บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พท.ซัด"มาร์ค"สั่งทหารปราบปชช.-ปล่อยโกง ยื่นถอดถอนกับ3รมต. นายกฯให้ขยายเวลาประชุมสภา

ที่มา มติชน


"เพื่อไทย"ยื่นซักฟอก"มาร์ค-5รมต." สุเทพ-ชวรัตน์-โสภณ-กรณ์-กษิต ให้วุฒิสภาถอดถอน4 "คลัง-บัวแก้ว"รอด ชง"เฉลิม"นั่งนายกฯ ญัตติซัดละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ปล่อยให้มีการทุจริต มาตรฐานจริยธรรม-คุณธรรมต่ำ

พท.ยื่นซักฟอก"มาร์ค-5รมต."


พรรคเพื่อไทย(พท.) ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 6 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พร้อมกันนี้ได้ยื่นถอดถอนรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ นายชวรัตน์ และนายโสภณ

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน นายวิชาญ มีชัยนันท์ ส.ส.กทม. และนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษก พท. เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอนนายอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรี รวม 4 คน ซึ่งนายประสพสุข รับปากว่า จะรีบไปดำเนินการตรวจสอบรายชื่อตามกระบวนการรัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมาเวลา 13.20 น. นายวิทยา พร้อมคณะเข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 6 คน ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยแยกเป็น 2 ญัตติๆ แรกขอเปิดอภิปรายฯนายกรัฐมนตรี ส่วนญัตติที่ 2 ขอเปิดอภิปรายฯรัฐมนตรี 5 คน และในท้ายญัตติได้เสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานส.ส.พท.เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป


"ชัย"เล็งใช้มาตรฐานสมัย"สมัคร"


นายชัย กล่าวว่า ภายใน 7 วันจะตรวจสอบความถูกต้องของญัตติก่อนจะส่งต่อไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณากำหนดวันอภิปรายที่เหมาะสม เนื่องจากการเปิดสมัยประชุมวิสามัญครั้งนี้ เป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554โดยเฉพาะ แต่หากรัฐบาลยอมขยายเวลา ก็อาจใช้มาตรฐานเดียวกันกับสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝ่ายค้านเคยเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี และเห็นว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องการที่จะใช้เวทีสภาในการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์

ทั้งนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตามที่รัฐบาลเสนอเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ซึ่งนายชัย ได้นัดประชุมในวันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้


ฝ่ายค้านขอก่อนพิจารณางบฯ


นายวิทยา กล่าวว่า เหตุที่ไม่ยื่นถอดถอนนายกรณ์ และนายกษิต เพราะจากการประสานงานรายละเอียดพบในเรื่องความผิดพลาดในการบริหาร อีกทั้งหลักฐานซึ่งนำไปสู่การถอดถอนไม่เพียงพอ ส่วนสาเหตุที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พท.ได้ติดตามการปฏิบัติหน้าที่และการทำงานรัฐบาลมาตลอด และมีความจำเป็นต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจและยื่นถอดถอน ดังนั้นในการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่หลายฝ่ายคาดว่า จะเป็นการพิจารณางบประมาณปี 2554 นั้น พรรคฝ่ายค้านได้ประสานงานกันโดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการเรื่องงบประมาณดังกล่าวมีความน่าแปลกใจที่ดำเนินการเร็วกว่ากำหนดถึง 1 เดือน แสดงถึงเจตนาของรัฐบาลที่ตั้งใจเอื้อประโยชน์ ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านจึงมีความตั้งใจอยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนเรื่องงบประมาณ

นายวิทยา กล่าวว่า ผลกระทบจากการชุมนุมไม่ได้เกิดแต่เฉพาะผู้ประกอบการ หรืออาคารทรัพย์สินอย่างเดียว แต่เกิดต่อจิตใจของผู้สูญเสีย โดยเฉพาะกรณีผู้เสียชีวิต ซึ่งรัฐบาลไม่ได้พูดถึงเลย ฝ่ายค้านจึงต้องการทำหน้าที่อภิปรายเสียก่อนจะมีการดำเนินการเรื่องงบ เพราะวันนี้แม้จะมีงบมากเพียงใด แต่ถ้าไม่แก้เรื่องความขัดแย้งก่อนก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย


อ้างหวังตีแผ่ความจริงลุยม็อบ


"ที่ไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่สมัยประชุมสามัญที่ผ่านมา เพราะเหตุการณ์และการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายค้านในตอนนั้นล่อแหลมมาก ในช่วงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติการที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ถ้าฝ่ายค้านยื่นเสียแต่วันนั้นแล้วเสียงฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เท่ากับว่าฝ่ายค้านประทับตราความชอบธรรมให้รัฐบาลทันทีและเท่ากับผู้ชุมนุมทำผิด แต่ในครั้งนี้ประชาชนที่มาชุมนุมกลับไปแล้วจึงจำเป็นต้องสะท้อนการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมา สถานการณ์จึงต่างกัน"นายวิทยา กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่าครั้งนี้มั่นใจว่า พรรคร่วมรัฐบาลเองจะเทเสียงให้ในการลงมติ นายวิทยากล่าวว่า ความจริงฝ่ายค้านต้องการอธิบายให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ไม่ได้หวังอะไรจากพรรคร่วมรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่หวังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ต้องการให้เห็นความจริง เห็นความผิดพลาดการบริหารโดยรัฐบาล


ซัดรมต.บริหารงานผิดพลาด


"ส.ส.ฝ่ายค้านได้เข้าชื่อยื่นถอดถอน 159 คน และเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 184 คน โดยผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนและอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดนั้น เนื่องจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย, นายชวรัตน์ มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและส่อว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย, นายโสภณ บริหาราชการแผ่นดินโดยกำหนดนโยบายเพื่อมุ่งแสวงหาประโยชน์ในทางทรัพย์สินและประโยชน์ทางการเมือง ส่อว่ารู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้พวกพ้องหรือผู้สนับสนุนทางการเมืองของตนเองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่กำหนดขึ้น

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนนายกรณ์ ดำเนินนโยบายการเงินการคลังและการงบประมาณประเทศผิดพลาดบกพร่อง ไม่ดำเนินการตามแผนงานการบริหารราชการแผ่นดินปี 2552-2554 และแผนนิติบัญญัติปี 2552-2554 มุ่งแสวงหาการก่อหนี้สาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งนำเงินที่ได้จากการกู้ไปดำเนินนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์กับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ส่วนนายกษิต บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศชาติในสายตาประชาคมโลก มีพฤติกรรมข่มขู่ก้าวร้าวต่อมิตรประเทศ สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อฝ่ายที่เห็นต่างกับตนเอง มุ่งทำลายล้างนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


นายกฯละเมิดสิทธิฯร้ายแรง


สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ขาดความรู้ความสามารถ มีพฤติกรรมส่อว่า จงใจไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ กำกับดูแลบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ประสิทธิภาพ มีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่น แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างกว้างขวาง เป็นไปในลักษณะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยการสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามทุกชนิดเข้าทำการปราบปรามประชาชนหลายครั้ง เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายของประชาชนจำนวนมาก


กระทำการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีให้ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาฐานก่อการร้าย กลั่นแกล้งประชาชนผู้สุจริตไม่ให้ทำธุรกรรมในสถาบันทางการเงินและกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้าย ขาดหลักธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล มีปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมต่ำ แนวนโยบายด้านการต่างประเทศล้มเหลว ไร้วินัยการเงินการคลัง

"หากจะให้บริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ "ญัตติระบุ

"มาร์ค"หนุนยืดสมัยวิสามัญ

ด้านนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าก่อน พท.ยื่นญัตติว่า เบื้องต้นคงต้องดูก่อนว่า มีการยื่นญัตติหรือไม่ ถ้ามีการยื่น ประธานสภา จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบญัตติ ถ้าส่งเรื่องมา รัฐบาลก็ดำเนินการตามกระบวนการ
"ต้องดูว่าเขายื่นมา แล้วท่านประธานสภาตรวจสอบแล้วว่าอย่างไร แต่ใจผมคิดว่า ถ้าจำเป็นต้องขยายสมัยประชุมวิสามัญก็สามารถทำได้"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านเป็นการดำเนินการคู่ขนานระหว่างเกมในสภากับเกมใต้ดินหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ามีการยื่นอภิปราย ก็อยากให้ทุกอย่างกลับมาในสภา อย่าเอาสภาเป็นเครื่องมือไปใช้ในการทำให้เกิดความเคลื่อนไหวใต้ดินคู่ขนาน หรือเกิดความวุ่นวายอีก

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแผนสร้างความปรองดอง (โรดแมป) ว่า ได้คุยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลบ้างแล้ว และทราบว่าพรรคร่วมจะมีการพบปะกัน ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้พูดบทบาทที่ต้องช่วยกันทำตามโรดแมปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโรดแมปบางส่วน โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและการมีส่วนร่วมมากขึ้น


ปชป.ให้พท.อธิบายตัวเอง


นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้า ปชป. กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า ปกติการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเป็นการที่ฝ่ายค้านฟอกรัฐบาล แต่ในครั้งนี้เป็นการเอารัฐสภาเป็นที่ฟอกตัวเองให้พ้นผิดจากเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งการซักฟอกเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จะให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พท. แกนนำคนเสื้อแดง เป็นหัวหอกในการอภิปราย ถ้าเป็นเช่นนั้น พท.ควรเปลี่ยนชื่อคนที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี จากร.ต.อ.เฉลิมเป็นนายจตุพร แทน

ด้านนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชก.ว่า พท.มีบทบาทที่ต้องตอบคำถาม คือ 1.การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหตุใดจึงปฏิเสธการยื่นในช่วงสมัยสามัญทั่วไป ทั้งที่รัฐบาลก็ตอบรับ และจะบรรจุเข้าระเบียบวาระ เพราะหากยื่นอภิปรายก่อนหน้านี้อาจเป็นทางออกที่หลีกเลี่ยงการสูญเสียได้ 2.พท.มีบทบาทอย่างไรกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มกองกำลัง บทบาทการสนับสนุน รู้เห็นการสั่งการ ดังนั้น พท.ควรใช้โอกาสนี้อภิปรายบทบาทของตัวเองเพื่อตอบคำถามแก่สังคมด้วย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker