” พยาบาลนางหนึ่งสั่ง

“คุณหมอค่ะ...เด็กหยุดหายใจแล้วคะ” สตรีในชุดขาวอีกคนร้องบอก

“ปั๊มหัวใจเร็ว” สิ้นเสียง ทั้งแพทย์พยาบาลต่างช่วยกันทำหน้าที่ยื้อชีวิตเด็กหญิงด้วยการปั๊มหัวใจจนสุดความสามารถ

สองสามีภรรยามองแพทย์ปั๊มหัวใจลูกแล้วหัวใจพ่อแม่แทบแหลกสบาย ไม่อยากเชื่อว่าเด็กตัวแค่นี้จะต้องมามีสภาพทุกข์ทรมานอย่างที่เห็น

“บูเก้..บูเก้ ฟื้นสิลูก ฟื้นสิ” บุษบาร่ำไห้ คร่ำครวญโดยไม่สนใจสายตาผู้คนที่มองมา ไม่นานร่างเด็กหญิงก็สะดุ้ง ลมหายใจกลับคืนมาอีกครั้ง บุษบาจับมือสามีแน่จนชื้นเหงื่อ

“เด็กหายใจแล้ว” พยาบาลนางหนึ่งร้องบอกแล้วพากันถอนหายใจยาวโล่งอกเมื่อช่วยยื้อชีวิตเด็กหญิงจากมือมัจจุราชไว้ได้ บุษบาถลาเข้าไปหา ถามเสียงเครือ

“คุณหมอ..ลูกดิฉัน..”

“แกฟื้นแล้ว แต่..”

“แต่อะไรค่ะหมอ”

“เด็กคงมีเลือดออกในสมอง เลยทำให้อาการทรุดหนัก”

“แล้วพอมีทางจะช่วยแกได้มั้ยครับ” การันต์ถาม นายแพทย์ท่านนั้นสีหน้าเครียดกล่าวเสียงอ่อน

“เออ..คือ ตอนนี้ร่างกายเด็กไม่มีอาการตอบสนอง แต่ที่ยังหายใจอยู่ได้ก็เพราะมีเครื่องช่วยหายใจทำให้ยืดชีวิตไปได้อีกสักระยะ”

“แล้วแกจะฟื้นขึ้นมาเป็นปกติมั้ยครับ” นายแพทย์ท่านนั้นส่ายหน้า สองสามีภรรยาหน้าซีดขาวราวกระดาษ นายแพทย์ท่านนั้นกล่าวต่ออีกว่า

“แต่การยื้อชีวิตแกด้วยวิธีนี้ หมอไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เด็กทรมาน แล้วญาติพี่น้องที่เฝ้าดูอาการก็รอคอยอย่างไม่มีความหวัง ผมคิดว่าคุณคงเข้าใจ ” บุษบาร่ำไห้ถลาเข้ากอดร่างบุตรสาว การันต์รีบตามไปคว้าร่างบางมาแนบอก ปล่อยให้หล่อนสะอึกสะอื้นจนเสื้อเชิ้ตสีขาวเปียกชื้นไปด้วย้น้ำตาของภรรยา

เขาเองก็ไม่อยากให้ลูกจากไปแบบนี้ แต่หากยื้อยุดชีวิตเอาไว้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ สู้ให้แกไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกลับไปอยู่ในภพภูมิใหม่ที่ดีกว่า

“คุณค่ะ ฉันไม่อยากเห็นลูกอยู่ในสภาพนี้” หล่อนเงยหน้าขึ้นกล่าวกับเขาทั้งน้ำตา การันต์พยักหน้ากอดร่างบางไว้แน่น

“ผมเองก็เหมือนกัน” บุษบามองสามีผ่านม่านน้ำตาและเสียงสะอื้น เห็นใบหน้าเขาแดงกล่ำ

“แล้วเราจะทำยังไงดี”

“บุษ..ผมว่าถ้าไม่มีวิธีช่วยเหลือแกได้จริงๆ ถ้าแกหยุดหายใจอีกครั้ง ไม่ต้องให้หมอปั๊มหัวใจช่วยชีวิตแกอีกแล้ว..” การันต์พูดไม่ทันขาดคำ บุษบาก็ร้องลั่น

“คุณพูดบ้าอะไรเนี่ย คุณอยากให้ลูกตายเหรอ”

“ไม่มีใครอยากให้แกตายหรอก แต่ถ้าจะปล่อยให้แกทนทุกข์ทรมานอยู่ได้เพราะเครื่องช่วยหายใจ ทั้งที่สมองตายไปแล้วละก้อ สู้ปล่อยแกไปซะยังจะดีซะกว่า” การันต์กล่าวเสียงเครือ บุษบาร้องให้โฮกอดเขาไว้แน่น

“ไม่..ฉันทำใจไม่ได้”

“คุณต้องทำได้สิ คุณคงไม่อยากเห็นลูกต้องทนทุกข์ทรมานถูกเขาปั้มหัวใจซ้ำๆ ซากๆ แบบนี้หรอกนะ มันเจ็บปวดมากนะบุษ”

“แต่ฉันไม่อยากเสียลูกไป”

“ผมเองก็ไม่อยากเสีย แต่ตอนนี้ร่างกายแกไม่ตอบสนองแล้ว คุณอยากให้แกกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในสภาพนี้ คุณพอใจยังงั้นเหรอ” บุษบาส่ายหน้า น้ำตาทะลักทลายออกปิ่มว่าจะขาดใจ

เขาปล่อยให้บุษบาอยู่อย่างนั้นพักใหญ่ หล่อนพยายามกล้ำกลืนฝืนทนสูดลมหายใจยาวอย่างคนตัดสินใจเด็ดขาด กล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงขาดๆ หายๆ ว่า

“ค่ะ ฉันตกลง ฉันเองก็ไม่อยากเห็นแกทรมานเหมือนกัน”

ทั้งสองนั่งกุมมือเด็กหญิงไว้คนละข้างบุษบาตาแดงช้ำ มองดูร่างน้อยแทบจะทุกวินาทีราวกับจะพิมพ์ภาพนั้นเอาไว้ชั่วนิรันทร์

“คุณค่ะ ลูกของเรา..”

“ผมเชื่อว่าแกต้องไปดี” บุษบาพยักหน้า

“ลูกแม่ เกิดชาติหน้าฉันท์ใด ขอให้เราสามคนพ่อแม่ลูกกลับมาเป็นครอบครัวเดียวกันอีกครั้งนะ แล้วขอให้ลูกของแม่มีอายุยืนยาวอย่าเป็นเหมือนกับชาตินี้เลยนะลูก” บุษบาพร่ำบ่นทั้งน้ำตา การันต์ได้แต่มองด้วยลำคอตีบตันไม่สามารถเอ่ยถ้อยคำใดๆ ออกมาได้

เกือบตีสามเด็กหญิงบูเก้ก็จากไปอย่างสงบ ท่ามกลางสายตาสองคู่ที่เฝ้ามองเลือดเนื้อเชื้อไขของตนจากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยหัวใจแหลกสลาย

ถึงแม้จะพยายามทำใจให้ยอมรับสภาพ หากแต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจาก บุษบาถึงเป็นลมแน่นิ่งอยู่ในอ้อมแขนของสามี การันต์หน้าตาแดงกล่ำทำอะไรไม่ถูกราวกับสมองทุกส่วนไม่สั่งงาน ในอกมีแต่เสียงพร่ำเรียกชื่อบุตรสาว อยากให้เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพียงความฝัน และเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาจะได้พบลูกของเขาวิ่งเล่นอยู่ในบ้าน ส่งเสียงเรียกคนนั้นทีคนนี้ทีเหมือนครั้งอดีต

********************

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งคู่อดคิดไม่ได้ว่าหากวันนั้นไม่มีการปิดถนน เจ้าหญิงตัวน้อยๆ ของเขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ บูเก้เป็นทั้งความหวัง ความฝันเป็นอนาคตอันสดใส ทว่าบัดนี้ ชีวิตน้อยๆ ซึ่งเปรียบ

เสมือนดอกไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล แต่ต้องมีอันมอดไหม้แหลกสลายจากโลกใบนี้ไป ทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาอันควร

ช่อดอกไม้น้อย

เรียงร้อยสายใจ
ชีวิตเยาว์วัย

เจ้าจากไปไม่กลับคืน
ช่อดอกไม้หม่น

ปลุกคนลุกตื่น
ร่วมรับรู้ สะอื้น

ค่ำคืนยังยาวนาน
ช่อดอกไม้นิด

ถูกตัดสิทธิ์ปิดทางผ่าน
ดอกไม้ต้องทรมาน

ด้วยชั่วด้านของบ้านใด
ช่อดอกไม้นิ่ง

เปิดความจริงที่ยิ่งใหญ่
เหตุเกิด ณ เมืองไทย

กระแทกไหวใจหลายคน
ช่อดอกไม้บาน

เปิดตำนานการเริ่มต้น
ว่าคนไทยไม่จำนน

เรียกสิทธิ์ตนให้คืนมา
ช่อดอกไม้บริสุทธิ์

เรื่อเรืองรุดไปข้างหน้า
หอมสะเทือนเพื่อเตือนฟ้า

หยุดมายา ฆ่าดอกไม้!
แด่...ช่อดอกไม้น้องบูเก้
เสียงกล่อมเห่ สงบ ไสว

ช่อดอกไม้วาง ณ กลางใจ
มาเถอะไท . . ไปส่งน้อง


-บทกลอนจาก กวีนิรนาม คัดลอกมาจากอินเทอร์เน็ท “ฟ้าเดียวกัน”

ถึงแม้เจ้าหญิงตัวน้อยๆ ซึ่งมีชีวิตที่หอมหวานจะจากไปแล้วก็ตาม..แต่ดอกได้ดอกนี้จะอยู่กลางใจของการันต์และบุษบารวมถึงญาติพี่น้องของแกตลอกไป

ครอบครัวอันแสนสุขของการันต์ บัดนี้เหลือเพียงบรรยากาศที่แสนเศร้าสลด ปู่ย่า ตายายของเด็กหญิงมาร่วมพิธีส่งหลานสาวคนเดียวเป็นครั้งสุดท้าย โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าบูเก้จะทิ้งโลกอันแสนศิวิไลน์ใบนี้ไปด้วยวัยเพียง 6 ขวบ

ความสะดวกสบายและถืออภิสิทธิ์ชนของคนบางกลุ่มในการเดินทางโดยการปิดถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรผ่านไปมา บางครั้งอาจส่งผลกระทบกับใครบางคนหรือหลายคนอย่างใหญ่หลวง

วันนั้นหากเจ้าหน้าที่ยอมให้การันต์นำพาหนะของตนผ่านไปเพื่อนำบุตรสาวส่งโรงพยาบาล โศกนาฎกรรมครั้งนี้ก็อาจไม่เกิดขึ้น ดอกบูเก้ดอกนี้ก็อาจจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกเพื่อเป็นความหวัง ความฝันและเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของบุษบาและการันต์อีกนานเท่านาน


**************************

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker