บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เลือกเยียวยาระวัง"อาฟเตอร์ช็อก"

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



หลังเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. รัฐบาลเดินหน้ามาตรการ 2 ด้าน

ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม

และเร่งตรวจสอบคดีความ และดำเนินการกับผู้กระทำผิด และฝ่าฝืนกฎหมาย

ขณะที่มาตรการทางการเมือง ปมปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่นำมาสู่การชุมนุมและเป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม กลับชะงักงัน ไม่มีคำตอบจากรัฐบาลว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร

ทั้งที่มาตรการทางการเมืองจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการคลี่คลายความรู้สึกได้เปรียบ เสียเปรียบ

เปิดทางสู่ความปรองดองได้ง่ายขึ้น



-เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล



การเยียวยาขณะนี้เป็นการเยียวยาภาคธุรกิจ การค้าขายในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ รัฐบาลต้องเยียวยาจิตใจคนทั่วไป กลุ่มที่มาชุมนุมกับนปช. ภาคธุรกิจเศรษฐ กิจในต่างจังหวัด ผู้มาชุมนุมที่ทิ้งเรือกสวนไร่นาก็ได้รับผลกระทบพอสมควร

การทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกสูญเสีย พ่ายแพ้ ทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกจากการชุมนุมที่แผ่ขยายไปไกล การปรองดองต้องไม่ถูกแบ่งแยกจากการเยียวยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การปรองดองต้องมาจากภาคประชาชน นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ที่รัฐบาลผลักดันไปพร้อมกับการเยียวยา

ส่วนการกำหนดวันยุบสภา เลือกตั้งใหม่ รัฐบาลก็คงไม่ไปขีดเส้นใต้ตัวเองขนาดนั้น

แต่การปรองดองก็ควรขยายจาก 5 ข้อของโรดแม็ป ที่เคยประกาศ ที่ทุกภาคส่วนเห็นบวกกับ 5 ข้อนี้ แต่โรดแม็ปเดิมเป็นภาพกว้างๆ ก็ต้องมาลงรายละเอียด ต้องมีเวทีเสวนาทั่วทุกอำเภอ จังหวัด

ต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่ได้มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ ให้เป็นแผนปรองดอง ให้ความปรารถนาของคนทุกคนมาใกล้เคียงกัน

แผนปรองดองต้องมีการกำหนดรายละเอียดทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็น่าจะเป็นผลจากการพูดคุยของคนทั้งประเทศ หากคนส่วนใหญ่อยากยุบก็อยู่ในแผน มาถึงจุดนี้ต้องเน้นความคิดที่หลากหลาย

เรื่องการดูแลคดีความการจับกุม อยากให้ระวังการจับกุม ปิดหนังสือ สื่อต่างๆ ของนปช. ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดการรับรู้ข่าวสาร เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

หากยังละเมิดสิทธิเสรีภาพคนกลุ่มอื่นๆ โอกาสการปรองดองก็อาจจะน้อยลง



- กิตติศักดิ์ ปรกติ

อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การปรองดองต้องมีการพูดคุยกัน เบื้องต้นแต่ละฝ่ายต้องเสนอตัวแทนของตัวเองมาเจรจา นปช. หรือฝ่ายค้านต้องคัดเลือกคนซึ่งเป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ไว้ใจของทุกฝ่ายมาเจรจา ส่วนรัฐบาลก็เช่นกัน

ต้องเปิดการเจรจาเหมือนครั้งแรกก่อนเกิดความรุนแรง การจะแก้ปัญหาได้ต้องตั้งอยู่บนรากการยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่าปัญหาของประชาชนอยู่ที่ไหน ประชาชนมีปัญหาอะไร ต้องแยกแยะให้ชัดเจน

ฝ่ายค้าน นปช. มีการก่อความวุ่นวายไม่สงบอย่างไร มีความผิดก็ต้องยอมรับให้ชัดเจน รัฐบาลทำผิดอะไรบ้างก็ต้องมายอมรับกัน ต่างฝ่ายก็ต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผิดของแต่ละฝ่าย อะไรเป็นสิ่งที่ถูกของแต่ละฝ่าย จากนั้นก็เริ่มมาตรการ

เมื่อมีตัวแทนที่แต่ละฝ่ายไว้ใจมาทำหน้าที่ติดตาม กำหนดมาตรการ แผนปรองดองต่างๆ รวมถึงเรื่องการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ รัฐบาลก็บอกว่าจะเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ก็คงไม่กำหนดว่าเลือกตั้งเมื่อใด เพราะรัฐบาลคงไม่อยากผูกพันตามกำหนดการในแผนปรองดองเดิมแล้ว

ช่วงนี้ก็ต้องเป็นระยะของการเก็บทำความสะอาด สิ่งที่เลอะเทอะ แต่หลังจากนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งสองฝ่ายในการสร้างความปรองดอง

ก่อนหน้านี้มีการตกลงใน 5 เรื่อง แต่ยังไม่บอกรายละเอียดว่า ทำอะไร อย่างไร ดังนั้น ต้องเรียกร้องให้มีการเจรจากันใหม่ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการในการแก้ปัญหาของประชาชนให้ชัดเจน

จากนั้นการยุบสภา เลือกตั้ง ก็จะตามมา ซึ่งกองเชียร์แต่ละฝ่ายต่างก็ไม่ยอมรับกันและกำลังรอดูอยู่



-ไชยยันต์ ไชยพร

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งทำแผนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยมีการนำเรื่องเข้าสภาเพื่ออนุมัติงบประมาณมาใช้ฟื้นฟู รัฐบาลเองก็ไม่ได้ทิ้งแผนปรองดอง แต่กำลังเร่งทำ 5 ข้ออยู่

และนายกฯก็ยังไม่ได้ปฏิเสธเรื่องวันเลือกตั้ง อาจจะเร็วกว่าที่ กำหนดไว้ก็ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำต่อจากนี้คือการออกหมายจับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อหาก่อการร้าย ซึ่งต้องอาศัยการช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

ขณะเดียวกัน กลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่เคยทำผิดกฎหมาย ก็จะเริ่มทำตัวถอยห่าง เพราะกลัวจะติดร่างแหไปด้วย ส่วนคนเสื้อแดงที่มีคดีติดตัวมีชนักติดหลังอยู่และยังหลบหนี ก็จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย

คิดว่าปรากฏการณ์ออกหมายจับพ.ต.ท.ทักษิณ จะทำให้มี คนสนับสนุนอดีตนายกฯ น้อยลง แต่ในทางตรงข้ามกลุ่มใต้ดิน ก็จะเข้มข้นขึ้น

ส.ส.พรรคเพื่อไทยตามภาคเหนือ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่อยากสนับสนุน และจะระวังตัวมากขึ้น หรือเรียกว่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะรัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้พ.ต.ท. ทักษิณ โดดเดี่ยว

เรื่องคดี 6 ศพที่เสียชีวิตอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม รัฐบาล ก็ต้องเร่งทำให้กระจ่าง เพราะจะเป็นเชื้อฟืนให้คนออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้ ทั้งนี้รัฐบาลควรใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจวิถีกระสุน จุดยิง ทั้งบริเวณสกาย วอล์ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือบนรางรถไฟฟ้า

การพิสูจน์นี้ต้องทำอย่างมีระเบียบ ให้เป็นที่ยอมรับของสากล และต้องนำผลมาวางในบริบทที่อธิบายการเสียชีวิตของคนทั้ง 6 ได้

ซึ่งต้องทำให้เร็วที่สุด



- จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ไม่ใช่สงบแค่กายภาพ เหมือนเรียบบนผิวน้ำเรียบ แต่ด้านล่างมีน้ำไหลอยู่ ทำให้ปัญหารอวันปะทุขึ้นมาอีก หากมองปัญหาให้ลึกลงไปจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าปัญหายุติแล้ว

นายกฯ ควรพิจารณาหาทางออกตามกระบวนการประชาธิปไตยที่มีการเรียกร้องในสังคม เพราะหากไม่เดินตามกระบวนการนี้ หรือกระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรือใช้ไม่ได้ผล อาจเกิดปัญหาเดือนเม.ย. ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ขณะที่ปัญหาเดิมยังคงอยู่ โดยมีปัญหาใหม่แทรกเข้ามา

การที่นายกฯ เคยศึกษาอยู่ที่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ คงพิจารณาได้ว่าในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ควรตัดสินใจอย่างไรที่จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมือง

ส่วนเรื่องปรองดอง หรือโรดแม็ป 5 ข้อ สามารถหาบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเชื่อถือเข้ามาทำหน้าที่แทนได้ การปรองดองหรือเดินหน้าเรื่องโรดแม็ปไม่ควรผูกติดกับอายุของรัฐบาล เพราะจะทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จบ

ในการประชุมคณะกรรมการ วันที่ 31 พ.ค. ได้เชิญสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ มาชี้แจงกับคณะกรรมการ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงให้รอบด้านที่สุด

การเชิญนายกฯ หรือฝ่ายปฏิบัติการด้านความมั่นคง ต้องเชิญมาให้ข้อเท็จจริงเช่นกัน โดยเฉพาะเหตุผล คำสั่ง จนถึงการปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker