ยังสะบัดร้อนสะบัดหนาว
ตอนแรกใครต่อใครหลายคนเชื่อว่าคำตัดสินที่ให้ยึดทรัพย์เพียงบางส่วนจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เหลือคืนให้ 3 หมื่นล้านบาทอันเป็นทรัพย์สินทุนเดิมก่อนพ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ามาเป็นนายกฯ
คงช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ เบาลง
โดยเฉพาะการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงกลางเดือนมี.ค. ดีกรีความดุเดือดน่าจะลดน้อยลงไป
แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่าในคำพิพากษาดังกล่าว ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลมองว่าสามารถนำไปต่อยอดขยายผลเอาผิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ได้อีกหลายคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา
เงินทอน 3 หมื่นล้านทำท่าจะไม่ถึงมือพ.ต.ท.ทักษิณ
สถานการณ์ที่ทำท่าจะเย็นลงเลยร้อนพรวดพราดขึ้นมาอีกระลอก
อย่างไรก็ตามมีการคาดหมายกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า
ไม่ว่าคำตัดสินออกมาในรูปแบบใดความขัดแย้งภายในบ้านเมืองก็คงไม่หมดสิ้นไปในทันที
เนื่องจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินต้องออกมาแสดงความไม่พอใจ
อดีตนายกฯทักษิณเองก็ประกาศแล้วว่าจะสู้ต่อ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงก็เป่านกหวีดนัดรวมพลใหญ่ 12-14 มี.ค.
จึงยังไม่มีใครบอกได้ว่าตอนจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
จะมีการระดมพลกลุ่มที่ไม่พอใจคำตัดสินของศาลออกมาได้มากน้อยแค่ไหนและจะเกิดความรุนแรงหรือไม่
เหล่านี้เป็นประเด็นที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้ามองอยู่ด้วยความหวั่นเกรง
ว่าถ้าหากการชุมนุมเกิดการปะทะกันขึ้น
อาจรุนแรงหรือหนักกว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
/////
มีการวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวใหญ่ของคนเสื้อแดงที่กำลังเกิดขึ้น
ถ้ารัฐบาลควบคุมได้ก็จะไม่เกิดปัญหา
แต่หากควบคุมไม่ได้ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาจัดการคุมสถานการณ์เสียเอง
เมื่อนั้นประเทศชาติจะยิ่งถอยหลังไปไกลกว่าเดิม
ข้อกังวลเหล่านี้สอดคล้องกับผลสำรวจโพลภายหลังการตัดสินคดียึดทรัพย์
ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังวิตกกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยการชี้นำของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่พอใจคำตัดสินและพยายามขยายผลถึงความไม่เป็นธรรม ตอกย้ำเรื่อง 2 มาตรฐาน
จะเป็นตัวจุดชนวนขัดแย้งรุนแรงหนักขึ้น
แม้บางคนจะมองอีกแง่ว่าการที่คำพิพากษาศาล ทำให้คนไทยได้รู้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณได้กระทำความผิด ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบมากมาย
จะทำให้คนที่เคยสนับสนุนลดน้อยลงบางส่วนก็ตาม
ทั้งหลายทั้งปวงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าปัจจัยชี้ขาดสถานการณ์หลังจากนี้มีอยู่ 2 ส่วน
ส่วนแรกคือถ้าหากพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่หยุดเคลื่อนไหว ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ความขัดแย้งต่างๆ ก็ไม่มีทางหมดไป
ส่วนที่สองคือฝ่ายรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลไม่ควรขยายผลคดียึดทรัพย์ออกไปจนเกินกว่าเหตุ
การที่นายกฯอภิสิทธิ์ ยืนยันปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อัยการ ป.ป.ช. ดีเอสไอ กระทรวงการคลัง และไอซีที เป็นฝ่ายไล่เช็กบิลพ.ต.ท.ทักษิณ
โดยรัฐบาลจะไม่ทำตัวเป็นคู่กรณีเสียเองเนื่องจากเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติล้วนๆ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัฐบาล
เป็นการแสดงจุดยืนที่ถูกต้องเหมาะสม
เพราะการตามล่าตามล้างกันจนเลยเถิดเกินความจำเป็นทั้งที่รัฐบาลเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบ
อาจเป็นแรงกระตุ้นให้คนรู้สึกเห็นอกเห็นใจพ.ต.ท.ทักษิณมากขึ้น
กลายเป็นการสร้างแนวร่วมให้กับฝ่ายตรงข้าม และเพิ่มแนวต้านให้กับฝ่ายรัฐบาลเสียเอง
///
เช่นเดียวกับมาตรการรับมือม็อบคนเสื้อแดงที่กำลังจะมีขึ้น
แน่นอนว่ารัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ป้องปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวนอกลู่นอกทาง
ถึงแม้รัฐบาลจะมีเครื่องไม้เครื่องมือให้เลือกใช้กับกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ความมั่นคง หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แต่การตัดสินใจเลือกใช้กฎหมายใดนั้น
จำเป็นต้องยึดหลักความพอเหมาะพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป
ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้นเองโดยไม่รู้ตัว
ในจังหวะที่แกนนำเสื้อแดงประกาศยืนยันหลายครั้งต่อหน้าสาธารณชนว่าจะเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี และไม่ต้องการให้มวลชนนำเอาอารมณ์ความรู้สึกจากผลคดียึดทรัพย์มาเป็นตัวขับเคลื่อนการชุมนุม
เนื่องจากเป้าหมายของวันที่ 14 มี.ค. คือการเสนอทางออกปัญหาของบ้านเมืองด้วยวิธีการยุบสภาเท่านั้น
เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดนี้การใช้กำลังขัดขวางไม่ให้มีการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
รัฐบาลควรปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้พิสูจน์ตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายว่าจะทำตามที่พูดได้หรือไม่
เพราะยังมีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่รัฐบาลต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญมากกว่าคนเสื้อแดง
นั่นคือความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกกันว่ามือที่ 3
ถึงจะยังถอดรหัสไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นใคร
เป็นมือที่ 3 จากกลุ่มผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาล หรือกลุ่มบุคคลประเภท"เคทอง"
แต่กรณีการปาระเบิดถล่มธนาคารกรุงเทพ 4 จุด คืนวันที่ 27 ก.พ.หลังการตัดสินคดียึดทรัพย์เพียงวันเดียวคือข้อยืนยันว่ามือที่ 3 นี้มีตัวตนอยู่จริง
อย่างที่นายกฯอภิสิทธิ์ระบุว่าคนทำมีเป้าหมายสร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลกับผู้ชุมนุมแตกแยกกันมากขึ้น
หรือหากจะกล่าวว่าเป็นผู้มุ่งร้ายต่อประเทศชาติตัวจริง
ก็คงไม่ผิด