เกริ่นนำ
อนุสนธิจากการที่คุณเสรีชนได้ตั้งกระทู้[1] และมีผู้มาตอบกระทู้นั้น เป็นประเด็นที่น่าสนใจและกำลังมีการกล่าวถึงกันมากเนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าจะต่อสู้โดยใช้ช่องทางทางศาลโลกหรือเวทีระหว่างประเทศ จากกระทู้ของคุณเสรีชน ผมมีข้อสังเกตดังนี้
ประการที่หนึ่ง องค์กรย่อยของสหประชาชาติชื่อว่า The United Nations Commission on Human Rights (UNCHR)มิได้มีอยู่ต่อไปแล้ว สมัชชาใหญ่ (General Assembly) ของสหประชาชาติได้ตั้งองค์กรใหม่ชื่อว่าUN Human Rights Councilในปี ค.ศ.2006[2] แทน UNCHR แล้ว โดยสถานะทางกฎหมายของ UN Human Rights Council มีสถานะเป็น “องค์กรย่อย” (subsidiary organ) ของสหประชาชาติ[3] หมายความว่า การทำงานของ UN Human Right Council อยู่ภายใต้การควบคุมและประสานงานกับสมัชชาใหญ่ ลักษณะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งขององค์กรย่อยอย่าง UN Human Right Council ก็คือ คำแนะนำ (Recommendation) ที่มีไปยังรัฐสมาชิกนั้นไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อมติที่ทำโดยคณะมนตรีความมั่นคงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย รัฐสมาชิกของสหประชาชาติต้องยอมรับและปฏิบัติตาม[4]
นอกจากนี้ จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องที่สำคัญที่สุดของเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ก็คือ กลไกเกี่ยวกับมาตรการบังคับ (Sanction) และระบบการตรวจสอบ (Monitor) ว่ารัฐสมาชิกได้ปฎิบัติตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่มีการละเมิดจะมีช่องทางใดบ้างที่จะมีการเยียวยาความเสียหาย หรือกดดันให้รัฐนั้นปฎิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สหประชาชาติได้ปรับปรุงกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้นกว่าในอดีต
ประการที่สอง ฐานความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้มีอยู่สี่ฐาน[5] ซึ่งผมเข้าใจว่าฐานความผิดที่คุณเสรีชนใช้คำว่า “อาชญากรผู้ล้างชาติ” นั้นคงหมายถึง Genocide ซึ่งแปลว่า “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์” และคำว่า “ละเมิดอาญาศึก” นั้นคงหมายถึง War Criminal ซึ่งแปลว่า อาชญากรสงคราม
ประการที่สาม ผมเห็นด้วยกับคุณเสรีชนที่เห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรี (ในฐานะที่เป็นปัจเจกชน) ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลโลก ซึ่งผมเขียนประเด็นนี้ลงในประชาไทอย่างละเอียดแล้ว[6] และผมเห็นว่าความพยายามที่จะเสนอให้ศาลโลกพิจารณานั้นควรยุติลงได้แล้ว เนื่องจากไม่ผ่านเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติของคู่ความมาตั้งแต่แรก อีกทั้งประเทศไทยก็มิได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกตั้งแต่ไประเทศไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหาร[7]
ประการที่สี่ ที่คุณเสรีชนกล่าวว่า “แล้วถ้ากรรมการสิทธิมนุษยชนสอบสวนแล้ว เชื่อฝ่ายเรา เขาจะส่งเรื่องไปให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออกมติต่อไป” โดยปกติแล้ว คณะมนตรีความมั่นคงจะรับผิดชอบเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ[8] คณะมนตรีความมั่นคงจะเข้าไปมีบทบาทก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงที่เป็นการคุกคามสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ หรือการรุกรานตามหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติ[9] การละเมิดสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่งหากการละเมิดนั้นไม่ก่อให้เกิดการคุกคามสันติภาพระหว่างประเทศแล้ว คณะมนตรีความมั่นคงจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เพราะมีองค์กรอื่นดูแลรับผิดชอบแล้ว
บทสรุป
การใช้ช่องทางต่อสู้ในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าช่องทางดังกล่าวเป็นการเสนอให้ “ศาล” (Court) พิจารณา หรือช่องทางอื่นๆ ซึ่งแต่ละช่องทางต่างมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดในตัวเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเสนอให้ “ศาล” ไม่ว่าศาลภายในหรือศาลระหว่างประเทศ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเขตอำนาจศาล (Jurisdiction)
……………
[1] ชื่อกระทู้คือ “ที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศของทักษิณเลิกบ้องตื้นเสียที ฟ้องศาลโลกไม่ได้ แต่มีทางแก้ในเวทีระหว่างประเทศจะสอนให้ถ้าอยากรู้เข้ามาอ่าน” http://www.prachataiwebboard.com/webboard/id/24747
[2] โปรดดูข้อมติที่ A/RES/60/251, 3 April 2006 ข้อ 1 ที่ระบุว่า “Decides to establish the Human Rights Council, based in Geneva, in replacement of the Commission on Human Rights…”
[4] โปรดดูกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 25 “The Members of the United Nations agree to accept and carry out the decisions of the Security Council in accordance with the present Charter”
[5] อย่างไรก็ดี ในธรรมนูญกรุงโรม มาตรา 121 ระบุว่า ในอนาคตที่ประชุมอาจมีการเพิ่มฐานความผิดอื่นได้อีก
[6] โปรดดูข้อเขียนเรื่อง “ปัจเจกชนฟ้องศาลโลกหรือศาลระหว่างประเทศได้หรือไม่”http://www.prachatai.com/journal/2010/02/27841
[7] เรื่องเขตอำนาจของศาลโลกจัดเป็นปัญหาที่สำคัญมากและยากมากเรื่องหนึ่ง ต้องใช้เวลาในการอธิบายพอสมควร ผิดวัตถุประสงค์ของข้อเขียนนี้
[8] โปรดดู 24 “…..its Members confer on the Security Council primary responsibility for the maintenance of international peace and security …..”
[9] โปรดดูหมวดเจ็ดของกฎบัตรสหประชาชาติ Article 39 บัญญัติว่า “The Security Council shall determine the existence of any threat to the peace, breach of the peace, or act of aggression and shall make recommendations, or decide what measures shall be taken in accordance with Articles 41 and 42, to maintain or restore international peace and security.”