หากแม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ยังออกมากล่าว
"ต้องกลับไปที่การเมืองและจบที่นั่น มันต้องยุบ มันต้องจบด้วยการยุบสภา ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ต้องไปเจรจากัน"
แสดงว่า "การยุบสภา" กำลังกลายเป็น "ทางออก"
หากสรุปตามหลักการของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ต้องว่า ปัญหาอันเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นปัญหาทางการเมืองก็ต้องใช้กระบวนการทางการเมืองในการแก้ไข
คล้ายกับเป็นการเตือนฝ่ายการเมืองนิ่มๆ จากฝ่ายทหาร
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าข้อเสนอของนปช.แดงทั้งแผ่นดินในเรื่องยุบสภา ซึ่งเคยถูกปฏิเสธอย่างเฉียบขาด กลับพลิกสถานะขึ้นมาเป็นกระแส
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ถูกปัดถูกปฏิเสธ
เหตุปัจจัยอะไรทำให้ข้อเสนอในเรื่อง "ยุบสภา" อันมาจากนปช.แดงทั้งแผ่นดิน พลิกสถานะกลายเป็นกระแสในทางสังคม
เหตุปัจจัย 1 เนื่องแต่ความผิดพลาดของ "รัฐบาล"
แทนที่จะนำข้อเสนอจากนปช.แดงทั้งแผ่นดินมาพิจารณา หรือร่วมกันพิจารณาด้วยท่วงทำนองที่เปิดกว้าง ตรงกันข้าม รัฐบาลกลับใช้ท่าทีและมาตรการที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
เริ่มจากการประกาศและบังคับใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
ตามมาด้วยการประกาศและบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม
ในที่สุดก็ล้มเหลว ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเกือบ 1 พัน และล้มตาย 16 ราย
เหตุปัจจัย 1 เนื่องแต่การเติบใหญ่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ในลักษณะอันเป็นขบวนการทางการเมือง
เป็นขบวนการทางการเมืองที่มีลักษณะจัดตั้งและมีพื้นฐานทางความคิดที่แข็งแกร่ง
จากสถานการณ์การใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 10 เมษายน จึงนำไปสู่แนวคิด 2 แนวคิดที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
แนวคิด 1 ผลักดันให้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
นั่นก็เห็นได้จาก ความพยายามที่จะยกระดับจากการประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการ ประกาศและบังคับใช้กฎอัยการศึก
อันเท่ากับแปรกรุงเทพมหานครให้เป็น "สมรภูมิ"
แนวคิด 1 คือ ความพยายามเคลื่อนไหวทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและแม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เรียกร้องให้นำเอาข้อเสนอในเรื่อง "การยุบสภา" มาพิจารณาอย่างจริงจัง
นั่นก็คือ นำเอา "การยุบสภา" มาเป็นหนทางออกของปัญหา
ความโน้มเอียงของรัฐบาลอาจเอนไปทางการนำมาตรการที่รุนแรงยิ่งขึ้นมาใช้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลและ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พยายามรั้งให้มีความรอบคอบและรัดกุม
นี่คือการปะทะระหว่างแนวคิด "การทหาร" กับแนวคิด "การเมือง"
ต้องยอมรับว่า ความโน้มเอียงที่ผ่านมาของรัฐบาล คือความโน้มเอียงทางด้านการทหาร
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับด้วยว่าความผิดพลาดและความล้มเหลวที่ผ่านมาก็คือ ความผิดพลาดและความล้มเหลวที่ใช้มาตรการการทหารนำการเมือง
แม้ว่ารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีพื้นฐานจากการเลือกตั้งก็ตาม