วาทตะวัน สุพรรณเภษัช
เมื่อหนังสือ “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ” ของผู้เขียน ออกสู่สายตาท่านผู้อ่าน สร้างความฮือฮาให้กับสังคม เพราะเห็นชื่อหนังสือแปลกดี อีกทั้งพรรค “พลังประชาชน” นำไปแจกให้สมาชิกพรรค จนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนาๆ ถึงขั้นคำว่า “รัดทำมะนวย” ถูกนำไปขึ้นปกหนังสือพิมพ์อย่าง “มติชน” ด้วยซ้ำ
หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเป้าโจมตี จากผู้คนที่คิดว่าชื่อหนังสือนั้นไม่ถูกหู หลายคนวิจารณ์ทั้งๆที่ยังเคยไม่อ่าน หรือแม้แต่เห็นหนังสือเล่มดังเสียด้วยซ้ำไป หนึ่งในนั้น ก็คือ
นายวิชา มหาคุณ
คนที่เคยเป็นผู้พิพากษาศาลสูง อย่างนายวิชาฯ ซึ่งต่อมาได้ผันตัวมาเป็น ป.ป.ช. ด้วยคำสั่งของ ‘ไอ้บังกบฏ’ โดยพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ตามที่มีกฎหมายที่ได้ให้เป็นพระราชอำนาจ แต่มีการหนังสือของสำนักนายก ที่อ้างว่ามีการยืนยันจากสำนักราชเลขาธิการ แต่ไม่เคยมีหลักฐานมาปรากฏต่อสาธารณะชนเลย
ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่จะถลกให้เห็นดำเห็นแดงกันอีกที ว่าการแอบอ้างอย่างนั้น
จริงหรือเท็จอย่างไร!?
นายวิชา ได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุคลื่น Fm 97 เกี่ยวกับหนังสือ ว่า
ช่างเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม คนทำหนังสือเล่มนี้ต้องมีวุฒิภาวะต่ำอะไรทำนองนั้น
ผมดันฟังรายการนั้นอยู่พอดี เลยเขียนคอลัมน์โต้คำพูดของอีตาวิชาฯ ลงในเว็บไซด์ผู้จัดการออนไลน์ เมื่ออังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ว่า
...คนมีวุฒิภาวะสูงอย่างนายวิชาฯ เห็นปกหนังสือรัดทำมะนวยแล้ว ก็คงรีบร้อนผวนคำเร็วไปหน่อยกระมัง
...เลยติดอยู่แค่ปก เพราะยอมรับโต้งๆในประโยคต่อมาว่า
ยังไม่ได้อ่านเนื้อใน ของหนังสือเล่มนี้เลย !
ผมยังเขียนต่อไปอีกด้วย ว่า
...ฟังแล้วผมไม่เชื่อหูตัวเอง
นี่ขนาดคนเป็นผู้พิพากษา ยังตัดสินคนเขียน ทั้งๆที่ยังอ่านหนังสือไม่พ้นปก
เท่ากับว่า นายวิชาฯ ตัดสินหนังสือด้วยปก!
เขาว่า นายวิชาฯเป็น ‘นักเรียนนอก’ น่าจะต้องทราบดีกว่า ‘นักเรียนใน’ ว่า ฝรั่งเขาเตือนกันมาแต่ยุคโบราณเอาไว้หนักหนา คือ
Do not judge the book by its cover!
อย่างนี้ เวลาจำเลยที่รูปลักษณ์ไม่เข้าตานายวิชาฯมาสู่ศาล ยังไม่ทันไต่สวนสวนทวนความ สืบพยานกัน นายวิชาฯมิพิพากษาประหารชีวิตเขาไปเลยหรือครับ?
นึกไม่ถึงว่า ตุลาการอย่างนายวิชาฯ ลืม “หลักอินทภาษ” อันหมายถึง “โอวาทของพระอินทร์” ซึ่งเสด็จลงจากเทวโลก มาประทานคำสอนบรรดาตุลาการทั้งหลาย ในครั้งบรรพกาลว่า
ยามจะพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง จะต้องทำตนให้ปลอดจากอคติทั้งสี่ คือ โมหาคติ(โง่) โทสาคติ(โกรธ) ฉันทาคติ(หลง/รัก) ภยาคติ(กลัว)
ลืมเสียแล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งหลักการของเทวดา ที่พวกนักเรียนกฎหมาย บอกผมเมื่อตรวจสอบไปว่า
...นายวิชาฯเคยสอน “หลักอินทภาษ” ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองด้วยซ้ำ...
อย่างนั้นหรือครับ...
...ถึงได้วินิจฉัยผม และงานของผมออกมาอย่างนี้?
ไม่ได้อยากพูดจาว่ากล่าว แต่เมื่อมากล่าวหากัน โดยไม่เบิ่งตาอ่านที่ผมเขียนนั้น ว่ามีเนื้อหาอย่างไรเสียก่อน
จึงต้องขออนุญาตพูดจาว่ากล่าว และตักเตือนสติกันเอาไว้บ้าง
ถึงกระนั้นผมก็มองในแง่ดีว่า นายวิชาฯไม่ได้รังเกียจปกหนังสือหรอก แต่ที่ท่านว่าหยาบคายนั้น อาจเป็นเพราะพออ่านชื่อหนังสือปั๊บ ปุ่มในหัวของนายวิชาฯ ก็...
...แอ่นแอ๊น เปิดออกโดยอัตโนมัติ แล้วเสียงผวนก็ดังแบบไซเรนเสียงโหยหวน ก็แผดจนกึกก้อง ให้ได้ยิน...
เต็มหัวกบาล...ของนายวิชาฯเองต่างหาก
จริงหรือ...ไม่จริงล่ะ!?....
นั่นเป็นข้อความ ที่ผมเขียนโต้นายวิชาฯไป รายละเอียดท่านหาอ่านได้ในหนังสือ “เหี้ยส่องกระจก” แต่ที่นำมาเล่าในวันนี้ เพราะเนื้อหาของการเขียนในวันนี้ เกี่ยวเนื่องกับหลักอินทภาษที่อ้างถึงข้างต้น
วันนี้ ผมไม่ได้มาวิพากษ์วิจารณ์นายวิชาฯเพิ่มเติมหรอกครับ หากแต่จะมายืนยันซ้ำอีกครั้ง ในสิ่งที่ผมได้เขียนต่อท้าย เพิ่มเข้าไปในบทความตอนที่แล้วว่า
...หลังฟังคำตัดสินคดียึดทรัพย์แล้ว และแม้จะเคารพในคำพิพากษา แต่ผม ‘ไม่’ อาจเห็นพ้องด้วย โดยเฉพาะการที่ศาลยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร อย่างหน้าชื่นตาบาน
ตรงนี้รับไม่ได้เลย!!! (เขียนบทความ ‘ดักหน้า’ เอาไว้แล้วด้วย) ...
ขอเรียนยืนยัน ต่อท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ผมเองนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องการสอบสวนคุณทักษิณ และได้คัดค้านกระบวนการสอบสวนดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้น เพราะ...
ในฐานะที่มีประสบการณ์ในด้านการสอบสวนมาก่อน ไม่ว่าจะในฐานะพนักงานสอบสวน หัวหน้าพนักงานสอบสวน และอาจารย์สอน และผู้แต่งตำราการสอบสวนคดีอาญา ผมมองออกตั้งแต่ต้น ถึงแผนการทางกฎหมายของ “ไอ้มีชัย กบาลใส” หรือที่ผมเรียกว่า Butler Lawyer ด้วยความพยายามจะสร้างความชอบธรรม ในการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนพิเศษอย่าง ค.ต.ส. ซึ่งประกอบด้วยปรปักษ์กับทักษิณล้วนๆ โดยคำสั่งอันไม่ชอบธรรมของ “ไอ้บัง กบฏ” แล้วนำมาผูกกับกระบวนการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ในชั้นพนักงานอัยการและศาล ทั้งๆที่กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ยังบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น และยังใช้ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตาม“ศุภนิติกระบวน” ( Due Process) โลกปัจจุบัน...เขารับกันไม่ได้!
ดังนั้น วันนี้ต้องออกมายืนยันอีกครั้งว่า ในความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่รับรองคำสั่งของคณะปฏิวัตินั้น ว่าชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีอำนาจ “รัฎฐาธิปัตย์” ซึ่งมีมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2501 เพราะตอนนั้นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใครไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวแกจะลากเอาตัวไป “ปุ!...ปุ!” ซึ่งเป็นคำพูดของผู้คนในสมัยนั้น คือ
เอาไป “ยิงเป้า” เสีย!
จึงน่าเห็นใจที่ศาลฎีกาในสมัยนั้น ต้องพิพากษาด้วย “ภยาคติ” เพราะความกลัวอำนาจจอมพลสฤษดิ์ฯ ทั้งๆที่คำว่า “รัฎฐาธิปัตย์” ที่อ้างกันในคำพิพากษานั้น...
...ไม่เคยมีปรากฏในพจนานุกรม ของประเทศไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่ว่าฉบับเก่าหรือฉบับใหม่ด้วยซ้ำไป!...
การพิพากษาด้วยความ “กลัว” หรือโดยหวาดหวั่นว่าภัยนั้นจะมาถึงตนและครอบครัว ผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อ ปี พ.ศ.2501 จึงต้องยอมฝ่าฝืนหลัก “อินทภาษ” อันเป็นหลักของผู้ดำรงฐานะเป็นตุลาการไทย ได้ยึดถือกันมาแต่ในอดีตกาล โดยจำต้องพิพากษาไปเพราะ“ภยาคติ” นั่นเอง!
แต่...ไม่น่าเชื่อว่า เวลาผ่านมาถึงครึ่งศตวรรษแล้ว คือ กว่า 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ผู้พิพากษาของเรา ก็ยังคงรักษาความเกรงกลัวอำนาจของคณะปฏิวัติรัฐประหาร ไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆที่ยุคนี้บ้านเมืองของเราได้เปลี่ยนแปลงไปมาก อีกทั้งโลกก็ไม่ยอมรับในอำนาจเถื่อน ที่มาจากปากกระบอกปืนนานแล้วด้วย
ความหวาดกลัวของผู้พิพากษา ต่ออำนาจเถื่อน จากการปฏิวัติรัฐประหาร ยังแสดงออกปรากฏให้เห็นชัดเจน
ในคำพิพากษา ของศาลเอง!
ผมเองนั้นทั้งบริภาษ ทั้งคัดค้าน ในการกระทำของ 'ไอ้บังกบฏ’ กับพรรคพวก มาตั้งแต่พวกมันยังอยู่ในอำนาจด้วยซ้ำไป เพราะเห็นว่า
การที่ผู้พิพากษาแสดงความยำเกรง ต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม หรืออำนาจที่มาจากปากกระบอกปืน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะผู้พิพากษาได้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า จะรักษารัฐธรรมนูญ แต่ดันกลับไปยอมรับในอำนาจเถื่อน ที่มาล้มล้างรัฐธรรมนูญ แถมยังตีตรารับรอง ด้วยคำพิพากษาเสียเองอีกด้วย ทำกันมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว ไม่ยอมแก้ไข ไม่ยอมพิจารณาว่าอะไรที่เป็นเรื่องถกต้องชองธรรม
แล้วอย่างนี้แล้ว เราจะไปมองหน้าชาวโลก ได้อย่างไร!?
จะไม่เป็นการหนุนให้บ้านเมืองเรา วิ่งวนเวียนกันอยู่ในวังวน ของการปฏิวัติรัฐประหาร อย่างนั้นหรือ!!?
นี่เองเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเขียนบทความลง โดยให้ชื่อคอลัมน์ว่า “คณะผู้พิพากษาต้องเป็น ‘ธงนำ’ ในการต่อต้านรัฐประหาร" ลงในผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 17 ก.ค.2550 ในขณะนั้นคมช.ยังอยู่ในอำนาจด้วยซ้ำ!
ที่เขียนอย่างนั้น ความมุ่งหมายของผมก็เพื่อกระตุ้นให้บรรดา “ท่านเปา” ทั้งหลาย ซึ่งพิพากษาในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อย่าไปยอมก้มหัวให้อำนาจปากกระบอกปืน และนำลงรวมเล่ม ในหนังสือ“รัดทำมะนวย-ฉบับหัวคูณ!” ที่ดังลั่นสนั่นเมือง
จากนั้นอีก 1 ปี ผมได้เขียนกระแทกซ้ำเข้าไปอีก ด้วยบทความชื่อ “วันรพี” ...เตือนใจท่านผู้พิพากษา ให้กล้าหาญ ต่อต้านเผด็จการ!!! ลงหนังสือพิมพ์ ‘ประชาทรรศน์’ รายวัน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2551 และ www.vattavan.com ดูได้ตาม content_page_detail.php?cont_id=68
บทความดังกล่าว ผมยุตรงๆให้ท่านผู้พิพากษากระด้างกระเดื่อง ต่อการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะผมเชื่อว่า
หากผู้พิพากษาผินหน้าไปในทิศทางใด มวลมหาประชาชนคนไทย ก็จะหันหน้าไปในทิศทางนั้น!
เหตุการณ์ที่ผู้พิพากษา แข็งขืนต่ออำนาจคณะรัฐประหารนั้น ปรากฏขึ้นมาให้เห็น ในหลายประเทศแล้ว!!
บอกตรงๆว่า ที่เขียนอย่างนั้น ผมไม่ได้คิดว่า จะมีผลทำให้ผู้พิพากษา ออกมาสนับสนุนความเห็นของตัวเอง แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นพ้องด้วยว่า การยึดอำนาจด้วยกำลังนั้น เป็นความเลวทรามต่ำช้า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คนเราส่วนใหญ่นั้น ก็ยังกลัวการบังคับด้วยอาวุธด้วยกันทั้งนั้น
ท่านผู้อ่าน ที่เคารพครับ
เวลานี้โลกของเรามีเจริญก้าวหน้า การเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมโลกนั้น มีการเคลื่อนไหวคึกคักอย่างต่อเนื่อง เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ แม้แต่ชาติมหาอำนาจสำคัญอย่างจีน ยังถูกกดดันได้ด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
แล้วสำมะหาอะไรกับประเทศไทย ที่เป็นเพียงประเทศขนาดย่อม เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมา ก็ต้องพบกับแรงกดดันของชาติมหาอำนาจ มีผลกระทบมากมาย สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างใหญ่หลวง ตัวอย่างก็มีอย่างที่เห็น เช่น กะอีแค่เรื่องซื้ออาวุธ รัฐบาลสุรยุทธ์ ณ เขายายเที่ยง ที่มาจากการรัฐประหาร ยังทำไม่ได้ เพราะอเมริกา....ไม่ขายให้!
จะไปซื้อเครื่องบินรบตระกูล F ของอเมริกัน ที่เคยใช้กันมานานก็ทำไม่ได้ ต้องไปซื้อเครื่องบินรบแบบ Gripen ที่เราไม่คุ้นเคยมาใช้ แถมสื่อฝรั่งยังนินทาว่า เครื่องบินที่สวีเดนนำมาขายให้นั้น ดันเป็นเครื่อง Rebuild หรือเอาเครื่องบินยกเครื่องใหม่ มาขายต่อให้อีกด้วย ไม่ใช่เครื่องบินใหม่สดซิงๆ อย่างที่ว่ากัน
เขาเลยนินทาว่า...ฟาดกันเปรมไปเลย!
ดังนั้น คนไทยต้องตระหนักกันให้จงดีว่า เรื่องการยึดอำนาจด้วยปืนนั้น เป็นเรื่องที่โลกเขาไม่ยอมรับกัน แต่เมืองไทยเรานั้นน่าแปลกที่ดันยอมรับ และรับกันดักดานนานยาว
ซึ่งเป็นเรื่อง...น่าอับอายนัก!
แถมรัฐประหารเสร็จ ดันมีผู้พิพากษาหลายนาย ยอมก้าวลงจากบัลลังก์อันมีเกียรติยิ่ง ลงไปรับใช้เผด็จการในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ รวมทั้งทางการเมืองด้วย
ที่ร้ายไปยิ่งกว่านั้น แม้แต่ตัวประธานศาลฎีกาเอง ก็ยังมีกรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับประธานศาลปกครอง องคมนตรี และอดีตนายทหารที่เคยก่อการยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จ ไปทะลึ่งไปสุมที่บ้านของ ‘ไอ้ห้วล้าน-หัวร้าย’ อย่าง ‘ไอ้ปี้’
เพื่อวางแผนรัฐประหาร...ดูเขาทำ!
ผมจึงเขียนบทความลงใน vattavan.com และหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ โดยให้ชื่อคอลัมน์ว่า “ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด แต่ ‘สุมกบาล’ เพื่อก่อกบฏ!” (ท่านที่สนใจ อ่านต่อได้ใน www.vattavan.com/detail.php?cont_id=139)
บัดนี้ ประธานศาลฎีกาที่ถูกกล่าวหา ก็ยังไม่เคยออกมาโต้ตอบ แถมยังมีข่าวโดนลอบสังหารเข้าไปอีก
...เลยหายหัวจ้อยไปเลย!
จึงไม่น่าแปลก จากพฤติกรรมต่างๆที่ผมกล่าวมา เป็นสาเหตุทำให้สถานะของผู้พิพากษา ที่เคยได้รับการยกย่องอย่างสูงจากสังคม กลับต้องตกต่ำลง เพราะโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อย่างไม่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ของชาติเรามาก่อน...
น่าเสียดายนัก!
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมอยากให้ท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย
ไตร่ตรองให้จงดีว่า...
ท่านทั้งหลาย จะยินยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ต่อไปอีกหรือไม่? หรือ
ท่านทั้งหลาย จะลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญ ด้วยการสลัดแอกของ “ไอ้บังกบฏ” หรือคณะรัฐประหาร ทิ้งไปหรือไม่?
ลองคิดดูเอาเองก็แล้วกัน แต่หากท่านผู้พิพากษาจะยืนยัน
เสียงแข็งว่า...
ศาลจำต้องยอมรับอำนาจของคณะปฏิวัติ เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีอีกต่อไป เพราะเคยยอมรับกันไว้แล้ว ก่อนหน้านั้นถึง 50 ปี จำต้องรับต่อๆไป ใครยึดอำนาจได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นองค์ “รัฎฐาธิปัตย์” และคำสั่งของบุคคลนั้น ศาลก็จะถือว่าเป็นกฎหมายต่อไป ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
...อย่างนั้นหรือ
ผมเองก็เกรงว่า หากจะยอมรับกันแบบนั้น ในอนาคตข้างหน้า เมื่อลูกหลานของเรามองย้อนกลับมา ในประวัติศาสตร์คำพิพากษาของศาลไทย พวกเขาอาจบันทึกว่า
“เป็นที่น่าเสียใจ ที่ศาลไทยของเราในอดีต ยอมก้มหัวศิโรราบให้กับการปฏิวัติรัฐยึดอำนาจ จึงได้พิพากษารับรองอำนาจอันไม่ถูกต้อง ชอบธรรม ของผู้ก่อการรัฐประหาร คำพิพากษาเหล่านั้น ได้ประจานตัวผู้พิพากษาเอง และมีผลทำให้ระบบยุติธรรมของไทยเสียหายอย่างร้ายแรง จนทำให้ศาลไทยของเรา กลายเป็น “ศาลทาส” ในสายตาของนานาอารยะประเทศ...”
เห็นไหมครับ! ลูกหลานของเราในยุคต่อไป อาจบันทึกในทำนองนี้ ก็เป็นได้...
ใครจะไปรู้!!
ฉะนั้น บทความในวันนี้ จึงได้เขียนขึ้น โดยมีความมุ่งหมาย ที่จะกระตุ้นให้บรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย ได้เกิดความสำนึกที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม โดยตัด ‘ภยาคติ’ หรือความกลัวภัยออกไป แล้วเชิดหน้าด้วยความกล้าหาญ ตั้งจิตร่วมกันให้มั่น ในการที่จะต่อต้านคำสั่งอันไม่ชอบธรรม กดขี่ประชาชน และทำลายหลักการปกครองของชาติ อันเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร
อยากเห็นบรรดาตุลาการทั้งหลาย มีสำนึกเฉกเช่น ท่านกีรติ
กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่รักษาสถาบันตุลาการ ด้วยการเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน อย่างองอาจหาญกล้า เป็นการตบหน้าและทำลายวงจรอุบาทว์ ของอำนาจรัฐประหารที่ครอบงำศาลไทยมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของผู้คนที่รักความเป็นธรรม จนเป็นที่ชื่นชมของบรรดานักกฎหมายทั่วโลก ซึ่งได้รับ “จดหมายฟ้องโลก” ของผม ดังที่ได้กราบเรียนให้ท่านผู้อ่านไปแล้ว
สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้พิพากษาทุกท่าน ประสานมือกันและเดินก้าวออกมา ยืดอกและเชิดหน้า มองให้กว้างไกลไปโลกอารยะ ที่มีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพ และตั้งเจตนารมณ์ร่วมกันว่า
จะยืนหยัดเพื่อพิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของประชาชนคนชาติไทย ด้วยการปฏิเสธการใช้กำลังบังคับมนุษย์ด้วยปากกระบอกปืน...
อย่างเด็ดขาด...หนักแน่น!
ขอท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย จงพร้อมใจตะโกนให้ดังกึกก้องฟ้าเมืองไทย สะเทือนสะท้าน จนได้ยินกันไปทั้งโลกว่า
“ศาลไทยของพวกกู... ไม่ใช่ศาลทาส (นะโว้ย)!!!”
......................