นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ถึงกรณีศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อหาก่อการร้ายว่ามีผลกระทบต่อการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับอัยการว่าจะส่งเรื่องไปยังแต่ละประเทศอย่างไร และแต่ละประเทศจะเห็นด้วยต่อหมายจับดังกล่าวหรือไม่ แม้ข้อหาก่อการร้ายเป็นข้อหาที่รุนแรง แต่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่เบาหวิวที่สุด เพราะการนำหลักฐานคลิปที่ พ.ต.ท.ทักษิณวิดีโอลิงก์ระบุว่าหากเกิดการสลายการชุมนุมที่ กทม. ขอให้ประชาชนไปรวมตัวกันที่ศาลากลางนั้น มาเป็นหลักฐานออกหมายจับนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณแค่บอกให้ประชาชนไปชุมนุมที่ศาลากลาง เพื่อเรียกร้องสิทธิ ไม่มีนัยยะว่า ให้ไปเผาศาลากลาง
"แต่ดีเอสไอกลับนำข้อความดังกล่าวไปตีความว่ายุให้เผาศาลากลาง แม้แกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ จะพูดยุให้เผาศาลากลาง แต่ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นคำพูดของคนละบุคคล ขอวิงวอนว่า อย่าใช้ข้อหาก่อการร้ายมาตรึง พ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้กระดิกตัวได้ การมากล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นวิธีการสร้างความปรองดองแล้วหรือ" นายนพดลกล่าว
วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 16.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯในฐานะ ผอ.ศอฉ. เป็นประธานประชุม ศอฉ. ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมมีการรายงานความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ทวิตตอบโต้หลังถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย และแนวทางการเคลื่อนไหวที่จะใช้วิธีการส่งข้อมูลผ่านทางสื่อต่างๆ เพื่อทำให้เห็นว่า ข้อมูลที่นำไปตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้าย เป็นการตัดต่อและเป็นเท็จ เพื่อนำไปสู้ทางคดีต่อไป
"ศอฉ.ได้ยืนยันในที่ประชุมว่า คลิปเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้มีการปรับแต่งหรือตัดต่อให้ผิดความหมาย แต่มีการตัดต่อแต่ละคลิปให้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขณะที่ดีเอสไอและกระทรวงการต่างประเทศยังพูดถึงการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาก่อการร้ายมาดำเนินคดีได้ 3 กรณี คือ 1.การประสานงานกับสถานทูตและสถานกงสุลใน 92 แห่ง 2.การส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านขั้นตอนทางการทูต 3.การนำตัวกลับด้วยวิธีอนุสัญญาต่างๆ ของประเทศไทยที่มีต่อประเทศภาคีสมาชิก" รายงานข่าวระบุ
ด้านนายอลัน ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์อัลจาซีร่า รายงานเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม จากเมืองบุดวา ประเทศมอนเตเนโกร ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าพักในบ้านพักที่มอนเตเนโกรในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ศาลอนุมัติหมายจับในข้อหาก่อการร้ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นเดินทางออกจากมอนเตเนโกรในอีกไม่นาน
ทั้งนี้ นายฟิชเชอร์ระบุว่าประเทศยุโรปทุกประเทศแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าจะไม่ให้การต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะที่ทางการดูไบเคยแสดงท่าทีไว้ว่าแม้จะเต็มใจให้เข้าประเทศแต่จะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ขณะที่อยู่ที่นั่น จึงมีโอกาสสูงมากที่อีกไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับมายังมอนเตเนโกรอีกครั้ง
"มอนเตเนโกร ไม่เคยส่งตัวพลเมืองของตนเองให้กับประเทศอื่นในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และในฐานะเป็นพลเมืองคนหนึ่งของมอนเตเนโกร พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน" นายฟิชเชอร์ระบุ
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่านายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ระบุว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่อดีตนายกรัฐมนตรีจะถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศหนึ่งประเทศใด ตราบเท่าที่ไทยยังคงมีสภาวะทางการเมืองแยกขั้วกันสูงอย่างเช่นในเวลานี้ อาจจะเรียกได้ว่ามีโอกาสเป็นศูนย์ก็ว่าได้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวชาวมอนเตเนโกรรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าทางการมอนเตเนโกรได้ร้องขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในที่สาธารณะในระหว่างการพำนักอยู่ในมอนเตเนโกร โดยคำร้องขอดังกล่าวมีขึ้น 1 วันหลังจากที่ศาลไทยอนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณข้อหาก่อการร้ายและยังเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะมาถึงมอนเตโกรวันที่ 26 พฤษภาคมหลังจากไปแวะไซปรัสเป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยจะอยู่ที่มอนเตเนโกร 2 วัน ก่อนหน้าที่จะไปต่อยังฝรั่งเศส
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสเปิดเผยว่าได้โน้มน้าวให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยกเลิกแผนการที่จะกล่าวปาฐกถาในเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตการเมืองไทยที่ศูนย์การเมืองและการต่างประเทศในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 31 พฤษภาคม และได้รับคำมั่นจาก พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะไม่กล่าวปาฐกถาตามกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ผู้จัดยืนยันว่างานสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปและถือว่าเป็นเรื่องของเอกชนที่รัฐบาลไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยว