ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีการประชุมทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ แกนนำทีมอภิปรายพรรค พท. กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมว่า ทีมอภิปรายชุดนี้มี ส.ส.กว่า 20 คน ที่จะรวมอภิปราย โดยการอภิปรายครั้งนี้จะใช้รูปแบบใหม่ โดยจะเสนอเป็นซีรีส์ ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด มีการแบ่งหมวดการอภิปรายเป็น 5 กลุ่ม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ การทุจริต และยังสามารถประสานงานได้หมดในพรรค มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ประธาน ส.ส.พรรค พท. เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา และ ส.ส.นนทบุรี เป็นตัวหลักสำคัญ
เมื่อถามว่า ข้อมูลที่เตรียมอภิปรายมั่นใจว่าจะทำให้เกิดการยุบสภาหรือพลิกขั้วรัฐบาลได้หรือไม่ นายวรวัจน์กล่าวว่า อะไรจะเกิดมันก็เกิด ส่วนรายชื่อ ส.ส.ที่พรรคจะเสนอขึ้นเป็นนายกฯ แนบท้ายญัตติอภิปรายนั้น ยังไม่ได้เคาะ เพราะมีเงื่อนไขทางการเมือง อาจเป็น ส.ส.พรรค พท.หรือพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯใช่หรือไม่ นายวรวัจน์กล่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามาเป็นผู้อภิปรายเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นผู้เข้ามาทำงานดูภาพรวมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรค พท. ทีมกฎหมายพรรคกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพรรค พท.ที่ต้องการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ยังไม่ต้องการให้รีบยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะต้องการกดดันให้นายกฯยุบสภา ว่า ปัญหานี้คงทำความเข้าใจกันได้ หากยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางแล้ว จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการอภิปรายและลงมติ หากเสียงรัฐบาลยังไม่แตกแถวก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝายค้านก็แพ้ แต่ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาลลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ร่วมกับฝ่ายค้านตรงนั้นค่อยมาว่ากัน
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พรรค พท.มีความพร้อมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ และมี ส.ส.แจ้งความจำนงขออภิปรายแล้วกว่า 20 คน ส่วน ร.ต.อ.เฉลิมจะร่วมให้ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ แน่ ส่วนจะร่วมอภิปรายหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกัน เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมยืนยันว่าหากเสนอชื่อคนในพรรคเป็นนายกฯ สำรองก็ไม่มีปัญหาที่จะทำหน้าที่หัวหน้าทีมอภิปราย แต่ถ้าเสนอชื่อคนนอกพรรค ร.ต.อ.เฉลิมก็จะไม่ร่วมอภิปรายด้วย ปัญหานี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาทำความเข้าใจกันภายในพรรค
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค พท. แถลงว่า ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่าเอกสารสำคัญบางส่วนในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท หายไป ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าจะมีการยกคำร้องคดียุบพรรค ปชป.ในเร็วๆ นี้ สอดคล้องกับท่าทีของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาให้ข่าวในทำนองว่าจะเสนอให้ยกคำร้องในคดีนี้ โดยอ้างว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มิได้สรุปความผิดว่าเป็นการบริจาคเงินโดยผิดกฎหมาย แต่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ตนจึงขอฝากถามไปยังประธาน กกต.ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ส่วนการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของพรรค ปชป. จำนวน 23 ล้านบาท โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น กกต.ควรสรุปความเห็นและวินิจฉัยได้แล้ว เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนและดำเนินการการมานานเป็นปีแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่ประธาน กกต.จะดึงเรื่องให้ล่าช้า เพราะจะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รายงานการทุจริตคอร์รัปชั่นของภาครัฐตั้งแต่ปี 2551-2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2552 มีเรื่องร้องเรียนถึง 21,399 เรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น แม้จะออกกฎเหล็ก 9 ข้อควบคุมการทุจริตแต่ก็เป็นแค่การสร้างภาพ ไม่กล้าดำเนินการอย่างจริงจัง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัด เช่น การทุจริตโครงการต่างๆ ภายในกระทรวงมหาดไทย นายอภิสิทธ์ก็ไม่กล้าแตะต้องเพราะเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล พรรค พท.จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์พิสูจน์ภาวะความเป็นผู้นำ โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตในกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การประชุม กกต.สัปดาห์ที่ผ่านมา กกต.มีมติขยายเวลาการไต่สวนให้กับคณะอนุกรรมการไต่สวนในหลายกรณี ประกอบด้วย ขยายเวลาการไต่สวนอีก 30 วัน กรณี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบอำนาจรัฐของสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยขอให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯและพรรคร่วมรัฐบาลกรณีที่มีผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้าหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บ้านพิษณุโลก อันอาจเป็นเหตุเข้าข่ายให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 14 มีนาคมนี้ และยังขยายเวลาการไต่สวนอีก 30 วันกรณี พล.ร.อ.บรรณวิทย์ร้องขอให้ยุบพรรค พท. กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามาครอบงำพรรค พท. โดยจะครบกำหนดในวันที่ 24 มีนาคม
นายสุทธิพลกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีมติขยายเวลาการไต่สวนกรณีนายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์และเครือข่าย ที่ขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรค ปชป. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ โดยจะครบกำหนด 28 มีนาคมนี้ และขยายเวลาการไต่สวนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอให้ตรวจสอบนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ดึงเรื่องการสิ้นสมาชิกภาพ 16 ส.ว.เนื่องจากถือครองหุ้นต้องห้าม โดยไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก 30 วัน โดยจะครบกำหนดวันที่ 6 เมษายน