คอลัมน์ |
บทบรรณาธิการ |
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ |
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2765 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 25 มีนาคม 2010 |
โดย หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน |
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องบันทึกให้ลูกหลานได้จดจำกันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรส่งกำลังทหารจำนวนมากทั้งในและนอกบริเวณรัฐสภา โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะทำงานประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ก็อ้างว่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์เหมือน 7 ตุลาคม 2551
ขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศไม่ปิดล้อมรัฐสภา และประณามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติกรรมไม่ต่างกับรัฐบาลเผด็จการและเป็นการรัฐประหารเงียบ
ส่วนพรรคเพื่อไทยได้แสดงความไม่พอใจและประท้วงไม่เข้าประชุมที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ให้ทหารเข้าพื้นที่รัฐสภา ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นอำนาจนิติบัญญัติและเป็นการปฏิวัติรูปแบบใหม่ ไม่ต่างกับการยึดรัฐสภา และนายอภิสิทธิ์ต้องมีส่วนรับผิดชอบที่สั่งทหารเข้ามา ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนนายอภิสิทธิ์ และยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติเพื่อให้รับทราบพฤติกรรมของรัฐบาลด้วย
แม้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามารถเปิดประชุมได้เพราะ ส.ส. มาครบองค์ประชุม โดยเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 243 คน ส่วน ส.ส. ฝ่ายค้านมาร่วมประชุมเพียง 2 คนคือ นายประยุทธ์ ศิริพานิช และนายนที สุทินเผือก (กรุง ศรีวิไล) และเมื่อเวลา 10.55 น. ได้มีการนับองค์ประชุมอีกครั้ง ปรากฏว่ามี ส.ส. เข้าประชุม 259 คน
แต่ประธานวิปรัฐบาลแถลงว่าจะยื่นถอดถอนวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ที่พยายามขัดขวางการประชุม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้จึงต้องถามทั้งนายกรัฐมนตรีและ ส.ส. ทุกฝ่ายว่า ใครหรือฝ่ายใดที่มีพฤติกรรมขัดรัฐธรรมนูญ
การใช้กำลังทหารและสิ่งกีดขวางทั้งภายนอกและภายในบริเวณรัฐสภาเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้รัฐบาลจะอ้าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่เป็นการกระทำที่เกินเหตุหรือไม่
โดยเฉพาะบริเวณรัฐสภาที่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงเกียรติ อีกทั้งไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหภาพรัฐสภาที่มีประเทศต่างๆเข้าร่วมประชุมกว่า 150 ประเทศ นายกรัฐมนตรีและ ส.ส. ทั้งหมดน่าจะตอบได้ว่ารัฐสภายังมีศักดิ์ศรีเพียงพออีกหรือไม่