"คนไทยโชคดีที่ได้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ"
จะยังเป็นความจริงอยู่หรือไม่
อย่างน้อย ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็มีคำตอบ
"จากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน พบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่ ทำตัวเหมือนเด็กๆ รัฐบาลต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ นายกฯ ฟังคนใกล้ตัวมากเกินไปจนลืมมองและไม่ได้ฟังให้รอบด้าน"
"มีแต่วาทศิลป์ที่ประดิษฐกรรมขึ้นมาเป็นคำพูดที่สวยหรูดูดี การกล่าวคำว่าเสียใจควรจะได้กล่าวแสดงให้เห็นถึงความเสียใจในเหตุ การณ์นั้นจริงๆ และควรจะมีความรับผิดชอบ"
เป็นการเรียกร้องความรับผิดชอบจาก "นายกรัฐมนตรี" ที่ทำตัวเหมือน "เด็กๆ"
ความรู้สึกของ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ก็เช่นเดียวกับ ความรู้สึกของ นายจอน อึ๊งภากรณ์
เป็นความรู้สึกเสียใจจากการได้เห็นท่าทีและการแสดงออกของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อสถานการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน
ขอให้ฟัง "ความเห็น" ของ นายจอน อึ๊งภากรณ์
"ในประเทศประชาธิปไตยที่มีอารยธรรมเขาไม่ใช้ทหารปราบประชาชนในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้นายกฯ ย่อมอยู่ต่อไปไม่ได้"
นี่เท่ากับเป็นการเพรียกหา "ความรับผิดชอบ" จากการตัดสินของ "นายกรัฐมนตรี"
อันเป็นการเพรียกหาในกระสวนเดียวกันกับของ ศาสตราจารย์ ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
"สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือรับผิดชอบแลเสียใจกับเหตุการณ์ อย่างจริงใจ"
นี่ย่อมเป็นคำถามโดยตรงต่อกระบวนการบ่มเพาะอัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มาจากทั้งอีตันและจากออกซ์ฟอร์ดว่าตระหนักในเรื่อง "ความรับผิดชอบ" ลึกซึ้งเพียงใด
หรือว่าได้มาแต่ "โวหาร" จากวิธีวิทยาของ "การโต้วาที" เท่านั้น
อาจเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า หากเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ว่า "นายกรัฐมนตรี" ไทยชมชอบในการทำตัวเหมือนเด็กๆ
เพราะว่า "เด็ก" นั้น "ไร้เดียงสา"
เพราะว่าจากพื้นฐานความไร้เดียงสาของเด็กนั้นเอง ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะถามหาในเรื่องของ "ความรับผิดชอบ"
เพราะชีวิตของเด็กกับความรับผิดชอบมิได้เป็นเรื่องอย่างเดียวกัน
เด็กหน้าตาดี เด็กที่มีชาติตระกูล อาจได้อะไรมาอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในพรรคและตำแหน่งในรัฐบาล
เพราะมี "ผู้ใหญ่" คอยจัดหาเสนอสำนองให้อย่างง่ายดาย
แม้กระทั่งรากฐานที่มีอยู่ยังไม่พร้อม "ผู้ใหญ่" ก็ไหว้วานมือตีนของตนในกองทัพให้ไปบีบและกดดันบาง "พรรคการเมือง" ให้หันมาโอบอุ้มแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรยศก็ยินดีแบกรับ
เมื่อเริ่มต้นจากภาวะวิปริตอย่างนี้ แล้วจะเพรียกหาความรับผิดชอบจากเด็กได้อย่างไร
จึงแทนที่จะถามหาความรับผิดชอบจาก "เด็ก" สู้ถามหาความรับผิดจาก "ผู้ใหญ่" ไม่ดีกว่าหรือ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ "ผู้ใหญ่" จะยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ "ผู้ใหญ่" จะยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง
เลิกยกบ้านเมืองให้ "เด็ก" ละเลงขนมเบื้องด้วยปากเล่นได้แล้วหรือยัง