บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

เจรจาไม่ได้ข้อสรุป นปช.ปัดข้อเสนอยุบสภาสิ้นปี จตุพรซัดซื้อเวลา

ที่มา ประชาไท

การเจรจาวันที่ 2 ไม่ได้ข้อสรุป วิวาทะกันเดือด มาร์คปัดเงื่อนไขยุบสภาใน 15 วันขอตั้งธงสิ้นปี ขณะที่แกนนำเสื้อแดงระบุแก้ปัญหาไม่ได้ซื้อเวลา อัดมาร์คพูดไม่เหมือนตอนเป็นฝ่ายค้านที่ให้สมัครยุบสภา อภิสิทธิ์แจงคนละบริบท เหน็บถ้ารัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรมแล้วลงเลือกตั้งทำไม เชื่อยุบเพราะโดนบีบเลือกตั้งไม่สงบแน่

บรรยากาศการชุมนุมของ นปช. ที่สะพานผ่านฟ้า และตลอดถนนราชดำเนิน เมื่อ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมต่างจับจ้องจอโทรทัศน์และจอโปรเจคเตอร์ชมการถ่ายทอดสดเจรจาระหว่างตัวแทน นปช. และรัฐบาล

29 มี.ค.53 การเจรจาของตัวแทนรัฐบาล 3 คน และแกนนำนปช. 3 คน ในวันที่สอง ที่ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เริ่มเวลาประมาณ 18.20 น. ถ่ายทอดผ่านสถานทีโทรทัศน์และวิทยุหลายแห่ง ใช้เวลา ประมาณ 2 ชั่วโมง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลังจากได้หารือกันแล้วเไม่เห็นว่าข้อเสนอการยุบสภาภายใน 15 วัน เป็นทางออก ประชาชนไม่เห็นด้วยก็มี และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ยืดหยุ่น ตนเหลือวาระอีก 1.9 ปี ถ้าให้จัดเลือกตั้งก่อนครบวาระก็ไม่มีปัญหา โดยการจัดการปัญหาต่างๆ ให้แก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คงจะใช้ระยะเวลาไม่นาน หากพร้อมคุยในกรอบนี้ก็คงมีการเจรจาต่อ แต่หากไม่ยอมรับ ฝ่ายรัฐบาลก็ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบสภาภายใน 15 วัน

นายจตุพร ได้กล่าวอ้างถึงครั้งนายอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายค้าน และนำเสนอช่องทางนี้โดยบอกว่ายอมเสียเปรียบเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ นายอภิสิทธิ์ระบุว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่พูดคนละบริบท

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร กล่าวยืนยันว่าเหตุที่มาเรียกร้อง เพราะเห็นว่าท่านมาโดยมิชอบ มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ท่านไม่มีสิทธิแต่แรก จะมาอ้างวาระ 1 ปี 9 เดือนไม่ได้
ประเด็นที่สอง ที่คุยกับพรรคร่วมเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น มันอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ทุกคนต้องการให้มีการเลือกตั้ง หลายส่วนที่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็คิดว่ารับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ท่านและกลุ่มพันธมิตรฯ ก็พูดแบบนี้ และเราต่างก็คาดว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 จะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่ก็ไม่หลุดพ้น เพราะกลไกยังเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ มีกลไกพิเศษบางอย่างที่ทำให้คนไทยที่ไม่เคยเลือกพรรคภูมิใจไทย มาตุภูมิ กิจสังคม ต้องเลือกพรรคเหล่านี้ และนำไปสู่การจัดตั้งรบ.ในค่ายทหาร
ทำไมคนเสื้อแดงจึงเกิดเป็นจำนวนมาก นายกฯ มีเครื่องมือมากมายสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วว่าจ้างมาหรือไม่ แต่ที่เกิดทุกหนทุกแห่ง เพราะทุกคนติดคำว่าสองมาตรฐาน ไม่ว่ายากดีมีจน ทุกคนต่างเข้าใจสองมาตรฐานเป็นอย่างดี และมันเป็นบาดแผลร้าวลึก
ประเด็นต่อมา การดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ผ่านมา 1 ปีกับ 4 เดือนนั้นล้มเหลวทางนโยบายหลายอย่าง เช่น การเซ็นสัญญาอาฟต้า เปิดเสรีนำเข้าสินค้าเกษตร การกู้เงินเป็นจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์ คนไทยเป็นหนี้กันทั้งประเทศ และเป็นการนำเงินกู้มาหาศาลมาใช้นอกงบประมาณแผ่นดิน จึงอยู่เหนือการตรวจสอบของกรรมาธิการทั้ง 35 คณะที่ตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน จึงเกิดข้อสงสัยเรื่องการทุจริต จนคนไทยพูดติดปากว่า “อุ้มมาโกง”
ประเด็นต่อมา เราควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนยุบ หรือยุบก่อนแก้รัฐธรรมนูญ พวกตนเห็นว่ามันไม่มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะตลอดที่ท่านเป็นนายกฯ มีเพียงแต่คำพูดเท่านั้นว่าไม่ขัดข้อง มีการรับปากกับพรรคร่วม แต่เมื่อมีการทวงกัน เมื่อตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พิจารณาแก้ไข 6 ประเด็น ปรากฏว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการแก้ไข เมื่อบรรจุเข้าวาระในสภา ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปนี้ ควรเกิดขึ้นภายใต้กติกาที่ประชาชนเลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ เพราะเรามีความเห็นที่แตกต่างกันหลายส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 309 เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นจริง และเห็นว่ามันสายไปแล้วที่จะพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และการยุบสภาที่ท่านเคยพูดในวันที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ว่าจะทำให้ประเทศผ่านวิกฤตไปได้ วันนี้เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางประชาธิปไตย คำพูดท่านจะเป็นอมตะ ในวันที่ท่านปฏิบัติเอง
“การเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องงดงามที่สุด วันนี้ผมขอเป็นฝ่ายเสียเปรียบและขอยอมรับผลการเลือกตั้ง เชิญชวนทุกภาคส่วนให้เอาการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า การเสียสละของท่าน จะนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตไปได้ ถ้าเสียสละแล้วได้รับการยอมรับกลับมาท่านก็จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าไม่ยุบสภา ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะจบชีวิตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไร” จตุพรกล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นึกว่าการเจรจาครั้งนี้จะเดินไปข้างหน้า แต่กลับมีการพูดถึงหลายเรื่องที่เป็นเท็จ เรื่องมาโดยไม่ชอบ การเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส.ส.มีสิทธิจะโหวตโดยไม่ผูกพันกับมติพรรคด้วยซ้ำ รัฐบาลนี้อยู่ในตำแหน่งก็อยู่ในกระบวนการรัฐสภาทั้งสิ้น อภิปรายไม่ไว้วางใจก็แล้ว เลือกตั้งซ่อมก็มีหลายครั้งและฝ่ายรัฐบาลก็ชนะหลายเขต เป็นกระวนการตามปกติ ถ้าจะเถียงอย่างนี้คงไม่จบ
“มันมีข้อคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ชอบ แล้วท่านลงเลือกตั้งทำไม ตำแหน่งส.ส.ท่านก็เป็นลาบที่ไม่ควรได้เหมือนกัน แล้วท่านก็ใช้เอกสิทธิ์ส.ส.ทุกประการ ประเด็นคือเมื่อมีกติกาก็เล่นตามมกติกา ถ้าจะแก้ก็มาว่ากัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งอย่างมากซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของบางพรรคที่มีการทุจริตการเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า เรื่องบอกให้รับแล้วแก้นั้น ตนก็เป็นคนที่สนับสนุนให้แก้ แต่คำว่าแก้ ต้องเข้าใจว่ามันอาจคิดต่างกัน กระบวนการของรัฐธรรมนูญเมื่อวางมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะเราเป็นนิติรัฐ รายละเอียดว่าแก้ไม่แก้อย่างไรก็มาว่ากัน ถ้าไม่ยอมรับรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐบาลชุดก่อนก็เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญนี้เหมือนกัน อย่างนี้ก็เรียกสองมาตรฐาน
ประเด็นที่สาม เรื่องสองมาตรฐาน เรื่อง 2 มาตรฐาน มีการพูดตั้งแต่เมื่อปี 2544-45 สมัยคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) เรื่องปิดบังทรัพย์สินของภรรยา และมีกรณีของคุณประยุทธ มหากิจศิริที่คล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการลงโทษคุณประยุทธ ส่วนคุณทักษิณ ถูกตัดสินว่าไม่ผิด เรื่องนี้ 2 มาตรฐาน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรายอมรับ เราต้องยอมรับกระบวนการของศาล ถ้าวันนี้เลือกคดีโน้นคดีนี้ยอมรับบ้างไม่ยอมรับบ้าง มันก็ไม่มีข้อยุติ ท่านบอกศาลเชื่อถือไม่ได้ คดีไหนถูกใจท่านท่านก็ว่าศาลยุติธรรม คดีนี้ไหนไม่ถูกใจก็บอกว่าสองมาตรฐาน ระหว่างนี้นายจตุพรโต้ว่า เรื่องนี้ต้องว่ากันเป็นคดีๆ บางคดีที่เห็นว่าไม่ถูกต้องตนก็ได้ยื่นถอดถอนผู้พิพากษาเช่นกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อเรื่องระยะเวลาดำเนินคดีที่ถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐานว่า คดีไหนยากก็ต้องใช้เวลา กรณีการชุมนุมสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล บางคคีออกหมายเรียกแล้ว บางคดีคุมขังกันไปแล้วด้วย เช่น การยิงที่วิภาวดีรังสิต แต่คดีที่กระทรวงมหาดไทยที่มีการล้อมกรอบทุบรถ ตนก็ไม่เคยเข้าไปยุ่ง ข้อหาเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร คิดว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่ง ฉะนั้น การหยิบเรื่องใดเรื่องหนึ่งแบบนี้ คือสิ่งที่ไปเติมเชื้อความขัดแย้ง และเกินเลยไปกว่าที่พูดเรื่องยุบสภาเยอะ
ประเด็นที่สี่ ประเด็นนี้จุกจิกมาก จริงๆ ควรไปอภิปรายที่สภา เรื่องอาฟต้านั้นเป็นข้อตกลงนานแล้ว และยังสงวนสินค้าอยู่ 3 ประเภท เรื่องกู้เงิน ปีที่แล้วการกู้เงินพิเศษนอกกรอบงบประมาณ มี พ.ร.ก.4 แสนล้าน รัฐบาลเห็นว่าเร่งด่วนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ตอนนั้นก็มีคนปรามาสว่าทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ตัวเลขปรับสูงขึ้นมาก ถามว่ากู้มากที่สุดไหม มากที่สุดคือปี 2545 สมัยอดีตนายกฯ ทักษิณที่กู้ 7.45 แสนล้าน ซึ่งตนก็ไม่ติดใจ เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นก็กู้ แต่ข้องแตกต่างคือขณะนี้ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ไม่กระทบประชาชน ส่วนเรื่องทุจริต พูดมาตลอดว่าเกิดทุกยุคทุกสมัย ความต่างอยู่ที่ว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้หรือไม่ รัฐมนตรีหลายคนก็แสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนแล้วถือเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นใหม่ แล้วดคีทุจริตที่ตัดสินแล้วทำไมท่านไม่พูด ยุคนั้นมีไหมที่จะแสดงออกให้ตรวจสอบ อย่างกรณี GT200 เราก็มีการตรวจสอบชัดเจน แต่ซื้อครั้งแรกในสมัยอดีตนายกฯทักษิณ ราคาก็แบบนี้แหละ ส่วนกรณีต่างๆ ที่หยิบยกมานั้นก็ก็ตั้งกรรมการสอบ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ
นายอภิสิทธิ์ พูดถึงประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญต่อว่า ตนบอกว่าแก้ได้แต่ควรแก้ในบางประเด็น เช่น ความไม่สอดคล้องกันระหว่างที่มาและอำนาจของวุฒิสภา หรือเรื่องเทคนิคอย่างมาตรา 190 แต่อย่าไปแก้ประเด็นละเอียดอ่อน 2 ลักษณะ คือ แก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือแก้เพื่อล้างความผิดให้คนทำผิด เราก็เห็นว่ากระแสที่ต่อต้านการแก้ก็มุ่งสองเรื่องนี้ ตนคุยชัดเจนตอนตั้งรัฐบาลว่าบางประเด็นเอา ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บางประเด็นไม่เอา เช่น นิรโทษกรรม แต่นิรโทษกรรมทิ้งไว้บางส่วน ถ้าผิดการเมืองอาจเป็นได้ แต่อาญาไม่ได้ เรื่องเขตใหญ่เขตเล็กนั้นคงต้องคุยกันยาวเพราะพรรคการเมืองเห็นไม่ตรงกัน ต่อมาท่านมาเรียกร้องกันเมื่อปีที่แล้ว ตนก็เป็นคนเสนอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษา แต่ผู้ล้มกระบวนการแก้คือพรรคฝ่ายค้าน คนที่ปฏิเสธคือฝ่ายท่าน
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรา 309 นั้น นายอภิสิทธิ์ระบุว่า เขาตีความก้ำกึ่งกันว่ามันนิรโทษกรรมหรือเปล่า นายกฯ สมัครยังบอกว่าอย่าพูดเลยมาตรานี้ ฉะนั้น ตนว่าการที่จะบอกว่าทุกคนเห็นพ้องว่าอยากจะแก้ คงไม่ใช่
“ผมขอย้ำอีกครั้งว่า1.อะไรเป็นหลักประกันของความสงบเรียบร้อยของการเลือกตั้ง ผมว่าไปสอบถามคนส่วนใหญ่ได้ว่ากี่คนที่เชื่อว่าจะสามารถเลือกตั้งโดยสงบภายใต้บรรยากาศบ้านเมืองแบบนี้ ถึงแม้ผมจะเชื่อท่าน 100% ว่าคุมทุกอย่างแล้ว พยายามทุกอย่างแล้ว ก็ไม่คิดว่าความเป็นจริงจะคุมได้ ตอบได้ไหมว่าที่ตีรถที่กระทรวงมหาดไทย แดงแท้หรือแดงเทียม แกนนำไม่แม้แต่ห้ามปราม มีแต่ระดมคนเข้ามามากขึ้นมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า เรื่องมีการกล่าวอ้างว่าจะปราบประชาชนนั้น ไม่มี การสั่งการของตนทุกครั้งให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตของคน
“อารมณ์ของคนนั้นรุแรง ซึ่งต้องใช้เวลาปรับอารมณ์ลง และมีคนอารมณ์รุนแรงเกี่ยวกับพวกท่านเหมือนกัน ผมก็บอกเขาเสมอว่า อดทน อดกลั้น อย่าทำอะไรให้เกิดการปะทะ แต่ถามว่าผมสามารถสั่งได้ทุกคนไหม ผมคงไม่เก่งเท่าท่านที่บอกว่าสั่งได้ทุกคน” นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้บอกว่าจะต้องอยู่ครบวาระ
ระหว่างนี้มีการโต้เถียงกันระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายจตุพร เรื่องการทุบรถประจำตำแหน่งนายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายจตุพรอ้างว่า คนเสื้อแดงโดนคดีทั่วประเทศและไปรายงานตัวหมด ยกเว้นกรณีทุบรถที่ตำรวจออกหมายเรียกกว่า 20 คนแล้วไม่มีใครไปรายงานตัว เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารปลอมตัวมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านายจตุพรพูดโดยไม่มีหลักฐาน และยืนยันว่าอยู่ในรถที่กระทรวงมหาดไทยอย่างแน่นอน และหากชุมนุมโดยสงบจริง อ้างว่าแดงปลอมกระทำรุนแรงจริง ทำไมแกนนำเสื้อแดงที่อยู่นอกรั้วไม่มีการห้ามปรามการกระทำดังกล่าว
ชำนิ ได้พยายามยุติการโต้เถียงดังกล่าว พร้อมนำเข้าสู่ประเด็น โดยถามว่า ข้อเสนอของ นปช.เป็นเรื่องตายตัวใช่ไหม และสามารถปรับแต่งเวลาได้หรือไม่ ซึ่งนายวีระระบุว่า ต้องการรับฟังความเห็นของทางรัฐบาลก่อน
ต่อมานพ.เหวง ได้ขอใช้สิทธิในการพูด โดยแสดงการตักเดือนนายกฯ ว่า ในฐานะคนแก่อยากจะเตือนนายกฯ ไม่ให้ลงไปต่อล้อต่อเถียงทุกเม็ด และนี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าระบบคดทางการเมืองของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น การยุบสภาจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด นี่คือลักษณะพิเศษของประชาธิปไตย ซึ่งยอมรับความเห็นแตกต่างแต่ไม่ให้มันบานปลายไปสู่การสู้รบปรบมือกัน แล้วใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ ให้ไปจบที่คูหาเลือกตั้ง
เหวงกล่าวอีกว่า นายกฯ ใช้คำว่าอารมณ์หลายครั้งและระบุว่าประชาชนใช้อารมณ์ท่วมท้นจนไม่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งนั้น ตนเห็นต่างและเห็นว่านายกฯ ควรเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากกว่านี้ และยืนยันว่าคนเสื้อแดงมีวินัย ไม่ใช่ความรุนแรง หลังจากนั้นนพ.เหวง ได้พยายามชูรูปเพื่ออธิบายว่ามีทหารยิงประชาชนในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว และรัฐบาลพูดไม่ตรงความจริงที่บอกว่ามีแต่ยิงขึ้นฟ้า และใช้กระสุนยาง
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้รับภาพดังกล่าวไว้ และว่าภาพพวกนี้ได้เคยมีการหยิบยกมาอภิปรายในสภาแล้ว และได้สั่งการให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันได้ว่าไม่เคยสั่งให้ทำร้ายประชาชน ถ้ามีใครทำผิดก็จะต้องมีการดำเนินการ ส่วนที่พูดเรื่องอารมณ์นั้นไม่ได้บอกว่าไม่เชื่อประชาชน แต่เรามีประสบการณ์ในอดีตแล้ว การรรัฐประหารเกิดขึ้นก็เพราะมีประชาชนมาตีกัน กลายเป็นข้ออ้างการเกิดรัฐประหาร
วีระ ได้ถามว่ารัฐบาลเองเห็นควรในระยะเวลาเท่าไรสำหรับการยุบสภา
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้พิจารณากันหลายเรื่อง ถามว่าอยากเห็นอะไรก่อนการเลือกตั้ง 1.เศรษฐกิจ ตอนนี้ค่อนข้างดีแล้ว 2 กติกาคุยกับพรรคร่วม ฯ หลายส่วนแล้วพบว่าถ้าทำได้เขาให้ปฏิทินงบประมาณไปตามปฏิทินได้ไหม ใครจะมาใช้ก็อีกเรื่อง และทางที่ดีควรจะเริ่มจากการประกาศทำประชามติ หาประเด็นร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันเสียก่อน 3.บรรยากาศ ก่อนไปสู่การเลือกตั้งก็ควรทำให้บรรยากาศเป็นปกติเสีย
“ถ้าสิ้นปีนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นี่ก็พูดแบบคร่าวๆ ถ้าติดใจก็มาไล่เรียงกันเป็นประเด็นๆ ไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายวีระ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องความเชื่อ เสื้อแดงเห็นว่าจะให้เวลาเท่าไรก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับอนาคตที่ดี ถ้าท่านเชื่อว่าแก้ได้ก็ดีเหมือนกัน ควรพิสูจน์โดยประชาชนตัดสินในสนามเลือกตั้ง ส่วนนี้ก็จะเป็นต้นทุนส่วนของท่าน ส่วนกติกานั้นมีปัญหาแน่นอน เดิมก็รอกัน แต่สภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ควต้องยกยอดไปสู่การเลือกตั้ง แล้วก็ถามเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญไปด้วย ส่วนบรรยากาศนั้นช่วยกันสร้างได้ เสื้อแดงยืนยัน อย่างไรก็ตาม การเสนอกรอบเวลาเลยกรอบงบประมาณนั้นยาวไป ขณะนี้เห็นข้อเสนอของนักวิชาการพูดกันที่ 3 เดือน ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้เห็นด้วย ไม่ใช่ข้อเสนอของคนเสื้อแดง แต่สมมติว่า กรอบกติกานี่เพียง 2 เดือนน่าจะทำได้ ถ้าทำจริง ท่านลองพิจารณาตัดเรื่องกรอบเวลางบประมาณออกไปก่อน เพราะในอดีตก็เคยมีการยุบสภาช่วงเดือน มิ.ย. ก.ค. แล้วรัฐบาลใหม่ก็มาทำงบประมาณ มันก็เป็นไปได้
“ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ท่านต้องเห็นใจพวกผมหน่อยเดียวตรงที่ว่า คนเสื้อแดงเขามาทวงสิทธิของเขา ขอสิทธิคืนไปตัดสินใจอนาคตตัวเองอีกครั้งหนึ่ง แน่นอน ต้องการการเสียสละจากท่าน” นายวีระกล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องการให้เรื่องงบประมาณเป็นไปตามปฏิทินไม่สะดุดนั้น เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกรุนแรงมาก รายได้หายไปถึง 2 แสนล้านเมื่อตนเข้ารับตำแหน่ง และรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขฯเดียวกันก็มีการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ลง เช่น สำนักนายกฯ ปรับลดถึง 45% ไม่ควรจะให้การเบิกจ่ายสะดุดลงอีก นอกจากนี้ นโยบายหลายเรื่องประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ ถ้าตรงนี้ชะงักก็ลำบาก
นายกฯ กล่าวว่า เสียสละไหม มันเหลือ 1 ปี 9 เดือน สิ้นปีนี้ก็ถือว่าเฉือนไปเลย 1 ปี อยากเรียนอีกครั้งว่า คนบางกลุ่มก็มองว่าเรามาตกลงกัน 6 คนได้อย่างไร ตนไม่มั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้ยุบสภา แต่อย่างไรก็ตาม ตนพยายามไม่หยิบเรื่องนี้มาเถียง แต่หาจุดกลางๆ พอไปได้
จตุพร ตามกม. ทำอะไรก็ตามไม่น้อยกว่า 90 แต่ไม่เกิน 120 วัน ถ้าเรื่องนี้เริ่มปฏิบัติใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามเดือน เชื่อว่าอายุรัฐบาลคงไม่ทัน ประเด็นเศรษฐกิจจะเอามาผูกมัดรวมไม่ได้ เพราะไม่มีใครรับประกันได้ สิ่งที่พูดมาหากเป็นสถานการณ์ปกติเป็นเรื่องน่ารับฟัง แต่สถานการณ์เช่นนี้ มันยาวนานเกินไปกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถ้าวัดที่การเลือกตั้ง ท่านมั่นใจว่าคนไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเยอะ ท่านย่อมได้รับเสียงข้างมาก
อภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ติดใจ เลือกแล้วแพ้ ชนะ ก็ไม่มีปัญหา แต่จะเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การยุบสภาโดยการกดดันของคนกลุ่มหนึ่ง ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็พร้อมจะไม่เลือกผมอีกก็มี ดังนั้นไม่ได้รับประกันว่าจะชนะ ส่วนถ้ากลัวว่ารัฐบาลจะเบี้ยวสัญญา ก็ขอยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น
ชำนิ กล่าวว่า หากต้องการให้เมืองไทยก้าวพ้นวิกฤตจริงๆ จากการเลือกตั้ง ก็น่าจะต้องปรับเปลี่ยนกติกาให้เป็นที่ยอมรับก่อน หากไปเลือกตั้งโดยไม่ปรับเปลี่ยนกติกาปัญหาก็จะเกิดอีก สำหรับระยะเวลา 9 เดือนนั้นถือว่าไม่มาก เพราะการทำประชามติต้องใช้เวลา การแก้ไขก็มีขั้นตอนที่กำหนดเวลาไว้หมด อย่างไรก็ตาม หากเราผ่านกระบวนการทำประชามติไปได้ก็จะนำสู่บรรยากาศที่ดี
“ผมจึงบอกว่า 1 ปี 9 เดือนไม่พอด้วยซ้ำกับ 3 ข้อที่ว่า” จตุพรกล่าว
กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เรามานั่งคุยกันตรงนี้เพราะอยากจะหาข้อยุติ โดยที่ไม่มีใครเชื่อใคร แต่ก็อย่าปฏิเสธอะไรกันเร็ว ท่านบอก 15 วัน เราคุยกันแล้ว บอก 15 วันเป็นไปไม่ได้และต้องคุยต่อ ปัญหาบ้านเมืองที่หนักหนาจะจบภายในการเจรจาสองครั้งเป็นไปได้ยาก หากจบได้คือจบแล้วไม่ได้พูดกันอีก ออกทีวีแล้วใส่ร้ายป้ายสีกันก็จบ ถ้าท่านอยากให้มันจบเพื่อประเทศไทย เราทดสอบกันได้ เรายังไม่ต้องเลือกตั้ง ไปทดสอบโดยกลับไปหาประชาชน ท่านมีเสื้อแดงกี่คน สีอื่นมีกี่คน คนอื่นๆ ที่ไม่ใส่สีเสื้อมีกี่คน ใช้เวลา 120 วัน แล้วมาดูกันว่าใครผิดกติกาก่อน ท่านชุมนุมได้ แต่เป็นไปตามที่ศาลปกครองวินิจฉัยไว้ พวกผมไปทำผิดกฎหมาย สลายการชุมนุมไม่ได้ เพราะต้องเคารพสิทธิการชุมนุม พอทำประชามติเสร็จทุกคนโล่งอกหมด หลังจากนั้นค่อยกลับมาดูกัน ยังไม่อยากให้เยสหรือโนวันนี้ เพราะมันเรื่องใหญ่ อีกสองวันเจอกันอีกก็ได้
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากตนอยู่พรุ่งนี้ก็คุยได้เลย แต่ติดภารกิจต้องไปต่างประเทศ พร้อมเจรจาวันพฤหัสเช้า
วีระ กล่าวว่า ฝากให้ช่วยคิดแทนด้วยว่า คนที่มา เขาไม่ใช่มาเรื่องรัฐธรรมนูญประเด็นเดียว เขาไฟลน เรื่องยุบสภา เพราะเขาต้องการที่จะเปลี่ยนรัฐบาล โดยขอประชามติ ท่านเป็นรัฐบาลก็ไม่จัดการเรื่อง 2 มาตรฐานซักที และมีการทุจริต ถ้าบอกจะขอเวลา 9 เดือน ระหว่างนี้ก็ยังสองมาตรฐานอยู่
อภิสิทธิ์ เรายังต้องทำงานต่อหลังการตกลง หากยังติดใจเรื่อง 2 มาตรฐานก็เอาคดีความต่างๆ ที่ค้างอยู่มานั่งคุยกันก็ได้ ผมมาชวนทำบรรยากาศบ้านเมือง ติดใจเรื่องอะไรก็มา นายจตุพรกล่าวตอบโต้ว่า นอกจากบรรยากาศของพวกท่านเอง หลายเรื่องท่านก็ไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่ กล่าวหา ใส่ร้ายไม่เว้นแต่ละวัน มันจึงเป็นที่มาของการชุมนุม หลายเรื่องที่ท้าไปไม่เคยพิสูจน์อะไรได้ ความรู้สึก ความร้อนแต่ละคนจึงแตกต่างกันและมันสิ้นหวัง ทุกคนต้องการบรรยากาศดีทั้งนั้น คำว่า “ซื้อเวลา” เราได้ยินคำนี้มานาน มันไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจเพิ่มมากขึ้น และอาจจะยิ่งบานปลาย นายอภิสิทธิ์โต้แย้งว่า การซื้อเวลาแปลว่าไม่ทำอะไร แต่ตนชวนทำหมดเลย ฉะนั้น ยิ่งพูดสิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งเห็นว่าการยุบสภาไม่ตอบโจทย์เลย
อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันอีกครั้งระหว่างนายจตุพร และนายอภิสิทธิ์ กรณีที่นายอภิสิทธิ์เคยเสนอยุบสภาเมื่อครั้งมีการชุมนุมของพันธมิตรฯ และนายวีระได้กล่าวว่า ต้องพูดจากัน ถ้ามันตันช่วงนี้ พูดมะรืนนี้ก็ได้ นายกฯ ระบุว่ายินดีจะคุยวันพฤหัสนี้
นายจตุพรได้กล่าวถามถึงกรณีการเอาทหารเข้าไปประจำวัดอีกแล้ว นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ทหารเข้าช่วยดูแลความปลอดภัย เพราะระเบิดเกิดทุกคืน โดยไม่รู้ใครทำ ทหารไม่มีอาวุธไปทำร้ายท่านแน่นอน และผมได้กำชับไปแล้ว ขณะที่นพ.เหวงกล่าวว่า เดือนเม.ย.ก็มีการกำชับแต่พบว่ามีการยิงประชาชน ดังนั้น ควรยกเลิกการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง หากอยากจะเจรจากันดีๆ โดยอภิสิทธิ์กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงประกาศมาแล้วห้าครั้ง เป็นการกระทำเพื่อป้องปราม ไม่ใช่เกิดเรื่องแล้วค่อยประกาศอย่างที่เกิดที่การประชุมอาเซียนที่พัทยา ที่ผ่านมาทหารก็ไม่เคยเข้าไปคุกคามผู้ชุมนุม หากไม่อยากให้อยู่วัด อยากให้อยู่ที่ไหนก็ให้เสนอมา พูดคุย ผมไม่เรียกร้องแม้แต่ให้ท่านเลิกชุมนุม
จตุพร สรุปว่า แกนนำมาด้วยฉันทานุมัติของมวลชนคือยุบสภาใน 15 วัน หากฝ่ายท่านไม่รับ เราก็กลับไปด้วยเงื่อนไขนี้ อย่าเพิ่งนัดกันเลย ขอให้จบลงว่าการเจรจาสองฝ่ายไม่บรรลุผล แล้วเป็นเรื่องอนาคตว่าจะพูดคุยกันอีกหรือไม่ โดยนายอภิสิทธิ์ ตอบว่า เป็นการตัดสินใจของท่าน แต่ตนยืนยันว่าต้องตัดสินใจโดยคำนึงถึงคน 60 ล้านคน ขณะที่นายวีระเสนอว่า หากจะมีการพูดคุยกันอีก ก็สามารถคุยนอกรอบ ไม่ต้องตั้งกันอย่างนี้ก็ได้ ฝ่ายรัฐบาลมีท่าทีเห็นด้วย นายจตุพรกล่าวว่า ตนอยู่กับประชาชน ประชาชนก็ต้องมีความสบายใจและตรงไปตรงมา หากมาก็ต้องเปิดเผยกันแบบนี้ จึงขอสรุปวันนี้ว่า การเจรจาสองวัน ต่างคนต่างมีข้อเสนอและยังไม่บรรลุ ให้จบลงตรงนี้ ต่างฝ่ายต่างปฏิเสธ ส่วนอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่เสนอนั้นเพราะเกรงจะเสียเวลา หากมีการคุยรายละเอียดกันนอกรอบ เมื่อตนกลับมาก็สามารถเจรจากันต่อได้ทันที แต่นายจตุพรยังคงยืนยันว่าให้สรุปดังที่เสนอ และจะกลับไปถามผู้ชุมนุมว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker