หมดสภาพ-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมานั่งแถลงข่าวที่ร.11เมื่อวันจันทร์ที่19เม.ย.ด้วยสีหน้าอิดโรยหมดสภาพ โดยยังอ้างว่าจะจัดการกับผู้เรียกร้องให้เขายุบสภาอย่างเด็ดขาด หลัง"คุณพ่อพันธมิตร"ผู้กรุยทางให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งออกมาขีดเส้นตาย 7 วัน (ภาพข่าว:รอยเตอร์)
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
19 เมษายน 2553
ภารกิจนี้ห้ามล้มเหลวจะสูญเสียซัก 500 ชีวิตยอมก็ต้อง
นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมราชประสงค์ช่วงหัวค่ำวันจันทร์ที่ 19 เมษายน กล่าวอ้างว่า จากการที่ พล.อ.อนุพงษ์ นัดผู้ใต้บังคับบัญชาประชุมในเวลา 13.00 น.นั้น เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาว่าเป็นการประชุมเพื่อจัดการกับกลุ่มเสื้อแดง จึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 23 เมษายน แต่จริงๆ แล้ว ประชุมไปแล้วเมื่อเวลา 19.00 น.ที่ผ่านมา และได้อ้างว่านายทหารแตงโมได้บันทึกการประชุมทั้งหมด 9 ข้อ 4 ขั้นตอน ได้แก่
1.ให้ทุกอย่างจบภายใน 7 วัน เริ่มนับจากวันที่ 19 เมษายน เป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่ากลุ่มพันธมิตรที่ปิดสนามบินแต่กลับไม่มีการดำเนินคดีใดๆ และยังยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลจัดการเสื้อแดงภายใน 7 วัน ไม่งั้นจะจัดการเอง แต่ พล.อ.อนุพงษ์รับข้อเสนอพันธมิตรมาดำเนินการทันที
2.กำลังพลที่ใช้ มาจาก พล.ม.2 พล.1 รอ. พล ร.9 และ พล.ร.2 รอ. เป็นกองหนุน
3.ให้พัฒนาแผนทุกวัน โดยประชุม 09.00 น. และ 19.00 น. ของทุกวัน
4.ถอนกำลังทหารออกจากทำเนียบรัฐบาล ให้เหลือ 8 กองร้อย จากเดิม 24 กองร้อย เพื่อมาทำหน้าที่ปราบปรามผู้ชุมนุม
5.แจกจ่ายปืนลูกซอง กองพลละ 600 กระบอก
6.กระสุนยางกองพลละ 18,000 นัด และกระสุนลูกซองปราย ซึ่งสามารถฆ่าคนได้ ไม่ทราบจำนวน แต่คงมีไม่อั้น
7.ขณะนี้ทุกวันให้กำลังพลไปฝึกซ้อมยิงปืนที่กองพันทหารม้าที่ 3 เกียกกาย
8.จัดกำลังพลนายทหาร หรือนายสิบฝีมือดี กองพลละ 20 นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบพร้อมปืน เอ็ม 16 เอ 2 หรืออาวุธตามถนัด แฝงตัวเข้าชุมนุมในวันล้อมปราบ
9.ภารกิจนี้ห้ามล้มเหลว กระสุนจริงและระเบิดมีพร้อม
อ้างสูญเสีย500ชีวิตก็ต้องยอม
นายจตุพรกล่าวว่า ส่วน 4 ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามแผน คือ
1.ปิดสื่อทั้งหมด รวมเว็บไซต์ที่เป็นของคนเสื้อแดง ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงสื่อขั้นรุนแรงสุด หลังจากปิดทีวี วิทยุ เว็บไซต์ และล่าสุดจะเป็นการปิดการส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) เพราะได้รับรายงานว่า มีการติดต่อไปยังเอไอเอส ดีแทค และทรู ให้งดบริการส่งข้อความข่าวทางมือถือ ทั้งที่เป็นข่าวของความจริงวันนี้ นสพ.โลกวันนี้ และดีสเตชั่น ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ แต่ถ้าไม่เห็นข้อความ แสดงว่าสัญญาณเริ่มปราบกำลังจะเริ่มขึ้น
2.จับแกนนำ หรือทำร้ายแกนนำ ทั้งที่เป็นการจับเป็นและจับตาย
3.สลายผู้ชุมนุม
4.สร้างความชอบธรรมด้วยการออกประกาศทางสื่อทุกชนิด สรุปว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้องทุกอย่าง
ซึ่งในที่ประชุมมีการพูดว่า จะสูญเสียอีกซัก 500 ชีวิตก็ต้องยอม ดังนั้น ในช่วงการชุมนุมของเสื้อแดง 7 วันจากนี้ ถือว่าเป็น 7 วันอันตรายจริงๆ เพราะจะถูกสลายได้ทุกวัน
"ตอนรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย พันธมิตรยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ตั้งพลเอกอนุพงษ์ให้จัดการแต่พลเอกอนุพงษ์เข้าเกียร์ว่าง อ้างเป็นเรื่องการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง แต่คราวนี้ไม่ใช่แล้ว เป็นแผนโหดเหี้ยมอำมหิต"นายจตุพรปราศรัยกล่าวหา และเตือนว่าที่คนคิดว่าพลเอกอนุพงษ์จะเกียร์ว่างเหมือนตอนพันธมิตรชุมนุมนั้นไม่จริงแน่ๆ
ยื่นยูเอ็นขอกำลังสันติภาพช่วย
ขณะที่ดร.จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการทหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง เดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อยื่นหนังสือให้ช่วยจัดทีมมาสังเกตการณ์การชุมนุมเพื่อยืนยันว่าชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย พร้อมกับขอให้กองกำลังสันติภาพเข้ามาช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย
NGO-นักกิจกรรมกดดันหยุดปราบปรามคนเสื้อแดง คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนทุกสี
ขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO) และนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเรียกร้องให้คนไทยและทั่วโลกกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์หยุดปราบปรามคนเสื้อแดง คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนทุกสี ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
วิกฤตแห่งความรุนแรงอาจจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งในการเมืองไทย ณ เวลานี้ เนื่องจากว่า ขณะนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนายสรรเสริญ แก้วกำเหนิด ได้แถลงถึงนโยบายของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่จะดำเนินการแข็งกร้าวเฉียบขาดมากขึ้น ประสานกับการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายต่างๆ ได้สนับสนุนรัฐบาลให้ปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงที่ต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ อสิงหา และปราศจากอาวุธ
เราในฐานะส่วนหนึ่งขององค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆ ข้างล่าง มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนคนไทยทุกสีและทั่วโลก มีความคิดเห็นดังนี้
1 ประชาชนคนไทยทุกสีและทั่วโลกร่วมกันเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องหยุดนโยบายปราบปรามประชาชนโดยทันที เพราะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามจนยากประสานรอยร้าว และอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ทุกส่วนไม่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้นโดยใช่เหตุ
2 สังคมไทยเคยมีบทเรียนการปราบปรามประชาชนมาหลายครั้ง โดยเฉพาะการล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้ประชาชนต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ กว่าจะทำให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบใช้เวลานานหลายปี จนกระทั่งรัฐบาลได้ออกนโยบาย 66/23 และสังคมไทยก็เห็นพ้องต้องกันมาแล้วว่าต้องเปิดแนวทางการเมืองอย่างสันติวิธี ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน ให้มีระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมในโลกอารยะมากกว่าการนำไปสู่การต่อสู้กันด้วยอาวุธของประชาชนเมื่อไม่มีทางเลือก
3 ประชาชนคนไทยทุกสีและทั่วโลกร่วมกันกดดันให้รัฐต้องหยุดการใช้สื่อต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อตอกย้ำการสร้างภาพใส่ร้ายป้ายสีว่าคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนไทยมีความรักชาติรักประเทศเหมือนคนไทยทุกคนว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่รักสถาบัน เหมือนกรณีก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพื่ออ้างความชอบธรรมในการปราบปรามคนเสื้อแดง
4 ท่ามกลางความขัดแย้งที่หลายฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกันนั้น วิถีการแก้ไขปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยนั้น นายกรัฐมนตรีควรยุบสภา เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าสีแดงหรือสีใดๆ ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยทุกกลุ่มทุกสีต้องยอมรับผลการเลือกตั้งตามกติกาในระบอบประชาธิปไตย
5 การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกมีแต่สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมากขึ้นเราขอให้ประชาชนคนไทยทุกสีและทั่วโลกร่วมกันคัดค้านต่อต้านถ้าหากมีใครคิดฉวยโอกาสกระทำการรัฐประหาร และขอเรียกร้องให้ทหารชั้นผู้น้อยผู้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารต้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบธรรมโดยทันที
ลงนามโดย
1. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
2. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน (คอซ.)
3. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)
4. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย
5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
6. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
7. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี
8. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
9. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์
10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี
11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร
12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ
13. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น
15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ
16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม
17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร
18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
19. แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)
20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก
22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)
23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)
24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย
25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.
26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด
28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
29.กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้