การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นทันทีหลังการชุมนุมทางการเมืองของนปช. ยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการตัดสินใจหันกลับเข้ามาสู้ในสภาของฝ่ายค้านครั้งนี้ ย่อมทำให้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการปรองดองเพื่อชาตินั้น ริบหรี่ลงทุกที เที่ยงวันของวันที่ 24 พ.ค.นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้นำรายชื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวน 159 คน เข้ายื่น
ต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีอีก 4 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการดำเนิน
การตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 พร้อมกันนี้ได้เข้าพบ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำรายชื่อ ส.ส.จำนวน 180 คน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 6 คน โดยอีก 2 รัฐมนตรีที่ยื่นเพียงการอภิปรายแต่ไม่ได้ยื่นถอดถอนคือนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง
และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากมีความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หลักฐานไม่เพียงพอที่จะยื่นถอดถอนได้ สำหรับฝ่ายค้านให้เหตุผลถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 12 ข้อ อาทิ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีส่วนรู้เห็นและปล่อยปละละเลย
ให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมีการทุจริต คอร์รัปชั่น แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างกว้างขวาง เช่น ทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ทุจริตการจัดซื้ออาวุธในกองทัพ ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ปล่อยให้บุคคลภายนอกที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐมนตรี มีการเลือกปฏิบัติ
สองมาตรฐาน ไม่มีความเสมอภาค มีการใช้อำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามทุกชนิดเข้าปราบปรามประชาชน เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียชีวิต ร่างกายของประชาชนจำนวนมาก ขาดความจริงใจ
ในการสร้างความปรองดองและความสมานฉันท์ในสังคม ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเชื่อว่า…พฤติกรรมดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างร้ายแรง หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป ย่อมส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติจนยากที่จะแก้ไขเยียวยา
ได้ โดยพรรคเพื่อไทยได้แนบชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ศึกอภิปรายครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลหวาดหวั่นกับข้อกล่าวหาทั้ง 12 ที่ฝ่ายค้านยื่นให้ประธานสภาเพื่อเปิดศึกซักฟอก เพราะวันนี้รัฐบาล ยังเกาะแขนพรรคร่วมรัฐบาล ได้อย่างเหนียวแน่น โดย
เฉพาะเหตุการณ์การเข้ายึดพื้นที่ของ ศอฉ. ที่ได้ใจพรรคร่วมไปไม่น้อยทีเดียว ส่วนศึกซักฟอกรัฐบาล ครั้งนี้ จะมันหยดขนาดไหน ต้องลุ้นว่า “ดาวสภา”อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะทำหน้าที่แกนนำฝ่ายค้านในการ “ซักฟอก” รัฐบาลได้เหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่ งานนี้มีลุ้น!