ย่างเข้าสู่สัปดาห์ร้อนแรงทางการเมือง ท่ามกลางความทุกข์ของคนไทยโดยเฉพาะ คนกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องเผชิญชะตากรรมกับการปิดถนนและ จราจรติดขัด เมื่อคนเสื้อแดงประกาศจะเริ่มชุมนุมตั้งแต่วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม เป็นต้นไปหลายจุดใน กทม.ก่อนจะชุมนุมใหญ่วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม
คนกรุงเหมือนถูกจับเป็นตัวประกัน แม้แต่รัฐบาลก็พึ่งไม่ได้ วันนี้ผมเลยขอนำธรรมะจาก สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่อง "แสงส่องใจ" มาเป็นเครื่องเตือนสติทุกคน โดยเฉพาะเรื่อง "ความโลภ-โกรธ-หลง" ที่กำลังครอบงำผู้คนจนไร้สติ และ วิธีแก้ปัญหาความวุ่นวายในสังคม
"น่าจะไม่มีผู้ใดเลยที่เห็นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความดี ทุกคนเห็นว่าไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น นับว่าเป็นความเห็น
ที่ถูก แต่เพราะถูกไม่ตลอดจึงเกิดปัญหาในเรื่องกิเลสสามกองนี้ขึ้น
ที่ว่าไม่ถูกตลอดก็คือ แทบทุกคนไปเห็นว่า คนอื่นโลภโกรธหลงไม่ดี แต่ไม่เห็นด้วยว่า ตนเองโลภโกรธหลงก็ไม่ดีเช่นกัน กลับเห็นผิดไปเสียว่า ความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นในใจตนนั้น ไม่มี อะไรไม่ดี นี่คือ ความเห็นถูกไม่ตลอด ไปยกเว้นที่ว่าดีที่ตนเอง
เมื่อเห็นว่าผู้อื่นที่โลภโกรธหลงน่ารังเกียจเพียงใด ให้เห็นว่าตนเองที่มีความโลภโกรธหลงนั้น น่ารังเกียจยิ่งกว่า แล้วพยายามทำตนให้พ้นจากความน่ารังเกียจนั้นให้เต็มสติปัญญาความสามารถ จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา ไม่ปล่อยตนให้ตนตกอยู่ในความสกปรกของความโลภโกรธหลง...
การแก้ความวุ่นวายทั้งหลายนั้น ที่ถูกแท้จะให้ผลจริง ต้องต่างคนต่างพร้อมใจกัน แก้ที่ตัวเอง เท่านั้น ที่จะให้ผลสำเร็จได้จริง
ไม่มีอำนาจของบุคคลอื่นใด ที่จะสามารถบังคับบัญชาให้ใครหันเข้าแก้ไขตนเองได้ นอกจากอำนาจใจของเจ้าตัวเองเท่านั้น ที่จะบังคับตัวเอง ทั้งยังจะต้องเป็นอำนาจใจที่เกิดจากปัญญาความถูกต้องด้วย จึงจะสามารถนำให้หันเข้าแก้ไขตัวเอง...
ทุกคนขอให้เริ่มแก้ที่ตัวเองก่อน แก้ให้ใจวุ่นวายเร่าร้อนด้วยอำนาจของกิเลสมีโลภโกรธหลง ให้กลับเป็นใจที่สงบเย็น บางเบาจากกิเลสคือโลภโกรธหลง
ที่เคยโลภมากก็ให้ลดลงเสียบ้าง ที่เคยโกรธแรงก็ให้โกรธเบาลง ที่เคยหลงจัดก็ให้พยายามใช้สติใช้ปัญญาให้ถูกตามความเป็นจริงให้มากกว่าเดิม ตนเองจะต้องเป็นผู้สงบเย็นก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบเย็นกว้างขวางออกไปได้อย่างไม่ต้องลังเลสงสัย...
ความดี หรือ บุญกุศล เปรียบเหมือน แสงไฟ ผู้ที่ทำบุญทำกุศลอยู่สม่ำเสมอเพียงพอ แม้จะเหมือนไม่ได้รับผลของความดี และบางครั้งก็เหมือนทำดีไม่ได้ดี ทำดีได้ชั่วเสียด้วยซ้ำ เช่นนี้ก็เหมือนจุดไฟในท่ามกลางแสงสว่างในยามกลางวัน ย่อมไม่ได้ประโยชน์ จากแสงสว่างนั้น แต่ถ้าตกต่ำมีความมืดมาบดบัง แสงสว่างนั้นย่อมปรากฏขจัดความมืดให้สิ้นไป สามารถแลเห็นอะไรๆได้ เห็นอันตรายที่อาจมีอยู่ได้ จึงย่อมสามารถหลีกพ้นอันตรายเสียได้
ส่วนผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตน เช่นไม่มีเทียนจุดอยู่ เมื่อถึงยามกลางคืนมีความมืดมิด ย่อมไม่อาจขจัดความมืดได้ ไม่อาจเห็นอันตรายได้ ไม่อาจหลีกพ้นอันตรายได้
ผู้ทำความดี เหมือนผู้มีแสงสว่างอยู่กับตัว ไปถึงที่มืดคือที่คับขัน ย่อมสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยดีพอสมควรกับความดีที่ทำอยู่ ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ได้ทำความดี ซึ่งเหมือนกับผู้ไม่มีแสงสว่างอยู่กับตัว ขณะที่ยังอยู่ในที่สว่างอยู่ในความสว่าง ก็ไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่เมื่อใดตกไปอยู่ในที่มืด คือที่คับขัน ย่อมไม่สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างสวัสดี ภัยอันตรายมาถึงก็ไม่รู้ไม่เห็น ไม่อาจหลีกพ้น คนทำดีไว้เสมอ กับคนไม่ทำดี แตกต่างกันเช่นนี้..."
ชัดเจนนะครับ "กรรม" ของ "คนทำดี" กับ "คนทำไม่ดี" แตกต่างกันอย่างไร.
"ลม เปลี่ยนทิศ"