บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

'ตุลาการภิวัฒน์' วันนี้ 'แทรกแซง??'

ที่มา เดลินิวส์
ศาลเองก็ยังมี 'ปุจฉา'

คดีใหญ่โตมโหฬารทางการเมืองในไทยคดีหนึ่งเพิ่งจะมีคำพิพากษาออกมา โดยที่ดูเหมือนว่าองค์กรต่าง ๆ ตามกระบวนการยุติธรรมจะมีการดำเนินกลไกในทางที่สอดประสานกันอย่างราบรื่น แต่ในอีกบางแง่บางมุม ตอนนี้สังคมไทย อาจจะต้องจับจ้องมองไปยังองค์กรสำคัญอย่างน้อย 2 ส่วน เพราะมี “กรณีเห็นต่าง” ...

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้พิพากษาท่านหนึ่ง อนุมัติออกหมายจับบุคคลท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานด้านการยุติธรรมหน่วยงานหนึ่ง ในคดีถูกบุคคลทางการเมืองฟ้องหมิ่นประมาท แล้วต่อมามีนักวิชาการสายกฎหมายมหาวิทยาลัยรัฐบางท่าน ได้สนับสนุนการใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาท่านดังกล่าวนี้

จากกรณีนี้ นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 ระบุว่า... ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใน (3) ของมาตรา 19 บัญญัติไว้ว่า... (3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ตามที่มีนักวิชาการบางท่านหยิบยกมาตรา 19 (3) ขึ้นมาสนับสนุนการใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ในกรณีที่ได้อ้างถึงข้างต้นนั้น... “มิได้แยกแยะให้ชัดเจนว่า การใช้ดุลพินิจในลักษณะใดเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และกรณีใดเป็นการใช้ดุลพินิจลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยแท้ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือองค์กรอื่นใด ก็ไม่อาจแทรกแซงได้”

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 ระบุต่อไปว่า... ตามมาตรา 19 (3) ที่ว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” นั้น มีคำจำกัดความไว้ชัดเจนในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน ว่าหมายถึง “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่ง หรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น” แต่ถ้อยคำที่ว่า “ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม” มิได้จำกัดความไว้ทั้งใน พ.ร.บ.นี้ และกฎหมายอื่นใด ซึ่งในแง่ของกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็นคำธรรมดาสามัญทั่วไปที่กฎหมายมิได้ให้ความหมายไว้เฉพาะ

ดังนั้น การใช้ “ดุลพินิจ” ของผู้พิพากษาในกรณีที่ได้อ้างถึงแต่ต้น ภายในกรอบที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และเป็นอำนาจหน้าที่ ซึ่งไม่ว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานใด ก็มิอาจแทรกแซงได้ แม้ว่าการใช้ดุลพินิจนั้นจะไม่เป็นที่พอใจหรือสมประโยชน์ของผู้ได้รับผลกระทบ บุคคลที่ไม่พอใจการใช้ดุลพินิจย่อมสามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้ เมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จะหมายความว่าการใช้ “ดุลพินิจ” ของผู้พิพากษาเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ หรือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือไม่ ?

หากเป็นเช่นนั้น คงไม่มีผู้พิพากษาท่านใดกล้าใช้ดุลพินิจในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมเป็นแน่แท้ และอาจถูกมองได้ว่า การใช้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลได้ถูกแทรกแซง ซึ่งขัดกับหลักการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาที่ต้อง “เป็นอิสระและไม่ลำเอียง” ทำนองเดียวกันกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งอนุญาโตตุลาการ

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 ระบุอีกว่า... ศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และปราศจากอคติ ศาลยุติธรรมไม่เคยปกป้องผู้พิพากษาที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือแม้กระทั่งประพฤติตนไม่เหมาะสม และในกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาดังที่อ้างถึงข้างต้น ก.ต.ก็ได้ตรวจสอบโดยละเอียดแล้วทราบว่า เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และปราศจากอคติ ซึ่งการออกหมายจับเป็นเพียงมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนเท่านั้น ส่วนผิดหรือไม่ผิดนั้น ต้องว่ากันในชั้นพิจารณา

“สำหรับการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมต้อง อยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งไม่รวมถึงการตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม เพราะจะเป็นการก้าวล่วง หรือแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของศาล หากก้าวล่วง หรือแทรกแซงได้ แล้วใครล่ะจะตรวจสอบการใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ?” ...อธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 ทิ้งท้ายในเชิงปุจฉา-ตั้งคำถาม

ทั้งนี้ ณ ที่นี้เองก็ยืนยันว่า เชื่อมั่นว่าศาล ป.ป.ช. ตลอดจนองค์กร-บุคลากรด้านการยุติธรรมอื่น ๆ ต่างก็มีเป้าหมายสูงสุดคืออำนวยความยุติธรรมให้บังเกิด ซึ่งจากที่ว่ามาทั้งหมดก็เป็นแต่เพียงสะท้อนกรณีเห็นต่าง...

ในยุคสังคมไทยมีกรณีใหญ่ ๆ ทางกฎหมายที่ถูกตั้ง “ปุจฉา”

ในยุคที่ “ตุลาการภิวัฒน์” กำลังเป็นคำที่คนไทยสนใจ ??.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker