ทำท่าว่าการประชุมสภาจะกลายเป็นแค่เวทีหักโค่นกันทางการเมืองมากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ คือออกกฎหมาย แก้ปัญหาให้ชาติและประชาชน ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร
ยิ่งในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยิ่งชัดเจนมากที่สุด นัดหมายให้มาประชุมก็มีการเบี้ยวไม่ตรงเวลา อ้างโน่นอ้างนี่สารพัด เมื่อเปิดการประชุมได้ก็ฟาดฟันกันเพื่อเอาชนะทางการเมือง ไม่พอใจก็วอล์กเอาต์ ใช้แต่วาทกรรมทางการเมืองห้ำหั่นกันจนวุ่นวายกันไปหมด
หรือมิฉะนั้นก็ทำให้ขาดองค์ประชุมจนสภาล่มมาหลายครั้ง
ที่ว่ามานี่หมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนฯทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองในฐานะที่มีเสียงข้างมากกว่า หากเข้าประชุมกันครบจำนวนการประชุมสภาก็เดินหน้าไปได้ แต่ยังมี ส.ส. และรัฐมนตรีที่ไม่มาประชุมจึงเกิดปัญหา
กฎหมายหลายๆฉบับที่มีความสำคัญก็ยังค้างเติ่งในสภา กฎหมายใหม่ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็ไม่มีการคิดหรือสร้างขึ้นมา ปัญหาต่างๆที่ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยฝีมือของนักการเมืองในหนทางรัฐสภาก็ทำไม่ได้หรือไม่ทำกัน
ทำให้ปัญหาต่างๆไปใช้นอกสภาหรือสภาข้างถนน
แม้จะยังมีเวลาอีกนานจนกว่าจะครบวาระ แต่ดูหาก ส.ส.ยังคิดว่าสภาเป็นเพียงแค่เวทีที่จะต่อกรกันทางการเมือง จึงไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้
มีแต่จะต้องนำเงินจากภาษีอากรจ่ายให้กับนักการเมืองอย่างน่าเจ็บใจที่สุด มิหนำซ้ำยังมีความพยายามที่จะขอขึ้นเงินเดือน ขอสวัสดิการ ขอบำเหน็จบำนาญเพิ่มเข้าไปอีก
มันน่าสมเพชจริงๆ
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยกำลังเตรียมการที่จะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยตั้งเป้าที่ตัวนายกฯเป็นอันดับ 1 ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นใครแน่ ล่าสุดบอกว่าจะยื่นราวปลายเดือนมีนาคมหลังเสร็จศึกนอกสภาเสียก่อน
พูดง่ายๆหากชนะศึกนอกสภาได้ ศึกในสภาก็จะไร้ความหมายไปทันที หมายความจะเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่นายกฯลาออกก็ยุบสภาหรือยึดอำนาจกันไปเลย
เหนืออื่นใดหากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง มีข้อมูลหลักฐานที่จะเล่นงานรัฐบาลได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตรงนั้นคงไม่น่าสนใจเท่าใด เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนศึกซักฟอกรัฐบาลมักจะใช้เสียงข้างมากเอาชนะมาได้ตลอด
แม้ว่าจะมีพยานหลักฐานข้อมูลดีน่าเชื่อถือถล่มจนร่อแร่แต่ก็รอดเพราะฝ่ามือที่เหนือกว่า แต่ที่จะพังได้ก็เพราะฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองนั่นแหละที่หักหลังกันเอง
ศึกซักฟอกครั้งนี้ก็เริ่มส่งกลิ่นเหมือนกัน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายกฯกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าใด เพียงแต่ว่าสถานการณ์และโอกาสไม่เอื้ออำนวยให้ ต้องแยกตัวจากกัน
ยอมที่จะกล้ำกลืนฝืนทนอยู่ร่วมกันไปก่อน
ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลที่พุ่งไปที่ประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเป็นด้านหลัก แต่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น เช่น ชาติไทยพัฒนา รวมใจไทยชาติพัฒนา เพื่อแผ่นดิน กิจสังคม ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าแตกหัก พอจะยังประนีประนอมกันได้
อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก็ยอมรับแล้วว่ามีการทาบทามให้พลิกขั้วกลับไปรวมกับเพื่อไทย โดยมีเก้าอี้นายกฯและกระทรวงเกรดเอเป็น การแลกเปลี่ยน หรือจะมีเครื่องบรรณาการพิเศษให้อีกด้วย เพียงแต่ ยังไม่กล้ารับเท่านั้น
นายกฯอย่าคิดว่าถือไพ่เหนือกว่า ศึกซักฟอกระวังจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้.
"สายล่อฟ้า"