บรรดาคดีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรคคเพื่อไทยข้องใจว่า การทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้ 2 มาตรฐานดึงเรื่องให้ล่าช้านั้น นอกจากเรื่องการถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและพวกในหลายข้อหาแล้ว
ยังมีคดีที่มีการกล่าวหา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า ทุจริตในหลายเรื่อง
ในคดีคุณหญิงจารุวรรณนั้น แม้กลุ่ม นปช.และพรรคเพื่อไทยไม่ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ควรเร่งไต่สวนเพราะ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้เงินและการทุจริตของหน่วยงานรัฐ
ถ้าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเองยังถูกกล่าวหาว่า ทุจริตและไม่ทำความจริงให้กระจ่าง จะมีหน้าไปตรวจสอบและกล่าวหาว่า ผู้อื่นทุจริตได้อย่างไร
ในทางตรงกันข้าม ถ้าผลไต่สวนออกมาว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีความผิด(ต้องให้สาธารณชนตรวจสอบผลการไต่สวนได้ด้วย) จะทำให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ และไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเกี่ยวกับคดีความต่างๆอีก
จากคำชี้แจงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.พบว่า ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนคุณหญิงจารุวรรณกับพวก 2 เรื่อง(มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน)ดังนี้
หนึ่ง กรณีอนุมัติให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร "ผู้บริหาร/ผู้เชี่ยวชาญยุคใหม่" และผู้ติดตาม เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประเทศฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์และอิตาลี โดยมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายโดยมิชอบ
มีการกล่าวหาว่า ในการเดินทางดังกล่าวช่วงพฤศจิกายน 2546 สตง.ได้ขอตั๋วเครื่องบินฟรีไป-กลับจากการบินไทย จำนวน 10 ใบโดยอ้างว่า เพื่อใช้ในการเดินทางไปฝึกอบรม แต่กลับเอาชื่อลูกสาว-น้องสาวของ"บิ๊ก สตง."ไปใส่ในตั๋วฟรี 2 ที่นั่ง และยังเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนค่าตั๋วที่ได้ฟรีทั้ง 10 ใบด้วย
สตง. ทำสัญญาจ้างบริษัท คาริสม่า แทรเวล เซอร์วิส เป็นเงิน 3.12 ล้านบาท เป็นผู้ให้บริการนำคณะของ สตง.จำนวน 40 คน ไปดูงานซึ่งในสัญญาระบุว่า ค่าจ้างดังกล่าว รวมตั๋วเครื่องบินไป-กลับโดยสายการบินไทยชั้นนักท่องเที่ยวด้วย
แต่ข้อเท็จจริง มีผู้เดินทางไปกับคณะรวม 42 คนเพิ่มจากที่ระบุไว้ในสัญญาได้แก่ น้องสาวและลูกสาวของ "บิ๊ก สตง." รายดังกล่าว
ตรงนี้มีการกล่าวหาว่า ทั้งๆ ที่ใช้ตั๋วฟรีถึง 10 ใบแต่ไม่มีส่วนลดจาก 3.12 ล้านบาท เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของลูกสาวและน้องสาว"บิ๊ก สตง."
อย่างไรก็ตามนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผ้ว่าการตรวจเงินแผ่นชี้แจงว่าไม่มีการอมตั๋วเครื่องบินที่ได้รับมาฟรีแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดพลาดในการออกตั๋วของการบินไทยที่นำเอาชื่อของลูกสาวและน้องสาวไปใส่ในตั๋วที่ฟรีรวมกับเจ้าหน้าที่ของ สตง.อีก 8 คนทั้งที่ ลูกสาวและน้องสาว"บิ๊ก สตง."ได้ชำระเงินค่าตั๋ว2 ที่นั่งด้วย ทำให้เสียโอกาสไม่ได้รับการสะสมไมล์(ตัวกรุ๊ปทัวร์มีสะสมไมล์?)
นายพิศิษฐ์ยืนยันว่า ไม่มีการทุจริตเรื่องนี้โดยดูได้จากการเบิกจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินจาก สตง.ว่า มีการเบิกจ่ายเพียง 30 คน จากผู้เดินทาง 42 คน
เมื่อดูข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว คดีนี้ไม่มีความซับซ้อน สามารถตรวจสอบได้จากเอกสารหลักฐาน เช่น การเบิกจ่ายเงินเงินจาก สตง.ที่จ่ายให้บริษัททัวร์ 3.12 ล้านบาทว่า รวมค่าตั๋ว 40 ใบหรือไม่หรือคิดแค่ 30 ใบ, ขั้นตอนการออกตั๋วฟรีกับตั๋วซื้อแยกจากกันชัดเจน(ถ้าไม่มีการสั่งให้ส่งชื่อให้จะออกตั๋วฟรีได้อย่างไร) หลักฐานการจ่ายเงินของลูกสาวและน้องสาว"บิ๊ก สตง."
สอง กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักในการจัดอบรมตามโครงการประชุมสัมมนาผู้บริหารที่จังหวัดน่านโดยมิชอบ
มีการกล่าวหาว่า เป็นการจัดสัมมนาบังหน้าเพื่อสามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ เพราะความจริงแล้ววันดังกล่าว สตง.จัดทอดกฐินหลวง แต่การเดินทางไปทอดกฐินหลวงไม่สามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้ เลยทำเป็นจัดสัมมนาในวันเดียวกัน แต่ทำเป็นขอยกเลิกในภายหลัง แต่ได้เบิกเบี้ยเลี้ยงเข้ากระเป๋าไปแล้ว
ประเด็นนี้ตรวจสอบได้ง่ายมากว่า มีการจัดกฐินหลวงในวันและสถานที่เดียวกันหรือไม่ มีการเบิกค่าเบี้ยงเลี้ยงอย่างไร น่าจะสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ในไม่กี่วัน
ที่สำคัญ ถ้าผู้บริหาร สตง.บริสุทธิ์ใจควรให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการไต่สวน แต่เท่าที่ทราบ เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปขอข้อมูล กลับมี"เจ๊"บางคนเรียกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปต่อว่า และพูดทำนองว่า มีผู้ร้องเรียน ป.ป.ช.มาที่ สตง.จำนวนมาก แต่ ทาง สตง.เก็บเรื่องไว้ไม่สอบ
การพูดในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการ "ทวงบุญคุณ" หรือ "ข่มขู่ทางอ้อม"