พรรคประชาธิปัตย์เคยรอดจากการถูกยุบพรรคมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ คราวนี้ไม่ทราบว่าจะรอดอีกหรือไม่? หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ แจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรค ในข้อหากระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง เรื่องเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ โพลีน 258 ล้านบาท และเงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท จาก กกต.
ถึงแม้ว่ามติ กกต.ที่ออกมาก่อนที่จะถึงวันที่ 20 เมษายน ที่กลุ่มคนเสื้อแดงขีดเส้นเอาไว้ อาจเป็นกระบวนการที่ยาวนาน ใช้ เวลาหลายเดือนหรือแรมปี เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุด และให้ศาลรัฐ-ธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยในที่สุด แต่ก็กลายเป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายก-รัฐมนตรีที่จะต้องตัดสินใจทางการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่า ในขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ระหว่างปี 2546 ถึง 2548 ได้ทำนิติกรรมอำพรางเกี่ยวกับเงินบริจาค 258 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุน 29 ล้านบาท ให้เป็นไปตามกฎหมาย และทำรายงานการใช้จ่ายไม่ถูกต้อง เป็นความผิดตาม ก.ม.พรรค 2541 และ 2550
พรรคประชาธิปัตย์อาจต่อสู้ว่ามีการข่มขู่คุกคาม กกต. ให้เร่งมีมติ หรืออาจจะต่อสู้ว่า มีเพียงไม่กี่คนที่รู้เห็น ทั้งเรื่องเงินบริจาคและเงินกองทุนพรรค หรืออาจจะต่อสู้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหา เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อยังใช้กฎหมายพรรค 2541 ซึ่งถึงแม้พรรคจะโดนยุบ กรรมการพรรคก็เพียงแต่ถูกห้ามขอจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรคใหม่ ไม่ได้ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
ถึงแม้ว่าการยุบพรรคจะเป็นกระบวนการที่ยาวนาน แต่ก็จะเป็นแรงกดดันต่อนายกรัฐมนตรีที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการเมืองอย่างหนัก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์นองเลือดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ถ้าจะตัดสินใจยุบสภาภายใน 6 เดือน ตามข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจยุบสภาได้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แต่จะเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความไม่มั่นใจ
ทั้งผู้เลือกตั้งและพรรคประชา-ธิปัตย์ จะไม่มั่นใจว่า ถ้านายอภิสิทธิ์ยังเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นผู้ชูธงนำการเลือกตั้งใหญ่ ครั้งต่อไป เมื่อเสร็จการเลือกตั้งแล้ว พรรคประชา-ธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่? นายอภิสิทธิ์และกรรมการบริหารรวม 49 คน จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปีหรือไม่? พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย
แต่เรื่องที่น่ายินดีก็คือ ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่ายอมรับมติ กกต. และจะต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จึงหวังว่าทุกฝ่ายจะยอมรับองค์กรยุติธรรม ทั้งในระดับ กกต. อัยการสูงสุด จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการ ไม่กระทำการใดๆเป็นการกดดัน อันอาจจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่ อาจใช้ดุลพินิจได้โดยอิสระ.
บทบรรณาธิการ