การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำเสื้อแดง ซึ่งตัวแสดงยังคงเป็นตัวเก่าคือนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อีกฝ่ายก็นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์
หลังจากเปิดฉากเจรจากันยกที่ 2 โดยมีการถ่ายทอดสด 2 ชั่วโมงกว่าๆ ผลปรากฏว่า "ล่ม" เพราะไม่สามารถตกลงกันเมื่อรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ "ยุบสภา" ภายในเวลา 15 วันตามเงื่อนไข
แต่ได้นำเสนอว่าควรจะยุบสภาในกรอบเวลา 9 เดือน เพื่อจัดทำงบประมาณปี 2554 ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และห้วงเวลานี้ก็ช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้กันอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จัดทำประชามติให้ประชาชนตัดสิน และสร้างบรรยากาศการเมืองให้คลายร้อนลง
เสร็จสรรพก็ "ยุบสภา" ทันที
ปรากฏว่าแกนนำเสื้อแดงไม่เอาด้วยจนต้องปิดโต๊ะเจรจา ซึ่งก่อนหน้านั้นนายวีระซึ่งควบคุมทิศทางการเจรจาค่อนข้างดีได้เอ่ยขึ้นว่า เรื่องบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ดังนั้น ควรจะต้องพูดจากันต่อไป ซึ่งนายกฯก็บอกว่าจะนัดหมายคุยกันอีก
แต่นายจตุพรปิดเกมทันทีไม่ต้องคุยกันแล้ว ขอให้จบกันตรงนี้ เพราะการเจรจา 2 ฝ่ายไม่บรรลุผล จากนี้ไปเป็นเรื่องอนาคต
ตัดเยื่อตัดใยกันไปเลย
ว่าที่จริงแล้วหากเอาเหตุเอาผลไม่เอาชนะคะคานซึ่งกันและกันด้วยคำว่าแพ้-ชนะแล้วควรจะมีเจรจากันอีกรอบ และให้ฝ่ายรัฐบาลแจงรายละเอียดว่าในห้วง 9 เดือนจากนี้ไปจะมีกรอบวาระที่จะดำเนินการ อย่างไรเพื่อที่จะได้พิจารณาหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์จริงๆ
เมื่อมีการตั้งธงกันมาก่อนอย่างนี้มันก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ นายจตุพรกับหมอเหวงนั้นคงจะกลัวเสียเรตติ้งจากผู้ชุมนุมที่นั่งลุ้นจากจอทีวี กลัวจะเสียฟอร์มว่าเสียท่ารัฐบาล จึงต้องเล่นบทแรงเอาไว้ก่อน
ยิ่งมีการถ่ายทอดสดยิ่งทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องแสดงบทบาทเพื่อให้เข้าตาประชาชน ทำให้การเจรจาที่ควรจะเข้าประเด็นกลับต้องมาเปิดฉากโจมตีและแก้ลำกันพัลวัน
อย่างไรก็ดี หลังจากยุติการเจรจากันไปแล้วนายกฯบอกว่าพร้อมที่จะเจรจากันอีก แต่แกนนำเสื้อแดงบอกไม่สนใจแล้ว พร้อมที่จะยกระดับการต่อสู้ด้วยเงื่อนไขใหม่คือ "ไล่รัฐบาล" ไม่ใช่ "ยุบสภา" แล้ว พร้อมกับการประสานเสียงจาก "ลูกพี่ใหญ่" ปลุกให้คน เสื้อแดงเดินหน้าสู้ต่อไป
แน่นอนว่าเงื่อนไขที่จะให้ "ยุบสภา" โดยเร็วนั้นน่าจะเป็นแนวคิดของ "นายใหญ่" เพื่อจะได้ปิดเกมโดยเร็ว เพราะหากขืนให้รัฐบาลบริหารประเทศต่อไปอีก 9 เดือน จะทำให้การเลือกตั้งที่คาดว่าจะชนะแน่อาจไม่เป็นไปเช่นนั้น
เนื่องจากรัฐบาลยังมีเวลาที่จะบริหารเงิน บริหารคน และสร้างความนิยมได้มากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่จะกระจายเงินไปสู่รากหญ้า ซึ่งจะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผันได้
หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐบาลชุดนี้ และให้มีการทำประชามตินั้นจะไม่เกิดผลตามที่ต้องการได้ โดยเฉพาะประเด็นที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งจะต่างจากยุบสภาและได้อำนาจรัฐแล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เหตุมันน่าจะอยู่ตรงนี้แหละ...ไม่ใช่อะไรอื่น
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องยุบสภานั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เมื่อมีกรอบเวลาใหม่คือ 15 วัน หรือ 9 เดือน ก็ยังเห็นต่างกัน
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจทางการเมืองนั้นคงจะต้องฟังเสียงจากประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะ 2 ฝ่ายนี้เท่านั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ แก่ประเทศไทยจริงๆ
แต่เมื่อเล่นกันอย่างนี้คงต้องเดือดกันก่อนสงกรานต์แน่.
"สายล่อฟ้า"