บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อนาคตประชาธิปัตย์กับคดียุบพรรครอบสอง

ที่มา มติชน


โดย ศุภณัฐ ศุภชลัสถ์ น.บ. (เกียรตินิยม) จุฬาฯ ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า

แม้รัฐบาลจะผ่านพ้นศึกจากที่สามารถสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไปได้โดยนายกฯไม่ต้องยุบสภา และไม่ต้องประกาศลาออกก่อนกาลอันควร แต่ก็เดาไม่ออกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงจะถูกระดมพลกลับเข้ามาเขย่ารัฐบาลที่อาจนำทัพโดยพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนี้หรือสมัยหน้าๆ อีกเมื่อไหร่


แต่ในระยะเวลาอันไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้ พรรคสีฟ้าที่มีตราพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์แห่งนี้คงจะโล่งได้ไม่นาน เพราะจำต้องเตรียมรับศึกหนักครั้งใหม่ในคดียุบพรรครอบสองไว้ให้ดี เนื่องจาก กกต. ได้ส่งสำนวนคดีของพรรคประชาธิปัตย์ให้อัยการสูงสุดรับลูกต่อ และอัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนคดีขาหนึ่งขึ้นไปจ่อไว้บนเขียงของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และดูท่าว่าประชาธิปัตย์ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงศึกนี้ได้เลย แม้จะมีกองทัพสีใดแกร่งแค่ไหนที่จะคอยระวังหลังให้อยู่ก็ตาม


ศึกคดียุบพรรคครั้งนี้แยกออกเป็นสองขา ขาหนึ่งคือการนำทัพให้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาที่พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) ผ่านทางบริษัท เมซไซอะ บิสิเนสแอนครีเอชั่น จำกัด จำนวน ๒๕๘ ล้านบาท โดยถูกกล่าวหาว่า เจตนาปกปิด ทำนิติกรรมอำพรางว่าเป็นสัญญาว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ แทน เพื่อมิให้ต้องรายงานจำนวนเงินดังกล่าวต่อ กกต.อันเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ในมาตรา ๖๖ (๒) ที่กล่าวว่า กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ และ “(๓) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” (ที่ดูมีนัยยะกว้างมากจนกล่าวได้ว่า หากกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองใดจับกลุ่มกันในพรรคเล่นไพ่ป๊อกกินตังค์กันขึ้นมา พรรคก็ส่อว่าจะขัดอนุมาตรานี้) และกำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ทันควัน ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบัน(ปี๒๕๕๐)ยังคงบัญญัติฐานความผิดดังกล่าวไว้ในมาตรา ๙๔ (๓) (๔) และ(๕) ด้วยเช่นกัน โดยสำนวนนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดพิจารณาส่งสำนวนสั่งฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ


ส่วนอีกขาหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกกล่าวหาในคดีที่มีโทษยุบพรรคเช่นกันและคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่ว่า เมื่อพรรคได้เงินสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองที่ กกต. จัดสรรให้แล้ว ซึ่งพรรคจะต้องนำไปใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ (เช่น การบริหารพรรค สาขา หรือหาสมาชิก ตามม.๕๙ กฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑) แต่ประชาธิปัตย์หาได้ทำไม่


แต่กลับจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองอันเป็นเท็จรายงานต่อ กกต. อันเป็นการขัดต่อกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นในมาตรา ๖๒ ที่กล่าวว่า “พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงิน สนับสนุนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ และจะต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงิน สนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง...” และอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคได้ตามมาตรา ๖๕ ที่บัญญัติว่า “พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้” และใน (๕)ระบุไว้ว่า “ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม...มาตรา ๖๒”ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองในปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๐) ยังคงบัญญัติฐานความผิดไว้ในมาตรา ๘๒ และ ๙๓ ตามลำดับอีกเช่นกัน


อันเป็นที่ประจักษ์ว่าศึกทั้งสองขานี้มีสถานะของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเดิมพันแพ้ชนะทั้งสองทาง


แต่หากพิจารณาบทลงโทษในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องโดนจากการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคนี้ให้มลายลง ก็คงยังเบาใจได้มากกว่าพรรคอื่นๆในอดีต ไม่ว่าจะเป็นไทยรักไทย พลังประชาชน ชาติไทย หรือมัฌชิมาธิปไตยก็ตาม เพราะหากพิจารณาดูจากตัวบทกฎหมายแล้ว เมื่อเทียบกับครั้งที่มีการวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย


นอกจากบทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมืองขณะนั้น จะบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคตามกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๓) ตามบทบัญญัติเดียวกันกับกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ขาแรกแล้ว ก็ยังมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ เน้นไว้อีกว่า“ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำตามต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองพุทธศักราช ๒๕๔๑ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค” มัดไว้อีกชั้นหนึ่งให้พรรคที่ถูกยุบตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจึงถูกศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ๕ ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ส่วนกรณียุบสามพรรคร่วมรัฐบาล คือ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์เช่นกันว่านอกจากกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ (๒) และ (๔) จะบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคได้แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ยังติดดาบประหารอนาคตการเมืองของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคไว้ในมาตรา ๒๓๗ (มาตราอันเลื่องชื่อที่มีที่มาจากประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ที่ใช้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง บ้านเลขที่ ๑๑๑ เมื่อคราวยุบไทยรักไทย) อีกเช่นกัน ในการมัดให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นๆต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา ๕ ปีไปด้วยทันที


แต่ส่วนของคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ กกต.ส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากดูข้อกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ประวัติศาสตร์คงจะไม่ซ้ำรอยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๗ แบบพรรคการเมืองทั้งสามเป็นแน่ เพราะมาตรา ๒๓๗ มีขอบเขตจำกัดที่จะต้องปรับใช้เฉพาะในความผิดที่เกี่ยวการทุจริตตามกฎหมายเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ไม่รวมถึงข้อกล่าวหาทั้งสองข้อที่พรรคสีฟ้าแห่งนี้ถูกร้องซึ่งจะต้องไปว่ากันตามกฎหมายพรรคการเมืองอีกฉบับหนึ่งที่มีบทลงโทษเป็นต่างหากไป


เมื่อพิเคราะห์ตัวบทต่างๆแล้วจึงพบว่า ในกฎหมายพรรคการเมืองทั้งฉบับเก่าในปี ๒๕๔๑ และฉบับปัจจุบันคือปี ๒๕๕๐ นี้ ที่หากศาลรัฐธรรมนูญท่านวินิจฉัยว่าผิดจริงตามข้อกล่าวหาข้อใดซักข้อ ก็คงจะหนีการถูกยุบพรรคไม่พ้นอยู่ดี


แต่การพิจารณาโทษที่พ่วงมากับการยุบพรรคที่ประชาธิปัตย์อาจต้องเผชิญในครานี้ ต้องพิจารณาดูทั้งกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่เกิดการกระทำผิดประกอบกับกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๕๐ ที่เป็นกฎหมายปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อนำมาเลือกใช้ให้ต้องตามหลักพื้นฐานกฎหมายที่ว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด”


ถ้าไปดูกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๕๐ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน มาตรา ๙๘ เขียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วม รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขการกระทำดังกล่าวมีกำหนดเวลา ๕ ปี ไว้ซึ่งจะหมายความว่า เฉพาะผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวข้อง ถ้าไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องก็รอด คือไม่เหมาเข่งกรรมการบริหารพรรคทั้งกระบิแบบกรณีทุจริตเลือกตั้งครั้งก่อนๆ


แต่ถ้าไปดูกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ มาตรา ๖๙ บัญญัติเพียงว่า “ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการ ตาม...มาตรา ๖๒ หรือกระทำการตามมาตรา ๖๖ ผู้ซึ่งเคยดำรง ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา ๘ อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปี...” ซึ่งดูจะเป็นคุณแก่หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคมากกว่าเพราะเพียงมิให้สิทธิจัดตั้งพรรคใหม่แต่ไม่ได้ประหารสิทธิเลือกตั้งซึ่งถือเป็นแก่นสารัตถะของความเป็นนักการเมืองไป


แต่ถ้าดูสภาวะแห่งกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ พิเคราะห์พร้อมไปกับประวัติการณ์ของคดียุบพรรคในอดีตแล้ว ก็จะลืม ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ไปไม่ได้ เพราะกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้ประกอบกับโทษยุบพรรคในกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งหมายความว่า หากใช้กฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในขณะกระทำความผิด หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ๕ ปีแบบยกเข่งเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทย


จึงอาจสรุปในส่วนของผลทางกฎหมายได้ว่า ในกรณีร้ายแรงที่สุดหากพรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบขึ้นมาจริงๆ ผลทางกฎหมายที่พ่วงตามมาศาลก็คงต้องนำกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๕๐ มาใช้เสียมากกว่า เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเฉพาะที่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเท่านั้นที่จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ในกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑ ที่พ่วงประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ มาด้วยนั้นเหมารวมยกเข่งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดโดยไม่ยกเว้นผู้ใด


กฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๕๐ ในมาตรา ๙๘ จึงดูเป็นคุณเสียมากกว่าในท้ายที่สุดที่จะต้องนำมาใช้กันกรณีนี้


กระนั้นก็ตาม เมื่อดูจากทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้งปวงแล้ว แม้การยุบพรรคที่อาจเกิดขึ้นนี้จะมีผลเพียงเฉพาะตัวพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่จะมลายไป โดยกรรมการบริหารพรรคไม่จำจะต้องติดร่างแหถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปด้วยทั้งหมด ดั่งเช่นกรณียุบพรรคอื่นๆที่เคยเกิดมาก่อนเพราะการทุจริตเลือกตั้ง เพราะ กฎหมายยังเปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรคพิสูจน์หักล้างได้ และจะมีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสำหรับคนที่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งถ้าดูกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดในขณะนั้นมีอยู่ ๔๙ คน โดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐานเป็นหัวหน้าพรรค นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรองหัวหน้าพรรค รวมทั้งรัฐมนตรีหลายคนใน ครม.ชุดปัจจุบันซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญ ๆ


คนเหล่านี้จึงมีภาวะเสี่ยงต่อการติดร่างแหถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปด้วย หากพิสูจน์ความบริสุทธิ์หักล้างกันในชั้นศาลไม่ขาดเพียงพอ


แต่ลำพังความเป็นพรรคเก่าแก่และมีประวัติอันยาวนานทางการเมืองที่สุดในประเทศ ก็หนักหนาสาหัสเพียงพอที่จะทำให้ศึกครั้งนี้ขุนพลทางกฎหมายในพรรคประชาธิปัตย์ที่นำทัพโดยอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ต้องต่อสู้อย่างหนักไม่แพ้ครั้งใด

เพื่อพยายามธำรงไว้ซึ่งความเป็นตำนานแห่งพรรคการเมืองไทยของพรรคสีฟ้าที่มีตราพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์แห่งนี้ให้อยู่รอดต่อไป และท่าจะให้แพ้ไม่ได้เลย


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker