เปรี้ยง !!! ร่างพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง แกนนำเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์ ร่วงลงไปกองกับพื้น
เลือดสีแดง ทะลักออกมา จากรูกระสุนปืนที่เจาะกระโหลก
รวดเร็วและรุนแรง จากพลซุ่มยิง ที่ใช้ สไนเปอร์ เป็นอาวุธ
เช่นเดียวกับ กระสุนที่เจาะหัวพลทหาร บนถนนวิภาวดี บริเวณอนุสรณ์สถาน
ไม่นับอีกหลายสิบศพ บนถนนราชดำเนิน และอีกมามายบนแยกราชประสงค์
มีคำกล่าวว่า พลซุ่มยิงว่าเป็นฆาตกร หมาลอบกัด คนขี้ขลาด หรือไม่ใช่สุภาพบุรุษ
แต่ถ้ามองลึกลงไปในประวัติศาสตร์แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจของพลซุ่มยิงได้ช่วยชีวิตผู้คนมากมายจากสมรภูมิ และช่วยลดการสูญเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น
..นั่นก็เพราะกระสุนของพลซุ่มยิงที่ปล่อยออกไปหนึ่งนัด หมายถึงเพื่อนทหารอีกหลายสิบคนจะได้กลับบ้านโดยมีลมหายใจ
ตำนานของพลซุ่มยิง มีการถ่ายทอดเป็นหนังสือนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่มีหนังสือเล่มใด บอกเล่า ประวัติศาสตร์ของการซุ่มยิงและเรื่องราวพลซุ่มยิงที่กลายเป็นตำนาน ได้น่าสนใจเท่ากับ หนึ่งนัด หนึ่งศพ (One Shot-One Kill) ของ ชาร์ลส์ ดับเบิลยู แซสเซอร์ และ เครก รอเบิร์ตส์ อดีตทหารผ่านศึก ถ่ายทอดเนื้อหาภาษาไทยโดย นภดล เวชสวัสดิ์
ซึ่งล่าสุด สำนักพิมพ์ มติชน เพิ่งวางแผงไปไม่นานนี้
หนึ่งนัด หนึ่งศพ บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการซุ่มยิงและเรื่องราวพลซุ่มยิงที่กลายเป็นตำนาน อาทิ วาสิลี่ ไซเซฟ พลซุ่มยิงรัสเซียที่ทำให้ทหารเยอรมันขวัญผวา
จอห์น ฟัลเชอร์ พลซุ่มยิงอินเดียนแดง ที่นำลูกน้องไล่ล่านาซีแล้วถลกหนังหัว
คาร์ลอส แฮธคอค พลซุ่มยิงอเมริกันผู้ปฏิบัติการห้าวหาญจนเวียดกงต้องตั้งค่าหัว
หนังสือ รวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ จดหมาย แฟ้มข้อมูลทางทหาร รวมถึงการสัมภาษณ์พลซุ่มยิงที่ยังมีชีวิต แล้วนำเรื่องราวมาร้อยเรียงด้วยภาษาที่เรียบง่าย กระชับ สะท้อนให้ภาพชีวิตของทหารหาญเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้ง ไม่ต่างจากการดูเรียลลิตี้ ตามติดชีวิตพลซุ่มยิงในสมรภูมิ
มีคนเคยกล่าวว่า หากไม่มีการประจันหน้าระหว่างสองฝ่าย หรือเปิดฉากยิงสู้รบกัน แสดงว่า ณ ที่นั้นไม่มีสงคราม
ทว่าถ้อยคำนี้ใช้กับพลซุ่มยิงไม่ได้ เพราะนักรบเหล่านี้คือผู้นำสงครามไปหาศัตรู กระสุนที่พวกเขาปล่อยออกไป หมายถึงวิญญาณของอีกฝ่ายที่หลุดลอยออกจากร่าง
.. สงครามเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องเปิดฉากยิงสู้รบกัน
หนึ่งนัด หนึ่งศพ (One Shot-One Kill) ของ ชาร์ลส์ ดับเบิลยู แซสเซอร์ และ เครก รอเบิร์ตส์ อดีตทหารผ่านศึก ที่ทำมาแล้วหลากหลายชีพ กระทั่งผันตัวเองมาเป็นนักเขียนประวัติศาสตร์การทหารและมีผลงานขายดีมากมาย ทั้งคู่ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร จดหมาย บันทึกของกองทัพ รวมทั้งสัมภาษณ์บรรดาพลซุ่มยิงที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อบอกเล่าวีรกรรมอันหาญกล้า และสถานะพลซุ่มยิง ที่บางครั้งถูกตราหน้าว่าฆาตกรเลือดเย็น
ใน หนึ่งนัด หนึ่งศพ เราจะได้เห็นความน่าทึ่งในตัวทหารหาญเหล่านี้ พวกเขานับว่าเป็นมนุษย์ประหลาด ที่สามารถซุ่มคอยอย่างใจเย็น อดอาหารได้หลายวัน ถ่ายหนักถ่ายเบาอยู่กับที่โดยไม่ยอมเคลื่อนไปไหน รอเพื่อจะได้ส่งกระสุนเพียงนัดเดียวปลิดชีพศัตรู นอกจากนี้ พลซุ่มยิงยังต้องเคร่งครัดในวินัย และตัดสินใจเด็ดขาด เพราะวินาทีที่ปล่อยกระสุนอาจหมายถึงความตายของศัตรูหรือไม่ก็หายนะของตนเอง
หนังสือ พาเราย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์การซุ่มยิง ตั้งแต่สงครามในยุโรปจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าพลซุ่มยิงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่สร้างความได้เปรียบในสมรภูมิ ประวัติศาสตร์ของสงครามประกาศเอกราชอเมริกาคงเปลี่ยนไป ถ้าเพียงร้อยเอกแพตทริก เฟอร์กูสัน พลแม่นปืนอังกฤษส่งกระสุนทะลวงกลางหลัง จอร์จ วอชิงตัน ที่กำลังชักม้าเดินจากไป หรือ รัสเซียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคงต้องสูญเสียกำลังพลไปมากกว่านี้
หากไม่ได้ วาสิลี ไซเซฟ พลซุ่มยิงมือดีจากเทือกเขาอูราลที่ทำให้ทหารเยอรมันกลัวลูกกระสุนจนไม่กล้าออกมายืนในที่โล่ง กองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามคงต้องสูญเสียขวัญกำลังใจมากยิ่งขึ้น หาก คาร์ลอส แฮธคอค ไม่ขันอาสาบุกเดี่ยวเข้าไปในฐานของนายพลเวียดนามเหนือ แล้วปลิดชีพเขาด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว
นอกจากนี้ ในส่วนของบทสัมภาษณ์พลซุ่มยิงกว่า 10 นาย ผู้เขียนเรียบเรียงด้วยภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึก ที่เปี่ยมด้วยความกดดัน หวาดกลัว และความเชื่อมั่น ของบรรดาพลซุ่มยิง ขณะนั่งพรางตัวซุ่มรอข้าศึกด้วยความอดทนในสนามรบ ตัวหนังสือเหล่านี้ฉายภาพชัดเจนเสียจนเราพาลนึกว่าได้เข้าไปนั่งเคียงข้างพลซุ่มยิงในสมรภูมิแห่งนั้นจริงๆ
หากดูจากสถิติ นับเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกินที่จะปลิดชีวิตทหารศัตรูในสนามรบ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัมพันธมิตรโปรยปรายกระสุนราว 25,000 นัดสังหารทหารศัตรูหนึ่งนายให้เสียชีวิต สัดส่วนกระสุนต่อศพไต่สูงขึ้น กองกำลังสหประชาชาติในเกาหลีใช้กระสุน 50,000 นัดต่อหนึ่งศพศัตรู ในเวียดนาม ทหารจีไอใช้ปืนเอ็ม-14 เมื่อเริ่มสงคราม และเปลี่ยนมาเป็นเอ็ม-16 ในเวลาต่อมา ผลาญกระสุน 200,000 นัดต่อศัตรูหนึ่งซาก
สถิติน่าอัศจรรย์เพิ่มหลายเท่าตัวเมื่อพิจารณาทักษะของนักรบบางเรื่อง นักรบสายตาแหลมคม ความอดทนข่มกลั้นไร้ที่สิ้นสุด การพรางตัวแฝงซ่อนและเดินป่าเป็นเลิศ พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าอาวุธทรงประสิทธิภาพที่สุดในสนามรบคือ กระสุนนัดเดียว เล็งเป้าประณีต การแกะรอยศัตรูเหมือนการล่าสัตว์ใหญ่ พลแม่นปืนตราปรัชญาแจ้งชัดแล้วว่า กระสุนนัดเดียวเข้ากลางเป้า กระสุนราคาไม่กี่เซ็นต์ ยิงด้วยความแม่นยำดุจศัลยแพทย์ฝีมือประณีต ปลิดชีวิตศัตรูได้ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าระเบิดหนึ่งพันปอนด์ที่ทิ้งเปะปะ
ในแง่สถิติ พลซุ่มยิงที่ผ่านการฝึกมาแล้ว ใช้กระสุน 1.3 นัดต่อศัตรูหนึ่งศพ
"หมาป่าโดดเดี่ยวคนหนึ่งรอดมาได้ในสมรภูมิ" นายพลจอร์จ โอ. ฟานโอเด็น นาวิกโยธินสหรัฐฯ เขียนในรายงานรุกเร้าให้มีการใช้พลซุ่มยิงในการรบ "เขาไม่ออกล่าเหยื่อร่วมกับฝูง ทำงานคนเดียวหรือมีเพื่อนร่วมทางอีกคน เขาจะซ่อนตัวใกล้จุดปะทะ บางคราวซ่อนตัวอยู่หลังผนังของซากกระท่อมที่ยับเยินจากการยิงถล่มของปืนใหญ่ ห่างไกลจากแนวของตน อีกครั้ง เมื่อถึงยามค่ำคืน เขาจะคืบเคลื่อนไปในท้องทุ่งปุพรุนจากกระสุนปืนใหญ่ แทรกร่างเข้าไปในดินโคลน...การล่าของเขามิใช่การสาดห่ากระสุนเข้าใส่หมวดทหารหรือกองร้อย หากแต่เป็นการเด็ดหัวข้าศึกจากการเล็งอย่างดีปล่อยกระสุนฉับไวเข้าใส่คนเพียงคนเดียว...
"เขาเป็นตัวก่อกวนเล็กจิ๋วในมหาสงคราม เขาจะรังควานศัตรู...เขาจะกระหน่ำประสาทของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามทั้งสูงทั้งต่ำอย่งไม่รู้จบสิ้น ก่อนไรเฟิลของเขาจะแผดเสียง ก่อนเขาจะย้อนกลับมาชุมนุมกับเพื่อนพ้อง เขาจะเป็นภัยรังควานที่ศัตรูหวาดกลัวยิ่งกว่าเสียงหวีดหวิวจากกระสุนปืนใหญ่หรือการระเบิดจากปืนครก กระสุนของเขาปลิวมาจากที่ที่ไม่มีผู้ใดทราบ"