บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้

ที่มา มติชน

ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

โดย ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ความเหลื่อมล้ำได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แม้หลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันว่าความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นมีเหตุผลมาจากความไม่ลงตัวทางการเมือง หรือเหตุอื่นกันแน่ แต่เราต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำนั้นมีจริงในสังคมไทย และมีมานานแล้ว

ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจนเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม การสำรวจโดยหน่วยงานของรัฐในปี 2552 พบว่า ร้อยละ 40 ของคนกรุงเทพและร้อยละ 36 ของคนอีสาน มีความเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ ในภาพรวม ร้อยละ 32 ของคนทั้งประเทศเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นสูงมากถึงขั้นยอมรับไม่ได้ และร้อยละ 47 ของคนทั้งประเทศเห็นว่าช่องว่างสูงมากแต่ยังพอรับได้ เรียกได้ว่า เกือบร้อยละ 80 ของคนไทยยอมรับว่ามีความเหลื่อมล้ำของรายได้

ความเหลื่อมล้ำอาจเกิดจากการขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดทรัพยากร หรือธรรมชาติไม่เข้าข้าง โดยคนไทยร้อยละ 42 บอกว่า คนจนนั้นจนเพราะเกิดมาจน ร้อยละ 57 บอกว่าคนรวยนั้นรวยเพราะเกิดมารวย นั่นคือ เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่เข้าข้าง หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงเรื่องบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน

ถ้าคนไทยเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเกิดเพราะเหตุธรรมชาติไม่เข้าข้างหรือกรรมเก่า ถ้าเช่นนั้นจะมาใช้ความเหลื่อมล้ำเป็นข้ออ้างในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐไปใยเล่า ต้องตอบว่า เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมนั่นเอง

เราลองมาดูตัวอย่างของกลุ่มคนที่เล็กที่สุดในสังคมซึ่งคือ ครอบครัว ถ้าพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งมีลูก 10 คน สมมติว่าด้วยเหตุทางธรรมชาติทำให้ลูก 5 คนแรกที่เป็นหญิงมีความเก่งกาจน้อยกว่าลูก 5 คนหลังที่เป็นชายหมด ที่แย่กว่านั้นคือลูกคนแรกก็พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความเป็นธรรม รักลูกที่เป็นชายและเก่งกว่าเพราะว่าช่วยเชิดชูหน้าตาให้แก่ตน ความสุขสงบ ความกลมเกลียวในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น พ่อแม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนในครอบครัวเพื่อลบล้างผลของธรรมชาติได้ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษาและดูแลลูกอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความใส่ใจกับลูกที่พิการมากกว่าคนอื่นๆ เป็นต้น ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น

รัฐก็เหมือนกับพ่อแม่ที่ดูแลครอบครัวขนาดยักษ์ใหญ่ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสังคม การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทำได้ด้วยการเก็บภาษีจากคนที่ "มี"คนมีมากก็ควรเสียภาษีมาก คนมีน้อยก็ควรเสียภาษีน้อย

และรัฐควรจัดสวัสดิการสังคมเพื่อให้คนทุกคนไม่ว่าจะ "มี หรือ ไม่มี" ได้รับความมั่นใจในการอยู่ในสังคมโดยปราศจากความกลัวว่าจะอดตาย จะไม่ได้เรียนหนังสือ จะตกงาน จะเจ็บตายโดยไม่มีโอกาสรับการรักษาพยาบาล จะแก่อย่างอดๆ อยากๆ จะตายอย่างโดดเดี่ยว หรือจะถูกคนดูถูกรังเกียจเหยียดหยาม

รัฐไทยไม่ว่าจะยุคไหนได้ทำหน้าที่ในการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมหรือจัดสวัสดิการสังคมให้คนไทยอย่างเป็นธรรมแล้วหรือยัง

ลองดูที่การจัดเก็บภาษี ทุกวันนี้คนไทยทุกคนที่ใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า 100 บาท เงินจำนวน 22 บาทนั้นเข้ากระเป๋ารัฐเป็นภาษีทางอ้อม เราอาจจะคิดว่าภาษีมูลค่าเพิ่มแค่ 7 บาทเท่านั้นส่วนที่เกินมาเป็นอะไร เรามีภาษีทางอ้อมหลายประเภทรวมๆ กันในราคาสินค้าซึ่งมันสูงกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยซ้ำ ภาษีทางอ้อมนี้คนรวยหรือคนจนต้องจ่ายเหมือนๆ กัน ซื้อมากจ่ายมาก ซื้อน้อยจ่ายน้อย การจ่ายภาษีไม่ได้ขึ้นกับว่ามีมากจ่ายมาก หรือมีน้อยจ่ายน้อย

มาดูที่ภาษีทางตรง ซึ่งก็คือภาษีรายได้ที่เก็บจากประชาชนและจากผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ข้อมูลภาษีรายได้จากการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรในปี 2551 พบว่า จากคนไทยที่มีงานทำทั้งหมด 37 ล้านคน มีเพียง 9 ล้านคนที่ยื่นแบบเสียภาษีรายได้ โดยที่ 1.9 ล้านคนเป็นแบบ ภ.ง.ด. 90 (คนที่มีรายได้หลายแหล่ง) และ 7.1 ล้านคนเป็นแบบ ภ.ง.ด. 91 (คนที่มีรายได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือบำนาญเท่านั้น) คนที่หายไป 28 ล้านคน มีจำนวนหนึ่งที่เข้าข่ายร่ำรวยแต่รัฐไม่มีความสามารถไม่พยายามเอื้อมมือไปเก็บภาษีได้

ความเป็นธรรมของภาษีรายได้มีหรือไม่ ถ้าภาษีเป็นธรรมแล้วตำแหน่งของคนมีรายได้น้อยที่ยืนอยู่ในสังคมไม่ควรแย่ลงไปกว่าเดิมหลังจากถูกหักภาษี เช่น ถ้าคนจนที่สุดครึ่งหนึ่งของประเทศมีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ หลังจากหักภาษีทั้งคนรวยคนจนเสร็จแล้วส่วนแบ่งรายได้ของคนเหล่านั้นต้องไม่แย่ไปกว่าเดิมคือต้องมีส่วนแบ่งที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด

ในปี 2551 ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเพียงร้อยละ 11 (ดูรูปประกอบ) เปรียบได้กับลูกที่จนที่สุด 5 คนแรกมีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเพียงร้อยละ 11 ลูกคนที่รวยที่สุด (หรือคนรวยที่สุดร้อยละ 10) มีส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 51 และหลังจากรัฐได้หักภาษีเรียบร้อยแล้วกลับทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของลูกคนที่จนที่สุด 5 คนแรกลดลงเหลือร้อยละ 6 แต่ส่วนแบ่งของลูกคนที่ 6-9 กลับเพิ่มขึ้น ภาษีทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั้งกรณี ภ.ง.ด. 90 และ 91 โดยเฉพาะกรณี ภ.ง.ด. 91 กลุ่มคนที่รวยที่สุดกลับได้รับประโยชน์มากที่สุดจากโครงสร้างภาษีแบบบิดเบือน ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่อัตราภาษีของไทยเป็นแบบก้าวหน้าคือยิ่งรายได้สูงก็เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพราะรัฐอัดนโยบายอื่นๆ มากเกินไปใส่ลงไปในโครงสร้างภาษีรายได้จนมันหมดความสามารถในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม ดังตัวอย่างเหล่านี้

ตัวอย่างที่หนึ่ง รัฐต้องการกระตุ้นตลาดทุนโดยให้คนที่มีรายได้สูงสามารถหักค่าลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF ได้มากถึง 700,000 บาท ในปี 2551 มีรายได้ที่ได้รับการลดหย่อนทั้งหมดถึง 16,000 ล้านบาท คนที่มีรายได้สูงมักจะลงทุนใน LTF ประมาณ 12,000 ล้านบาทเป็นยอดรายได้ที่ได้รับการลดหย่อนของกลุ่มคนรวยที่สุด (10% รวยสุด) ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ 91

ตัวอย่างที่สอง รัฐต้องการให้คนบริจาคเงินเพื่อการกุศล ถ้าบริจาคเงินก็สามารถนำหลักฐานมาขอลดหย่อนภาษีได้ ในปี 2551 มีการขอลดหย่อนภาษีจากการบริจาคทั้งหมด 6,000 ล้านบาท รัฐอาจจะไม่รู้เลยว่าหลักฐานการบริจาคเพื่อการลดหย่อนภาษีนั้นหาซื้อกันได้ในที่ต่างๆ มีวัดแห่งหนึ่งขายใบอนุโมทนาบัตรราคา 5,000 บาท อยากให้เขียนว่าบริจาคเงินเท่าไรก็บอกไป เช่นถ้าเขียนว่าบริจาคเงิน 100,000 บาท ผู้ที่มีรายได้สูงที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 ก็จะสามารถประหยัดเงินภาษีไปได้ 25,000 บาท เงินเข้ากระเป๋าวัดและคนรวยแทนที่จะเป็นรัฐ

ตัวอย่างที่สาม รัฐยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ต่ำกว่า 150,000 บาท การยกเว้นอย่างถ้วนหน้าแทนที่จะเป็นเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทั้งหมด 70,000 ล้านบาทในปี 2551

นอกจากนี้ คนรวยจำนวนมากมีรายได้หลัจากดอกเบี้ยและเงินปันผลซึ่งส่วนใหญ่ก็เสียภาษีในอัตราเดียวร้อยละ 15 และยังมีการลดหย่อนอีกหลายประเภทที่มีผลให้ภาษีรายได้ของไทยไม่เป็นธรรม

รัฐให้ความเป็นธรรมในการให้สวัสดิการสังคมหรือไม่

ดูตัวอย่างสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2549 แสดงให้เห็นว่า คนมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศต้องใช้สิทธิจากสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนรายได้สูงที่สุดของประเทศมีครึ่งหนึ่งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม คงไม่ต้องบอกว่าคนไทยอยากได้สวัสดิการรักษาพยาบาลแบบไหนมากกว่ากัน

กลุ่มคนรายได้สูงที่มีสิทธิในสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่วนใหญ่ไม่ใช้สวัสดิการที่ตนมีแต่กลับยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเองหรือไม่ก็ให้บริษัทประกันเอกชนจ่าย (โดยตนจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเบี้ยประกันก่อน) มีเพียงร้อยละ 40 ของผู้ป่วยกลุ่มรวยที่สุดที่ใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน พฤติกรรมการใช้สวัสดิการของรัฐแบบนี้น่าจะบ่งชี้ได้ว่าสวัสดิการที่รัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าป่วยด้วยโรคเดียวกันแต่ข้าราชการได้รับการรักษาแบบหนึ่ง คนรายได้น้อยได้รับการรักษาอีกแบบหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าความเหลื่อมล้ำหรือไม่

เรามักจะได้ยินข้ออ้างว่าข้าราชการรับเงินเดือนน้อยควรได้รับสวัสดิการอย่างดีเป็นการทดแทน แต่ข้ออ้างที่มีเหตุผลมากกว่าน่าจะเป็นว่าเกิดเป็นคนไทยเหมือนๆ กัน ป่วยด้วยโรคเดียวกัน ควรได้รับการดูแลจากรัฐด้วยมาตรฐานเดียวกัน เหตุผลของความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันน่าจะเหมาะกว่าเรื่องเงินเดือน

ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้เหล่านี้ทำให้เห็นว่า ข้ออ้างเพื่อการเรียกร้องทางการเมืองเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าการเรียกร้องจะมีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่ความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้เหล่านี้ควรที่จะได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้องต่อไป


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker