สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ว่า อ้างแหล่งข่าวระบุว่า เหตุการณ์ทหารปะทะกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มมือปืนชุดดำยิงทหารในเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ได้เกิดความแตกแยกขึ้นในกองทัพ ระหว่างทหารกลุ่มยศระดับล่างและระดับกลาง และเจ้าหน้าที่ทหารที่เห็นใจกลุ่มคนรากเหง้าเสื้อแดง กับกลุ่มทหารระดับสูงที่สนับสนุนสถาบัน กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มคนชั้นกลาง โดยเฟเดริโก้ เฟอร์ราร่า ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์แสดงทัศนะว่า เขาไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะสามารถเชื่อมั่นในความภักดีของผู้บัญชาการระดับชั้นกลาง โดยเฉพาะทหารระดับล่าง และถือได้ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลมีความเปราะบางมาก
เอเอฟพีระบุอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารนอกแถวซึ่งรวมทั้งนายทหารที่ปลดเกษียณ และนายทหารที่เป็นพันธมิตรกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อบอกว่า มีทหารระดับชั้นกลางจำนวนมากที่อยู่ข้างพ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกีดกันทางอำนาจ และตอนนี้พวกเขากำลังเอาคืน ด้วยการให้การสนับสนุนคนเสื้อแดง เพื่อเรียกอำนาจของตัวเองกลับคืนมา
"มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่ามีบางคนในกองทัพสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และกองทัพไม่ได้มีความเป็นเอกภาพอีกต่อไป"นายปวิน ชัชวาลย์พงษ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสิงคโปร์กล่าว
นอกจากนี้ เอเอฟพีระบุว่า กลุ่มคนเสื้อแดงยังได้ปฎิบัติการสองแนวรบ ด้านหนึ่งใช้การชุมนุมอย่างสันติตามท้องถนนในกรุงเทพฯ และอีกด้านหนึ่งใช้ปฎิบัติการของอดีตนายทหารและนายทหารปัจจุบันในกองทัพ โดยความแตกแยกของสถาบันกองทัพดังกล่าวกำลังสร้างความไม่แน่ใจอย่างลึกซึ้งต่อภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีฝ่ายใดมีชัยในเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ และทำให้ทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในสภาพกำลังงัดข้อใช้กำลังซึ่งกันและกัน
"ไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด และเมื่อรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ใช้กำลังอำนาจอีกต่อไป จากนั้นสถานการณ์ก็จะเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตย"นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์การเมืองไทยกล่าว
เอเอฟพีระบุด้วยว่า แหล่งข่าวกองทัพและรัฐบาลกล่าวว่า พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและพันธมิตรใกล้ชิดของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้นำอดีตนายทหารเกษียณราชการและนายทหารปัจจุบัน คอยให้การสนับสนุนแก่กลุ่มคนเสื้อแดง แม้ว่าเร็วๆ นี้ เขาจะปฎิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มือปืนชุดดำโจมตีทหารระหว่างปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถนนราชดำเนินโดยเห็นได้ชัดว่า เขาเป็นคู่แข่งสำคัญในฉากการเมืองที่ปรากฎขึ้นมาในขณะนี้ โดยภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ พลเอกชวลิตได้เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยุบสภา ขณะที่บทบาทของเขาก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เขาได้กลายเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มปีกขวาของกลุ่มคนเสื้อแดง และพลเอกชวลิตได้โน้มน้าวให้ทหารนอกราชการเข้ามาร่วมกับเขา อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่า สร้างความแตกแยกให้สถาบันกองทัพที่ครั้งหนึ่งเป็นปึกแผ่นมั่นคง
แหล่งข่าวรัฐบาลระบุว่า ความแตกแยกที่หนักข้อขึ้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตในค่ายทหารที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ใช้ร่วมประชุมกันกรมทหารราบที่ 11 ฯ โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลบอกว่า แผนของรัฐบาลได้รั่วออกจากกองทัพ
"เราไม่รู้ว่าจะเชื่อถือใครได้ เพราะนอกเหนือจากเราแล้ว ก็ยังมีทหารที่อยู่ข้างพ.ต.ท.ทักษิณ "เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงบางรายที่ไม่ประสงค์จะให้เปิดเผยชื่อกล่าว
นอกจากนี้ เอเอฟพีชี้ว่า เมืองไทยยังคงสุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีเหตุการณ์ปฎิวัติเกิดขึ้น เพราะไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กองทัพจะปกป้องรัฐบาลไปอีกนานแค่ไหน หรือกองทัพจะสามารถต้านทานกลุ่มทหารที่เป็นพันธมิตรกับทักษิณได้อีกนานแค่ไหน โดยหากมีการคืนอำนาจสู่ประชาชน ก็ถือว่าโอกาสได้เข้าทางกลุ่มพันธมิตรของพ.ต.ท.ทักษิณ และแม้แต่ที่ผ่านมา พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.จะยืนยันว่า เขาจะไม่ปฎิวัติ แต่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กลุ่มทหารที่สนับสนุนสถาบันไม่เคยปฎิเสธแนวทางที่จะปฎิวัติเลย เพราะสำหรับเมืองไทยนั้น มีการปฎิวัติ 18 ครั้ง ในช่วง 77 ปีที่ผ่านมา