โดย คุณ เสรีชน
ที่มา เวบบอร์ด ประชาไท
4 กุมภาพันธ์ 2553
เมื่อประชาชนรวมตัวจะยื่นถอดถอนเก้าผู้พิพากษา สะเทือนเกียรติประวัติของศาลฎีกาอย่างร้ายแรง
โดยเฉพาะตัดสินเสร็จต้องให้คนมาเชียร์ ต้องขอให้ผู้คนยอมรับศาล แต่เหตุผลของศาลแต่ละข้ออ่อนยวบ โต้ฝ่ายที่กล่าวแก้ศาลไม่ได้เลย ไม่มีใครชม ก็ชมกันเอง เจ้าเก่าทั้งนั้น สภาหอการค้า ประธานการท่องเที่ยวบอกว่า ศาลตัดสินมีเหตุผลทุกข้อ เป็นคำพิพากษาค้อนทอง แต่คนพวกนี้ไม่เคยอ่านความเห็นจากประชาชนที่ชัดเจนขนาดชี้ได้ว่า คำพิพากษานี้ละเมิดกฎหมายเอาเลยทีเดียว เมื่อผู้คนทั่วประเทศไม่ยอมรับหนักขึ้นถึงขั้นจะถอดถอนศาล นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ค้อนเคลือบสนิม ก็ออกมาขู่ว่า ใครลงชื่อถอดถอนตุลาการ ถ้าไม่มีเหตุผลจะโดนฟ้องกลับ
ผมเห็นว่า นายวิรัช กำลังอวดดี และหลงต่ออำนาจ นายวิรัชคนนี้ ดูตามประวัติก็ไม่ใช่คนเก่ง หรืออัจฉริยะอะไรหนักหนา จบ มศ 5 โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยา ราชบุรี สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคที่คะแนนเอนทรานซ์คณะนิติ มธ สุดต่ำ จบ มธ มาได้เกียรตินิยม แต่ทำไมมี ยุคที่การแข่งขันของนักเรียนกฎหมายสมัยนั้นต่ำ คนหัวดีๆ ไม่ไปเรียนคณะนิติ แถมจบมา ท่านก็ไม่เคยสอบชิงทุนไปนอกอะไร ไม่ได้แสดงปัญญาความสามารถในฐานนักเรียนนอกที่มีดีกรีนักเรียนทุน พูดง่ายๆ ใช้การท่องตำราแล้วสอบเข้าศาล ความรู้ในการพัฒนากฎหมายของท่าน จึงเป็นที่สงสัยแก่ผู้คน
แต่เอาล่ะ จะเก่งไม่เก่งคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ คนเก่งหลายคนทำงานไม่เป็น คนเรียนนอกหลายคนทำงานแล้วโง่บรม อย่างนายกรัฐมนตรีออกฟอร์ดคนนี้ ก็เห็นๆ กันอยู่ เรียนนอก แต่ทำงานไม่เข้าตา ศก ก็แย่ การต่างประเทศมีแต่ศัตรู สังคมมีแต่ยาบ้าหาง่ายกว่ายาแก้ปวดหัว มันก็ไม่ไหวเหมือนกัน
ประเด็นคือ ปัญหาที่ท่านวิรัช ยกยอตุลาการพวกท่านหนักหนา แต่ผมก็มีข้อสงสัยในความบริสุทธิ์ของศาลที่อยากจะทบทวนความทรงจำและเป็นข้อสังเกตกับผู้อ่าน ดังนี้ ผมจะยกเป็นข้อๆ
ประเด็น : ศาลอาจไม่ได้เป็นกลาง หรือมีแนวโน้มจะเป็นกลาง อย่างที่นายวิรัชหรือพวกหอการค้าพยายามสร้างภาพ ทบทวนความจำกันสักนิด
1.ตอนรัฐประหาร 19 กันยา ศาลใหญ่อย่างนายจรัญ ภักดีธนากุล คู่ซี้ของนายวิรัชไปร่วมอะไรกับทหารที่ก่อรัฐประหาร ทั้งที่ตอนนั้น นายจรัญยังเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะอุทธรณ์ ยังอยู่ในตำแหน่งศาล ไปร่วมร่างประกาศ คปค วางแผนให้คณะปฎิวัติ ให้นายมีชัย มือกฎหมายของทหาร จนที่สุด นายจรัญได้ดิบได้ดี เป็นปลัดยุติธรรมและต่อมา เป็นศาลรัฐธรรมนูญ
2. วันที่ 6 พฤษภาคม 2549 ที่บ้านนายปีย์ มาลากุล เจ้าพ่อช่องห้า และจส 100 มีการพูดคุยกันของคนสำคัญของบ้านเมือง ประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ พล.อ.พัลลภ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา นายปราโมทย์ นาครทรรพ และนายปีย์เจ้าบ้าน .คุยกันเรื่องการเมือง การหาทางล้มรัฐบาลทักษิณ และมีการพูดถึงขนาดจะทำให้ทักษิณหายไปจากโลกยังไง คือ การฆ่าท่านทักษิณ ถามว่า นายอักขราทร นายชาญชัย นายจรัญ ล้วนเป็นคนใหญ่ในศาลใช่หรือไม่ อาจมีผู้ไม่รู้มาแย้งว่า แต่เก้าคนที่ตัดสิน ไม่ใช่คนที่ไปประชุมบ้านนายปีย์นี่ แบบนี้ก็อ่านข้อ 3 หาความเกี่ยวโยงกัน
3. เมื่อมีการร่าง รธน ปี 50 กลุ่มผู้พิพากษาพวกนี้ ได้วางแผนสิบปี เพื่อบล้อกการกลับมาของท่านทักษิณแบบมีเชิงแฝงไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เดิมตาม รธน 40 ศาลเกษียณอายุ 60 แล้วได้รับตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ให้ทำหน้าที่ในศาลชั้นต้น เพื่อบรรเทาความแออัดของคดี แต่พอปี 50 นายชาญชัย นายจรัญ และพวก แก้กฎหมายใหม่ ให้ศาลที่เกษียณมา ทำหน้าที่ผู้พิพากษาอาวุโส โดยตัดสินคดีในศาลเดิมคือ ศาลฎีกาได้ ดูมาตรา 306 ของ รธน 50 อย่าลืมว่า ผู้พิพากษาในศาลฎีกาเหล่านั้น เคยร่วมกับท่านชาญชัย ในการไม่แต่งตั้ง กกต เพิ่มเติมตาม รธน 40 ซึ่งเป็นการขัด รธน และนายชาญชัยเคยบอกว่า ตอนนี้ ต้องใช้กฎหมายธรรมชาติ คือ ยอมรับว่า ไม่เป็นไปตามตัวบท แต่จะขอใช้กฎหมายธรรมชาติ คือ ความยุติธรรมที่ชาญชัยคิดว่ามี และเป็นยุติธรรมแบบนายชาญชัย ศาลพวกนี้จึงเป็นคนที่มีทัศนะตรงข้ามกับทักษิณมาแทบทั้งนั้น ถามว่า เราจะยอมรับได้อย่างไร สำหรับศาลที่ไม่เป็นกลาง ร่วมกันทำลายหลักเกณฑ์ใน รธน 40 มาตัดสินคดีทักษิณ แต่สื่อไม่ออกข่าวนี้ แต่แกล้งชมว่า ศาลเป็นกลาง ทั้งที่มีที่มาที่ไปด้วยการดันของนายชาญชัย ทำให้ผู้พิพากษาอาวุโสที่สงสัยว่ามีอคติกับท่านทักษิณ เข้ามานั่งพิจารณาคดีนี้ด้วย
4. มีหลักการทางกฎหมายในเรื่องความเป็นกลางของผู้พิพากษา ที่ตัดสินคดีว่า ศาลต้องไม่เคยเกี่ยวข้องกับคดี หรือรู้ที่มาที่ไปของคดีมาก่อน (impartiality) เพราะจะถือว่า มีอคติกับคู่ความได้ง่าย แต่ในคดีนี้ผู้พิพากษา 6 จาก 9 คน เคยทำคดีทักษิณมาแล้วทั้งสิ้น
นายสมศักดิ์ คดีที่ดินรัชดา
ธานิศ ทำคดียุบพรรค
พงษ์เทพ และกำพล คดีหวยบนดิน
ไพโรจน์ กับประทีป คดีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต
รายละเอียดดูความจริงวันนี้ 26 กพ-1 มีค 53 หน้า 8-9 รายละเอียดลึกๆ หาดูจากบล้อก หรือที่มีคนเขียนตามเวปไซด์ต่าง ๆ ก็มี
ซึ่งถือว่า เป็นการขัดหลักการความเป็นกลางในการทำหน้าที่ของศาลอย่างมาก ในยุโรป มีคดีในศาลสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป ชื่อคดี Piersack v. Belgium ขนาดคนเป็นอัยการแล้ว ย้ายมาเป็นศาล ตัดสินคดีที่ตนเคยสอบจำเลย ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังบอกว่า ผู้พิพากษาท่านนั้น เปิดช่องให้สงสัยในความยุติธรรมและเป็นกลางได้ ศาลถือว่า คำตัดสินของศาลเบลเยี่ยมในคดีนี้ ไม่ชอบ
แต่นี่ของเรา คนเป็นศาลในคดีที่ผู้ถูกกล่าวหามีเรื่องมาแล้ว ตัดสินมาแล้ว แล้วมาตัดสินในอีกคดี ยิ่งร้ายแรงกว่าคดีในยุโรป เราจะยอมรับได้อย่างไร
เรื่องแบบนี้ท่านวิรัช ไม่เคยทราบเลยใช่ไหม เพราะไม่มีในฎีกา แต่มันมีสอนในประเทศพัฒนาแล้ว เขาถือเป็น progressive law ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไม่เชื่อที่ผมพูด ท่านวิรัชลองไปศึกษาจากhttp://www.concourt.am/hr/ccl/vestnik/2.12-2001/wildhaber-eng.htm หรือไปหาอ่านวิกิพีเดียที่ไหน ก็คงมีให้อ่านไม่ยากหรอก ตำราไทยไม่มี ฎีกาไทยไปไม่ถึง เพราะเราเรียนแบบท่องจำ แต่ในยุโรป อเมริกา เขาสอนกันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเขานับถือสิทธิมนุษยชนมาก แต่ของไทย นอกจากผู้พิพากษาจะไม่ถอนตัวเองตามมรรยาท ยังกลับไปอ้างว่า ทำหน้าที่ได้ ไปบอกว่า คนขึ้นเวทีพันธมิตรไล่ทักษิณ แล้วภายหลังมาเป็นกรรมการ คตส ไม่มีอคติ พูดตรงๆ นี่ไม่ใช่หลักกฎหมายที่สากลเขาใช้กัน นอกจากศาลไทย
5. ข้อสำคัญ คุณวิรัช คุณควรจะตอบคำถามเกี่ยวกับเทปลับ ที่คุณจักรภพนำมาแฉ โดยมีข้อความที่คุณสนทนาทางโทรศัพท์กับ พตอ พีรพันธ์ เกี่ยวกับบทบาทของศาล ที่จะให้ กกต ชุดวาสนาลาออก รับรองว่า จะเป็นผลดีกับคดีที่ถูกฟ้องในศาลอาญา
คุณเป็นศาล พูดแบบนั้นได้อย่างไร และผู้พิพากษาเจี๊ยบ หรือไพโรจน์ ที่ทำหน้าที่คนกลางระหว่างศาลกับเปรม เรื่องจริงหรือไม่ ท่านวิรัช ท่านชาญชัยไม่เคยปฎิเสธ แต่ดันไปฟ้องสามเกลอในเรื่องดักฟังโทรศัพท์แทน โอล่ะพ่อ !!! เนื้อหาไม่เอา มาเอาวิธีการ
ฉะนั้น การที่ท่านวิรัชจะออกมาพูดอะไร ออกมาขู่อะไร ขอให้ท่านพิจารณาการกระทำของคณะศาลตามที่ผมกล่าวมาข้างต้นว่า แบบนี้หรือ ที่จะให้ผมเชื่อตามที่พวกท่านโฆษณาว่า ศาลไม่เอียง ศาลมีความเป็นกลาง จะผิดหรือไม่ ที่ผมจะกราบเรียนคณะศาลตามตรงว่า กระผมไม่เชื่อว่า พวกท่านเป็นกลาง และที่มาที่ไปในการทำหน้าที่ในคดียึดทรัพย์ มันขัดต่อหลักสากล ในเรื่อง impartiality อย่างชัดเจน
นี่ยังไม่ต้องลงลึกในเนื้อหา การยอมจำนนต่อประกาศคณะปฎิวัติ การไม่ยึดถือตามคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ในการตีความพระราชกำหนดแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต
แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ที่เรา ประชาชน จะร่วมลงชื่อถอดถอนคณะผู้พิพากษาในคดีนี้ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอันแท้จริง