บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

คดียึดทรัพย์:รัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ กับบรรทัดฐานที่สังคมไทยยังต้องการคำตอบ

ที่มา Thai E-News






โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
8 มีนาคม 2553

กรณีการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนี้ ได้มีการร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ทั้งในสาระของกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าทั้งหมดทุกประเด็นชอบด้วยกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่สุด และย่อมมีผลผูกพันศาลและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย

การที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนำเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วขึ้นมาพิจารณาอีก และวินิจฉัยไปในทางตรงข้าม จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ…


ก่อนการตัดสินคดียึดทรัพย์ ผมได้คาดการณ์ว่าทรัพย์สินทั้ง 76,000 ล้านคงถูกยึดทั้งหมด โดยผมได้บอกไว้ด้วยว่าที่ผ่านมาผมมักทายการเมืองแม่น แต่ครั้งนี้ผมอยากให้ทายผิด และถ้าทายผิดผมก็จะดีใจ

ผลการตัดสินออกมา ปรากฏว่าผมทายผิด แต่ผมกลับไม่ได้ดีใจ ซ้ำร้ายยังรู้สึกสลดใจอย่างยิ่งด้วย

ที่ว่าทายผิดนั้นฟังเผินๆก็อาจจะเข้าใจไปได้ว่าเพราะมีการยึดทรัพย์ไม่หมดทั้ง76,000 ล้าน

แต่ในความเห็นของผมนั้น ที่ทายผิดคือ จากผลของคำพิพากษา ในที่สุดจะมีการยึดทรัพย์มากกว่า 76,000 ล้านอีกมาก นอกจากนั้นยังจะมีคดีร้ายแรงตามมาอีกหลายคดีดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปบ้างแล้วด้วย

ก่อนการตัดสินคดีนี้ ผมได้เสนอความเห็นต่อคดีนี้และเรื่องที่เกี่ยวกับคดีนี้ไปบ้างแล้ว หลังการตัดสินคดี ผมเห็นว่าผลการตัดสินคดีนี้ได้เสนอปัญหาสำคัญๆเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบบยุติธรรมของประเทศ ในฐานะที่ผมสนใจที่จะผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูประบบยุติธรรม ผมจึงเห็นว่าควรเสนอความคิดเห็นเพื่อให้สังคมไทยได้ร่วมกันพิจารณาต่อไป

ผมคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในรายละเอียด และคิดว่าถ้าให้ทำหน้าที่อย่างนั้นคงไม่เป็นประโยชน์เท่าใดนัก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้สันทัดกรณีจะดีกว่า

สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่าก็คือ การหยิบประเด็นใหญ่ๆที่เห็นว่ามีประเด็นที่สังคมไทยควรจะได้นำมาศึกษาทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังต่อไป โดยเฉพาะคำถามในเชิงหลักการและเชิงระบบของสังคมไทยอยู่หลายประการ ที่หากไม่ทำความเข้าใจและหาหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องให้ได้แล้ว ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยต่อไปอีกยาวนาน ประเด็นที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

๑.การรัฐประหารและกลไกที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่

หากไม่มีการรัฐประหาร ไม่มีประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ และไม่มีการตั้งคตส.ที่มีอำนาจอย่างนี้ ย่อมไม่อาจมีการพิจารณาคดีอย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วได้

ดูจากคำพิพากษาในตอนท้ายก็จะเห็นว่า คำวินิจฉัยให้ยึดทรัพย์นั้นไม่ได้อาศัยพรบ.ปปช.อย่างเดียว แต่อาศัยประกาศ คปค.ฉบับที่๓๐ด้วย

คดียึดทรัพย์จึงเป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหารและการออกคำสั่งของคณะรัฐประหาร

ผู้ที่ยืนยันความจริงในข้อนี้ได้อย่างดีก็คือรัฐมนตรีวาการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันนั่นเอง ที่ออกมารำพึงว่า
“วันนี้สิ่งที่ผมคิดคือ ถ้าไม่มีการปฏิวัติในปี ๔๙ และไม่มี คตส. เราจะเห็นความยุติธรรมปรากฏในคดีนี้หรือไม่”


เพียงแต่ว่าท่านถึงกับเห็นการรัฐประหารและการตั้ง คตส.เป็นเรื่องดีงาม เหมือนกับการ “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ไป

คตส.ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบความผิดของบุคคลคณะเดียวเป็นการเฉพาะ คือคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลก่อนการยึดอำนาจเท่านั้น และยังประกอบด้วยบุคคลหลายคนที่วางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง คตส.ทำหน้าที่เป็นทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการได้พร้อมๆกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามระบบกฎหมายปรกติของประเทศ และยังสามารถดำเนินการโดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความตามปรกติ

คตส.กระทำการโดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการกระทำผิดกฎหมายก็เพราะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐๙ ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำใดๆขององค์กรอย่างคตส.เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

เมี่อคตส.มีที่มาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและยังดำเนินการในลักษณะที่ไม่ชอบธรรมด้วย แม้คดีนี้จะตัดสินโดยศาลที่ไม่ได้มาจากคณะรัฐประหาร แต่เมื่อคดีเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากมีการรัฐประหาร และคณะรัฐประหารก็ยังได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วยการออกคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมด้วยแล้ว ความชอบธรรมในการพิจารณาตัดสินคดีนี้จึงได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย

การแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่อาศัยการรัฐประหารเป็นจุดเริ่มต้น จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ได้

๒. ปัญหาหลักการเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่คตส.กล่าวหาว่าดร.ทักษิณเอื้อประโยชน์และทำให้รัฐเสียหายนั้นมีอยู่ ๕ เรื่องด้วยกัน มีอยู่ ๒ เรื่องที่คตส.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำไปโดยครม.ที่มีดร.ทักษิณเป็นหัวหน้า คือเรื่องการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศพม่า ส่วนอีก ๓ เรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำโดยครม. แต่คตส.เห็นว่าดร.ทักษิณในฐานะหัวหน้ารัฐบาลย่อมมีอำนาจมากพอที่จะไปสั่งการให้เกิดการกระทำเหล่านั้นขึ้นได้

เรื่องทั้ง ๕ เรื่องมีลักษณะคล้ายกันอยู่บางประการคือ ทุกเรื่องเป็นการกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียหาย ทั้งๆที่ไม่มีการทำผิดกฎหมาย

การออกมาตรการต่างๆตามที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีบ้าง คณะกรรมการของทางราชการบ้าง หรือคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจบ้าง การดำเนินการต่างๆนั้นเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับให้กระทำได้

การออกมาตรการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐ เอกชนและประชาชนนั้น จะทำอย่างไรจึงจะดีย่อมมีความเห็นแตกต่างกันได้เสมอ เมื่อผู้รับผิดชอบดำเนินการไปโดยเห็นว่าดี อาจมีคนส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่ดีก็ได้

ปัญหามีว่าเมื่อมีคนเห็นว่าไม่ดีแล้ว อย่างไรจึงถึงขั้นที่จะลงโทษผู้รับผิดชอบได้ หากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่นออกมาตรการไปทั้งๆที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ ฝ่าฝืนกฎหมายหรือละเว้นที่จะปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเหล่านั้นย่อมต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษ

ผู้ที่ควรทำหน้าที่ในการตัดสินลงโทษคือศาลยุติธรรม

แต่ถ้าการดำเนินการนั้นไม่ผิดกฎหมาย การพิจารณาว่าการดำเนินการอย่างไรดีหรือดี จะใช้มาตรการหนึ่งๆให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐหรือเอกชนหรือประชาชนอย่างไรจึงจะดี ย่อมเป็นปัญหานโยบาย ที่ฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชน

คำถามในเชิงระบบก็คือ ฝ่ายตุลาการพึงเข้ามาเป็นผู้ตัดสินในทางนโยบายมากน้อยเพียงใด นี่ก็คือปัญหาหลักการเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างอธิปไตย ๓ ฝ่าย

ในบรรดาเรื่องทั้ง ๕ เรื่องนั้น เรื่องที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษคือเรื่องการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

เรื่องนี้เป็นข้อกล่าวหาที่สำคัญที่สุดในบรรดาข้อกล่าวหาทั้ง ๕ ข้อ และเป็นเรื่องที่มีปัญหาในเชิงหลักการและเชิงระบบที่ใหญ่ที่สุดด้วย

ผมจะไม่ลงในรายละเอียด แต่ในฐานะที่อยู่ในครม.ที่ออกกฎหมายนั้นด้วย ก็พอทราบถึงเหตุผลและความเป็นมาพอเล่าสู่กันฟังได้บ้าง

ความจริงแล้วการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตไม่ได้เป็นความริเริ่มของครม.ทักษิณหรือตัวดร.ทักษิณเลย เรื่องนี้มีความเป็นมามาตั้งแต่ปี๒๕๓๙ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีโทรคมนาคม ในปี ๒๕๔๐ สมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงได้มีแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมขึ้น โดยได้รับอนุมัติจากครม. ตามแผนดังกล่าวนี้มีหลักอยู่ ๓ ประการคือ

๑). ต้องยกเลิกการผูกขาดขององค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทย

๒). จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกิจการโทรคมนามคม

๓). ต้องแปรรูป กสท.และทศท.เป็นบริษัทมหาชน เพื่อที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยรัฐบาลจะถือหุ้นเพียง๓๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือถือโดยประชาชน

แผนนี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องโดยรัฐบาลต่อๆมา และจากหลักการ ๓ประการข้างต้นนี้เอง จึงเป็นที่มาของการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

รัฐวิสาหกิจจำนวนมากได้รับผลประโยชน์จากสัมปทานซึ่งเกิดขึ้นได้จากความเป็นองค์กรของรัฐและใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อจะเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีเอกชนและประชาชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าผลประโยชน์จากสัมปทานนั้นควรยกให้ประชาชนผู้ถือหุ้นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของทั้งหมดและตลอดไปหรือไม่ ข้อสรุปที่ดีสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการอาศัยความเป็นรัฐไม่ควรติดตามองค์กรไปด้วยทั้งหมด จนเป็นประโยชน์แก่เฉพาะผู้ร่วมเป็นเจ้าของบริษัทมหาชนเท่านั้น

ในกรณีการแปรรูป ทศท. ภาษีสรรพสามิตจึงเป็นทางออก ทางออกที่เห็นร่วมกันของหน่วยงานต่างๆจำนวนมากที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการคลัง การโทรคมนาคม และด้านอื่นๆ

ไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ย่อมต้องใช้วิธีเดียวกัน

เมื่อมีการออกกฎหมายภาษีสรรพสามิตแล้ว ก็ได้มีการออกมติครม.เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกเจ้าสามารถนำเอาภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานได้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือให้รัฐมีรายได้ในรูปของภาษีสรรพสามิต โดยผู้ประกอบการจ่ายเท่าเดิม

วิธีนี้ความจริงแล้วทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าการคงรายได้ในรูปสัมปทานไว้ทั้งหมดด้วยซ้ำ เพราะในแต่ละปี ทศท.ส่งเงินรายได้เข้าคลังแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ในขณะที่ทุกบาททุกสตางค์จากภาษีสรรพสามิตเป็นรายได้เข้าคลังทั้งหมด


ข้อกล่าวหามีว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการออกกฎหมายสรรพสามิต แล้วให้นำภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทานนั้นเป็นการใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต แทรกแซงองค์กรอิสระ กีดกันผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เอไอเอส

ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ ถ้าจะอธิบายในแต่ละประเด็น ก็สามารถทำได้ไม่ยาก แต่คงไม่มีประโยชน์มากนัก ที่ควรกล่าวถึงมากกว่าและสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ประเด็นข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เป็นประเด็นที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาคัดค้านการออกกฎหมายสรรพสามิต และการออกมาตรการยอมให้นำภาษีสรรพสามิตไปหักจากส่วนแบ่งรายได้มาก่อนแล้ว

หลังจากการออกกฎหมายและมาตรการดังกล่าว สส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งได้ยื่นเรื่องคัดค้านในประเด็นเดียวกันนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการออกกฎหมายและมาตรการดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน หักล้างข้อกล่าวหาเดียวกันนี้มาแล้วในทุกประเด็น

ผมได้นำข้อเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กับคำวินิจฉัยศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาไว้ด้วยแล้ว(เอกสารแนบ ๑)

ปัญหาจึงมีต่อไปว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ดังกล่าวแล้ว เหตุใดศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงยังสามารถนำประเด็นเดียวกันมาพิจารณาใหม่ได้ จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตตามข้อกล่าวหา เป็นการเอื้อประโยชน์ ทำให้รัฐเสียหาย และทำให้มีทรัพย์สินมากขึ้นผิดปรกติ ร่ำรวยผิดปรกติ และต้องถูกยึดทรัพย์ในที่สุด

นี่เป็นปัญหาเชิงหลักการว่าด้วยการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และเป็นปัญหาเชิงระบบว่าด้วยการแบ่งแยกขอบเขตอำนาจหน้าที่และการถ่วงดุลกันของอำนาจอธิปไตยทั้งสาม

การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คู่กับความเป็นนิติรัฐ ยึดหลักนิติธรรม แตกต่างจากระบอบการปกครองที่ให้รัฐบาลอยู่เหนือกฎหมาย เป็นกฎหมายเสียเอง หรือทำหน้าที่ตัดสินคดีความได้เองด้วย

ในการแบ่งแยกอำนาจนี้ให้ฝายบริหารบริหารบ้านเมืองไปแต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย จะลงโทษใครก็ต้องใช้กฎหมายที่เขียนขึ้นโดยชอบ คือโดยความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนมาทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย โดยทั่วไปแล้วก็มักกำหนดให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเสนอกฎหมายได้ แต่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเห็นชอบให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้

การจะให้ทุกคนทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เป็นหน้าที่ของศาล

หากฝ่ายบริหารก็ดี หรือฝ่ายนิติบัญญัติก็ดีทำผิดกฎหมาย ศาลย่อมมีหน้าที่ลงโทษได้

ตราบใดที่กฎหมายที่ออกไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายใหม่ย่อมสามารถแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเสียอย่างไรก็ได้ การออกกฎหมายให้มีเนื้อหาสาระอย่างหนึ่งอย่างใดจึงไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไปได้

หากมีผู้เห็นว่ากฎหมายที่ออกนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญก็สามารถร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยก็คือศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ศาลอื่นจะพิจารณาว่าการเสนอกฎหมายของฝ่ายบริหารและการเห็นชอบให้ออกกฎหมายของรัฐสภาเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จึงไม่อาจกระทำได้

ยิ่งจะพิจารณาว่าการออกกฎหมายนั้นดีหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ยิ่งไม่ได้ เพราะนั่นเป็นปัญหานโยบายที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อสภาและประชาชน

กรณีการแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนี้ ได้มีการร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ทั้งในสาระของกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าทั้งหมดทุกประเด็นชอบด้วยกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่สุด และย่อมมีผลผูกพันศาลและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย

การที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนำเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้วขึ้นมาพิจารณาอีก และวินิจฉัยไปในทางตรงข้าม จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

๓.ปัญหาการคุ้มครองกรรมสิทธิ์เอกชนจากการยึดเป็นของรัฐ

ทรัพย์สินที่ถูกยึดในครั้งนี้เป็นเงินในบัญชีในธนาคารอย่างถูกต้องตามกฎหมายในชื่อของลูกๆและน้องของดร.ทักษิณ บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง ไม่มีกฎหมายให้ยึดทรัพย์บุคคลเหล่านี้ได้ จะยึดได้ก็ต่อเมื่อเงินเหล่านี้เป็นของดร.ทักษิณเอง

คตส.กล่าวหาว่าเงินนี้มาจากการขายหุ้น หุ้นที่คตส.เห็นว่าเป็นของดร.ทักษิณ

หุ้นเหล่านี้เดิมเป็นของดร.ทักษิณและภรรยาจริง

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐมนตรีจะถือหุ้นของบริษัทเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไม่ได้ หรือจะถือหุ้นของบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐก็ไม่ได้ รัฐมนตรีคนใดมีหุ้นดังกล่าวอยู่ก่อนเข้ารับตำแหน่งจึงต้องขายหรือโอนให้ผู้อื่นไปเสีย ดร.ทักษิณจึงได้โอนหุ้นที่มีอยู่ให้ลูกและน้องไปก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง

ข้อกล่าวหาเรื่องโอนหุ้นแบบอำพราง ถือหุ้นแทนกัน ซุกหุ้น ปกปิดทรัพย์สิน จึงเข้ามาตรงนี้

เมื่อถือว่าดร.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริง ก็สามารถโยงไปยังเรื่องเอื้อประโยชน์ ทำให้รัฐเสียหาย มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปรกติ ร่ำรวยผิดปรกติ และดังนั้นจึงยึดทรัพย์ได้

หุ้นเป็นของใครและเงินในธนาคารเป็นของใครจึงเป็นประเด็นสำคัญเป็นอันดับแรก

คตส.กล่าวหาว่าการโอนหุ้นเป็นการโอนแบบอำพรางไม่ได้โอนจริง เหตุผลสำคัญคือ การที่ดร.ทักษิณโอนหุ้นให้ลูกนั้นซื้อขายกันในราคาถูกกว่าปรกติ เมื่อลูกรับหุ้นมาแล้วก็ไม่แสดงความเป็นเจ้าของ นานๆจะเข้าประชุมผู้ถือหุ้นครั้งหนึ่ง เวลาขายหุ้นให้เทมาเส็ค เทมาเส็คก็ไม่ได้ติดต่อกับลูกผู้มีชื่อเป็นเจ้าของหุ้น แต่กลับไปติดต่อกับลุงคือนายบรรณพจน์แทนเป็นต้น

ข้อกล่าวหาเหล่านี้มีน้ำหนักพอที่จะถือว่าหุ้นเหล่านี้ยังคงเป็นของดร.ทักษิณอยู่หรือไม่

ดร.ทักษิณโอนหุ้นให้ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้วและน้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้

เมื่อกฎหมายอนุญาตให้โอนให้ลูกได้ การจะดูว่าซื้อขายกันในราคาเท่าไร ถูกหรือแพงผิดปรกติหรือไม่ ย่อมไม่สามารถใช้บรรทัดฐานอย่างปรกติได้ เพราะพ่ออาจจะให้ลูกเปล่าๆก็ยังได้

ส่วนการที่มีหุ้นแล้ว นานๆจะเข้าประชุมครั้งหนึ่งก็เป็นเรื่องวิธีการดูแลธุรกิจของแต่ละคนที่อาจเลือกใช้วิธีอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ

ยิ่งเวลาขาย เทมาเส็คไม่ได้ติดต่อกับเจ้าของหุ้นเอง แต่กลับไปติดต่อกับลุง ก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องผิดปรกติที่ลูกคนหนึ่งจะไว้ใจผู้ที่เป็นพี่ชายของแม่ตนเองให้ช่วยคิดและตัดสินใจแทนตนได้

ข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่อาจทำให้หุ้นที่โอนให้ลูกไปแล้วอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายกลับมาเป็นของพ่อไปได้

ตลอดระยะเวลาก่อนการขายหุ้น หุ้นนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินของดร.ทักษิณ แต่เป็นของน้องและลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เมื่อขายแล้วได้เงินมา ก็ไม่ได้อยู่ในบัญชีธนาคารในชื่อของดร.ทักษิณ แต่อยู่ในบัญชีของน้องและลูก

ทรัพย์สินทั้งหมดจึงเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของน้องและลูกของดร.ทักษิณ

การที่ศาลตัดสินตามข้อกล่าวหาของคตส.ว่าทรัพย์สินยังเป็นของดร.ทักษิณ เพราะฉะนั้นจึงให้ยึดทรัพย์สินนั้นได้ มีคำถามใหญ่ๆตามมาอีกมากเช่น

ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี รัฐธรรมนูญทุกฉบับรับรองกรรมสิทธิ์เอกชน ไม่อนุญาตให้รัฐยึดทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐได้ หากจะเวนคืนก็ต้องชดใช้ จะริบก็ต้องเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น

แต่ถ้ามองจากของลูกและน้องของดร.ทักษิณซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามกฎหมายอยู่ ก็จะเกิดคำถามว่าทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคนๆหนึ่งอย่างถูกต้องตามกฎหมายอาจตกเป็นของผู้อื่นไปได้ด้วยเหตุใดบ้าง และทรัพย์สินเอกชนจะถูกยึดเป็นของรัฐได้ด้วยเหตุใดบ้าง

จากกรณีที่เกิดขึ้น มีคำถามว่าการที่คนๆหนึ่งได้ทรัพย์สินเป็นหุ้นมาด้วยการซื้ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อขายให้ผู้อื่นก็ทำสัญญาด้วยตนเองเป็นนิติกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และต่อมาก็ได้ฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สัญญานิติกรรมที่ถูกต้องในระบบของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยและในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ไม่อาจปกป้องทรัพย์สินของผู้ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆไม่ให้ทรัพย์สินเหล่านั้นต้องตกเป็นของรัฐเนื่องจากการกระทำผิดของผู้อื่นได้เลยหรือ

ในกรณีเดียวกันนี้ เมื่อมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์แล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่น่าสนใจตามมาอีกคือ ทรัพย์สินที่เหลือจากการยึดทรัพย์เป็นของใคร

ในเมื่อศาลเห็นว่าทรัพย์สินเป็นของดร.ทักษิณจึงสั่งให้ยึดได้ ทรัพย์สินที่เหลือจากการยึดก็ต้องเป็นของดร.ทักษิณ แต่ทำไมกระทรวงการคลังสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เหลือไว้เพื่อให้ลูกของดร.ทักษิณใช้ชำระภาษีจากการขายหุ้น

แสดงว่ากระทรวงการคลังยังถือว่าทรัพย์สินที่เหลือไม่ใช่ของดร.ทักษิณ แต่เป็นของลูก โดยดูว่าเงินอยู่ในบัญชีใครก็เป็นของคนนั้น

เท่ากับว่ารัฐกำลังตีความแต่ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับเอกชนและความยุติธรรมเลย

ความไม่ชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์เช่นนี้อาจมีผลให้เจ้าของเงินไม่ได้เงินคืนไปได้ง่ายๆ ต้องรอไปเรื่อยๆจนกระทั่งถูกอายัด หรือยึดทรัพย์จากกรณีอื่นๆอีกก็เป็นได้

๔.จะคำนวณจำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้นผิดปรกติอย่างไร

ผมได้วิจารณ์ทฤษฎีวัวกินหญ้าไว้แล้วว่าเป็นความคิดที่เลอะเทอะที่สุด ทฤษฎีนี้ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับ และในที่สุดทรัพย์สินก็ถูกยึดไปบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด

เนื่องจากกรณีที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้นในระหว่างที่ทรัพย์สินอยู่ในรูปของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อจะคำนวณว่าควรยึดเท่าไรและควรคืนให้เท่าไรจึงใช้ราคาหลักทรัพย์เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ โดยใช้วันที่ผู้ถูกกล่าวหาเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเส้นแบ่ง

นี่เท่ากับถือว่ามูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่มีการซื้อขายหุ้นเป็นการเพิ่มขึ้นโดยผิดปรกติทั้งหมด

แต่มูลค่าหุ้นขึ้นมาก จากสาเหตุอะไรแน่และจะคำนวณกันอย่างไร

หุ้นของบริษัทต่างๆส่วนใหญ่ก็ขึ้นลงตามดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ จากวันที่ผู้ถูกกล่าวหาเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ขายหุ้น ก็ปรากฏว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทใหญ่ๆในตลาดหลักทรัพย์ก็ขึ้นตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์กันทั้งนั้น

การจะคิดว่ามูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีการออกมาตรการต่างๆเท่านั้นจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

เหตุใดจึงไม่มีการคำนวณว่ามาตรการหนึ่งๆทำให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าใด

นอกจากนี้ยังมีคำถามต่อไปได้อีกว่า เหตุใดจึงไม่ใช้วันที่เริ่มออกมาตรการเป็นเส้นแบ่งแทนที่จะใช้วันเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นการถือว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ต้นจนวันที่ขายหุ้น ล้วนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทั้งสิ้น

ลำพังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้นย่อมไม่สามารถถือเป็นเหตุของการมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปรกติได้

เมื่อดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาหุ้นในวันที่ออกมาตรการต่างๆแล้ว ก็จะยิ่งเห็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก คือในวันที่ออกมาตรการ ๒ - ๓ มาตรการแรกๆนั้น ปรากฏว่าราคาหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ กลับต่ำกว่าวันที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มิได้สูงขึ้นอย่างที่อาจมีความเข้าใจกัน

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ไม่อาจใช้วันที่ออกมาตรการเป็นเส้นแบ่ง เพราะถ้าใช้วันเหล่านั้น มูลค่าหุ้นที่กลับลดลงก็จะขัดแย้งกับข้อสรุปที่ว่ามาตรการต่างๆนั้นเป็นสาเหตุให้มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น

เรื่องนี้จึงจะเป็นปัญหาต่อไปว่าในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นผิดปรกตินั้น จะคำนวณกันอย่างไรจึงจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

คดียึดทรัพย์นี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะมีผู้คนจำนวนมากศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์กันไปอีกนาน ผมหวังว่าความเห็นดังที่ได้เสนอมานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจคดีนี้ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจปัญหาจากการรัฐประหาร ปัญหาจากกระบวนการตุลาการภิวัตน์ และผู้ที่ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และปฏิรูประบบยุติธรรมให้มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

คงจะนำไปใช้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ต่อไปได้บ้างตามสมควร


0000

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker